มือใหม่ต้องรู้!! เลือกกล้องฟิล์มครั้งแรกยังไงให้โดนใจ
โดย : Belt
ไม่เคยเล่นกล้องฟิล์ม จะซื้อแบบไหนดี
เตรียมตัวให้พร้อม แล้วมาเริ่มดูกันได้เลย
📸 กล้องฟิล์มกลับมาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ด้วยกระแสของแฟชั่นฮิปสเตอร์ และการเติบโตของโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้คนรู้จัก และเข้าถึงกล้องฟิล์มได้อย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อนมาก เอาล่ะ! เรามาเริ่มต้นเรียนรู้การเลือกกล้องฟิล์มให้โดนใจไปพร้อมๆ กันเล้ยยยยย
กระแสการกลับมาของกล้องฟิล์ม
ในยุคนี้อะไรๆ ก็รวดเร็วทันใจไปหมด จะโพสต์ จะแชร์ หรือปรับแต่งแก้ไขอะไร ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านแอปฟลิเคชันบนมือถือ แต่ความน่าสนใจของกล้องฟิล์มนั้น อยู่ที่การ ‘รอ’ กับการ ‘ลุ้น’ โดยการ รอภาพถ่ายผ่านกระบวนการต่างๆ และลุ้นว่าภาพถ่ายของเราจะออกมาเป็นยังไงบ้าง อันเป็นเสน่ห์สุดคลาสสิกที่ทำให้ฟิล์มกลับมาฮิตอีกครั้งในปัจจุบัน
กล้องฟิล์มมาจากไหน?
กล้องฟิล์ม ก็เหมือนกับกล้องถ่ายรูปดิจิทัลทั่วๆ ไปในปัจจุบัน ต่างกันที่กล้องดิจิทัลจะใช้ ‘เซนเซอร์ (Censor)’ ในการรับภาพ ส่วนกล้องฟิล์มก็จะใช้ ‘ฟิล์ม’ ซึ่งเป็นวัสดุเคลือบสารไวแสง ในการับภาพแทน ซึ่งในฟิล์มแต่ละประเภทก็จะให้ลักษณะ และโทนภาพที่แตกต่างกันออกไป
ภาพจาก adorama
ภาพจาก filmcameraexpert
จุดกำเนิดของกล้องฟิล์ม
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1814 เมื่อชาวฝรั่งเศสนามว่า Joseph Nicéphore Niépce ได้ทดลองนำสาร silver chloride เคลือบลงบนกระดาษมารับภาพใน ‘กล้องออบสคิวรา’ หรือกล้องทาบเงา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยในการการวาดภาพของจิตรกรและศิลปินในศตวรรษที่ 17-18
ภาพจาก photographersn.blogspot
ภาพจาก britannica
โดยเปิดรับแสงอยู่นานถึง 8 ชั่วโมง กระทั้งมีภาพปรากฏขึ้นบนกระดาษที่เคลือบสารเคมีดังกล่าว แต่อยู่ได้สักพักแล้วก็จางหายไป ถึงแม้จะออกมาแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่นี่ก็นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายภาพ
ภาพจาก wikipedia
ต่อมาในปี ค.ศ. 1826 เขาก็ประสบความสำเร็จ จากการใช้สารบีทูเมนจูเดียซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแอสฟัลต์ (ยางมะตอย) เคลือบบนแผ่นโลหะผสมระหว่างดีบุก และ ตะกั่ว แล้วใส่เข้าไปในกล้องทาบเงา ถ่ายรูปจากหน้าต่างบ้านของเขาเอง ใช้เวลาเปิดรับแสงประมาณ 8 ชั่วโมง และแล้วภาพถ่ายที่ถาวร ภาพแรกของโลก ก็ถือกำเนิดขึ้น!!! โดยภาพนี้มีชื่อว่า View from the Window at Le Gras
กล้องฟิล์มมีกี่ประเภท และมีแบบไหนบ้าง?
