เส้นคั่นบางๆ ระหว่าง "ก็อปปี้ กับ แรงบันดาลใจ" แท้จริงแล้วเหมือน หรือต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer14 ต.ค. 2564 avatar writer2.9 K
เส้นคั่นบางๆ ระหว่าง "ก็อปปี้ กับ แรงบันดาลใจ" แท้จริงแล้วเหมือน หรือต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้ว !

 

ในคนที่ทำงานสายครีเอทีฟ ต้องบอกว่าเรื่องของไอเดีย น่าจะเป็นอะไรที่สำคัญต่อการทำงานมากเป็นอันดับต้นๆ ยิ่งถ้าไอเดียต่างจากคนอื่นมากเท่าไหร่ ผลงานของเราก็จะยิ่งโดดเด่น เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากสายงานครีเอทีฟแล้ว สายงานอื่นๆ เองก็ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ไอเดีย เป็นส่วนประกอบในการทำงานด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่โลดโผนหรือพลิกแพลงเท่าคนที่เป็นครีเอทีฟจ๋าๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันต้องมีบ้างแหละที่เราจะต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่าไอเดียนี้

 

แต่การจะได้มาของไอเดียนั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลยว่าปกติแล้วเรามักจะได้ไอเดียมาจากไหน อย่างบางคนอาจจะได้ไอเดียมาจากการนั่งเงียบๆ อยู่ในห้องคนเดียว, บางคนอาจจะได้ในช่วงเวลาดึกๆ ตอนที่กำลังจะเข้านอน หรือนอนไปแล้วก็มี 😪  ยิ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ อำนวยความสะดวกให้เราสามารถหาไอเดียได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ ไม่ว่าจะหาจาก Facebook, Twitter, Youtube รวมถึงเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Pinterest ก็ถือว่าเป็นแหล่งของไอเดียชั้นดีเลยล่ะ

 

แต่ข้อเสียของไอเดียนั้น ถ้าเรานำมาปรับใช้ไม่ดี

บางทีอาจจะกลายเป็น "การก็อปปี้" โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว !

 


 

 

ก็อปปี้ (Copy) กับ อินสไปร์ (Inspiration) เหมือนหรือต่างกันยังไง ?

 

ความหมายของคำว่า ก็อปปี้ และอินสไปเรชั่น ถ้าว่ากันตามความเข้าใจของหลายคน น่าจะเข้าใจว่า จุดหมายปลายทางของทั้ง 2 อย่างนี้ นำไปสู่ 'การนำไปใช้' ที่เหมือนกัน  และเพราะเหตุนี้นี่เองเลยทำให้ผลงานบางชิ้นถูกตีความว่าเป็นการก็อปปี้ ทั้งๆ ที่เจ้าของผลงานอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นตั้งแต่แรก 

 

ซึ่งจริงๆ แล้วถึงแม้ว่า การก็อปปี้ และอินสไปเรชั่นจะต่อยอดนำไปสู่การใช้ที่เหมือนกัน แต่ทว่ามันกลับมีความแตกต่างในส่วนของการนำไปใช้อยู่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผลงานของเราถูกตีความว่าเป็นการก็อป หรือก่อนที่เราจะไปตัดสินผลงานของคนอื่นว่าเป็นการก็อป อันดับแรกเราควรจะต้อง รู้จักกับความแตกต่างระหว่าง 2 อย่างนี้กันก่อน  ว่ามันต่างกันอย่างไร หรือพอจะมีจุดสังเกตอะไรเด่นๆ บ้างไหม ซึ่งทางเราได้ทำการสรุปความแตกต่างของการก็อปปี้ และอินสไปเรชั่นมาให้เรียบร้อย เลื่อนลงไปอ่านกันต่อได้เลยยย

 

| เริ่มต้นกันที่ การทำความเข้าใจกับคำว่า "ก็อปปี้ (Copy)"

 

