ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ใครถูก ใครแพง ที่นี่มีคำตอบ!

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer27 ส.ค. 2562 avatar writer40.9 K
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ใครถูก ใครแพง ที่นี่มีคำตอบ!

ค่าโดยสารรถไฟฟ้า หลายคนบ่นว่าตอนนี้ราคาสูงเหลือเกิน
งานนี้ต้องขอเจาะลึก "โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร" กันหน่อยละ
ว่าทั้ง BTS - MRT - ARL มีสูตรคำนวณยังไงบ้าง
แนวคิดอัตราค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายราคาเดียว จะเกิดขึ้นจริงได้มั้ย?


ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า "ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเมืองไทย แพงติดอันดับโลก" เลยนะ แต่ทุกคนก็ยังต้องใช้ทุกวัน นั่งไป-กลับเวลาทำงาน เพราะบนท้องถนนก็รถติดซะเหลือเกิน สำหรับรถไฟฟ้าที่มีการเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วจำนวน 4 เส้นทาง คือ BTS สายสีเขียว, MRT สายสีน้ำเงิน, MRT สายสีม่วง และ ARL รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่อนาคตอันใกล้จะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกเพียบ ไม่ว่าเป็นสายสีแดง, สีชมพู, สีส้ม หรือสีเหลือง ซึ่งแต่ละเส้นทางก็มีผู้ให้บริการที่แตกต่างกันไป และยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันในเรื่องบัตรโดยสาร ค่าโดยสารก็เลยยังไม่ได้ทำให้เป็นระบบเดียวกัน คราวนี้เลยขอดูหน่อยว่าค่าโดยสารของแต่ละเจ้า เค้าคำนวณมาจากอะไรกันบ้าง?

Fare

สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าในประเทศไทย จะคิดตามจำนวนสถานี ไม่ได้คิดตามระยะทาง ซึ่งจากตารางแสดงโครงสร้างค่าโดยสารจะพบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย

  • รถไฟฟ้า BTS จะเสียค่าโดยสารสูงสุดที่ 44 บาท เมื่อเดินทางจำนวน 8 สถานีขึ้นไป และถ้าหากเดินทางไปยังส่วนต่อขยาย จะเสียเงินเพิ่มอีก 15 บาทด้วย
  • รถไฟฟ้า MRT ทั้งสายสีน้ำเงิน และสีม่วง จะเสียค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท เมื่อเดินทางจำนวน 11-12 สถานีเป็นต้นไป
  • มองไปที่อัตราค่าโดยสาร ราคา 23 บาทเท่ากัน > BTS เดินทางได้เพียง 2 สถานี, MRT สายสีม่วง เดินทางได้ 3 สถานี และ MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางได้ถึง 4 สถานี
  • นั่งรถไฟฟ้าสถานีเดียว > MRT สายสีม่วง คิดค่าโดยสารสูงสุดที่ 17 บาท
  • นั่งรถไฟฟ้าไกลๆ > รถไฟฟ้า ARL แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คิดค่าโดยสารสูงสุดที่ 45 บาท

ตอนนี้ประชาชนทุกคนสามารถนั่งรถไฟฟ้า ฟรี! สำหรับช่วงส่วนต่อขยาย ถึง 3 เส้นทาง ซึ่งมีรายละเอียดตามนี้เลยจ้าาาา~

Trial

  • BTS ช่วงแบริ่ง-เคหะฯ : เปิดให้ทดลองนั่งฟรี มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดค่าโดยสารนะ ต้องรอประกาศอีกครั้งว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารเมื่อไหร่
  • BTS ช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว : สามารถนั่งฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 62 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป คาดว่าจะเก็บค่าโดยสารได้ เมื่อเปิดส่วนต่อขยายถึงสถานีคูคตแล้ว
  • MRT ช่วงวัดมังกรฯ-บางหว้า (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ส.ค. 62) แต่จะมีการทดลองวิ่งจากสถานีหัวลำโพง-หลักสอง จนถึงวันที่ 28 ก.ย. 62