1. แบ่งตามขนาดฟิล์ม (ที่หาได้ในปัจจุบัน)
กล้องฟิล์มมือสองส่วนใหญ่ตามท้องตลาด จะมีขนาดการใช้งานหลักๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ขนาด 135 Small Format (Full Frame), ขนาด 120 Medium Format และขนาด 4x5 Large Format ซึ่งในแต่ละขนาดก็จะมีกล้อง และวิธีการใช้ที่แตกต่าง เอาล่ะ...เรามาเริ่มต้นที่แบบแรกกันเลย
1.1. ขนาด 135 Small Format (Full Frame)
กล้องที่ใช้ฟิล์มขนาดเล็ก (35mm) เป็นฟิล์มปกติที่เรามักพบเห็นได้ทั่วไป สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีราคาที่ถูกกว่าขนาดอื่นๆ
ภาพจาก unsplash
ภาพจาก unsplash
1.2. ขนาด 120 Medium Format
สำหรับกล้องตัวนี้จะใช้ฟิล์มขนาด 6”x 6”, 6”x 9” ซึ่งอัปไซซ์ใหญ่ขึ้นมาอีกมาก กล้องที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทรงแนวตั้ง และมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันยังคงหาซื้อได้ แต่จะมีราคาที่สูงพอสมควรเลยจ้า
ภาพจาก medium
ภาพจาก medium
1.3. ขนาด 4x5 Large Format
มาถึงคิวของพี่ใหญ่ Large Format ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดเท่าที่หาได้ในปัจจุบันแล้ว ส่วนมากนิยมใช้ถ่ายกันในสตูดิโอ เช่น การถ่ายแบบ การถ่ายภาพสินค้าที่ต้องการความละเอียดสูง
ภาพจาก medium
ภาพจาก medium
2. แบ่งตามรูปแบบการใช้งาน
กล้องฟิล์มถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1. กล้องระบบกลไก (Mechanic)
สังเกตได้ง่ายๆ โดยเราแค่ดูว่า กล้องตัวไหนที่ไม่มีแบตเตอรี่ และยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แสดงว่าเป็นกล้องระบบกลไกหรือระบบแมนนวล
ภาพจาก thailandoutdoor
2.2. กล้องระบบไฟฟ้า (Electronic)
สำหรับประเภทนี้ ก็จะตรงกันข้ามกับแบบแรก เพราะต้องมีระบบไฟฟ้าในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่หรือไฟฟ้าจากวงจรภายในกล้อง การเลือกซื้อต้องดูให้แน่ใจว่าใช้ได้ครบทุกส่วนไหม เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าข้างใน มักจะเสื่อมสภาพไว้มากๆ เลยนะ
ภาพจาก lomography
3. แบ่งตามระบบโฟกัส
มักจะพบเจอหลักๆ ในกล้องขนาด 135 Small Format (Full Frame) โดยแบ่งได้ 2 แบบ
3.1. กล้องฟิล์ม RF (Range Finder)
สำหรับคนที่เพิ่งเล่นกล้องฟิล์ม อาจจะยากหน่อยในช่วงแรก เพราะใช้วิธีโฟกัสด้วยการหมุนภาพซ้อนทั้ง 2 ภาพ ให้ทับกันเป็นภาพเดียว เรียกว่าการ Parallax Focus
ภาพจาก wikiwand
ภาพจาก wikiwand
3.2 กล้องฟิล์ม SLR (Single Lens Reflex)