ต้องบอกก่อนว่าการก็อปปี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะทุกคนรู้กันไหมว่าการก็อปปี้เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรากันไปหมด ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราสนับสนุนให้เกิดการก็อปนะ แต่อยากสร้างความเข้าใจกันก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราทุกวันนี้ก็ถูกตั้งต้นมาจาก แม่แบบเดียวกัน ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี, บทเรียนที่อยู่ในหนังสือ, สินค้าที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด, งานศิลปะ หรือแม้แต่เทคนิคการเขียน ฯลฯ ซึ่งแม่แบบต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การต่อยอด และทำให้ดีขึ้น

 

แต่ก็มีขอบเขตอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเรานำเอาแม่แบบต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในงานทั้งหมด โดยไม่ได้มีเจตนาเพื่อจะศึกษา หรือรีแคปมาเพื่อความบันเทิงของตัวเอง จะถือว่าผิดทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีเจตนาจะแสวงหารายได้ หรือหยิบเอาผลงานของผู้อื่นมาใช้เป็นผลงานของตัวเอง เมื่อนั้นจะถือว่าเป็นความผิดขึ้นมาทันที 

 

และเพราะเหตุนี้เลยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ลิขสิทธิ์  ขึ้นมา ซึ่งลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองเจ้าของผลงานทันที โดยที่เจ้าของผลงานไม่ต้องแจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อน และลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเฉพาะเจ้าของผลงานที่เป็น 'ต้นฉบับ' เท่านั้น โดยเจ้าของผลงานที่เป็นต้นฉบับจะสามารถเรียกร้องเอาความผิดกับผู้ที่นำผลงานของตัวเองไปเผยแพร่ได้ทันที 

 

แต่ก็มีบางประเภทของผลงานที่ ไม่สามารถเรียกร้องลิขสิทธิ์ได้ อาทิ การนำเสนอข่าวทั่วไป, รัฐธรรมนูญ หรือข้อกฏหมาย, ระเบียบข้อบังคับต่างๆ, หลักการและทฤษฏีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ฯลฯ อะไรที่เป็นข้อมูลเชิงข้อเท็จจริง รวมถึงประกาศต่างๆ แบบนี้จะไม่สามารถเรียกร้องเอาความผิดได้ เพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มาจากจินตนาการ ดังนั้นทุกคนจึงสามารถนำไปใช้ได้

 

 

สรุปง่ายๆ เลยก็คือ การก็อปปี้จะผิดก็ต่อเมื่อเรานำเอาผลงานของผู้อื่นมาใช้ โดยมีจุดประสงค์ในการหารายได้ หรือสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง โดยที่เจ้าของผลงานไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือไม่ได้มีการตกลงกับผู้ที่จะนำเอาผลงานไปใช้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งเคสที่มักจะมีปัญหาแบบนี้บ่อยๆ ก็ได้แก่ งานเขียนหรืองานดีไซน์ที่หยิบเอาข้อมูล (ที่มาจากไอเดียของผู้อื่น) มาดัดแปลงเป็นของตัวเอง แล้วดันมีความคล้ายคลึงกับต้นฉบับมากๆ งานลักษณะนี้เลยมักจะถูกเพ่งเล็งก่อนเป็นอันดับแรก

 

รวมถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ หรือสื่อความบันเทิงต่างๆ อันนี้ก็ถือว่าสามารถยกมาเป็นเคสตัวอย่างได้บ่อยครั้ง ซึ่งเราไม่รู้จุดประสงค์ของคนสร้างกันหรอกว่าบังเอิญ หรือตั้งใจ แต่ถ้าเราเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกับต้นฉบับขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นผลงานก็จะสามารถถูกตีความว่าเป็นการก็อปขึ้นมาได้ทันที

 

| แล้วจะทำยังไง ให้ผลงานของเราไม่ถูกตีความว่าเป็นการก็อป ?  

