คาบาเรต์ (Cabaret) จิตวิญญาณแห่งปารีเซียง ที่เป็นมากกว่าระบำเปลื้องผ้า
โดย : imnat
"ฉันเห็นแต่ผู้หญิงที่ถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ"
ข้อความของสวีเจียว นักแสดงหญิงชาวจีน ที่ได้แสดงความคิดเห็นลง Weibo (เวย์ปั๋ว) หลังได้ชมการแสดงของลิซ่า
เป็นกระแสตั้งแต่ก่อนเปิดม่าน จนกระทั่งม่านได้ถูกกระชากปิดลง สำหรับการก้าวขึ้นไปอีกขั้นของ ลิซ่า หนึ่งในสมาชิกวงแบล็กพิงก์ หลังขึ้นแสดงโชว์คาบาเรต์ร่วมกับ Crazy Horse (เครซี ฮอร์ส) คณะคาบาเรต์ชื่อดังจากฝรั่งเศส ไปเมื่อช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
แม้ว่าบางคนจะยังปิดหูปิดตา จดจำภาพของคาบาเรต์โชว์ว่าเป็นการแสดงที่ลามกอนาจาร ในแบบที่คนดังอย่างลิซ่าไม่ควรลดตัวลงไปเสมอด้วย แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว คาบาเรต์โชว์ไม่ใช่แค่การเต้นแร้งเต้นกา ปลดเปลื้องเสื้อผ้าและรับเงินจากคนดูเท่านั้น แต่มันเป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับมหานครปารีสมาอย่างยาวนาน เป็นการแสดงอันทรงเกียรติที่ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ แถมยังเป็นต้นแบบให้กับคณะคาบาเรต์โชว์ในหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงในบ้านเราเองด้วย
จากการแสดงคั่นเวลา สู่การแต่งแต้มสีสันให้มหานครปารีสที่หลับใหล
ประวัติศาสตร์ของคาบาเรต์อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ของเมืองที่ให้กำเนิดอย่างปารีสมายาวนาน เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปารีสถูกขนานนามว่า เมืองที่ไม่เคยหลับใหล แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ต้นกำเนิดของคาบาเรต์ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญขนาดนั้น เพราะต้นกำเนิดที่แท้จริงของมันมาจากการแสดงคั่นเวลา ในสถานที่ที่ไม่ต่างอะไรจากผับบาร์ที่เราคุ้นเคยกัน
จนกระทั่งการมาของยุค Belle Époque (แบล เลป็อก) หรือยุคสวยงาม ที่ได้เริ่มขึ้นในปี 1871 ถึงประมาณปี 1914 โดยยุคสวยงามที่ว่านี้ถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ยุคแห่งความเจริญ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ชนชั้นสูงกลายเป็นชนชั้นที่มีบทบาททางสังคมมาก ทำให้กรุงปารีส ณ ตอนนั้นคราคร่ำไปด้วยคนที่มีลุคภูมิฐานรวมถึงฐานะดี
Rodolphe Salis ผู้ให้กำเนิดโชว์คาบาเรต์ ภาพจาก Wikipedia
Rodolphe Salis (โรดอล์ฟ ซาลิส) ผู้ที่เห็นลู่ทางในการยกระดับคาบาเรต์ขึ้นมาด้วยการเปิดตัว Le Chat Noir (เลอ ชาต์ นัวร์) หรือโรงละครคาบาเรต์แห่งแรกในปี 1881 โดยคำว่า คาบาเรต์ มีที่มาจากภาษาวอลลูน (อีกหนึ่งภาษาที่คนฝรั่งเศสใช้กัน) ที่มีความหมายว่าห้องขนาดเล็ก ภาพจำอันโดดเด่นของการแสดงคาบาเรต์ ที่ผู้ทำการแสดงจะต้องขึ้นไปโชว์บนเวทีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีตัวประกอบเป็นคนดูที่นั่งอยู่ด้านล่าง ส่วนเมนหลักของค่ำคืนนั้นก็ได้แก่ การแสดง ที่มีตั้งแต่การร้องเล่นเต้นรำ การเล่นตลก การอ่านบทกวี มีการผสมผสานให้เข้ากับความทันสมัย ให้คาบาเรต์ได้รับการจดจำในฐานะการแสดงที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้คน แทนที่การแสดงคั่นเวลาแบบสุกเอาเผากินเหมือนก่อนหน้า
