รู้จัก Foot Locker ขาใหญ่แห่งวงการราคาป้าย ขวัญใจสายสนีกเกอร์ !
โดย : imnat
ส่งสัญญาณให้สาวกสนีกเกอร์ได้ตื่นเต้นฮือฮามาตั้งแต่ต้นปี !
ล่าสุดหลังจากที่ทางเราได้เข้าไปส่อง Facebook ของทาง Foot Locker Thailand ก็เห็นว่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวขึ้นมาบ้างแล้ว ความหวังที่เราจะได้ก้าวขาเข้าไปในอาณาจักรรองเท้ายักษ์ใหญ่ที่อิมพอร์ตตรงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้านี้ เริ่มที่จะเข้าใกล้ความจริงขึ้นมาบ้างแล้ว
ซึ่งบทความนี้เราจะพาสาวกสนีกเกอร์ทุกคน ไปทำความรู้จักกับอาณาจักรแห่งนี้กันให้มากขึ้น เพราะขาใหญ่มาเยือนทั้งที บอกเลยงานนี้ตลาดสนีกเกอร์ในบ้านเราคงจะคึกคักมากกว่าเดิม แถมยังเพิ่มโอกาสที่เราจะได้สัมผัสกับสนีกเกอร์เจ๋ง ๆ แถมยังขีดเส้นใต้ตัวหนา ๆ ที่คำว่า ในราคาป้าย กันอีกด้วย !
ปฐมบทของ Foot Locker ขาใหญ่แห่งวงการสนีกเกอร์ราคาป้าย
สำหรับจุดเริ่มต้นของอาณาจักร Foot Locker หรือร้านขายรองเท้ารวมแบรนด์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้านี้ ถ้าให้เปรียบกับคน ถือว่าคน ๆ นั้นมีความสมบุกสมบันพอสมควร เพราะกว่าจะจับต้นชนปลายจนกลายมาเป็นร้านขายรองเท้าที่น่าเชื่อถือ และเป็นขาใหญ่ในวงการได้อย่างทุกวันนี้ ถ้าไม่หนักแน่นพอ ก็ไม่มีทางเดินมาถึงจุดนี้ได้ !
เพราะมันได้เริ่มต้นมาจากไอเดียเล็ก ๆ ของ Frank Winfield Woolworth พนักงานในร้านขายส่งสินค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ที่ ณ ตอนนั้นทางร้านกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับรายได้ที่ลดลง ทุกคนในร้านรวมไปถึงตัวพนักงานเองก็เริ่มคิดหาวิธีที่จะทำให้ร้านนี้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งตัวของแฟรงก์เองก็ได้เสนอไอเดียอย่างการเก็งราคาขายให้อยู่ที่ 5 cent ซึ่งผลปรากฎว่าไอเดียของแฟรงก์ทำให้ร้านสามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ แถมยังทำยอดขายได้ดี ทางตัวของแฟรงก์เองเลยจดเอาไอเดียนี้เก็บไว้ เผื่อว่าตัวของเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในอนาคต
5 and 10 cent store ร้านขายสินค้าในราคา 5 และ 10 cent ของ Frank Winfield Woolworth ภาพจาก goldmansachs
เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าทางแฟรงก์ก็ได้นำเอาไอเดียนี้ปัดฝุ่นกลับมาใช้กันจริง ๆ โดยเขาได้เปิดตัว Great 5¢ Store ในเมืองยูทิกา โดยเป็นร้านที่ขายสินค้าในราคา 'เท่ากับ หรือ น้อยกว่า' 5 cent แต่ด้วยทำเลที่ตั้งที่จัดว่าไม่ได้ดีมาก ส่งผลทำให้ยอดขายค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งทำกำไรไม่ได้เลยในที่สุด
แต่ทั้งนี้ ทางแฟรงก์เองก็ไม่ย่อท้อ เขาได้ตัดสินใจเปิดร้านใหม่อย่าง F.W. Woolworth 5 and 10 cent store ที่รัฐเพนซิลวาเนีย โดยมาในคอนเซ็ปต์เดียวกันกับร้านก่อนหน้า ซึ่งร้านนี้ถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก เพราะนอกจากตัวทำเลที่ตั้งจะมีผลแล้ว ตัวสินค้าภายในร้านยังหลากหลายขึ้น เพราะนอกจากจะเน้นไปที่สินค้าราคา 5 cent แล้ว เขายังเพิ่มทางเลือกขึ้นมากับสินค้าราคา 10 cent ด้วย
Frank Winfield Woolworth ภาพจาก findagrave