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม

BTS Skytrain

โครงสร้างราคาของรถไฟฟ้า BTS ค่อนข้างมีความซับซ้อนกว่าเส้นทางอื่นๆ เนื่องจากเส้นทางเดินรถที่ยาวมากกว่า 50 กิโลเมตร และแต่ละช่วงก็มีสัมปทานที่แตกต่างกันไป

  • เส้นทางช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน : เป็นระบบสัมปทานเดิม เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2542 จนถึงปี 2573
  • ส่วนต่อขยายช่วง อ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-บางหว้า : ทาง กทม. เป็นผู้ดำเนินก่อสร้างโครงการ และจ้างให้ BTS เดินรถ
  • ส่วนต่อขยายช่วง แบริ่ง-เคหะฯ และ หมอชิต-คูคต : ทาง รฟม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ และ กทม. รับโอนโครงการดังกล่าว และจ้างให้ BTS เดินรถ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานของ กทม. และ BTS ในเรื่องการเดินรถส่วนต่อขยาย อัตราค่าโดยสารสูงสุด และสัมปทานการเดินรถที่จะมีการขยายเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปออกมา ต้องมาลุ้นกันว่า BTS จะได้เดินรถสายสีเขียวทั้งเส้นทาง คูคต-เคหะฯ และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า หรือไม่อย่างไร

อัตราค่าโดยสาร : เริ่มต้น 16-44 บาท (สำหรับเส้นทางสัมปทานเดิม) และ 15 บาทตลอดสาย (สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยาย) ทำให้อัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทาง จะเท่ากับ 16-59 บาท

เดินทางบ่อย ซื้อแบบเที่ยวคุ้มกว่า!

ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS เป็นประจำ จะซื้อตั๋วแบบเที่ยวเดียว จ่ายราคาเต็มก็ไม่ได้แล้วล่ะ เพราะเค้ามีโปรโมชั่นแบบเที่ยวโดยสาร ไม่ว่าจะนั่งไกลแค่ไหนก็จ่ายเท่าเดิม ใช้สำหรับเดินทางในช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่เท่านั้น (ไม่รวมช่วงส่วนต่อขยาย) สามารถใช้งานได้ 30 วัน มีให้เลือกถึง 4 แบบ 

  • จำนวน 15 เที่ยว ราคา 465 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท)
  • จำนวน 25 เที่ยว ราคา 725 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท)
  • จำนวน 40 เที่ยว ราคา 1,080 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท)
  • จำนวน 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท)

หมายเหตุ : กรณีที่เดินทางข้ามไปยังสถานีในช่วงส่วนต่อขยาย จะถูกหัก 1 เที่ยวเดินทาง + หักเงิน 15 บาท


รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)

MRT Blue Line

รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริหารงานการเดินรถโดย BEM หรือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีเส้นทางให้บริการในปัจจุบัน ระหว่างสถานีเตาปูน-หัวลำโพง และเตรียมเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย จำนวน 2 ช่วง คือ หัวลำโพง-หลักสอง ช่วงเดือน ก.ย. 62 (ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองให้บริการฟรี) และบางซื่อ-ท่าพระ ช่วงเดือน มี.ค. 63 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้วอัตราค่าโดยสารจะยังเท่าเดิมอยู่ เพราะถือเป็นเส้นทางเดิม แต่มีการขยายเส้นทางออกไป และสัมปทานการเดินรถได้ขยายระยะเวลาจากเดิมไปจนถึงปี 2593 เพื่อให้การเดินรถมีความต่อเนื่องจากผู้ให้บริการรายเดิม

อัตราค่าโดยสาร : เริ่มต้น 16-42 บาท (เดินทางในเส้นทางสีน้ำเงิน) และสูงสุด 70 บาท (เดินทางข้ามไปยังสายสีม่วง)


รถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)

MRT Purple Line

(ภาพจาก Shutterstock)

รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นรถไฟฟ้าสายใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการมาได้เพียง 3 ปี เส้นทางให้บริการระหว่างสถานีเตาปูน-คลองบางไผ่ และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูน โดยไม่ต้องออกจากระบบ สามารถใช้บัตรโดยสารร่วมกันได้เลย เมื่อโดยสารข้ามระหว่างสีน้ำเงิน และสีม่วง จะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า จำนวน 14 บาท จึงทำให้เมื่อผู้โดยสารเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้า MRT ทั้งสองเส้นทาง จะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 70 บาท (42+42-14 = 70)

อัตราค่าโดยสาร : เริ่มต้น 14-42 บาท (เดินทางในเส้นทางสีม่วง) และสูงสุด 70 บาท (เดินทางข้ามไปยังสายสีน้ำเงิน)


รถไฟฟ้า Airport Rail Link

Airport Rail Link

(ภาพจาก Shutterstock)

สำหรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะมีเส้นทางให้บริการจากสถานีพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อผู้โดยสารในเมืองไปยังสนามบิน มีทั้งหมด 7 สถานี โดยคิดค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท จะคิดเพิ่มสถานีละ 5 บาท ถ้านั่งตลอดเส้นทางก็เสียทั้งหมด 45 บาท ถือว่าการกำหนดค่าโดยสารไม่วุ่นวาย แต่เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด

อัตราค่าโดยสาร : เริ่มต้น 15-45 บาท


แนวคิดค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย ทำได้จริงมั้ย?

สิ่งแรกที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก ก็คือ "บัตรโดยสารร่วม" เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเกิดเชื่อมโยงกันของการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางภาครัฐได้เปิดตัว 'บัตรแมงมุม' ออกมาสู่สาธารณชน เพื่อพัฒนาตั๋วร่วมให้สามารถใช้งานระบบขนส่งได้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า, รถโดยสารประจำทาง หรือเรือโดยสาร แต่ปัจจุบันบัตรดังกล่าวจะใช้ได้แค่บางที่ เช่น รถไฟฟ้า MRT เท่านั้น ยังใช้งานบัตรข้ามระบบไม่ได้ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องมารอลุ้นกันว่าจะใช้ได้ทุกระบบขนส่งเมื่อไหร่น้าาาา?

สำหรับแนวคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหมาจ่ายราคาเดียว ฟังดูแล้วน่าจะเกิดขึ้นจริงได้ยากอยู่ เพราะต้นทุนในการดำเนินการของแต่ละผู้ให้บริการก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางภาครัฐจะเข้ามาให้เงินอุดหนุนในส่วนนี้หรือไม่ ก็อาจใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้น แต่ถ้าบัตรร่วมไม่เกิด ค่าโดยสารจะถูกลง ก็คงยากอยู่ดี

Mangmoom card

บัตรแมงมุม ปัจจุบันสามารถใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT ได้


🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈

  • รถไฟฟ้าในประเทศไทย คิดค่าโดยสารโดยนับจำนวนสถานีที่เดินทาง ไม่ได้คิดตามระยะทางที่ใช้เหมือนกับบางประเทศ ทำให้ไม่ว่าจะเดินทางจากต้นทาง หรือปลายทางจากจุดใด ก็จะเสียค่าโดยสารในเรตเดียวกันหมด ไม่ว่าจะใกล้หรือใกล้ต่างกันยังไง
  • ในอนาคตอันใกล้นี้ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในไทย น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อมีบัตรโดยสารร่วมเกิดขึ้นแล้ว และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้นค่าโดยสารน่าจะถูกลงได้อีก เรามารอลุ้นกันนะ!
  • แนะนำวิธีเดินทางแบบประหยัดมากขึ้น เวลาเติมเงินเข้าบัตรโดยสาร จะมีสิทธิประโยชน์จาก Loyalty Program ที่ร่วมรายการ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายมือถือ หรือบัตรเครดิต จะทำให้เซฟเงินในกระเป๋าเดือนนึงก็ไม่น้อยเลย
  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น