ไขข้อสงสัย เหตุผลอะไรทำให้ Sneakers บางรุ่นไม่วางขายในไทย

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer16 พ.ย. 2566 avatar writer804
ไขข้อสงสัย เหตุผลอะไรทำให้ Sneakers บางรุ่นไม่วางขายในไทย

 

: พี่คะ รุ่นนี้มีไซซ์ไหมคะ ?

: รุ่นนี้ไม่เข้าไทยค่ะ

: 😭 

 

 

Sneakers รุ่นที่อยากได้ไม่เข้าไทย ความเจ็บปวดของบรรดา Sneakerhead ได้ยินทีไรหัวใจจะร้าวรานทุกที ใจอยากจะตะโกนถาม หนูไม่ใช่ลูกป๊าหรอ ทำไมทำกับหนูอย่างนี้ อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินมาเป็นแรมปี ได้ยินคำตอบแบบนี้มันรับไม่ได้ !

 


ทำไม Sneakers บางรุ่นถึงไม่เข้าไทย ❓

 

 

ปัญหารองเท้ารุ่นที่ชอบไม่เข้าไทย หรือรองเท้าสีที่ใช่ไม่เหลือแล้ว เหตุการณ์พวกนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมไม่เข้าประเทศไทย? แล้วทำไมพอเข้าไทยก็มีแค่ไม่กี่คู่แถมไซซ์ก็ไม่ครบ ? หลายคนอาจจะคิดไปว่า ต้องเป็นเพราะแผนการตลาดแน่ๆ ทำให้หาซื้อยาก เพื่อเพิ่มความอยากได้อะไรงี้…เอาจริง ๆคำตอบนี้ก็ไม่ผิดนะ  แต่ก็ไม่ถูกหมดซะทีเดียว เพราะเหตุผลหลักก็คือเรื่อง Tier ของแต่ละประเทศ  ที่ทำให้ sneakers หลาย ๆ รุ่น ไม่ได้เข้ามาขายในไทย

 

 


Sneakers กับการจัด Tier 
🤔

 

 

◾ Tier คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับวงการ sneakers นัก ?

 

 

Tier หมายถึง ระดับ / ชั้น ซึ่งพอมาเกี่ยวข้องกับ sneakers นั่นจึงหมายความว่า แบรนด์รองเท้ามีการจัดระดับให้กับรองเท้าในแต่ละรุ่น และมีการจัดระดับให้กับแต่ละประเทศ รวมไปถึงจัดระดับร้านค้าในประเทศนั้นๆ อีกด้วย ซึ่ง Tier นี่แหละที่จะบ่งบอกถึงการออกแบบ ประสิทธิภาพ ความนิยม และนวัตกรรม ถ้ารองเท้าคู่ไหนอยู่ใน Tier สูงๆ แปลว่ารองเท้าคู่นั้นคุณภาพจัดเต็ม กระแสมาดี มีสตอรี่เป็นของตัวเอง ซึ่งความตื่นเต้นของเหล่า sneakerhead ก็อยู่ตรงนี้แหละ เพราะคู่ไหน Tier สูงจะผลิตออกตลาดน้อยมาก บางคู่คือผลิตออกมาแค่ในโอกาสพิเศษไปอี๊ก

 

 

ลองคิดตาม…สมมติว่า รองเท้า A เป็นรองเท้าที่  Tier สูงมาก ผลิตมาแค่ 100 คู่เท่านั้น ทำให้ใครๆ ก็อยากได้ ทีนี้แบรนด์ก็จะมาดูแล้วว่าจะส่งไปประเทศไหนจำนวนกี่คู่ และจะส่งไปร้านไหนดี ซึ่งเกณฑ์ที่เขาใช้ในการคัดก็คือ Tier นี่แหละ ซึ่งจะขอแยก Tier ของ sneakers แบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

 

 

 ◾ เริ่มจาก Tier ของรองเท้ากันก่อน 

 

 

  • Tier  ระดับสูงที่สุด กลุ่มนี้คือ ระดับตำนาน แต่ละคู่มักจะมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง ถึงจะผลิตมานานแต่กระแสยังไม่ตก บางคู่ไม่มีขายแล้วด้วยซ้ำ ทำให้หาซื้อยากมาก ยกตัวอย่างเช่น Air Jordan 1 ที่เปิดตัวครั้งแรกปี 1985 แน่นอนว่าผู้สวมใส่คนแรกคือ ไมเคิล เจฟฟรี จอร์แดน (Michael Jeffrey Jordan ) นักบาสเกตบอลระดับตำนานนั่นเอง

  • Tier ระดับกลาง กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ ดีไซน์มาได้สวยถูกใจ คุณภาพเป็นที่ยอมรับ  ยกตัวอย่างเช่น Nike Zoom Pegasus 40 รองเท้าที่น้ำหนักเบา รองรับการกระแทกได้ดี จัดเป็น 1 ในรองเท้าที่ได้รับการรีวิวตรงกันว่าดีเยี่ยม แถมราคาไม่ได้แรงมากด้วย และยังรวมไปถึง samba ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง และ ultraboost light สุดเท่ด้วย

