พาชม "5 สถานีใหม่ล่าสุด" ของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer6 ส.ค. 2562 avatar writer17.5 K
พาชม "5 สถานีใหม่ล่าสุด" ของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

 เดินทางเข้าเมืองสะดวก และรวดเร็วกว่านี้ ไม่มีอีกแล้วววว~
เจาะลึก "5 สถานีใหม่ล่าสุด" ช่วงวัดมังกรฯ - ท่าพระ 
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เชื่อมฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรีเป็นหนึ่งเดียว
ประชาชนแห่นั่งฟรี แวะถ่ายรูปชมความสวยงามของสถานี คึกคักมากๆ


โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ได้เปิดทดลองให้บริการสำหรับประชาชนโดยทั่วไปสามารถใช้บริการได้ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ระหว่างสถานีวัดมังกรฯ - ท่าพระ รวมทั้งหมด 5 สถานี เดินทางฟรี! โดยไม่คิดค่าโดยสารใดๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประชาชนมาใช้บริการกันอย่างคึกคัก แม้ว่าในช่วงแรกนี้จะเปิดให้บริการเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม (เปิดบริการ เวลา 10.00-16.00 น.) หลายคนมากันเป็นหมู่คณะ บ้างก็มาเป็นครอบครัว เพื่อชมความงดงามของสถานีที่เป็นใต้ดินทั้ง 4 แห่ง และเก็บภาพประทับใจใส่ไว้ในโทรศัพท์มือถือ ในแต่ละสถานีก็จะมีเจ้าหน้าที่ของ BEM มาคอยอำนวยความสะดวก และให้ข้อมูลสำหรับประชาชน หากมีข้อสงสัยในช่วงทดลองเปิดให้บริการ ซึ่งบรรยากาศก็มีความน่ารักอยู่ ให้ได้ยิ้มกัน เพราะหลายคนเดินทางมาคนเดียว ก็อยากถ่ายรูปตัวเองคู่กับสถานี เลยต้องให้พนักงานเหล่านี้ช่วยถ่ายรูปให้ เรียกว่า #เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว แต่พนักงานทุกคนล้วนยิ้มแย้ม และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้บริการ

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

(ซ้าย) รถรุ่นใหม่ซึ่งให้บริการในช่วงส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-ท่าพระ (ขวา) รถรุ่นเดิมที่ให้บริการในปัจจุบัน


สถานีรถไฟฟ้าทั้ง 5 แห่ง จะมีความพิเศษ และโดดเด่นยังไงบ้าง?

คราวนี้เราลองมาเจาะลึกในส่วนต่างๆ ของทั้ง 5 สถานีที่เปิดใหม่กันเลยดีกว่า ว่าจะมีความสวยงามของการตกแต่ง และรูปแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมอะไรที่น่าสนใจบ้างนะ ต้องขอไปพิสูจน์ด้วยตัวเองหน่อยละ

MRT สถานีวัดมังกรฯ (รหัส BL29)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

จะสังเกตเห็นว่าบนป้ายสถานีก็ยังมีลายจีนที่เป็นเอกลักษณ์

สถานีวัดมังกรฯ ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ช่วงตลาดเยาวราช แยกแปลงนาม และวัดมังกรกมลาวาส สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในสถานีมีความผสมผสานระหว่างความเป็นไทย-จีน ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบสถานีนั่นเอง การตกแต่งบริเวณผนังช่วงทางเดินขึ้น-ลงของสถานี ถูกประดับด้วยลายมังกร สลับกับลายดอกบัวจีน ส่วนภายในสถานีจะใช้โทนสีแดง-ทอง เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเสา ฝ้าเพดาน แต่ยังแอบแฝงความเป็นจีน มีลายจีนที่เป็นเอกลักษณ์ให้เห็นอยู่ตลอด ทุกจุดในสถานีเลยก็ว่าได้

 

ถ้าใครเดินทางมาที่สถานีวัดมังกรฯ แนะนำให้ใช้ทางออกที่ 3 จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์โดยสาร บันไดเลื่อน และบันได และมีความสวยงามหลากหลายจุดที่สามารถเก็บความประทับใจได้ตลอด ส่วนทางออกที่ 2 จะมีเฉพาะลิฟต์โดยสาร และบันไดเท่านั้น

มุมถ่ายรูปที่ห้ามพลาด

  • บันไดทางขึ้น-ลง (ทางออกที่ 2) ให้ความรู้สึกหมือนกับลอดท้องมังกรอยู่ พร้อมกับลวดลายผนังที่มีความสวยงาม
  • บริเวณเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร (ทางออกที่ 3) สังเกตที่เพดานจะมีมังกรสีทองพาดลงมา แอบมีไฟสีแดงจากตัวด้วย

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แผนผังบริเวณโดยรอบของสถานีวัดมังกรฯ


MRT สถานีสามยอด (รหัส BL30)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ป้ายชื่อ "สถานีสามยอด" เป็นสถานีเดียวที่ทำป้ายเหมือนกับสถานีที่เป็นลอยฟ้า