โดยความสำเร็จของ เลอ ชาต์ นัวร์ ได้กลายเป็นสีสันที่แต่งแต้มกรุงปารีสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แถมยังประสบความสำเร็จดี จนทำให้คณะคาบาเรต์เจ้าอื่น ๆ ผุดขึ้นตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในปี 1889 ที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ตอกย้ำความเป็นอิสระที่ชาวฝรั่งเศสสามารถทำอะไรก็ได้ เลยกลายเป็นที่มาของคณะคาบาเรต์ที่แหวกแนวและมีชื่อเสียงมากที่สุดอย่าง Moulin Rouge (มูแลง รูจ)
มูแลง รูจ คณะคาบาเรต์ที่มีจุดเด่นอยู่ที่กังหันลมสีแดงอันฉูดฉาดที่ตั้งตระหง่านอยู่บนหลังคา สะท้อนภาพความเป็นอิสระ (ที่จะทำอะไรก็ได้) ในยุคนั้นได้ดี โดยมูแลง รูจ เป็นคาบาเรต์คณะแรกที่มีการอัปเกรดสถานที่ให้มีความน่าสนใจ มีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่หรูหรา ประดับตกแต่งตัวร้านด้วยโคมไฟแชนเดอเลียร์ที่ห้อยระย้าอยู่กลางห้อง รวมไปถึงการเลือกใช้สีสันภายใน ที่มองปราดเดียวก็พอจะเดาได้ ว่ากลุ่มเป้าหมายของที่นี่ ไม่ใช่ลูกค้าที่อยู่ในระดับชนชั้นล่างแน่
และถ้าทุกคนคิดว่าความสำเร็จของ เลอ ชาต์ นัวร์ จะมีอิทธิพลต่อวงการคาบาเรต์โชว์แล้ว ความสำเร็จของมูแลง รูจสามารถสร้างอิทธิพลได้ไกลกว่านั้น เพราะชื่อเสียงเรียงนามของมัน ได้ทำให้เกิดคณะคาบาเรต์ในต่างประเทศขึ้นมา แถมความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เนื้อหาการแสดงที่ถูกนำเสนอในแต่ละประเทศ ถูกปรับให้เข้ากับสภาพสังคมในประเทศนั้นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเยอรมนี มีการหยิบเอาเนื้อหาที่เสียดสีทางการเมืองใส่เข้าไปในโชว์ หรืออย่างอเมริกา ที่คาบาเรต์บ้านเขาถูกปรับให้มาแสดงร่วมกับดนตรีแจ๊ส แถมเนื้อหาการแสดงก็ผ่อนคลายสบายขึ้น มีเนื้อหาส่วนใหญ่ค่อนไปทางตลก และที่สำคัญ ประเทศอเมริกา ยังเป็นต้นกำเนิดการแสดงคาบาเรต์แบบเปลื้องผ้า ที่สร้างความตื่นเต้นฮือฮาให้กับคนในยุคนั้นกันด้วย
Crazy Horse คณะแสดงคาบาเรต์หัวก้าวหน้า
ที่เปลี่ยนการโชว์เรือนร่างให้กลายเป็นศิลปะ
ถ้าถามว่าคาบาเรต์คณะไหนในฝรั่งเศสที่รับเอาอิทธิพลจากประเทศอเมริกามามากที่สุด ก็ต้องผายมือให้กับ เครซี ฮอร์ส คณะแสดงคาบาเรต์ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นคณะคาบาเรต์จากฝรั่งเศส แต่เครซี ฮอร์ส กลับมีความสนใจในการแสดงคาบาเรต์ของอเมริกาเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นหยิบเอาความสนใจที่ว่ามาสร้างเป็นความแตกต่างให้กับคณะคาบาเรต์ของตัวเอง
