พันธบัตรออมทรัพย์ ชุดใหม่ "เราไม่ทิ้งกัน" แค่ 1,000 ก็ออมได้ ดอกเบี้ยดีมั้ย อยากซื้อต้องทำไง?

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer11 พ.ค. 2563 avatar writer21.1 K
พันธบัตรออมทรัพย์ ชุดใหม่ "เราไม่ทิ้งกัน" แค่ 1,000 ก็ออมได้ ดอกเบี้ยดีมั้ย อยากซื้อต้องทำไง?

พันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ ปี 63 รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" พร้อมขายแล้ว
ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่ปลอดภัย สำหรับออมเงินระยะยาว
1,000 ก็ออมได้ บอกเลยว่าตอบโจทย์มาก!


ช่วงนี้รัฐบาลก็จำเป็นต้องใช้เงินเยอะเป็นพิเศษ นำมาเป็นงบประมาณสำหรับใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นี่แหละ ระยะต่อไปก็จะเป็นการเยียวยาและฟื้นฟูในสภาพเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้ ซึ่งตัวช่วยนึงก็คือ พ.ร.ก.กู้เงิน มูลค่า 1 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังก็เลยได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ เพื่อระดมเงินทุนซึ่งเป็นทางเลือกนึงภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ด้วย 


พันธบัตรรัฐบาล ทำไมถึงควรซื้อเพื่อลงทุน?


ถ้าเปรียบเทียบการลงทุนต่างๆ ในปัจจุบันนี้ รูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด จะเป็น "เงินฝากธนาคาร" แต่เมื่อความเสี่ยงต่ำมากแล้วก็ย่อมให้ผลตอบแทนที่ต่ำด้วยเช่นกัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยปัจจุบัน ต่ำกว่า 0.5% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำแบงก์ขนาดกลางถึงใหญ่ ก็อยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปีเท่านั้น ดูทรงแล้วถ้าฝากเงินธนาคารอย่างเดียวไม่น่าจะไหวแล้ว ยิ่งสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้โดนผลกระทบแบบเต็มๆ ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยก็ยิ่งลดลงไปอีก

Savings Account

 

"พันธบัตรรัฐบาล" มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่ง คือผู้ซื้อมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ที่ออกตราสาร ถ้าเป็นรัฐบาลออกตราสารหนี้ ส่วนใหญ่จะเรียกว่า "พันธบัตร" ส่วนถ้าหากภาคเอกชนออกตราสารหนี้ จะเรียกว่า "หุ้นกู้" ถือเป็นทางเลือกการลงทุนในช่วงเวลานี้ที่น่าสนใจทีเดียวแหละ มีความเสี่ยงต่ำ โดยความเสี่ยงในการผิดนัดชำระคืนแทบจะเป็นศูนย์ เพราะยังไงเราก็ต้องได้เงินคืนแน่นอน แต่ก็จะมีความเสี่ยงด้านอื่นๆ เล็กน้อย โดยพันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาชุดนี้ เงินจากการระดมทุนจะถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั่นเอง

 

Government Bond

 

-- เปรียบเทียบความเสี่ยงจากการลงทุนจากน้อยไปมาก --

เงินฝากออมทรัพย์ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำที่สุด และไม่มีความเสี่ยงเรื่องของระยะเวลาการฝาก สามารถฝาก-ถอนเงินได้ตลอดเวลาเลย

เงินฝากประจำ จะกำหนดระยะเวลาการฝากอย่างชัดเจน ไม่สามารถถอนก่อนเวลาได้ มีความคล่องตัวน้อยกว่าเงินฝากออมทรัพย์

พันธบัตรรัฐบาล หรือตั๋วเงินคลัง เป็นตราสารหนี้ของภาครัฐ ผู้ถือครองมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ซึ่งมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้น้อยมาก แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคาร

หุ้นกู้ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลัง เพราะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเอกชน ซึ่งเกิดโอกาสผิดนัดชำระได้สูงกว่าตราสารหนี้ของภาครัฐ

หุ้นสามัญ ถือว่ามีความเสี่ยงในหลากหลายด้าน และให้ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน เป็นไปตามกฎของ High Risk Hign Return โดยผู้ถือหุ้นสามัญมีฐานะเป็นเจ้าของบริษัทที่ลงทุน