สถานีสามยอด ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กันเลย รูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ตัวโครงสร้างสถานีได้สร้างเป็นอาคารจำนวน 3 หลัง ต่อกัน เหมือนอาคารบ้านเรือนทั่วไป แต่ความจริงแล้วนี่เป็นสถานีรถไฟฟ้า ประตูเป็นแบบบานเฟี้ยม เป็นรูปแบบในสมัยก่อน (ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ เวลาเปิดบานประตูจะทับซ้อนกันไปนั่นเอง)

 

ชั้นชานชาลาของสถานีสามยอด แบ่งเป็น 2 ชั้น ไม่ได้ชานชาลาร่วมกันนะ โดยชานชาลาไปหลักสองจะอยู่ลึกกว่า เพราะจะเดินรถไปสู่สถานีสนามไชย  ก่อนลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความลึกอย่างมาก

 

อีกหนึ่งความพิเศษของสถานีนี้ก็คือ ชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับเดียวกับพื้นถนนเลย ซึ่งโดยปกติแล้ว ชั้นจำหน่ายตั๋วสถานีอื่นๆ จะอยู่ลงไปจากชั้นผิวถนน 1-2 ชั้น แต่ถ้ามาที่สถานีนี้แล้วจะเจอเครื่องแตะบัตรและเข้าสถานีได้เลย จึงทำให้ระหว่างชั้นชานชาลา กับชั้นจำหน่ายตั๋ว จะมีความลึกเป็นพิเศษ อีกหนึ่งเหตุผลก็เพราะจะมีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกสายที่สถานีนี้ด้วย ทำให้ต้องมีการวางโครงสร้างสถานีรองรับในอนาคตนั่นเอง

มุมถ่ายรูปที่ห้ามพลาด

  • สถาปัตยกรรมภายนอกสถานี ดูเผินๆ โครงสร้างก็เหมือนกับอาคารทั่วไปที่สร้างขึ้นตั้งแต่อดีตเลย แต่ความจริงแล้วนี่คืออาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ให้ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ และก็คือทางเข้า-ออกสถานีนั่นเอง
  • บริเวณโถงชั้นชานชาลา ทั้ง 2 ชั้น จะมีภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้หาดูง่ายๆ แถมเสายังดีไซน์เป็นประตูสามยอดอีกด้วย

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แผนผังบริเวณโดยรอบของสถานีสามยอด


MRT สถานีสนามไชย (รหัส BL31)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ป้ายสถานีบริเวณด้านหน้ามิวเซียวสยาม ซึ่งถือเป็นทางเข้า-ออกที่สำคัญของสถานีนี้

สถานีสนามไชย ถือเป็นสถานีไฮไลท์ที่สุดสำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินเลย เพราะได้ชื่อว่าเป็น "สถานีที่สวยที่สุดในประเทศไทย" รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้หาดูง่ายๆ ได้รับการรังสรรค์จากศิลปินแห่งชาติ ออกแบบให้ชั้นจำหน่ายตั๋ว เป็นเหมือนท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เสาระหว่างทางเดินลงลายกระเบื้องดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว แถมยังจำลองกำแพงเมืองมาไว้ที่นี่ด้วย เรียกว่าพอเดินทางมาถึงสถานีนี้ ก็รู้ได้เลยว่าตอนนี้เราอยู่ในเขตของกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานเรียบร้อยแล้ว 

 

นอกจากนี้ สถานีสนามไชยยังถือเป็นจุดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ สนามหลวง ปากคลองตลาด มิวเซียมสยาม และยังเชื่อมต่อกับการเดินทางทางเรือ แม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ถ้าจะพูดว่า "สถานีสนามไชย" ถือเป็นหัวใจสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเลย ก็คงไม่จะผิด

 

โครงสร้างสถานี จะมีความลึกเป็นพิเศษจากชั้นพื้นผิวถนน ต้องเดินลงมา 2 ชั้น ถึงจะเจอกับชั้นจำหน่ายตั๋ว จากนั้นจะต้องลงไปอีก 2 ชั้น เพื่อไปสู่ชั้นชานชาลา เนื่องจากสถานีนี้เป็นสถานีสุดท้ายก่อนจะลอดแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามไปฝั่งธนบุรี ซึ่งมีความลึกเทียบเท่าความสูงตึก 10 ชั้นเลยทีเดียว ลองนึกภาพตามก็จะรู้ว่ามันลึกขนาดไหนกัน

มุมถ่ายรูปที่ห้ามพลาด

  • บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วของสถานี ไม่ว่าใครที่เดินทางมาที่สถานีนี้ ก็ต้องเก็บภาพความสวยงามนี้กลับไปด้วย ตอนที่แวะไปถ่ายรูปก็เห็นสถานีนี้แหละ คึกคักสุดแล้ว ผู้คนมากมายทั้งไทย และต่างชาติ หยิบกล้องมาถ่ายกันไม่ขาดสายเลย
  • ทางออก 1 ด้านหน้ามิวเซียมสยาม ถือเป็นจุดขึ้น-ลงที่ไม่มีหลังคามาบดบังทัศนียภาพ เรียกว่ารับแสงแดดสายฝนเต็มที่ 