โดย เครซี ฮอร์ส เป็นคณะคาบาเรต์ที่เปิดตัวในปี 1951 เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวหลังจากกระแสของคาบาเรต์จุดติดจนกลายเป็นที่รู้จักมาได้สักพักใหญ่ แต่จุดเด่นที่ทำให้เครซี ฮอร์สแตกต่างจากคณะแสดงคาบาเรต์เจ้าอื่น ๆ คือความกล้าที่จะทลายกรอบและข้อจำกัดของการแสดง ด้วยการใช้องค์ประกอบอย่างเรือนร่างของผู้หญิงมาบิดให้กลายเป็นศิลปะ ก่อนจะบอกเล่าเนื้อหาที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของคนในสังคม ณ ตอนนั้น แสดงมันออกมาผ่านท่วงท่า และการแสดงทางสีหน้าที่ได้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี หรือเอาง่าย ๆ คือมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่าฉากหน้าอย่างการเปลื้องผ้าเยอะ
ลิซ่า กับการแสดง CRISIS? WHAT CRISIS! การแสดงที่มีเบื้องหลังเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008
โดยลิซ่ารับบทเป็นผู้บริหารสติแตก เปิดตัวมาพร้อมกับฉากหลังอย่างกราฟหุ้นที่ผันผวน ภาพจาก Instagram
Alain Bernardin (อเลน เบอร์นาร์ดิน) หรือผู้ก่อตั้งคณะเครซี ฮอร์ส ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์โชว์อันแปลกใหม่นี้จากความประทับใจแรกหลังจากที่ได้เข้าชมการแสดงคาบาเรต์ของอเมริกา ก่อนจะหันกลับมามองคณะคาบาเรต์โชว์ในประเทศของตัวเองว่า มันยังขาดความตื่นเต้นเร้าใจอยู่ นั่นเลยกลายเป็นที่มาของการถูกขนานนามว่า คณะแสดงคาบาเรต์หัวก้าวหน้า ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยง และพร้อมจะโดนหมายหัวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่มันกลับสร้างมิติใหม่ให้การแสดงคาบาเรต์โชว์ในสมัยนั้น ในแบบที่ไม่เคยมีคาบาเรต์คณะไหนในฝรั่งเศสเคยคิดที่จะทำกันมาก่อน
เบื้องหลังการฝึกซ้อมของเหล่าเครซี เกิร์ล (นักเต้นของคณะเครซี ฮอร์ส) ภาพจาก Crazy Horse
คาบาเรต์ จิตวิญญาณแห่งปารีเซียง ที่เป็นมากกว่าระบำเปลื้องผ้า
อย่างที่บอกไว้ในตอนต้น ว่าจุดเริ่มต้นของคาบาเรต์อยู่เคียงคู่กับมหานครปารีสมายาวนาน เป็นเหมือนกระจกที่เผยให้เห็นภาพสะท้อนแห่งจิตวิญญาณของชาวปารีเซียง ตั้งแต่ก่อนยุคสวยงาม จนกระทั่งเข้ายุคสวยงาม ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยตัวเนื้อหาได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านบทเพลง การแสดงออกทางสีหน้าและแววตา รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ไม่ได้ถูกทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับเรื่องเพศใดใดเลย
และสำหรับใครที่กำลังคิดอยู่ว่า ถ้าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางเพศ แล้วทำไมต้องให้นักเต้นถอดผ้าถอดผ่อนออกมาทำการแสดงกันด้วย จะบอกว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่คาบาเรต์ทุกคณะที่มีการโชว์เรือนร่างของผู้แสดงในลักษณะที่เปลือยกาย ขึ้นอยู่กับการวางแผนโชว์ของคณะนั้น ๆ ว่าอยากจะให้มันเกิดขึ้นไหม อย่างถ้าเป็น เครซี ฮอร์ส คณะคาบาเรต์ที่กำลังถูกพูดถึงกันเยอะมาก และเป็นคณะที่ลิซ่าได้ไปร่วมแสดงด้วย เขามีความตั้งใจอันแน่วแน่มาตั้งแต่แรกแล้วว่า อยากจะใช้เรือนร่างของผู้หญิงมาพรีเซนต์ให้กลายเป็นศิลปะการแสดง เป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากจะทลายกรอบและข้อจำกัดของการแสดงในตอนนั้น แถมยังประสบความสำเร็จดี มีคนที่เข้าใจและเห็นถึงความตั้งใจที่ต้องการจะสื่อสารนี้กันอยู่เยอะ