พันธบัตรรัฐบาล "เราไม่ทิ้งกัน" มีให้เลือก 2 แบบได้ตามใจ


พันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ จะมีให้เลือกทั้งหมด 2 แบบ คือรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี เงื่อนไขต่างๆ เหมือนกันหมดเลย ยกเว้น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลานานกว่าก็ต้องได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเป็นเรื่องปกติ โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล เป็นแบบคงที่ตลอดระยะเวลาการถือครอง ดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดตามแต่ละช่วงเวลา ถ้าลองเอาไปเทียบกับเงินฝากประจำระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ไทยตอนนี้ ก็ถือว่าให้เยอะกว่าอยู่ดี เน้นออมเงินระยะยาว คือน่าซื้อเลย ยิ่งกลุ่มคนผู้สูงอายุ อยากฝากเงินก้อนทิ้งเอาไว้ยาวๆ เลย คือดีงามเชียว

 

Government Bond

 

(1) รุ่นอายุ 5 ปี : อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.40% ต่อปี

• ปีที่ 1 : ดอกเบี้ย 2% ต่อปี

• ปีที่ 2-3 : ดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี

• ปีที่ 4 : ดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

• ปีที่ 5 : ดอกเบี้ย 3% ต่อปี

(2) รุ่นอายุ 10 ปี : อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ต่อปี

• ปีที่ 1-3 : ดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

• ปีที่ 4-8 : ดอกเบี้ย 3% ต่อปี

• ปีที่ 9 : ดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี

• ปีที่ 10 : ดอกเบี้ย 4% ต่อปี

โดยจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. และ 14 พ.ย. ของทุกปี จนครบอายุไถ่ถอน 5 ปีหรือ 10 ปี แล้วแต่รุ่นที่ได้จองซื้อ และดอกเบี้ยที่ได้รับเนี่ย ยังคงต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เหมือนกับเงินฝากประจำเลย งั้นลองมาคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจริงๆ แล้ว รุ่นอายุ 5 ปี จะเท่ากับ 2.04% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี จะเท่ากับ 2.55% ต่อปี


เริ่มเปิดขายพันธบัตรรัฐบาลวันแรก 14 พ.ค. 63


หลังจากได้อ่านรายละเอียดต่างๆ ของพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ ปี 2563 อย่างครบถ้วนแล้ว ก็ต้องถามใจตัวเองดูว่าเอาไงดี  ลงทุนระยะยาวนาน 5 ปี หรือ 10 ปี เราโอเครึป่าวนะ เพราะเหมือนต้องทิ้งเงินก้อนไว้นานพอสมควร และอัตราดอกเบี้ย 2-3% ต่อปีเนี่ย สามารถรับได้มั้ย เพราะว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ แต่ดูสถานการณ์ตอนนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยน่าจะต่ำไปอีกพักใหญ่เลยล่ะ หากสนใจและมั่นใจว่าฉันต้องซื้อแน่ๆ ก็อย่ารอช้า ซื้อก่อนได้สิทธิ์ก่อนเน้อ

 

Government Bond

 

เรามาดูเรื่องการจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" กันหน่อย ได้แบ่งช่วงเวลาการจองซื้อออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อในแต่ะช่วงไม่เหมือนกัน อย่าลืมเช็คว่าตัวเองตรงกับกลุ่มไหน แล้วก็จำวันที่เริ่มซื้อเอาไว้ให้ดีเลย

ช่วงที่ 1 : วันที่ 14-20 พ.ค. 63

• สามารถซื้อได้เฉพาะคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทยหรือถิ่นอาศัยอยู่ในไทยเท่านั้น

• จำกัดวงเงินสูงสุด คนละไม่เกิน 2 ล้านบาท/คน/ธนาคาร ก็แปลว่าคนนึงจะซื้อหลายธนาคารก็สามารถทำได้ เช่น ซื้อธนาคารกรุงไทย 2 ล้านบาท + ธนาคารกสิกรไทยอีก 2 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 : วันที่ 21-27 พ.ค. 63

• คนที่มีสัญชาติไทย หรือถิ่นอาศัยอยู่ในไทย สามารถซื้อได้ทุกคน ผู้ปกครองจะซื้อให้ลูกหลานก็ทำได้ รวมถึงใครที่จองซื้อในช่วงที่ 1 ไปแล้ว อยากจองซื้อเพิ่มก็สามารถซื้อตามเงื่อนไขของช่วงที่ 2 ได้อีก