 

ข้อแรกเลยก็คือ เราต้องรู้จุดประสงค์ของงานชิ้นนั้นๆ กันก่อน ว่าเราจะนำข้อมูลของคนอื่นไปใช้เพื่ออะไร ถ้าเพื่อศึกษา หรือดูคนเดียวเพื่อความบันเทิง อันนี้ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าเราจะยกเอาข้อมูล (ไม่ว่าจะทั้งหมด หรือแค่บางส่วน) ที่มาจากความคิด หรือไอเดียของคนอื่นมาใช้ในงานของตัวเอง อันนี้เราจะต้องทำการติดต่อขอใช้ข้อมูล หรือขออนุญาตในการอ้างอิงจากเจ้าของผลงานก่อน ซึ่งเจ้าของผลงานอาจจะให้เราทำการใส่เครดิต, อ้างถึงในเนื้อหา หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายกรณีที่เราจะนำไปใช้ในเชิงหารายได้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของผลงานนั้นจะทำการตกลงกับเรายังไง 

 

และเพื่อเป็นการทำให้เห็นภาพมากที่สุด เราขอยกตัวอย่างงานประเภท ฟอนต์ ก็แล้วกัน ถ้าเรากดเข้าไปที่เว็บไซต์ที่มีให้ดาวน์โหลดฟอนต์ เราจะเห็นเลยว่าในหน้าเว็บไซต์นั้นจะมีให้เลือกดาวน์โหลดอยู่ 2 แบบ คือโหลดเพื่อไปใช้งานทั่วไป กับโหลดเพื่อไปใช้ในงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งสำหรับการใช้งานทั่วไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปล่อยให้โหลดฟรี อาจจะมีให้บริจาคเป็นค่าไอเดียของคนสร้างฟอนต์บ้าง (แต่ไม่บังคับ) หรือให้แปะเครดิตลงไปบ้าง อันนี้ก็แล้วแต่เคส ส่วนการใช้งานเชิงพาณิชย์ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แล้วเราก็จะได้เป็นตัวใบอนุญาตจากเจ้าของฟอนต์มาเลยว่า อนุญาตให้คนนี้สามารถใช้งานฟอนต์ของเราได้ เพราะได้ทำตามข้อตกลงแล้วเรียบร้อย ก็ถือว่าเราจะมีสิทธิ์ในการใช้ฟอนต์นั้นโดยสมบูรณ์ เป็นต้น

 

สำหรับใครที่กำลังคิดว่า เฮ้ย มันยุ่งยากไปไหม ต้องทำถึงขนาดนี้เชียวหรอ ?  ทางเราอยากให้มองถึงใจเค้าใจเรากันนิดนึง เพราะอย่างบางงาน โดยเฉพาะงานประเภทที่ต้องใช้ไอเดียมากๆ กว่าเจ้าของผลงานจะสร้างผลงานมาได้ชิ้นนึง มันยากมากเลยนะทุกคน เทียบกับเราที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย อาศัยแค่ข้อมูลของคนอื่นในการนำมาใช้ต่อเท่านั้น ถ้ามีเงื่อนไขหรือข้อตกลงอะไร ก็ขอให้ทำตามเงื่อนไขของเจ้าของผลงานกันไปเถอะ หรือลองมองในมุมที่ตัวเองเป็นเจ้าของผลงานดูก็ได้ เราคงจะไม่อยากให้คนอื่น หยิบเอาผลงานของเราไปใช้ โดยที่เราไม่ได้เครดิต หรือค่าเหนื่อยกันหรอกจริงไหม ?