เป็นกล้องฟิล์มที่ถูกพัฒนาต่อยอดไปเป็นกล้อง DSLR ในปัจจุบัน ซึ่งในช่องมองภาพ (View Finder) เราเห็นยังไง ภาพที่เราได้ก็จะเป็นอย่างนั้นเป๊ะๆ กล้องฟิล์ม SLR เป็นกล้องที่ถูกพัฒนามาจาก กล้อง RF โดยการปรับปรุงจุดด้อยบางอย่างของกล้องฟิล์ม RF
ภาพจาก pinterest
ภาพจาก Medium
ภาพจาก Medium
3.3 กล้องฟิล์มแบบกะระยะ
ส่วนมากจะพบได้ในกล้อง Compact ขนาดเล็ก วิธีใช้ก็คือเล็งแล้วถ่าย แชะๆ หรือที่เรียกว่า Point&Shoot ซึ่งจะมีระยะชัดใกล้สุดที่ 1, 1.5, 3 เมตร ถึงระยะไกลสุด (infinity) ความยากของมันคือ เราไม่สามารถปรับระยะได้ผ่านเลนส์ ต้องอาศัยการเดินกะความห่างเอา ซึ่งแอดบอกเลยว่าถ้าใครไม่ได้จริงจังกับการถ่ายภาพ ถ่ายเอาสวยเอามัน ก็แนะนำตัวนี้เลย เพราะราคาถูกที่สุดในบรรดากล้องฟิล์มทั้งหมดแล้วล่ะ
ภาพจาก artyt.me
ภาพจาก Medium
ตัวอย่างสัญลักษณ์ระยะโฟกัส ของกล้อง Olympus Trip 35
- รูปคนครึ่งตัว = 1 เมตร
- รูปคนสองคน = 1.5 เมตร
- รูปคนสามคน = 3 เมตร
- ภูเขา = infinity
ภาพจาก Lomography
การเลือกกล้องฟิล์มให้เหมาะสมกับเรา
1.อยากแรกเลยคือ การหาข้อมูลประกอบเพื่อการตัดสินใจ เพราะแม้ว่ากล้องฟิล์มจะมีราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกล้องดิจิทัล แต่ถ้าจะซื้อมาใช้ทั้งที ก็จัดไปให้ดีๆ ไปเลย
2. ตรวจดูที่บอดี้ของกล้องโดยรวมสักหน่อยว่าสภาพของตัวกล้องเป็นยังไง มีร่องรอยตำหนิตรงจุดไหนบ้าง เพราะยิ่งมีร่องรอยเยอะ ก็หมายความว่ากล้องตัวนี้ผ่านการใช้งานมานาน ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้งานในอนาคต ดังนั้นเช็กสักหน่อยเพื่อความอุ่นใจน้าาา
3. มาต่อกันที่ระบบการทำงาน ฟังก์ชันต่างๆ ยังใช้งานได้ครบรึเปล่า ส่วนที่มีปัญหาได้รับการแก้ไขรึยัง หรือถ้าแก้ไม่ได้จะส่งผลอะไรบ้าง เรื่องแบบนี้ให้ถามผู้ขายไปเลย กล้องมือสองผ่านการใช้งานมาแล้วถามไปเลยอย่าไปกลัว
4. ส่วนที่ต้องดูให้ละเอียดยิบเลยนะคือ ‘เลนส์’ เพราะเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญมากก และยังเป็นส่วนที่เปราะบางเสี่ยงต่อการเสียหายมากที่สุดด้วย ยิ่งถ้าเป็นกล้องเก่าๆ ต้องส่องให้ดีๆ เลยนะ เพราะอากาศในประเทศไทยที่ร้อนชื้น หากเก็บรักษาไม่ดีก็อาจทำให้เลนส์ขึ้นฝ้าขึ้นราได้เลยนะ
5. สุดท้ายหากเป็นไปได้ก็ขอดูภาพตัวอย่างจากกล้องนั้นๆ ถ้าไม่มีก็ลองเสิร์ชหาข้อมูลจากกูเกิลได้เลย
เปิดพิกัดร้านกล้องฟิล์มในกรุงเทพฯ
จะเล่นกล้องฟิล์มทั้งที ก็ต้องรู้แหล่งซื้อขายป่ะ แอดมัดรวมมาให้แล้วกับร้านกล้องฟิล์มให้กับชาวอนาล็อก เอาล่ะ เตรียมตัวพร้อมลุยสู่อาณาจักรฟิล์มกันเถอะ!!!
1. เมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ชั้น 5
พิกัด : 900 ถนน มหาไชย แขวง วังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
แหล่งขายกล้องฟิล์มไว้ใจได้ทุกร้าน ใครเพิ่งหัดเล่นใช้งานไม่เป็น พ่อค้าแม่ค้าที่นี่เค้าใจดียินดีสอนให้ฟรีๆ เลยจ้า หรือจะคุยเล่นถามหาความรู้ ก็ขอบอกเลยว่าที่นี่คือแหล่งกูรูกล้องฟิล์มดีๆ นี่เอง
ภาพจาก Mega Plaza สะพานเหล็ก Facebook
ภาพจาก Mega Plaza สะพานเหล็ก Facebook
2. AIRLAB
พิกัด : AirLab ซ. สุขุมวิท 81 เวลาทำการ ทุกวัน 11:00-20:00 น BTS อ่อนนุช
ชุมชนเล็กๆ ของเหล่าคนรักกล้องฟิล์มที่ “แอ๊ะ-ชาติฉกาจ ไวกวี” ช่างภาพฝีมือดีระดับแถวหน้าของเมืองไทย สร้างขึ้นจากความชอบของตัวเอง พร้อมกับบริการครบวงจรไม่ว่าจะจำหน่ายกล้องฟิล์ม ล้างสแกนฟิล์ม อัดภาพ หรือม้วนฟิล์มหลากชนิดที่มีมาให้เลือกสรรค์ตามใจชอบ
ภาพจาก soimilk
ภาพจาก soimilk
3. Siam TLR
พิกัด : Siam TLR ชั้น G มหาทุนพลาซ่า 888 เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 12:00-18:30 น. เสาร์ 12:00-17:00 น. BTS เพลินจิต
ไม่ใช่แค่ขายกล้องฟิล์ม แต่ยังรับซ่อมกล้องฟิล์มอีกด้วย! ไม่ว่ากล้องจะมีปัญหาอะไร ร้านนี้เค้ายินดีช่วยเหลือแถมให้คำแนะนำดีๆ ให้กับลูกค้าอีกด้วย มั่นใจได้ว่าได้ของดีกลับไปแน่นอน
ภาพจาก soimilk
ภาพจาก soimilk
4. Husband & Wife
พิกัด : Husband and Wife ซ.แจ้งวัฒนะ -ปากเกร็ด 29 โทร. 0-2011-6126 เวลาทำการ อังคาร-เสาร์ 11:00-20:00
จากความชอบส่วนตัวในการถ่ายภาพฟิล์ม และเสื้อผ้าสไตล์วินเทจ ของสามีภรรยาผู้ก่อตั้งร้าน ทำให้ที่นี่คือสวรรค์ของผู้ที่หลงใหลภาพฟิล์ม ด้วยคลังม้วนฟิล์มที่ขนมากว่า 100 ประเภท! นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์และน้ำยาล้างฟิล์ม หนังสือภาพ กล้องฟิล์มบางรุ่น รวมถึงอุปกรณ์เสริมมาให้เลือกด้วยนะ
ภาพจาก soimilk
ภาพจาก soimilk
5. IQ Lab
พิกัด : 35 ตึก ITF สีลม โทร. 02-266-4080 เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8:30-18:00 น. เสาร์ 8:30-12:00 น. BTS ช่องนนทรี
สำหรับใครที่มีงบเยอะ เริ่มต้นอยากจัดไปเทพๆ สักตัวต้องร้านนี้เลย เพราะที่นี่เค้ายกกล้อง Leica มาเอาใจสาวกกันเลยทีเดียว ฉะนั้นการนำเสนอแต่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่ร้านใช้เป็นตัวเลือกเสมอมา
ภาพจาก soimilk
ภาพจาก soimilk
ชุมชน / กลุ่มคนที่สนใจกล้องฟิล์ม
เมื่อเล่นกล้องฟิล์มแล้ว ก็ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนเล่นกล้องฟิล์มด้วยกันสิถึงจะสนุก แอดรวมมาให้แล้วกับชุมชนเล็กๆ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราได้มีไฟในกาถ่ายภาพต่อไปเรื่อยๆ จะมีที่ไหนบ้างตามมาดูกันนน