• จำกัดวงเงินสูงสุด คนละไม่เกิน 2 ล้านบาท/คน/ธนาคาร คนนึงจะซื้อหลายธนาคารก็สามารถทำได้ เช่น ซื้อธนาคารกรุงไทย 2 ล้านบาท + ธนาคารกสิกรไทยอีก 2 ล้านบาท

ช่วงที่ 3 : วันที่ 28 พ.ค. - 10 มิ.ย. 63 

• คนที่มีสัญชาติไทย หรือถิ่นอาศัยอยู่ในไทย สามารถซื้อได้ทุกคน รวมถึงนิติบุคคลที่ไม่แสดงผลกำไร เช่น สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา และใครที่จองซื้อในช่วงที่ 1 และ 2 ไปแล้ว อยากจองซื้อเพิ่มก็สามารถจองซื้อเพิ่มในช่วงที่ 3 ได้อีก

ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดในการซื้อ จะซื้อเยอะแค่ไหนก็ได้ ถ้าวงเงินยังไม่เต็มที่ได้กำหนดเอาไว้

วงเงินของพันธบัตรรัฐบาลปี 63 รุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ก็คือ 50,000 ล้านบาท สมมติว่าเปิดขายช่วงที่ 1 ขายไปได้ 30,000 ล้านบาท ก็จะเหลือวงเงินอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับการเปิดขายช่วงที่ 2-3 และหากช่วงที่ 2 มีคนสนใจเยอะมาก จนวงเงินครบที่กำหนดแล้ว ก็จะไม่มีการเปิดขายช่วงที่ 3 ยกเว้นว่าจะเพิ่มวงเงินที่เปิดขายให้มากกว่าเดิม พอถึงตอนนั้นคงต้องดูเสียงตอบรับว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหนกัน

 


ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทำได้ง่าย สะดวกสบายกว่าเดิม


ในช่วงที่ทุกคนยังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กันอยู่ เราก็จะเน้นการจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก ก็จะเวิร์คสุด ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อที่ธนาคารก็ได้ กดทำรายการเองได้เลย 

• แอปพลิเคชั่น BOND DIRECT โดยทำตามขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อย แล้วก็ไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย หรือจ่ายด้วยแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT ก็ได้ ไม่ต้องไปถึงธนาคารก็ซื้อได้ง่ายๆ สบายๆ เลย

 

 

และยังสามารถทำรายการจองซื้อพันธบัตรรัฐบาล ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ทั้ง 4 แห่งได้ตามนี้เลย

BBL

• เครื่อง ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร, Bualuang iBanking และ Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพ 

• เครื่อง ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร และ Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย

KBank

• เครื่อง ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร, K-My Invest ของธนาคารกสิกรไทย

• เครื่อง ATM, เคาน์เตอร์ธนาคาร, SCB Easy Net และ SCB Easy App ของธนาคารไทยพาณิชย์


🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈


• สำหรับใครที่มองหาทางเลือกการออมเงินในช่วงนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า ก็ต้องเลือกซื้อพันธบัตรรัฐบาลรุ่นพิเศษนี่แหละ เพราะไม่ได้เปิดขายบ่อยๆ และได้รับความนิยมค่อนข้างสูง

• พันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล ปี 63 ใช้ชื่อรุ่นว่า​ "เราไม่ทิ้งกัน" มีให้เลือกซื้อได้ 2 แบบคือ อายุ 5 ปีและ 10 ปี ใครอยากซื้อแบบไม่ต้องยาวมากก็ซื้อแค่ 5 ปีพอแล้ว ส่วนใครอยากทิ้งเงินไว้ยาวๆ ก็ซื้อแบบรุ่นอายุ 10 ปีไปเลย ซื้อขั้นต่ำเพียง 1,000 บาทเท่านั้นเอง

• สามารถกดจองซื้อพันธบัตรได้ผ่านช่องทางออนไลน์เลย คือสะดวกสุดๆ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปธนาคารให้ยุ่งยาก แต่ก่อนจะลงทุนควรศึกษาข้อมูล เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนจะทำรายการด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น
BODCCRVOR CRVOR
BODCCRVOR CRVOR
$+1000ดอลลาร์
ตอบกลับ | 4 ปีที่แล้ว 0