จุดเริ่มต้นของลัทธิ MUJI กับพลัง No Brand ที่น่าจับตา!

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer17 ก.ค. 2563 avatar writer8.0 K
จุดเริ่มต้นของลัทธิ MUJI กับพลัง No Brand ที่น่าจับตา!

เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความเพลนๆ มินิมอลๆ
ชื่อแรกที่แวบเข้ามาในหัวคงจะหนีไม่พ้น MUJI แบรนด์ดังสัญชาติญี่ปุ่น
ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ความ "มินิมอล" สู่สายตาคนทั่วโลก!


ก่อนหน้านี้หากใครยังจำกันได้ กระแส Minimal (มินิมอล) ในบ้านเรานั้นมาแรงเอามากๆ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราทุกคนมักจะนิยามสิ่งของ สถานที่ หรือสไตล์การแต่งตัว ว่ามินิมอลกันไปซะหมด ซึ่งสิ่งที่มีอิทธิพลกับนิยามความ "มินิมอล" ของคนก็คงหนีไม่พ้นอิทธิพลจากแบรนด์ โดยเฉพาะ MUJI (มูจิ) ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์แห่งความมินิมอลขนานแท้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะมองว่าความมินิมอลที่เราเห็นจากสินค้าแต่ละอย่างของมูจินั้นมันเรียบง่ายจนเกินไป แต่ไปๆ มาๆ ความมินิมอลนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคนกันไปเรียบร้อย 

 


จุดเริ่มต้นของ No Brand


MUJI (มูจิ) เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1980 ถือว่าเป็นแบรนด์ที่สวนทางเป็นอย่างมากกับกระแสของตลาด ณ. ช่วงเวลานั้นที่นิยมความหรูหรา แต่ทว่าสิ่งที่มูจิขายกลับเป็นความเรียบง่าย ที่ต้องมาพร้อมกับคุณภาพ และราคาที่ถูก โดยคำว่า มูจิ นั้นมาจากภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า "ไม่มีแบรนด์" ถึงแม้ว่าจะไม่มีแบรนด์ แต่ก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมูจิได้ในระดับหนึ่ง แถมจุดเด่นอย่างหนึ่งนั้นก็หนีไม่พ้นความหลากหลายของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน, เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงอาหาร มูจิก็มีบริการลูกค้าทุกคน

ถุงกระดาษสีน้ำตาล อีกหนึ่งไอเทมที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์เป็นที่เรียบร้อย โดยถุงกระดาษสีน้ำตาลนี้จะทำหน้าที่ในการสื่อสารถึงความบริสุทธิ์และสดใหม่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งใครจะไปรู้ว่าเจ้าถุงกระดาษสีน้ำตาลธรรมดาๆ ใบนี้ จะจับมือสร้างชื่อให้กับแบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์อย่าง Muji มาจนถึงปัจจุบัน

 


Not "This is what I really want." but "This will do."


จนถึงตอนนี้มูจิมีสาขาทั่วโลกมากกว่า 900 สาขา แถมยังมีสินค้าให้เลือกมากถึง 7 พันชิ้น (แม้แต่โรงแรมเองก็ยังมี) แล้วอะไรที่ทำให้ความนิยมของมูจิไม่ได้ลดลงเลย ปันโปรคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากแนวคิดอย่าง This will do ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของแบรนด์ เพราะมูจิเชื่อว่าความรู้สึกที่ได้จากลูกค้าอย่าง "นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการจริงๆ" หรือ "ฉันจะต้องได้สิ่งนี้" นั้นทำให้รู้สึกภาคภูมิใจได้ไม่เท่ากับคำว่า "This will do" หรือสิ่งนี้จะทำให้ 

 

"เพราะสิ่งที่ MUJI ต้องการไม่ใช่แค่การเป็นส่วนหนึ่งในตลาด
แต่สินค้าที่วางขายนั้นจะต้องมีประโยชน์กับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ด้วย"

 

ทุกคนจะสังเกตว่าสินค้าแต่ละอย่างของมูจิที่วางขายกันทุกวันนี้ แทบจะไม่มีสินค้าไหนที่โดดเด่น หรือสะดุดตาเหมือนสินค้าจากแบรนด์อื่น ซึ่งความเรียบง่าย เพลนๆ แบบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สร้างความแตกต่าง รวมถึงทำให้คำว่า มินิมอล นั้นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าจะให้เปรียบคำว่ามินิมอลกับแบรนด์สักแบรนด์นึง ปันโปรคิดว่าคงจะไม่มีแบรนด์ไหนที่เหมาะสมเท่ากับมูจิอีกแล้ว

นับตั้งแต่ความเป็น No Brand, ถุงกระดาษเพลนๆ สีน้ำตาล, เสื้อผ้าเรียบๆ ไม่ได้มีลวดลายอะไรโดดเด่น, สมุดจด, ปากกา รวมถึงถุงขนมที่ยังจะคงความเรียบง่ายไว้ ซึ่งความเรียบง่ายแต่จับต้องได้แบบนี้ เข้าตากับคำว่า มินิมอล มากที่สุดแล้ว สำหรับใครที่เป็นสายนิยมความมินิมอลคงจะเข้าใจ ส่วนใครที่ยังไม่เก็ท หรือมองภาพไม่ออก ลองสังเกต Product ของมูจิกันดูก็ได้