ความสำเร็จของร้าน 5 and 10 cent store กำลังไปได้สวย สังเกตได้จากสาขาย่อยของร้านที่เริ่มผุดขึ้นมาตามหัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐฯ โดยมีกลุ่ม Partner รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวของแฟรงก์เป็นคนดูแล จนกระทั่งการมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้ความสำเร็จพังราบเป็นหน้ากลอง เกิดปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น
ปัญหาการขาดแคลนพนักงานขายที่เป็นผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเสียหมด หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้จ่าย ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีกะจิตกะใจในความ 'อยากซื้อ' เหมือนเดิม อยากเก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายกับสิ่งของที่จำเป็นมากกว่า ถึงขั้นมีข้อมูลระบุไว้เลยว่า ในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่มีการเก็บเงินไว้ 21% ของรายได้ทั้งหมด สำหรับการนำไปซื้อของที่จำเป็น
นั่นแปลว่าการเจียดเงินมาซื้อของที่แม้จะราคา 5-10 cent สำหรับพวกเขา
ถือว่าเป็นสิ่งที่ ไม่จำเป็น เป็นอย่างยิ่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จริงอยู่ที่ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจเริ่มขยับดีขึ้น แต่ทั้งนี้ความต้องการของผู้บริโภคก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย จากความอัดอั้นมานาน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการมากกว่าเดิมจนน่ากลัว ซึ่งนั่นทำให้ Woolworth Company หรือเจ้าของร้าน 5 and 10 cent store ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลทำให้บริษัทขาดทุนเป็นจำนวนมาก
มิหนำซ้ำพฤติกรรมของผู้บริโภคในตอนนั้น มักจะนิยมซื้อของจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือมากกว่าร้านค้าปลีกแบบเดิม ๆ ทำให้ Woolworth Company ต้องหาทางแก้เกมให้ตัวเองใหม่ ปรับมาตรฐานของสินค้าให้ดีขึ้น อัปราคาขายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว (แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล) จากร้านขายสินค้าราคาถูกแบบเดิม ๆ ก็ได้อัปเกรดตัวเองขึ้นมาอีกเลเวล ซึ่งนั่นก็ทำให้ Woolworth สามารถรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ แม้จะกระท่อนกระแท่นกับการปรับตัวในช่วงแรกก็ตาม
ร้าน Kinney Shoes ผู้ร่วมอุดมการณ์สำคัญของ 5 and 10 cent store ภาพจาก web-design-michigan
จะเป็นขาใหญ่ได้ ต้องกล้าที่จะเสี่ยง !
หลังจากสถานการณ์ของ Woolworth Company เริ่มเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ทางบริษัทก็ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการซื้อกิจการ Kinney Shoes หรือร้านขายรองเท้าเล็ก ๆ ของนาย George Kinney โดย Kinney Shoes เป็นร้านขายรองเท้าในราคาจับต้องได้ ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือบรรดาลูกค้าที่อาจจะไม่ได้มีกำลังในการซื้อมาก แต่ก็ต้องการรองเท้าที่มีคุณภาพ มีแบบให้เลือกหลากหลาย โดยจุดเด่นของ Kinney Shoes คือการมีโรงงานผลิตรองเท้าเป็นของตัวเอง ไม่ได้ผ่านตัวกลาง แต่เป็นการดูแลโดยทางร้านเองทั้งหมด
ซึ่งจะบอกว่าทาง Woolworth รู้สึกถูกชะตากับร้านขายรองเท้าแห่งนี้มาก เพราะมันเป็น Section ที่ทาง Woolworth ต้องการมาโดยตลอด แถมอุดมการณ์ของทั้งสองร้านยังคล้ายคลึงกัน ซึ่งอุดมการณ์ที่ว่านั่นก็คือ
