เปิดโพย! ความหมายของ Care Labels หรือสัญลักษณ์บนป้ายสินค้า

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer13 ม.ค. 2563 avatar writer22.0 K
เปิดโพย! ความหมายของ Care Labels หรือสัญลักษณ์บนป้ายสินค้า

บนป้ายเสื้อที่นอกจากจะบอกไซซ์ บอกแบรนด์แล้ว
ยังมี Care Labels ด้วยนะ 
สัญลักษณ์พวกนี้แหละ
ตัวช่วยชั้นดีในการช่วยให้เราถนอมเสื้อผ้าให้ใส่ได้นานขึ้น


เคยสงสัยกันไหมว่าป้ายที่ติดอยู่ตรงคอเสื้อ ทำไมมันมีสัญลักษณ์อะไรเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดเช่น รูปถังน้ำ รูปเตารีด หรือแม้กระทั่งรูปสามเหลี่ยม สัญลักษณ์เหล่านี้คืออะไร? มีไว้เพื่ออะไร? แต่ละอันมีความหมายว่ายังไง วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้วจ้า~

Care Labels

Care Labels

Care Labels หรือ ป้ายการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ เรามักจะพบป้ายพวกนี้ติดอยู่กับเสื้อผ้า ตุ๊กตา สิ่งทอต่างๆ หรือสิ่งของที่ต้องนำไปซัก ป้ายเหล่านี้มีไว้เพื่อบอกเราว่าเสื้อผ้าชนิดนี้ต้องซักแบบไหน เพื่อเป็นการถนอมและรักษาทรงหรือเนื้อผ้าให้ใส่ได้ยาวนานมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งแต่ละสัญลักษณ์ก็จะมีความหมายแตกต่างกันออกไป แบ่งได้เป็นกลุ่ม ดังนี้ 

หมวดการซักแห้ง

Dry Clean

 

อีกหนึ่งประเภทการซักที่ช่วยถนอมเสื้อผ้าของเราได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ "การซักแห้ง" นั่นเอง อาจจะเป็นวิธีซักผ้าที่ไกลตัวเราซักหน่อย เพราะการซักแห้งต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกับการซักแบบอื่นๆ เรามักจะส่งให้ร้านซักรีดทำให้ซะมากกว่า แต่อย่างน้อยๆ เราก็ควรรู้สัญลักษณ์แนะนำการซักแห้งไว้ ก็ไม่เสียหายน้า 

  • Do Not Dryclean : ห้ามซักแห้ง 
  • Dryclean : สามารถนำไปซักแห้งได้ 
  • Any Solvent : สามารถซักแห้งดวยตัวทำละลายตัวใดก็ได้
  • Any Solvent Except Tetrachlorethylene : สามารถซักแห้งได้กับทุกตัวทำละลาย ยกเว้นเตตระคลอโรเอทิลีน
  • Petroleum Solvent Only : ใช้ตัวทำละลายที่เป็นปิโตรเลียมเท่านั้น
  • Wet Cleaning : ให้ใช้การซักแบบเปียก 

หมวดซักเครื่อง / ซักมือ 

Machine Wash

เริ่มกันด้วยเครื่องหมายการซักผ้า จะมีสัญลักษณ์เป็นรูป "ถังน้ำและคลื่นน้ำ" และแยกย่อยออกมาอีกหลายเครื่องหมายเลย เช่น มีขีดใต้ถังน้ำ มีทั้งแบบ 1 ขีดและ 2 ขีด ซึ่งหมายถึงระดับความอ่อนโยนหรือความนุ่มนวลในการซัก  ยิ่งขีดเยอะเท่าไหร่ แสดงว่าระดับความนุ่มนวลในการซักมากขึ้นเท่านั้น ส่วนรูปมือนั่นหมายถึงเสื้อผ้าชิ้นนี้ควรซักด้วยมือ และสุดท้าย รูปถังน้ำคาดทับด้วยกากบาทคือห้ามซัก นั่นเอง 

เครื่องหมายการแนะนำการซักด้วยอุณหภูมิน้ำ

water temperature

การเลือกอุณหภูมิน้ำในการซักผ้า ก็มีส่วนช่วยรักษาเนื้อผ้าได้นะ ซึ่งระดับอุณหภูมิที่เหมาะกับการซักผ้ามีด้วยกันทั้งหมด 6 ระดับสัญลักษณ์หลักที่ใช้คือ รูปถังน้ำและคลื่นน้ำที่มีตัวเลขระบุอุณหภูมิ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ฝั่งยุโรปนิยมใช้กัน สำหรับเครื่องหมายถังน้ำที่มีจำนวนจุดระบุอุณหภูมิ จะเป็นสัญลักษณ์ที่แบรนด์เสื้อผ้าฝั่งอเมริกาใช้ซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งสองสัญลักษณ์มีความเหมือนกัน ดังนี้ 

  • Water Temperature 30°C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 1 จุด 
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
  • Water Temperature 40°C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 2 จุด 
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน  40 องศาเซลเซียส
  • Water Temperature 50°C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 3 จุด 
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน  50 องศาเซลเซียส
  • Water Temperature 60 °C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 4 จุด
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน  60 องศาเซลเซียส
  • Water Temperature 70 °C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 5  จุด 
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน  70 องศาเซลเซียส
  • Water Temperature 95 °C หรือเครื่องหมายถังน้ำ 6 จุด 
    ซักกับเครื่องซักผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิที่ไม่เกิน  95 องศาเซลเซียส