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แผนผังบริเวณโดยรอบของสถานีสนามไชย


MRT สถานีอิสรภาพ (รหัส BL32)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ลวดลายไทยถูกประดับตกแต่งในบริเวณสถานีอิสรภาพ

สถานีอิสรภาพ ถือเป็นสถานีใต้ดินแห่งเดียวในฝั่งธนบุรี หลังจากรถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว รถไฟฟ้าก็จะมาสู่สถานีนี้นั่นเอง ความโดดเด่นก็เป็นรูปหงส์สีทองบริเวณเสาของชั้นจำหน่ายตั๋ว ที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณสถานี ใครจะเดินทางมาโรงพยาบาลศิริราช หรือเที่ยวตลาดวังหลัง ก็ลงที่สถานีนี้แล้วต่อรถไปอีกนิดนึงก็ถึงแล้วจ้าาา

 

นอกจากนี้ สถานีอิสรภาพ ยังมีส่วนของชั้นร้านค้า (Retail Area) ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นถนน และชั้นจำหน่ายตั๋วด้วย สามารถเดินเชื่อมกันได้ทั้ง 2 ทางออก ซึ่งจากที่ได้สังเกตแล้วสถานีในส่วนต่อขยายไม่มีชั้นร้านค้าเลยนะ จะมีที่สถานีอิสรภาพเพียงสถานีเดียว

มุมถ่ายรูปที่ห้ามพลาด

  • สัญลักษณ์รูปหงส์สีทอง บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว มีทั้งหมด 4 เสา
  • ช่วงรถไฟฟ้าวิ่งไปยังสถานีท่าพระ จะทำให้ได้บรรยากาศของรถไฟฟ้าจากใต้ดิน วิ่งขึ้นสู่ลอยฟ้า

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แผนผังบริเวณโดยรอบของสถานีอิสรภาพ


MRT สถานีท่าพระ (รหัส BL01)

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

สถานีท่าพระ เป็นสถานีแรกของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ใช้รหัสสถานี BL01

สถานีท่าพระ ถือเป็นสถานีหัวใจสำคัญของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะเป็นสถานีเปลี่ยนขบวน (Interchange Station) ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และเตาปูน-ท่าพระ จึงทำให้สถานีนี้มีชั้นชานชาลา 2 ชั้น รวม 4 ชานชาลา ดังนี้

  • ชานชาลาที่ 1 ไปหลักสอง
  • ชานชาลาที่ 2 ไปหัวลำโพง-บางซื่อ
  • ชานชาลาที่ 3 ไปจรัญฯ 13-เตาปูน
  • ชานชาลาที่ 4 สิ้นสุดเส้นทางที่สถานีท่าพระ

 

นอกจากนี้ สถานีท่าพระ ยังถือเป็นสถานีแรกในส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ที่เป็นสถานีแบบลอยฟ้า โดยหลังออกจากสถานีอิสรภาพ รถไฟฟ้าก็จะวิ่งไต่ระดับขึ้นมาสู่สถานีท่าพระนั่นเอง

 

ถ้าใครได้มาใช้บริการที่สถานีนี้ ก็จะสัมผัสได้ถึงความกว้างขวางของตัวสถานี โดยทางเข้า-ออกสถานีมีถึง 3 จุด ลิฟต์ภายในสถานี 2 ตัว และบันไดขึ้นลงหลายจุดมาก ขอแนะนำว่าใครที่ไม่เคยมาใช้บริการที่นี่ ให้ทำความเข้าใจก่อนว่าเราจะไปสถานีไหน ก็จะช่วยให้ไม่ไปรอผิดชานชาลานะ

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

แผนผังบริเวณโดยรอบของสถานีท่าพระ


🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈

  • สำหรับใครที่อยากชมความสวยงามของสถานีเปิดใหม่ทั้ง 5 แห่ง ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้า MRT ฟรี! ระหว่างสถานีวัดมังกรฯ - ท่าพระ หรือถ้าหากนั่งรถไฟฟ้ามาจากสถานีอื่นๆ ก็เปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง แล้วก็นั่งต่อไปได้เล้ยยยย~
  • จุดนี้แหละต้องเช็คอินก็คงจะเป็น "บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว สถานีสนามไชย" ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ประชาชนมาถ่ายรูปกันเพียบมากเว่อร์ ถ้าใครมานั่งส่วนต่อขยายแล้ว ก็อย่าลืมมาแวะที่นี่ชมความสวยงามของท้องพระโรงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์กันได้จ้าาาา
  • สามารถถ่ายรูปเก็บความประทับใจกันได้เต็มที่ แต่ต้องช่วยกันรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมด้วยน้า อย่าเอามือไปจับหรือสร้างความเสียหาย เพื่อที่จะได้มีสิ่งสวยงามอยู่กับพวกเราไปนานๆ เน้อออออ
  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น