- ความยึดมั่นในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า อย่างร้าน 5 and 10 cent store ก็ได้แหกกฎของร้านค้าในสมัยนั้น ด้วยการให้ลูกค้า มีโอกาสได้เดินเข้ามาดูสินค้าภายในร้าน แทนที่จะยืนส่องกันจากนอกร้าน เช่นเดียวกับร้าน Kinney Shoes ที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ในราคาที่จับต้องได้
- ที่สำคัญทั้งสองร้านนี้ยังเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนได้ส่วนเสียในการขายสินค้า ด้วยการแบ่ง % ยอดขายให้กับทางพนักงาน เหมือนเป็นการทำงานร่วมกันแบบวิน-วิน ส่งผลทำให้พนักงานปรารถนาที่จะทำงานให้หนักขึ้น เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วย
หลังจากที่ Woolworth ตัดสินใจซื้อกิจการ Kinney Shoes มาบริหารงานเอง ปรากฎว่าร้าน Kinney Shoes สามารถเติบโตและขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นส่งผลทำให้เจ้าของกิจการอย่าง Woolworth Company เป็นที่รู้จักมากขึ้นตามไปด้วย เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ Woolworth ต้องการขยายฐานสินค้าของตัวเอง ให้หลากหลายขึ้นด้วยการ กว้านซื้อกิจการอื่น ๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็น StylCo หรือ Susie Casuals ซึ่งทั้งสองร้านนี้ เป็นสับเซ็ตย่อยของ Kinney Shoes กันอีกที โดยไลน์สินค้าของ Kinney Shoes จะมีไว้เพื่อใช้อธิบายถึงสินค้าที่มีความเฉพาะ ซึ่งนั่นก็ได้รวมไปถึงร้าน Foot Locker ที่ทาง Woolworth ตัดสินใจซื้อไปในปี 1974 ด้วย
โดย Foot Locker เป็นร้านขายรองเท้าที่ค่อนข้างจะ มีความพิเศษมากกว่าร้านขายรองเท้าอื่น ๆ อาจจะด้วยความเฉพาะเจาะจงไปที่ Section สินค้ากีฬาโดยเฉพาะของมัน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าโชคช่วยหรือว่าอะไร แต่ในช่วงที่ Woolworth ตัดสินใจซื้อกิจการแห่งนี้ (แม้ว่าก่อนหน้านี้มันจะไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก) แต่มันดันกลายไปเข้าแก๊ปกับช่วงที่กีฬากำลังบูมขึ้นมาพอดี ด้วยเพราะสาเหตุนี้เลยมีส่วนทำให้จากร้าน No Name ที่คนแทบจะไม่รู้จัก ก็เกิดเป็นกระแสขึ้นมาทันที
ซึ่งนั่นทำให้ Woolworth กลายเป็นบริษัทผู้ค้าปลีกสินค้ากีฬา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้า) รายใหญ่ที่สุดในยุคนั้น เพราะหลังจากที่ซื้อกิจการ Foot Locker แล้ว Woolworth ยังได้ซื้อกิจการอื่น ๆ ตามมาอีกไม่ว่าจะเป็น Sporting Goods, Athletic Fibers, Eastbay Incorporation จนถึงขั้นยอมเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเองเป็น Venator Group ที่มาจากคำในภาษาละตินที่แปลว่า นักกีฬา กันเลย
หลังจากผันตัวเองมาเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้ากีฬารายใหญ่กันไปแล้ว บทจะเล่นใหญ่ทั้งที ทาง Venator Group ก็ขอเล่นใหญ่ยิ่งกว่านั้น เพราะหลังจากเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเองเป็น Venator Group กระแสความแรงของร้าน Foot Locker ก็ยังไม่หาย แถมมันยังกลายเป็นร้านที่สามารถทำเงินได้มากที่สุดของบริษัทในตอนนั้นด้วย