 

 

| ระวังกันให้ดี ! บางอย่างอาจจะไม่ใช่การ Copy แต่เป็นแค่ "Inspired" 

 

มาถึงในส่วนของ Inspiration กันบ้าง สำหรับคำว่าอินสไปร์นี้ถูกนำไปพูดถึงบ่อยมากเวลาที่เจ้าของผลงานต้องการจะอ้างอิงงาน หรือว่าเวลาที่ผลงานถูกกล่าวหาว่ามีการก็อป เจ้าของผลงานก็มักจะอ้างว่าตัวเองไม่ได้ก็อป แต่เราแค่ได้อินสไปร์มาจากงานชิ้นนึงเท่านั้น ซึ่งการอ้างว่าได้อินสไปร์มานั้น จริงๆ แล้วมันไม่ใช่คำแก้ตัวนะทุกคน แต่มันอาจจะเป็นการอินสไปร์จริงๆ ก็ได้ แต่ใดใดก็ตาม การอินสไปร์ที่ถูกต้องมันก็จะมีจุดประสงค์และการนำไปใช้ที่ต่างจากการก็อปปี้อยู่ ดังนี้

 

ถ้าเราจะให้คำนิยามการก็อปปี้ว่า เป็นการนำไปใช้ สำหรับการอินสไปร์ ก็คงจะเป็น การนำไปปรับ ก่อนจะนำไปใช้ ซึ่งการนำไปปรับในที่นี้จะต้องไม่เหมือนกับต้นฉบับเกินครึ่งนะ ถึงจะเรียกว่าเป็นการอินสไปร์ที่ถูกต้อง  คืออันดับแรกเจ้าของผลงานจะต้องมีภาพในหัวตัวเองคร่าวๆ กันก่อนว่าเราจะทำออกมาในทิศทางไหน ซึ่งอินสไปร์ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดไอเดียขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งไอเดียนี้เป็นได้ทั้งตัวไอเดียจริงๆ หรือจะสามารถเป็น Power ในการทำงาน ก็ได้

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเวลาที่มีคนพูดว่า รู้สึกดีที่ได้คุยกับคนๆ นี้จัง คุยแล้วได้อินสไปร์เยอะเลย  ซึ่งอินสไปร์ในที่นี่ ผู้พูดอาจจะไม่ได้หมายถึงตัวชิ้นงานอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงคนๆ นึงที่มีการวางแผนชีวิตที่ดี หรือมีเรื่องราวในชีวิตที่น่าสนใจ เลยทำให้เมื่อได้ฟังเรื่องราวของคนๆ นั้นแล้ว ทำให้เรามีแรงฮึดสู้กับการทำงานและใช้ชีวิตได้ ที่สำคัญคือการได้มาของอินสไปร์นั้นมีแหล่งที่มาหลายอย่างมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะบุคคล หรือตัวชิ้นงานอย่างเดียว บางคนอาจจะได้อินสไปร์มาจากการฟังเพลง, ทานอาหารอร่อยๆ หรือการเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ จนทำให้เกิดไอเดียหรือความคิดนึงแว่บนึงขึ้นมาในหัว อินสไปร์ก็สามารถเป็นแบบที่ยกตัวอย่างไปนี้ได้เช่นกัน

 

 

ที่สำคัญคืออินสไปร์ ไม่เหมือนกับการก็อปปี้ตรงที่  เรายึดเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดเอาความคิดของคนอื่นเป็นหลัก อินสไปร์ทำให้เกิดผลงาน Original ของตัวเอง ไม่ใช่การนำผลงาน Original ของคนอื่นมาใช้เป็นผลงานของตัวเอง ซึ่งการสร้างสรรค์งานที่ดี เราไม่ควรนำผลงานของเราไปเปรียบเทียบกับผลงานของคนอื่น เพราะนั่นแปลว่าเรากำลังทำตามคนอื่นอยู่ จึงไม่ต่างจากการก็อปปี้ ดังนั้นเราควรยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง หาแรงบันดาลใจจากผลงานของคนอื่นได้ แต่ต้องไม่ยกเอาผลงานของคนอื่น มาสร้างเป็นผลงานของตัวเองทั้งหมด

 

 