และนอกจากจะเป็นการแสดงที่มากกว่าการเปลื้องผ้าโชว์แล้ว คาบาเรต์ยังเป็นการแสดงที่มีอิทธิพลในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนธรรมดาได้สานต่อและทำในสิ่งที่ชอบ โดยเฉพาะกับชายที่ชื่อ Christian Louboutin (คริสติยอง ลูบูแตง) ที่เคยเริ่มต้นอาชีพดีไซเนอร์ของตัวเองด้วยการเป็นผู้ช่วยในโรงละครคาบาเรต์ ก่อนจะได้รับโอกาสให้ออกแบบรองเท้าของนักเต้น ฝึกฝนฝีมือของตัวเองมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็ได้กลายเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรองเท้าพื้นแดงที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
ไม่ใช่แค่นั้น คาบาเรต์โชว์ยังเป็นการแสดงที่ถูกให้การยอมรับจากทั้งคนธรรมดารวมไปถึงบรรดาคนดัง ไม่ว่าจะเป็นคนดังในแวดวงนักร้อง นักแสดง หรือว่าศิลปิน มีแต่คนอยากจะได้รับบัตรเชิญให้ไปร่วมแสดงด้วย คาบาเรต์เลยไม่ใช่แค่การเต้นแร้งเต้นกา หรือเปิดอกโชว์ก้นกันอย่างเดียว แต่เราสามารถเรียกมันได้ว่า ศิลปะการแสดงแขนงหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับและผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาอย่างหนัก จนกลายเป็นการแสดงอันมีเกียรติ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่หลายคนนึกถึง เมื่อเอ่ยถึงกรุงปารีสไปเป็นที่เรียบร้อย
Partition มิวสิกวิดีโอเพลงของบียอนเซ่ ที่ได้เหล่านักแสดงคาบาเรต์จากฝรั่งเศสมาร่วมแสดงโชว์ด้วย
แม้ว่าการถูกหยิบมาเชื่อมโยงให้เข้ากับความสนใจในด้านต่าง ๆ จะทำให้คาบาเรต์โชว์มีโอกาสจะได้รับการยอมรับจากผู้คนมากขึ้น แต่เราก็ปฎิเสธกันไม่ได้อยู่ดี ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ติดภาพจำว่าคาบาเรต์โชว์เป็นการแสดงที่ลามกอนาจาร (และไม่รู้ว่าจะแก้ไขความไม่เข้าใจตรงนี้ได้เมื่อไหร่) เพราะทุกอย่างอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้ายังจมปลักอยู่กับความคิดที่ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน คาบาเรต์โชว์ก็จะยังคงเป็น วัตถุทางเพศ ในแบบที่ คนบางคน เข้าใจอยู่วันยังค่ำ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- Christian Louboutin รองเท้าพื้นแดง ที่ครองใจตัวแม่ทุกวงการ
- แพงแบบมีลูกเล่น แพงแบบไม่ตะโกน ! รู้จัก Quiet Luxury เมื่อ 'ความแพง' ไม่จำเป็นต้อง 'ออกตัวแรง' เสมอไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : wikipedia (1)(2)(3), paradislatin, theatreinparis, scmp และ crazy horse
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)