 การปั่นแห้ง/ ตากแห้ง

Dry

Dry

เมื่อเครื่องซักผ้ามีฟังก์ชั่นปั่นผ้าแห้ง ก็ทำให้ผ้าแห้งเร็วทันใจเหล่าแม่บ้านมากขึ้น แต่การปั่นแห้งไม่ใช่ว่าจะปั่นแบบไหนตามใจก็ได้น้า เรามาดูกันว่าเสื้อผ้าแบบไหนปั่นแห้งได้หรือไม่ได้ ถ้าปั่นได้ต้องปั่นแบบไหรถึงจะเวิร์ก โดยสามารถสังเกตสัญลักษณ์ "รูปสี่เหลี่ยมล้อมวงกลม" ได้เลย ส่วนอันที่มีจุดอยู่ด้วยนั้นหมายถึงระดับอุณหภูมิหรือความร้อนที่ใช้ในการปั่นแห้ง ยิ่งจุดเยอะยิ่งใช้ความร้อนสูง สำหรับสัญลักษณ์ที่มีขีดด้วยหมายถึงระดับความนุ่มนวลเหมือนเดิมจ้า

  • Tumble Dry : สามารถปั่นแห้งได้
  • Low Heat : ปั่นแห้งด้วยครามร้อนต่ำ 
  • Medium Heat : ปั่นแห้งด้วยความร้อยปานกลาง 
  • High Heat : ปั่นแห้งด้วยความร้อนสูง
  • No Heat : ปั่นแห้งโดยห้ามใช้ความร้อน
  • Permanent Press : ปั่นแห้งด้วยระดับการปั่นแบบเบา
  • Delicate : ปั่นแห้งด้วยระดับการปั่นแบบอ่อนโยน

การตากแห้ง

Dry Dry

  • Dry : สามารถตากแห้งได้ตามปกติ
  • Dry Flat : ให้ตากที่พื้นราบ
  • Dry In The Shade : ให้ตากโดยที่ห้ามโดนแสงแดดโดยตรง
  • Do Not Dry : ห้ามตาก 
  • Do Not Tumble Dry : ห้ามใช้เครื่องปั่นแห้ง
  • Hang To Dry : ตากโดยใช้ไม้แขวน
  • Drip Dry : ให้ใช้ไม้หนีบ หนีบกับราวตากผ้า

การใช้น้ำยาซักผ้าขาว

Bleach

มาถึงที่หมวดฟอกขาวหรือหมวดแนะนำการใช้น้ำยาซักผ้าขาวนั่นแหละ ใครที่ชอบใส่ชุดขาว เสื้อขาว กางเกงขาว ต้องอ่านหมวดนี้เลย เพราะว่าการจะซักผ้าให้ขาวไม่ใช่การที่จะใช้น้ำยาซักผ้าขาวแบบไหนก็ได้นะจ๊ะ เราต้องดูลักษณะเนื้อผ้าด้วย เพราะในสารฟอกขาวจะมีความเป็นกรด ถ้าไม่ดูเครื่องหมายแนะนำก่อนนำไปซัก ชุดขาวตัวโปรดของเราอาจจะพังได้ สำหรับเครื่องหมายแนะนำการใช้สารฟอกขาว ให้สังเกตหา "รูปสามเหลี่ยม" ได้เลย 

  • Bleach : สามารถใช้น้ำยาฟอกขาวได้ และสามารถใช้น้ำยาฟอกขาวได้ทุกชนิด
  • Do Not Bleach : ห้ามใช้น้ำยาฟอกขาว
  • Non-Chlorine Bleach  : ห้ามใช้น้ำยาฟอกขาวที่มีส่วนผสมของคลอรีน 

สัญลักษณ์การรีด 

iron

รูปเตารีดเด่นขนาดนี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นั่นก็คือการรีดผ้านั่นเอง ซึ่งผ้าชนิดต่างๆ มีความสามารถในการรับความร้อนได้แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นก่อนจะรีดผ้าคุณแม่บ้านพ่อบ้านทั้งหลายอย่าลืมเช็กสัญลักษณ์กันก่อนด้วยว่าเสื้อผ้าตัวนี้รีดได้ที่อุณหภูมิแบบไหน ถ้าทาบเตารีดแล้วผ้าไหม้ขึ้นมา จะหาว่าเราไม่เตือนไม่ได้น้าาา ซึ่งสัญลักษณ์แนะนำการรีดผ้า ดูไม่ยากเลยแม่จ๋าา~

  • Iron : สามารถรีดที่อุณหภูมิหรือเตารีดแบบใดก็ได้ แล้วแต่ใจสะดวก 
  • Do Not Iron : ห้ามรีด
  • No Stream : ห้ามรีดด้วยเตารีดไอน้ำ
  • Low Temperature : รีดด้วยอุณหภูมิต่ำหรือไฟอ่อนๆ 
  • Medium Temperature : รีดด้วยอุณหภูมิกลางๆ 
  • High Temperature  :  รีดด้วยอุณหภูมิสูง

🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈

  • การซักผ้าตามคำแนะนำของ Care Labels จะช่วยทนุถนอมเสื้อผ้าของเราให้ใส่ได้นานยิ่งขึ้น
  • ทริคการจำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องอุณหภูมิคือ ยิ่งมีจำนวนจุดมากเท่าไหร่เท่ากับว่าเราต้องใช้อุณหภูมิสูงขึ้นเท่านั้น

 

 

 

แสดงความคิดเห็น