ได้เวลาอัปลุคให้ออกมาปัง ! กับเคล็ด (ไม่) ลับ เลือกเครื่องประดับให้เข้ากับสีผิว

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer19 ต.ค. 2565 avatar writer8.9 K
ได้เวลาอัปลุคให้ออกมาปัง ! กับเคล็ด (ไม่) ลับ เลือกเครื่องประดับให้เข้ากับสีผิว

 

การเลือกเครื่องประดับก็เหมือนกับการ ' เลือกคู่ '

 

ที่ไม่ใช่ว่าจะจิ้ม ๆ เลือกอะไร ก็สามารถหยิบขึ้นมาใส่กันได้เลย คือรู้แหละว่าหน้าที่ของมันคือการเสริมบุคลิก และช่วยปรับลุคของเราให้ดูมีอะไรขึ้นมา อย่างบางคนแต่งตัวแค่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ธรรมดา แต่ก็ดูไม่ธรรมดาได้ พอมีเครื่องประดับเข้าไปเสริม

 

และไม่ใช่แค่นั้นด้วยนะ นอกจากเครื่องประดับจะสามารถเสริมบุคลิกให้กับคนใส่ได้แล้ว ในขณะเดียวกันมันก็ยังสามารถด้อยบุคลิกของคนใส่ได้ด้วย ! นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงให้คำนิยามการเลือกเครื่องประดับว่าเหมือนกับการเลือกคู่ เพราะถ้าเลือกดี มันก็สามารถช่วยเสริมบุคลิกของเราให้โดดเด่นขึ้นมาได้ แต่ถ้าเลือกไม่ดี ต่อให้ประโคมใส่มันเยอะแค่ไหน บุคลิกของเราก็ยังไม่มีอะไรโดดเด่นอยู่ดี

 


 

แล้วถ้าให้เลือกใช้เงินระหว่างซื้อเสื้อผ้า กับเครื่องประดับ

ถ้าเป็นคุณ "คุณจะเลือกอย่างไหน ?"

 

ครั้งนึง Iris Apfel แฟชั่นไอคอนรุ่นเก๋าวัย 101 ปี ที่มีผู้ติดตามบน Instagram กว่า 2.4 ล้านคน เคยกล่าวเอาไว้ว่า

 

"If there was a choice on spending a lot of money on accessories or dress,

I always chose accessories.

I think jewelry can change an outfit more than anything else."

 

ซึ่งคำว่า Accessories ในความหมายตามหน้าพจนานุกรม ได้ระบุความหมายเอาไว้ว่า a thing which can be added to something else in order to make it more useful, versatile, or attractive ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สิ่งที่สามารถเพิ่ม หรือเติมสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีประโยชน์ มีความหลากหลาย หรือมีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Accessories ที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความถึงสร้อยคอ ต่างหู หรือว่าแหวนอย่างเดียว แต่พวกกระเป๋า กิ๊บติดผม ผ้าคลุมผมทั้งหลายก็ถือว่าเป็นเครื่องประดับด้วยเช่นกัน

 

โดยจุดเริ่มต้นของ Accessories หรือเครื่องประดับนั้น ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว แถมจุดประสงค์ในการใส่เครื่องประดับของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็ไม่เหมือนกันเสียด้วย

 

 

อย่างเครื่องประดับประเภท สร้อยคอ เรียกได้ว่าเป็นเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมเป็นเบอร์ต้น ๆ สำหรับจุดเริ่มต้นของสร้อยคอนี้มีต้นกำเนิดที่เก่าแก่มากถึง 40,000 ปี  โดยสร้อยคอที่ปรากฏในยุคแรกจะทำมาจากวัสดุง่าย ๆ อย่างพวกเปลือกหอย ฟัน กระดูก ไม้แกะสลัก เมล็ดพืชพันธุ์ หิน รวมถึงอะไรก็ตามที่สามารถหาได้ง่ายในยุคนั้น ก็สามารถหยิบจับเอามาทำเป็นสร้อยคอได้หมด 