  • Tier ระดับล่าง ในลำดับนี้ก็จะเป็นรองเท้าที่ดีไซน์มาไม่ถูกใจแฟนๆ มากนัก กระแสจึงไม่ได้ดีมาก และคุณภาพอาจจะจะไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ คือซื้อใส่ได้นะในระยะสั้นๆ แต่ถ้าใส่นานอาจจะเกิดอาการเจ็บเท้าได้ ยกตัวอย่างเช่น Nike Air Max 270, Air Zoom Pegasus 38, Ultra boost 1.0 เป็นต้น 

* Tier List ของ sneakers จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี

Michael Jeffrey Jordan นักบาสเกตบอลระดับตำนาน ขณะใส่ Air Jordan 1 ลงแข่ง

 

 

◾ Tier ของแต่ละประเทศ 

 

 

ตรงนี้แต่ละแบรนด์จะถือเป็นความลับ และไม่ได้อธิบายออกสื่อกันมากมาย พวกเขาจะรู้กันเองแค่ภายใน แต่ก็มีข้อสังเกตง่ายๆ อย่างเช่น

  • ประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญกับอะไร เช่น เช่น ในประเทศไทยกีฬาบาสเกตบอลจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าอเมริกา นั่นจึงทำให้ รองเท้าบาสเกตบอลไม่ค่อยเข้าไทยมากนัก
  • อุปสงค์ของแฟนๆ ประมาณว่า แฟนๆ มีความต้องการมากแค่ไหน ถึงแม้จะมีกลุ่มคนที่ยอมเทหน้าตักเพื่อพา sneakers ตัวท็อปกลับบ้าน แต่ก็อาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่ใหญ่มากพอที่แบรนด์จะส่งรุ่นนั้นๆ เข้าไทย ถ้าอยากได้จริง ๆ ก็ต้องบินไปหาซื้อที่ประเทศอื่นอย่าง ญี่ปุ่นหรือเกาหลีแทน

 

 

 ◾ Tier ของร้านค้า 

 

 

เชื่อว่าหลายคนเคยสงสัยว่า ทำไมร้านนี้มีรุ่นนี้ขาย แล้วทำไมช็อปออฟฟิเชียลถึงไม่มีขาย ? ซึ่งคำตอบก็ไม่ต่างจาก Tier ของประเทศเลย เพราะไม่ใช่ทุกร้านจะได้สิทธิ์วางขายรองเท้าทุกรุ่น คือแบรนด์จะดูร้านค้าคร่าวๆ คือ ร้านนั้นเป็นแหล่งรวมรองเท้าลักษณะใด ลูกค้าเข้าเยอะไหม ดูไปถึงว่าการตกแต่งร้านเท่มีสไตล์หรือเปล่า อย่างเช่นรองเท้า adidas consortium ในไทยจะมีแค่ 2 ร้านเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์วางขายนั่นก็คือ CARNIVAL และ Atmos ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลาอยากจะหารองเท้าในกระแสสักคู่ เราจะวิ่งไป 2 ร้านนี้ก่อน

 

 

Carnival HQ สยาม สแควร์ ซอย 7 รูปภาพจาก FB-Carnival

 

adidas consortium คือ 1 ในไลน์การผลิตของ adidas และจัดเป็นไลน์การผลิตที่อยู่เหนือสุดของไลน์การผลิตทั้งหมด
ด้วยวัสดุดีที่สุด เทคโนโลยีใหม่ที่สุด และขั้นตอนการผลิตยากที่สุด

 

 


 

และทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่ไม่ใช่รองเท้าทุกคู่ ทุกรุ่น ทุกสี จะเข้าไทย บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่า Air Jordan 1 ก็มีขายในบางร้านนะไม่เห็นหายากเลย…ก็ต้องแจ้ง ณ ตรงนี้ว่า ไม่ใช่รองเท้ารุ่นเดียวกันทุกสีจะอยู่ใน Tier เดียวกัน เรียกได้ว่า sneakers ก็มีความซับซ้อนไม่ต่างจากจิตใจเธอเลย 

 

 

อย่างไรก็ตามการที่เราจะควักเงินซื้อ sneakers สักคู่ต้องคำนึงถึงความต้องการ ความชอบของตัวเองเป็นหลักนะ ใช้ใส่ไปไหน ชอบสีอะไร ใส่สบายหรือเปล่า การซื้ออะไรสักอย่างตามกระแสก็ไม่วายว่าจะต้องเปลี่ยนรองเท้าไปเรื่อยๆ เผลอๆ บางคู่ซื้อมาใส่ได้ครั้งเดียวกระแสก็หมดแล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนตกหลุมรักง่าย รักทุกคู่ ก็จัดโลดจ้า

 

 

😎

 


 

💙  อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่


 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://ppro.onl/yckptcjc / https://ppro.onl/4e9n6pmn / https://ppro.onl/yckukzfs / https://ppro.onl/2efsr49c / https://ppro.onl/2tm7r5yj

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น