เราขอนำประสบการณ์ของตัวเองมายกตัวอย่างให้ได้อ่านกันดู (และเชื่อว่าหลายคนคงจะมีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจไม่ต่างกันกับเรา) สำหรับแหล่งของแรงบันดาลใจชั้นดีสำหรับเรา นั้นอยู่ที่ Instagram เลยจ่ะ คือในหน้า Search ของอินสตราแกรมเค้าจะมีให้เรา Explore บรรดา Account ที่น่าสนใจ โดยคัดเลือกมาจากความสนใจ หรือกระแสความนิยมของผู้ใช้งานอินสตราแกรมในตอนนั้น

 

ซึ่งเราจะบอกว่าเราได้แรงบันดาลใจจากหน้านี้ของอินสตราแกรมเยอะมาก และไม่ใช่แค่โพสต์เดียวนะ บางทีเราก็กดติดตามทั้ง Account ของคนๆ นั้นไปเลย เพราะรู้สึกว่ามันเป็นไอเดียที่เราชอบและกำลังสนใจอยู่พอดี และนอกจากพวก Account แล้ว การติด # ในอินสตราแกรมก็เป็นแหล่งของแรงบันดาลใจที่ดีด้วยเช่นกัน  แล้วเพื่อนๆ ล่ะ ปกติแล้วได้แรงบันดาลใจจากอะไรกันบ้าง

 

| แล้วเราจะ Inspired งานของตัวเองยังไง ให้ไม่ดูเหมือนเป็นการก็อปคนอื่นเค้ามา ?

 

ถ้าให้เซฟตัวเองสุดๆ ก็แปะเครดิตไปเลยว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากเว็บไซต์นี้ หรือคนที่เราพูดคุยด้วยคนนี้ คือเจ้าของผลงานต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้มาจากไหน รวมถึงเราจะต้องมีภาพในหัวล่วงหน้าแล้วว่าเราจะปั้นผลงานของเราให้ออกมาในทิศทางใด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หรอกถ้าเราจะเริ่มลงมือทำงานเลย โดยปราศจากการได้วางแผน หรือหาแรงบันดาลใจกันก่อน คือทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า แรงบันดาลใจกันทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือใช้ชีวิตเองก็ตาม แต่เรามองว่าสำคัญที่สุด คือ

 

เราจะนำแรงบันดาลใจต่างๆ เหล่านี้มาปรับใช้ และนำเสนอออกมาเป็นผลงานในแบบของเรายังไงมากกว่า

 

 

สรุปเลยก็คือ การก็อปปี้ และการได้แรงบันดาลใจ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่เราจะต้องรู้จุดประสงค์ของตัวเองกันก่อนว่าเราจะนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรกันต่อ ถ้าเกี่ยวกับการหารายได้ หรือการนำไปเป็นผลงานของตัวเอง เราแนะนำว่าไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ควรจะมีการทักไปขออนุญาตเจ้าของไอเดียกันก่อน หรือถ้าจะนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจเฉยๆ ก็ต้องห้ามทิ้งความเป็นตัวของตัวเอง

 

ใดใดก็คืออยากให้ทุกคนเคารพไอเดียของกันและกันให้มากๆ มันไม่ผิดหรอกถ้างานของเรา มันอาจจะไปบังเอิญคล้ายกับงานของใครเข้า เพราะเราบอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีต้นแบบกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอ หรือถ้าต้องการจะใช้ข้อมูลจากคนอื่นจริงๆ ก็ให้ทำการขออนุญาต หรือใส่เครดิตให้เรียบร้อยซะ เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อแหล่งที่มาของงานชิ้นนั้นๆ

 

เพราะสุดท้ายแล้ว มันจะเป็นผลงานของเราหรือไม่

บทสรุปของงานนั้นจะทำให้เรารู้กันได้เองว่า เรากำลังโคลนนิ่งเป็นคนๆ นึงกันอยู่

หรือเป็นเรา ที่เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้นกันจริงๆ

 


 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น