 

โดยวัตถุประสงค์ของการสวมสร้อยคอของคนในยุคโบราณนั้นเหมือนเป็นการ จดบันทึกทางประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งของต่าง ๆ อย่างเช่นพวกฟัน รวมถึงกระดูก ก็เป็นสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีต หรือคนบางคนที่มีความหมายกับตัวเอง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงสภาพทางสังคม รวมถึงสภาพที่อยู่อาศัยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

 

หลังจากนั้นสร้อยคอก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวัตถุประสงค์ในการใช้งานออกไปเรื่อย ๆ อย่างบางยุค การสวมสร้อยคอก็แสดงให้เห็นถึง ความมั่งคั่ง มั่นคงทางฐานะ คือใส่ปุ๊บก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าบุคคลนั้นเกิดในชาติตระกูลดี แต่ตัดภาพมาที่ตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่าเครื่องประดับอย่างสร้อยคอ ไม่ได้เป็นเครื่องวัดสถานะทางสังคมไปซะทีเดียว เพราะทุกคนสามารถสนุกกับการสวมสร้อยคอได้ เครื่องประดับอย่างสร้อยคอเลยกลายเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมบุคลิกของคน ๆ นั้นให้ดูมีอะไร ซึ่งไม่ใช่แค่การพรีเซ็นต์ให้เห็นถึงสถานะทางสังคม หรือการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์อย่างที่ผ่านมาซะทีเดียว

 

 

มาต่อกันที่ ต่างหู เครื่องประดับอีกหนึ่งประเภทที่หลายคนชอบ และใส่ติดตัวแทบจะไม่ต้องถอดกันเลย โดยเครื่องประดับอย่างต่างหูนี้ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชแล้ว โดยในช่วงแรกที่นิยมสวมกัน จะสวมเพื่อแสดงถึงฐานะ และต่างหูที่ได้รับความนิยมจะเป็นต่างหูแบบห่วง ที่มีการประดับตกแต่งด้วยแผ่นทองคำ ถัดมาในสมัยโรมัน ต่างหูที่นิยมกันจากเดิมที่จะเน้นไปที่ความอลังการของ Material ก็ได้กลายมาเป็นพวกหินสี หรือไม่ก็พลอยเล็ก ๆ ที่มีสีสันสดใสแทน

 

จนกระทั่งช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องยาว ๆ ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่างหูกลับไม่ได้เป็นที่นิยม เนื่องด้วยทรงผมของคนในยุคนั้น เป็นทรงผมที่ปิดหูค่อนข้างจะชัดเจน คือต่อให้ใส่ต่างหูอยู่ก็ไม่มีใครรู้ ต่างหูเลยไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก

 

หลังจากนั้นแฟชั่นของการใส่ต่างหูก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามรสนิยมของคนในสมัยนั้น คืออันนี้ค่อนข้างจะแตกต่างจากเครื่องประดับอย่างสร้อยคอ ที่มีจุดประสงค์ในการสวมที่ชัดเจนกว่า ต่างหูเลยกลายเป็นเครื่องประดับที่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ และมันก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างในช่วงแรก ๆ ผู้หญิงจะนิยมใส่ต่างหูกันมากกว่าผู้ชาย และต่างหูเองก็ถูกมองภาพว่าเป็นเครื่องประดับสำหรับผู้หญิง แต่พอมีกระแสของวงดนตรีแนว Alternative Rock เข้ามา ความนิยมในการสวมต่างหูของผู้ชายก็ค่อย ๆ มีมากขึ้น

 

อย่างในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่นิยมสวมต่างหูกัน แต่ผู้ชายเองด้วยก็ตาม และไม่ใช่แค่ผู้ชายที่เสพแนวเพลงอย่าง Alternative Rock เท่านั้นด้วย แต่เรียกได้ว่ามันเป็นเครื่องประดับที่ไม่ว่าใครก็สามารถสวมได้ ไม่มีกฏระเบียบตายตัวในการใส่นั่นเอง

