'ฝากไข่' รอเจอคนที่ใช่ ทางเลือกของสาวยุคใหม่ กับ อิสระของการมีลูกเมื่อพร้อม

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer24 ธ.ค. 2564 avatar writer1.1 K
'ฝากไข่' รอเจอคนที่ใช่ ทางเลือกของสาวยุคใหม่ กับ อิสระของการมีลูกเมื่อพร้อม

 

อยากมีลูกแต่ยังไม่พร้อม ทำยังไงดี ?

แฟนก็ยังไม่มี สามีที่จะแต่งงานด้วย ก็ยังไม่มา...

 

ไม่รู้ด้วยว่าเค้าคนนั้นเกิดแล้วหรือยัง ไหนจะเรื่องสภาพบ้านเมือง และสถานการณ์โควิดตอนนี้ ก็ยิ่งไม่เหมาะกับจะตั้งท้องช่วงนี้ซักเท่าไหร่ด้วย แล้วประเด็นเลยนะอายุเรามันก็มากขึ้นไปทุกวันๆ แน่นอนว่าร่างกายมันก็ต้องโรยราไป ถ้าให้รอจนถึงวันที่พร้อมจะมีลูกแล้วอย่างจริงจัง เราไม่ต้องรอกันจนไข่ฝ่อเลยหรอ ?!

 

สำหรับสาวๆ สายสตรองที่กระเป๋าหนักหน่อย และวางแผนชีวิตไว้แล้วว่าอยากจะมีเจ้าตัวน้อยเป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่กลัวไข่จะฝ่อไปก่อนที่จะเจอชายหนุ่มคนที่ใช่ หรือแต่งงานแล้วยังไม่พร้อมมีลูกด้วยปัจจัยอะไรหลายอย่างๆ วิธีฝากไข่ อาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับคุณนะ

 


 

ฝากไข่-2

 

| ฝากไข่ vs LGBTQ |  

 

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับการฝากไข่ให้มากขึ้น หลายคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้อาจจะเป็น LGBTQ  น่าจะเกิดความสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า 'ชั้นที่มีคนรักเป็นเพศเดียวกัน อยากมีลูกบ้าง หรือสาวๆ ที่ไม่ได้อยากแต่งงานหรือลงหลักปักฐานกับใคร แต่อยากมีลูกซักคนมาเป็นอีกคนในครอบครัว'สามารถฝากไข่เพื่อนำไปทำการปฏิสนธิ โดยใช้สเปิร์มของชายคนอื่นที่ไม่ใช่คนรักได้หรือไม่ 

 

คำตอบ คือ ไม่สามารถทำได้น้าสาวๆ

เพราะมีกฏหมายกำหนดชัดเจนเลยว่า การฝากไข่เพื่อที่จะทำกิฟต์หรือทำเด็กหลอดแก้ว

จะต้องมีทะเบียนสมรส และต้องใช้สเปิร์มจากสามีที่มีการจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น 

 

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่กฎหมายบ้านเรายังไม่ได้เปิดกว้างและอนุญาตให้คู่รัก LGBTQ จดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ คราวนี้ก็ต้องมานั่งลุ้นกันต่อว่า ในอนาคตตัวกฎหมายจะอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานมีลูกได้เท่าเทียมกันกับคู่รักชายหญิงได้มั้ย

 


 

| ฝากไข่ต้องรู้อะไรบ้าง ศึกษาไว้เพื่อเบบี๋ในอนาคต | 

 

ฝากไข่-3

 

🥚 การฝากไข่ คืออะไร ?