เพราะนิยามของคำว่า มินิมอล นั้นถือว่าเป็นกระแสที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยผู้ที่สร้างกระแสนี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากกลุ่มศิลปินที่เบื่อหน่ายกับรูปแบบงานศิลป์เดิมๆ ที่เน้นความจัดจ้าน หรือสาดสีสันลงบนผลงาน เลยเปลี่ยนมาใช้การถ่ายทอดศิลปะผ่านความเรียบง่าย ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่บิดเบือนรูปทรงใดๆ คือเห็นแล้วก็รู้ว่าคืออะไร หรือไม่ต้องคิดตีความเยอะก็เข้าใจนั่นเอง

 


แม้จะจับต้องได้ แต่อาจจะยังไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม


เป็นธรรมดาของสังคม จะทำอะไรให้ถูกใจใครไปเสียหมดคงจะไม่ได้ หากใครเคยประสบปัญหานี้กันมา บอกเลยว่าแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นอย่างมูจินี้ก็เคยเจอมาไม่ต่างกัน สำหรับความคิดเห็นของบางคนอาจจะมองว่าสินค้าของมูจิแต่ละอย่างนั้นยังไม่ดึงดูด หรือบางคนอาจจะมองว่าราคานั้นสูงไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเค้าจะได้ โดยเฉพาะใครที่ได้ติดตามข่าวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ คงจะเห็นข่าวการประกาศล้มละลายของมูจิในประเทศสหรัฐฯ กันมาแล้ว

ซึ่งสาเหตุของผลกระทบนี้ นั้นมาจากไวรัสโควิดที่ระบาดอย่างหนักในประเทศสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งหลาย เผชิญชะตากรรมร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบรนด์ไหนปรับตัวได้ก็รอด ส่วนแบรนด์ไหนปรับตัวไม่ได้ก็ต้องถอยมาตั้งหลักกันใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสาขาของมูจิในประเทศอื่นๆ จะต้องปิดตัวตามลงไปด้วยสักหน่อย แฟนมูจิชาวไทยอย่างเราสบายใจกันได้นะจ๊ะ

 


พลังของ No Brand ที่น่าจับตา


การมาของมูจิ ทำให้เราได้เห็นถึงการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ทุกคนรู้กันไหมว่าในปีแรกของการเปิดตัว แบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์ อย่างมูจินั้น มีสินค้าวางจำหน่ายเพียง 40 รายการเท่านั้น คือ อุปกรณ์ภายในบ้าน 9 รายการ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารอีก 31 รายการ ซึ่งในปีต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นกันได้ชัดเลยว่าจำนวนของสินค้านั้นเพิ่มขึ้นเยอะมากถึง 7 พันรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีทั้งโรงแรม, คาเฟ่ และห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน

อย่างล่าสุดได้มีการเปิดตัวบริการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ หลังจากผลกระทบของโควิดทำให้ประชากรในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านแทนการเข้าออฟฟิศ ซึ่งบริการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการอยู่บ้านของเรามากขึ้น สำหรับสินค้าที่มีให้เช่าก็มีตั้งแต่ชุดโต๊ะทำงาน, เฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน รวมไปถึงของใช้ในบ้าน โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่านั้นเริ่มต้นที่ 800 Yen หรือประมาณ 240 บาทเท่านั้นเอง

เรียกได้ว่าตอนนี้ MUJI กำลังปรับตัวไปกับสภาพการเปลี่ยนไปของสังคม และที่สำคัญแฟนๆ มูจิชาวไทยเฮกันได้เลย เพราะพี่เค้าเพิ่งมีการปรับราคาสินค้าลงกว่า 650 รายการเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ปันโปรเลยได้ไปทำการสำรวจราคาใหม่มาให้เพื่อนๆ กันแล้ว ตามนี้เลยจ้า

 

 


ควบหลายสิ่งแบบนี้ สรุปแล้ว MUJI มีธุรกิจอะไรบ้างนะ?



❤️ สรุปให้ ก่อนไปช้อป ❤️ 

• เรียกได้ว่าเป็นขวัญใจชาวมินิมอลซะจริงๆ สำหรับแบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์อย่าง MUJI เรียกได้ว่าการมาของมูจินั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ "มินิมอล" ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย, ของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการตกแต่งสถานที่ต่างๆ 

• ที่ปันโปรชอบที่สุดคงจะหนีไม่พ้นแนวคิดของแบรนด์ ที่ไม่ได้ต้องการจะยัดเยียดของให้กับลูกค้า แต่เน้นการใช้ความจริงใจในการสื่อสารออกมา

• ถ้าหากใครสนใจอยากจะช้อปสินค้า สามารถไปเลือกช้อปกันได้ สำหรับที่ตั้งของสาขาในประเทศไทยมีตามนี้เลยจ้า > คลิก

 

via GIPHY

- ขอบคุณแหล่งที่มาจาก MUJI และ Bloomberg -

 

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น