 

 

ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เราพูดถึงเครื่องประดับอย่าง แหวน เราน่าจะนึกถึงเครื่องประดับที่เป็นตัวแทนของความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือเป็นของแทนใจจากใครบางคนที่มีความสำคัญ เลยทำให้คนที่สวมแหวนนั้นมักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีพันธะ หรือมีเจ้าของอยู่แล้ว 

 

ซึ่งจริง ๆ แล้ว แหวนไม่ได้เป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงการมีพันธะแล้วเสมอไป นี่เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนที่ยังไม่มีพันธะส่วนใหญ่ มักจะสวมแหวนที่นิ้วอื่น ที่ไม่ใช่นิ้วนางข้างซ้าย และทำไมคนที่มีพันธะแล้วส่วนใหญ่ถึงต้องสวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้าย แทนที่จะเป็นนิ้วอื่น ก็เพราะว่านอกจากแหวนจะเป็นเครื่องประดับที่เป็นตัวแทนของความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของได้แล้ว นิ้วที่สวมแหวน ยังเป็นเครื่องการันตีชั้นดี ว่าแหวนที่คน ๆ นั้นสวม จริง ๆ แล้วเป็นแหวนที่มีหน้าที่ในการประดับตกแต่งนิ้วเฉย ๆ หรือเป็นแหวนที่ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของใครบางคนอยู่กันแน่

 

และแหวนเองก็ไม่ได้มีหน้าที่เพื่ออยู่บนนิ้วมือของเราเสมอไป อย่างในบางยุค แหวนก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้ไปอยู่ในบริเวณร่างกายส่วนอื่น ๆ อย่าง นิ้วเท้า หู (หรือต่างหูในทุกวันนี้) หรือจมูก โดยหน้าที่ของแหวนอย่างที่เราพอจะรู้กันดีอยู่แล้ว ว่ามันมีหน้าที่ในการ กำหนดสถานะทางสังคม ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ใช่แค่ในยุคนี้เท่านั้น แต่แหวนได้ทำหน้าที่ในการกำหนดสถานะทางสังคม รวมถึงมีจุดประสงค์ในการสวมที่ค่อนข้างจะชัดเจนมาก ๆ มากกว่าต่างหู รวมถึงสร้อยคอเสียด้วยซ้ำ

 

  • ในสมัยอียิปต์โบราณ จุดประสงค์ของการสวมแหวน คือสวมเพื่อเป็น ตราประทับลงบนเอกสาร หรือจดหมาย เลยทำให้บนแหวนนั้นมักจะถูกสลักด้วยชื่อของผู้ที่สวม ที่จะสลักลงบนกรอบสีทองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกที เวลามีเอกสารอะไรที่จะต้องลงตราประทับก็ให้ทำการกดแหวนนั้นลงไปบนเอกสาร ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงตรายางในรูปแบบของแหวนดูก็ได้ เราคิดว่าน่าจะไม่ต่างกัน

  • ในสมัยโรมัน สามารถแบ่งแยกชนชั้นด้วยการสวมแหวนได้ ถ้าคุณเป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีสถานะทางสังคมอะไรแหวนที่คุณสวมจะเป็นแหวนที่ทำมาจากเหล็ก แต่ถ้าคุณมีฐานะดีขึ้นมาหน่อย หรือมีตำแหน่งทางสังคมที่ใหญ่โต แหวนที่คุณสวม จะเป็นแหวนที่ทำมาจากทองคำแทน และที่สมัยโรมันนี้ด้วยเช่นกัน ที่เป็นต้นกำเนิดของแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงานที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

 