 

การฝากไข่หรือการแช่แข็งไข่ (Egg Freezing) คือ การนำเซลล์ไข่ของผู้หญิงออกมาทำการแช่แข็งที่อุณภูมิ -196 องศาเซลเซียส หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ นำไข่ออกมาฟรีซเพื่อคงสภาพไข่ที่สมบูรณ์ไว้ และรอเวลาที่เราพร้อมจะมีลูก ก็นำเซลล์ไข่มาผสมกับสเปิร์มเพื่อให้เกิดเป็นตัวอ่อนต่อไป

 

ซึ่งการฝากไข่เป็นขั้นตอนย่อยของการทำเด็กหลอดแก้วนั่นเอง แรกๆ ก็ใช้เพื่อแก้ปัญหาสำหรับคนที่มีบุตรยาก ในช่วงหลังๆ มานี้ผู้หญิงเราสละโสดแต่งงานกันช้าลงกว่าเดิม อาจจะเพราะเพลินกับงานหรือยังไม่เจอพ่อของลูก หลายคนก็เลือกที่จะฝากไข่ไว้ก่อน เพราะสามารถฝากได้นานกว่า 10 ปีเลย ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยนำไข่ออกมาใช้ จึงทำให้การฝากไข่เป็นทางเลือกการมีลูกของสาวๆ ยุคใหม่มากขึ้น 

 

🥚 อายุเท่าไหร่ถึงจะฝากไข่ได้ ?

 

ช่วงอายุที่คุณหมอแนะนำสำหรับคุณสาวๆ ที่อยากฝากไข่ คือประมาณ 22-28 ปี เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในวัยเจริญพันธ์ุ  เซลล์ไข่จะสมบูรณ์กว่าวัยอื่นๆ แต่ถ้าคิดว่าอายุ 28 นั้นไวเกินไปที่จะฝาก อยากขอเวลาคิดอีกซักหน่อย ก็ยังมีเวลาตัดสินใจได้จนถึงอายุ 35 ปี แต่ถ้าหากอายุมากกว่านี้ถามว่ายังฝากได้มั้ย จริงๆ สามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าไข่อาจจะไม่สมบูรณ์ไปบ้าง ต้องมีการกระตุ้นฮอร์โมนช่วยหลายรอบมากขึ้น

 


 

| ขั้นตอนการฝากไข่ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจยังไงบ้าง ? | 

 

ฝากไข่-4

 

 1. ตรวจร่างกาย และสุขภาพรังไข่ 

 

ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนขึ้นเขียงเอาไข่ออกจากตัวเรา อันดับแรกต้องพบปะคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรึกษาและประเมินร่างกายก่อนว่า มีความพร้อมในการฝากไข่มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญต้องดูก่อนว่าในรังไข่ของเราสามารถผลิตไข่ได้กี่ฟอง ไข่ที่ได้เป็นไข่ที่มีสุขภาพดีและสมบูรณ์เพียงพอมั้ย ซึ่งต้องทำการตรวจสุขภาพแบบละเอียดยิบ เพราะไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีร่างกายที่พร้อมสำหรับการฝากไข่

 

2. เมื่อร่างกายผ่าน ก็ถึงเวลาฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่

 

เมื่อผ่านด่านการตรวจร่างกายว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ก็ต้องมาฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นไข่ จุดประสงค์หลักๆ ของการฉีดฮอร์โมน ก็เพื่อบำรุงไข่ฟองน้อยๆ ในรังไข่ให้เจริญเติบโตเต็มที่ เพราะปกติในแต่ละเดือนจะมีเซลล์ไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์กว่าฟองอื่นๆ ตกลงมาเพื่อรอการปฏิสนธิ (ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ เซลล์ไข่ก็จะสลายตัวเองกลายมาเป็นประจำเดือน) การฉีดฮอร์โมนจึงเป็นเหมือนการช่วยกระตุ้นและดูแลไข่ทุกๆ ฟองให้มีความสมบูรณ์ พร้อมสำหรับการฝากไข่นั่นเอง 

 

3. เมื่อไข่พร้อมแล้ว ถึงเวลาดูดไข่ออกมาฟรีซ 

 

