ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ลูกหนี้ได้ประโยชน์มั้ย เศรษฐกิจดีขึ้น?

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer21 พ.ค. 2563 avatar writer10.9 K
ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ลูกหนี้ได้ประโยชน์มั้ย เศรษฐกิจดีขึ้น?

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปรับลดลงอีก 0.25% ต่ำสุดเท่าที่เคยมี
ธนาคารแห่งประเทศไทย หวังกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้มากขึ้น
ดอกเบี้ยลดลงส่งผลกระทบยังไงบ้าง แบบนี้ต้องเจาะลึกกันแล้ว!


Highlight ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


• จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 63 มีมติ 4 ต่อ 3 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 0.75% เหลือ 0.50% ต่ำที่สุดแล้ว ซึ่งจะถูกใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ กำหนดดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ต่อไป

• สาเหตุหลักของการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก มีแนวโน้มหดตัวรุนแรง ส่วนเงินเฟ้อก็คาดว่าจะติดลบกว่าที่คาดการณ์เช่นกัน

• ธปท. คาดหวังจะกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น เพื่อให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว แก้ปัญหาสภาพคล่องของประชาชน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ได้ทันท่วงที


ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงต่ำสุด ส่งผลยังไงบ้าง?


หลังจากทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมแล้ว มีมติอย่างชนะอย่างเฉียดฉิว ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากเดิม 0.75% เหลือเพียง 0.50% มีผลตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 63 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา ย่อมต้องส่งผลกระทบอย่างวงกว้างในทุกระดับ ตั้งแต่ประเทศจนถึงหน่วยบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

Policy Rate

(ขอบคุณภาพประกอบจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย)

• ดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับลดลง ในแง่ของคนฝากเงินกับธนาคารอยู่จำนวนเยอะ จะทำให้ได้รับดอกเบี้ยน้อยลงไปอีก เช่น ฝากเงิน 10,000.- อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี เมื่อฝากครบทั้งปี จะได้รับดอกเบี้ย 10.- เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเหลือ 0.75% ก็จะได้ดอกเบี้ยแค่ 7.50 บาท แต่บางครั้งธนาคารก็อาจจะไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลดตามดอกเบี้ยนโยบายเสมอไป

ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงด้วยเช่นกัน หลายครั้งเราจะเห็นว่าเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงแล้ว ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทันที ซึ่งผลต่อพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร ก็จะได้รับดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลงตามไปด้วย

ช่วยกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจ เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลงกว่าเดิม คนก็จะมองว่าออมเงินไปทำไม ไม่เห็นคุ้มค่าเลย เอาไปใช้จ่ายยังดีกว่า ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ผลทางอ้อมก็จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ตามปริมาณความต้องการ (Demand) ที่มากขึ้นนั่นเอง

คนที่มีภาระเงินกู้/สินเชื่อจะจ่ายน้อยลง เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงแล้ว ย่อมทำให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อ้างอิงอยู่ลดลงตามไปด้วย ทำให้แบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ รวมไปถึงบริษัทหรือธุรกิจต่างๆ ที่มีสินเชื่อธุรกิจอีกด้วย แต่ไม่รวมสินเชื่อที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้นะ เช่น อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคล เป็นต้น

Savings Book


เราควรปรับตัวยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น?


ถ้าถามว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างมั้ย ตอบเลยว่าก็คงไม่ได้หรอก 55 เพราะเป็นนโยบายระดับชาติที่ได้ถูกคิดมาอย่างดีแล้ว การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลดีหรือร้ายไปซะหมด เพียงแค่เรามองหาโอกาสจากสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดประโยชน์ไม่น้อยเลย ลิสต์มาให้เป็นข้อๆ จะได้ลองเอาปรับใช้ได้เน้อ

• ถ้าหากใครที่มีเงินฝากอยู่เยอะ ก็อาจจะลองมองหาทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมแทนการฝากเงินธนาคารเพียงอย่างเดียว เพราะยังไงก็ต้องส่งผลกระทบอย่างแน่นอน ดอกเบี้ยเงินฝากจะได้ลดลง 

โอกาสทองสำหรับกู้เงิน ใครมีแพลนจะใช้เงินก็คือทำเรื่องช่วงนี้ได้เลย จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ยิ่งกู้เยอะ ก็ยิ่งประหยัดมากขึ้น แต่เฉพาะดอกเบี้ยแบบลอยตัวนะ

• การปรับลดดอกเบี้ย เป็นการส่งสัญญาณทางอ้อมว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ใครที่เป็นนักช้อปก็ต้องติดตามโปรโมชั่นให้ดีเลย เพราะห้างสรรพสินค้า หรือร้านต่างๆ จะต้องออกโปรเพื่อจูงใจให้คนมาใช้จ่ายมากขึ้นด้วยนั่นเอง


ธนาคารพาณิชย์ พาเหรดทยอยปรับดอกเบี้ยลง


หลังจากดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะปรับดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนเป็นตัวส่งสัญญาณนั่นแหละ ประมาณ 1 สัปดาห์เราจะเริ่มเห็นแบงก์ประกาศดอกเบี้ยใหม่กันออกมาละ ค่อยๆ ทยอยกันมาเรื่อยๆ โดยผู้นำจะเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ก่อนนี่เอง

Bangkok Bank

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.225-0.35% มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 63

MLR เดิม 5.475% เหลือ 5.25%
MOR เดิม 6.10% เหลือ 5.875%
MRR เดิม
6.10% เหลือ 5.75%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25-0.35% มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 63

MLR เดิม 5.83% เหลือ 5.58%
MOR เดิม 6.30% เหลือ 5.95%
MRR เดิม 6.30% เหลือ 6.05%

• ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.35% มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 63

MLR เดิม 5.375% เหลือ 5.25%
MOR เดิม 6.095% เหลือ 5.845%
MRR เดิม 6.345% เหลือ 5.995%

• ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.13-0.38% มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 63

MLR เดิม 5.60% เหลือ 5.47%
MOR เดิม 6.22% เหลือ 5.84%
MRR เดิม 6.10% เหลือ 5.97%

• ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.125-0.40% มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 63

MLR เดิม 5.375% เหลือ 5.25%
MOR เดิม 6.22% เหลือ 5.82%
MRR เดิม 6.345% เหลือ 6.22%

ช่วงนี้ก็อย่าลืมเช็คอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของแต่ละธนาคารกันด้วยเน้อออ เพราะน่าจะปรับกันอีกรอบอย่างแน่นอน

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น