เลยทำให้ Venator Group ที่ ณ ตอนนั้นเป็นเจ้าของกิจการร้านค้าเยอะมาก ตัดสินใจขายและยุติกิจการอื่น ๆ ลง ก่อนจะหันมาเอาดีกับไลน์สินค้ากีฬาแบบเต็มตัว เลยได้ตัดสินใจเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัท (อีกครั้ง) จากเดิมที่ชื่อ Venator ก็ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็น Foot Locker ให้สมกับการเป็นร้านที่สามารถทำยอดขายได้มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา
เดินหน้าสานต่อสิ่งที่ใช่ พร้อมจับตลาดใหม่ไปด้วยกัน
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางเราใช้คำว่า เบอร์ใหญ่ และ ขาใหญ่ กับร้าน Foot Locker กันไป หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่าร้านนี้มันมีดียังไง แล้วอะไรที่ทำให้แตกต่างจากร้านขายรองเท้าชื่อดังเจ้าอื่น ๆ
- อันดับแรกที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ ก็ต้องยกให้ ภาษีของทาง Woolworth Company ที่ก่อนจะตัดสินใจซื้อร้าน Foot Locker นี้มา เขาได้ทดลองตลาดผ่านร้านค้าต่าง ๆ ที่เขาได้กว้านซื้อ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญก็ได้แก่ ร้าน Kinney Shoes ที่ทำให้เขาได้รู้ว่า ตลาดรองเท้า เป็นอะไรที่สามารถสร้างยอดขายให้กับเขาได้มากที่สุด
- ประจวบกับ ณ ช่วงเวลานั้นที่ กระแสของการดูกีฬากำลังมา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส ฯลฯ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจเกมกีฬากันมากขึ้น ผนวกกับที่ทางบริษัทตัดสินใจลองตลาดใหม่ด้วยการซื้อร้าน Foot Locker เข้าพอดี กระแสมันเลยยิ่งจุดติด และยิ่งได้รับความสนใจ
- อีกทั้งทาง Woolworth ก็มีจุดแข็งในเรื่องของ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า มาแต่ไหนแต่ไร พอมีร้าน Foot Locker ขึ้นมาปุ๊บ เขาก็ได้ทดลองทำการตลาดใหม่ปั๊บ หลังจากที่ก่อนหน้านี้หากใครต้องการจะหาซื้ออะไร ทุกคนจะมุ่งหน้าไปจบกันที่ห้างสรรพสินค้า แต่นั่นไม่ใช่กับร้าน Foot Locker แห่งนี้ เพราะมันได้พาตัวเองออกมา Stand Alone ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยตั้งอยู่ในย่านทำเลดี ริมถนนที่มีผู้คนสัญจรไป-มา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาดูสินค้าภายในร้านได้แบบสบายใจ ไม่ซื้อ ไม่เป็นไร
พอทัศนวิสัยของร้านเป็นไปอย่างเข้าถึงง่ายแบบนี้ มันเลยทำให้ถูกบอกต่อ-พูดต่อถึงความประทับใจ เลยทำให้ร้านสามารถตกคนได้ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าประจำของร้านเข้าจนได้
- นอกนั้นยังไม่พอ Foot Locker ถือได้ว่าเป็นร้านค้าเจ้าแรก ๆ ที่ เสิร์ฟประสบการณ์ทางการขายใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า เพราะนอกจากทางร้านจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาเลือกดูสินค้าภายในร้านกันได้แล้ว ทางร้านยังได้เปิดเว็บไซต์ให้ลูกค้าได้เลือกดูสินค้า รวมถึงซื้อสินค้ากันแบบออนไลน์ แถมยังมีฟังก์ชันที่เอื้อประโยชน์ให้กับการช็อปใหม่ ๆ อย่างการให้ลูกค้าทำการเปรียบเทียบสินค้าได้ด้วยตัวเอง มีการทำให้เห็นภาพว่าถ้าซื้อสินค้าจากร้านนี้แล้วจะ ดีกว่า ร้านอื่นยังไง