นอกจากนั้น การสวมแหวนยังเป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงสมาชิกทุกคนในกลุ่มเข้าหากัน อีกทั้งยังมีการนำแหวนมาใช้แทนเครื่องราง รวมถึงการป้องกันตัวเองจากอันตรายต่าง ๆ เราเลยจะเห็นได้ว่า บทบาทของแหวนนั้นค่อนข้างจะชัดเจนที่สุดในบรรดาเครื่องประดับทั้งหมด  นั่นเลยแปลว่านอกจากแหวนจะเป็นเครื่องประดับที่แสดงออกถึงความทันสมัย และความเป็นแฟชั่นของผู้สวมใส่ได้แล้ว การสวมแหวนยังเป็นตัวแทนของนัยยะอะไรบางอย่าง ตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งถึงทุกวันนี้เลย

 


 

 

"การเลือกเครื่องประดับ ก็เหมือนกับการเลือกคู่"

แล้วเราต้องเลือกยังไง ถึงจะเข้ากับตัวเองมากที่สุด

 

มีใครเป็นไหม เวลาซื้อเครื่องประดับอะไรมาสักชิ้น มักจะมาผิดหวังตอนใส่จริงทุกครั้ง จริงอยู่ที่ช่วงก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อ เราเห็นภาพนางแบบ-นายแบบใส่ออกมาแล้วดูดี๊ ดูดี แต่ไหงพอเป็นเราใส่ปุ๊บ เครื่องประดับกลับไม่ได้เสริมบุคลิกของเราให้มันดูดีขึ้นเหมือนนางแบบ-นายแบบที่เห็นในภาพโปรโมทเลยนะ 🤔 

 

ซึ่งเรื่องนี้จะให้ไปโทษทางร้านอย่างเดียวคงจะไม่ได้ เพราะก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อเครื่องประดับอะไรมาใส่ เราควรเช็กดูให้ดีก่อนว่า เครื่องประดับชิ้นนั้นถูกโฉลกกับเราไหม ใส่แล้วจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ หรือจะลดความน่าสนใจให้การแต่งตัวของเราหรือเปล่า ซึ่งโดยปกติแล้ววิธีการเลือกเครื่องประดับนั้นมีอยู่หลายวิธีมาก แต่วิธีการที่ง่ายและเป็นที่นิยมมากที่สุด นั้นได้แก่ วิธีการเลือกโดยอ้างอิงจาก 'สีผิว' ของผู้ใส่

 

✨  "เงินหรือทองดี ?" 2 เฉดสีที่เป็นปัญหาระดับชาติมานาน

 

บางคนใส่เครื่องประดับมาหลายปี แต่ไม่เคยมีข้อกังขาเรื่องเครื่องประดับอย่างเงินหรือไม่ก็ทอง เลยทำให้เราอาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว การเลือกเครื่องประดับอย่างเงินหรือทองนั้นมี กฏในการเลือกอยู่

 

สำหรับใครที่ไม่เคยมีปัญหาในการเลือกเครื่องประดับเลย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าอาจจะมาจากสีผิวของเราที่เข้ากับทุกเฉดสีของเครื่องประดับ ซึ่งไอ้เจ้าสีผิวของเรานี่แหละที่สามารถกำหนดเฉดสีของเครื่องประดับที่เข้ากับคน ๆ นั้นได้

 

  • อย่างเครื่องประดับที่เป็นสีเงิน จะเหมาะกับคนที่มีสีผิวโทนสว่าง หรือเอาง่าย ๆ ถ้าอยากรู้ว่าเรามีสีผิวโทนสว่างไหม ให้เราลองสังเกตที่เส้นเลือดบริเวณข้อมือของเรากันดู ว่ามีเส้นเลือดเป็นสีอะไร ถ้ามีเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงิน หรือม่วง  แปลว่าเราเป็นคนที่มีสีผิวโทนเย็น หรือว่า Cool Tone เครื่องประดับที่เหมาะกับเรามากที่สุด เลยจะเป็นเครื่องประดับที่มีสีเงิน หรือสีออกไปทางขาว ๆ หน่อย เพราะถ้าใส่สีทองอาจจะทำให้เราดูหมอง หรือดูลอยขึ้นมาได้