1. โรงเรียนลำยูรโฟโต้ Lamyoon Foto
พิกัด : เลขที่ 10 ม.2 ถ.ชัยพฤกษ์ ซอย 5 (ซ.ลูกอินทร์ ), แขวงตลิ่งชัน ,เขตตลิ่งชัน ,กรุงเทพฯ 10170 โทร 098-827-4947, 091-062-6190, 087-808-3600
สำหรับผู้ที่หลงใหลการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม แอดขอแนะนำโรงเรียนลำยูรโฟโต้ ที่สร้างขึ้นมาจากความรักในการถ่ายภาพของ คุณจตุรงค์ หิรัญกาญจน์ อาจารย์สอนพิเศษและอดีตช่างภาพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการล้างฟิล์มให้กับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังสามารถนำภาพถ่ายที่ล้างแล้ว มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้วยนะ
ภาพจาก โรงเรียนลำยูรโฟโต้ Lamyoon Foto Facebook
ภาพจาก โรงเรียนลำยูรโฟโต้ Lamyoon Foto Facebook
2. Analox Film Cafe
พิกัด : Analox Film Cafe ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ เวลาทำการ ทุกวัน 10:00-21:00 น. BTS ช่องนนทรี
คาเฟ่ของคนรักกล้องฟิล์มคือนิยามของ Analox Film Cafe ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง บอกเลยว่าเหมาะสำหรับคอมมูนิตี้ของผู้ที่ชื่นชอบในภาพฟิล์ม เพราะนอกจากจะมีเครื่องดื่มแล้ว ยังมีม้วนฟิล์มขาย และบริการล้างฟิล์มจากร้านอีกต่างหาก หรือใครจะมาซ้อมถ่ายภาพเก็บบรรยากาศสวยๆ บริเวณร้านก็ได้ ร้านนี้เค้าจัดสวยคูลๆ ไปเลยย
ภาพจาก bkkmenu
3. LERT's @YELO House
พิกัด : 20/2 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ การเดินทาง BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 3 เดินเข้าซอยเกษมสันต์ 1 ประมาณ 300 เมตร และเดินเข้าไปในตึก Yelo House ร้านจะอยู่ติดกับคลองแสนแสบ
ร้านล้างฟิล์มเล็กๆ ที่หลบอยู่ริมคลองแสนแสบ มาพร้อมบรรยากาศสุดร่มรื่น เจ้าของเค้าบริการดี แถมล้างฟิล์มไวมากๆ เหล่าผู้ที่รักการถ่ายภาพฟิล์มต่างก็แวะเวียนมากันบ่อยๆ ใครสนใจแลกเปลี่ยนความเห็นก็อย่าลืมเข้ามาที่ LERT's น้าาา
ภาพจาก YELO House
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
-
หัวใจสำคัญสำหรับมือใหม่หัดถ่ายภาพฟิล์มก็คือการศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ใช้กล้องฟิล์มได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่เสี่ยงต่อการถูกหลอกขายอีกด้วย
-
การเลือกกล้องฟิล์มที่ดีที่สุดคือการไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะถ้าได้ลองจับแล้ว จะรู้ทันทีว่ากล้องตัวนั้นเหมาะกับเรารึเปล่า
-
จงมั่นใจในตัวเอง ออกไปถ่ายภาพแล้วก็อย่าลืมแบ่งปันภาพถ่ายมาให้เราบ้างน้าาา
ขอขอบคุณ
klongfilmddshop, sgmagazine, supremeprint,
โดย Belt
Temporary content writer