- ยิ่งตอนนี้ถ้าเราพูดถึงสนีกเกอร์ เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งมาก แถมยังมีบรรดาสาวกที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทาง Foot Locker ก็ปรับตัวเข้าหาสังคมของชาวสนีกเกอร์เฮดได้เป็นอย่างดี มีการจับมือเป็น Partner กับร้านค้ารวมไปถึงแพลตฟอร์มซื้อ-ขายออนไลน์ยอดฮิตของชาวสนีกเกอร์ รวมไปถึงการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูเข้าถึงง่าย สร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์ หารองเท้าเจ๋ง ๆ รุ่นแรร์ ๆ มานำเสนอขาย เรียกได้ว่าซัปพอร์ตและสานต่อวัฒนธรรมสนีกเกอร์ทุกวิถีทาง เท่าที่ร้าน ๆ หนึ่งจะสามารถทำได้แบบสุดตัว
- และที่สำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็ได้แก่ การหาสินค้ามาเสนอขายในราคาป้าย หรืออย่างบางช่วงก็จัดโปรลดราคากันแบบสุดโต่ง อย่างทางเราไปได้รองเท้าคู่หนึ่งจากร้านนี้มาในราคาลด 50% ซึ่งรู้สึกภูมิใจมาก ลองไปเดินดูที่ร้านอื่นก็ไม่เจอในราคาโปรแบบนี้ หรือถ้าลดอย่างมากก็แค่ 10-20% นั่นเลยเป็นจุดเด่นที่ทำให้ ถ้าเรามีโอกาสได้เดินเข้าไปในร้านนี้ เราจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันนาน ชนิดที่ว่าถ้ามีคนมาด้วย อาจจะต้องให้เขาทำใจไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะถ้าเราละสายตาจากคู่ไหนไป เราอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้รองเท้าดี ๆ ในราคาดี ๆ (ที่อาจจะดียิ่งกว่าราคาป้าย) กันไปเลยก็ได้
แม้ว่าทางบริษัท Foot Locker จะมีจุดแข็งอยู่ที่ร้าน Foot Locker แห่งนี้เป็นหลัก แต่ทว่าทางบริษัทก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ยังคงนิสัยชอบทดลองตลาดใหม่อย่างการกว้านซื้อร้านค้าใหม่กันอยู่เรื่อย ๆ อย่างในปัจจุบันร้านค้าในเครือ Foot Locker ก็มีอยู่หลายร้านมาก ไม่ว่าจะเป็น Kid's Foot Locker, Champs Sports, Atmos, WSS, Sidestep รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน
ในส่วนสาขาของร้าน Foot Locker ที่แว่ว ๆ ว่าจะมาเปิดตัวในประเทศไทย เราก็อยากให้ทุกคนจับตารอเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เอาไว้ให้ดี ส่วนพิกัดถ้าไม่พลิกโผไปมากกว่านี้ก็น่าจะเป็นที่ Siam Center ใจกลางเมืองกันไปเลย ไว้ตอนนั้นมาถึงสนีกเกอร์เฮดทุกคนอย่ารอช้า ที่สำคัญอย่าลืมเตรียมงบประมาณในกระเป๋าเอาไว้ให้ดี รุ่นไหนดี รุ่นไหนเริ่ด รุ่นไหนเจ๋ง บอกเลยงานนี้ไว้ใจได้ เพราะ Foot Locker เขา Approved มาให้เราแล้ว !
💭 การมาของ Foot Locker ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะ ว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเราจะไม่ให้เครดิต Frank Winfield Woolworth เลยก็คงจะไม่ได้ เพราะจุดแข็งของ Woolworth อย่างหนึ่งที่ต้องยกนิ้วให้ นั่นก็คือ อย่าไปกลัวกับการเริ่มต้นใหม่ เพราะอะไร ๆ ในโลกนี้ไม่แน่นอน วันหนึ่งกระแสอาจจะจุดติดขึ้นมาได้ แต่วันหนึ่งกระแสมันก็อาจจะดับลงไปก็ได้เช่นกัน ต้องตื่นตัวและตื่นรู้ตัวเองอยู่เสมอ อาจจะทุลักทุเลไปบ้างในตอนต้น แต่ก็ดีกว่าการปล่อยให้โอกาสมันมอดไหม้ไปเฉย ๆ โดยที่เราไม่พยายามทำอะไรเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- รวม Sneaker ใส่สบาย เดินช็อปทั้งวันก็ยังรอด !
- การกลับมาของตำนาน German Army Trainer จากรองเท้าฝึกในกองทัพ สู่โมเดลต้นแบบของ adidas Samba
- ปันโปรรีวิว OOriginal ต้นแบบรองเท้าเพื่อสุขภาพ OOFOS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : cascade, wikipedia, encyclopedia, companieshistory และ zippia
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