ร่างกายพร้อม ไข่พร้อม ก็ถึงเวลาขึ้นเขียงของจริง สำหรับขั้นตอนดูดไข่หรือเก็บไข่เพื่อออกมาฟรีซ คุณหมอจะค่อยๆ ดูดไข่จากรังไข่ทีละข้าง มาใส่ในหลอดแก้ว แล้วนำไปแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาสภาพไข่ให้สมบูรณ์ที่สุดจนถึงวันที่เราต้องการใช้งาน ขั้นตอนนี้ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะรู้สึกเจ็บ เพราะคุณหมอจะให้ยาสลบเราก่อน รับรองว่าหลับป๊อก หลับสนิท ระหว่างการดูดไข่จะไม่รู้สึกตัวอย่างแน่นอน 

 

อาการเจ็บของจริงจะเริ่มต้นหลังจากที่เราฟื้นจากยาสลบแล้วต่างหาก อาจจะมีอาการหน่วงๆ หรือปวดท้องบ้าง และอาจจะมีอาการท้องบวมจากการบวมน้ำร่วมด้วย 

 

ฝากไข่-1

 

บอกเลยว่าการฝากไข่เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ ยุคใหม่มากขึ้น มีดาราเซเลปคนดังที่เลือกฝากไข่ไว้ก่อนหลายคนเลย เช่น แอร์ ภัณฑิลา, ปาย สิตางศุ์, คริส หอวัง หรือตัวแม่นางเอกตลอดกาลอย่าง แอน ทองประสม ก็มีศึกษาเรื่องการฝากไข่เพื่อมีลูกในอนาคตไว้แล้วเช่นกัน 

 

ดูคลิปประสบการณ์การฝากไข่ของ ปาย สิตางศุ์ : คลิก

 


 

ฝากไข่-3

 

| ฝากไข่ในยุคนี้ เป็นทางเลือกที่ดีจริงๆ หรือไม่ ? | 

 

ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเงินและคิดวางแผนมาอย่างดีแล้วว่ายังไงชีวิตนี้ตระกูลของชั้นก็ต้องการทายาทสืบทอด การฝากไข่เพื่อมีลูกในอนาคตก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีนะ อย่างที่บอกไปว่าร่างกายเรามันโรยราแบบไม่รอใคร แก่ลงทุกวันๆ  ยิ่งหลังอายุ 35 ปีขึ้นไป จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่าสุขภาพหรือฮอร์โมนใดๆ เริ่มไม่เหมือนเดิมแล้ว ถ้าจะรอท้องแบบธรรมชาติตอนที่อายุเยอะแล้ว อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในอนาคต แต่ถ้าเราฝากไข่ไว้ตั้งแต่ตอนที่ร่างกายพร้อม เซลล์ไข่ยังอยู่ในสภาพดี ลูกในอนาคตของเราก็จะเกิดจากไข่ใบที่สมบูรณ์ในช่วงที่แม่แบบเรายังอยู่ในวัยเจริญพันธ์ุ อย่างน้อยความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ ต่อลูกก็น่าจะน้อยลง

 

จุดสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ การฝากไข่ มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง คุณแม่อาจจะต้องกระเป๋าหนักถึงหนักมากเลยทีเดียว ถ้าวางแผนจะฝากไข่ อาจจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นปลายๆ ไปถึงหลักแสน ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่เราเลือกด้วย 

 

ถ้าเรื่องเงินไม่ใช่อุปสรรค วางแผนจะมีลูกแน่นอน แค่รอเจอพ่อของลูกที่ใช่ หรือรอเวลาที่พร้อมจริงๆ 

การฝากไข่ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ผู้หญิงอย่างเราไม่ควรมองข้าม

 

📍สำหรับสาวๆ ที่สนใจอยากเริ่มวางแผนจะมีลูกอย่างจริงจัง ด้วยวิธีการฝากไข่ไว้ก่อน สามารถดูสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญได้ที่นี่เลย : รวมมาให้แล้วสถานที่ฝากไข่ เตรียมไว้ก่อนมีเจ้าตัวน้อยในอนาคต!


 

ขอขอบคุณที่มาจาก : beyondivf.com, vogue.co.th, WorkpointTODAY

แสดงความคิดเห็น
Somchai Suwanrungruang
Somchai Suwanrungruang
ดีๆๆ
ตอบกลับ | 2 ปีที่แล้ว 0