  • ส่วนเครื่องประดับที่เป็นสีทอง หรือสี rose gold จะเหมาะกับคนที่มีสีผิวโทนน้ำผึ้ง หรือค่อนไปทางเหลือง ถ้าไม่ชัวร์ให้เราลองสังเกตเส้นเลือดบริเวณข้อมือกันดู ถ้าเป็นสีเขียว  ก็แปลว่าเราเป็นคนที่มีสีผิวโทนอุ่น หรือ Warm Tone ซึ่งจะเข้ากับเครื่องประดับที่อยู่ในโทนค่อนไปทางทอง หรือว่าเหลืองนั่นเอง

  • แต่คนที่มีสีผิวที่เข้ากับเครื่องประดับทุกเฉดสี ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่า เส้นเลือดบริเวณข้อมือของเรามองเห็นไม่ชัด หรือมี เส้นเลือดสีเขียวเข้มและน้ำเงินเข้มปะปนกัน  หรือเปล่า ถ้ามีก็แปลว่าเพื่อน ๆ มีสีผิวเป็นโทน Natural คือสามารถเข้ากับเครื่องประดับได้ทั้งเงิน และทอง ใส่อะไรก็ดูไม่แปลก ดูไม่ลอย เวลาหาซื้อเครื่องประดับก็จะหาซื้อง่ายกว่าคนที่มีสีผิวโทนอื่น ๆ 

 

 

✨  "เงินหรือทอง" แมตช์กับสีเสื้อผ้า และเมกอัปแบบไหน ถึงจะใส่แล้วปัง !

 

สำหรับเกณฑ์การในเลือกเราสามารถใช้หลักการเดียวกับสีผิวได้เลย คือถ้าเพื่อน ๆ สวมเสื้อผ้าหรือแต่งหน้าเป็นโทนสีอุ่น หรือเข้ม ๆ หน่อย ควรจะเลือกเป็นเครื่องประดับที่มีสีทอง แต่ถ้าเพื่อน ๆ สวมเสื้อผ้าเป็นโทนเย็น หรือแต่งหน้าในโทนสดใส ให้เลือกเป็นเครื่องประดับสีเงินแทน

 

แต่ทั้งนี้เราก็ควรเลือกสวมเสื้อผ้า และแต่งหน้าให้เข้ากับโทนสีผิวด้วย เพราะสีผิวคือสิ่งที่สามารถระบุโทนสีที่เข้ากับตัวเราได้มากที่สุด  เรียกได้ว่ามันสามารถเชื่อมโยงไปได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่สีของเสื้อผ้า เครื่องประดับ สีผม รวมถึงสีของเมกอัป หรือที่เราเคยได้ยินกันมาในชื่อของ Personal Color สำหรับใครที่อยากศึกษาเรื่อง Personal Color เพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่นี่ > คลิก

 


 

💭 จริง ๆ แล้วเคล็ด (ไม่) ลับในการเลือกเครื่องประดับให้เข้ากับสีผิวของแต่ละคน ไม่ได้มีอะไรที่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เรารู้จักกับสีผิวของตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีสีผิวอยู่ในโทนอะไร เพียงเท่านี้เราก็สามารถเลือกเสื้อผ้า สีผม เมกอัป รวมถึงเครื่องประดับที่เข้ากับบุคลิกของเราได้แล้ว

 

อย่างใครที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหา ใส่เครื่องประดับแล้วผิวดูหมอง ดำ คล้ำ หรือใส่แล้วดูลอย ไม่สวยเหมือนคนอื่น  ก็ให้ลองสังเกตตัวเองกันดูว่าโทนสีผิวของเรา เข้ากับสีของเครื่องประดับที่เลือกหรือเปล่า ถ้าไม่เข้า ก็ให้ลองเปลี่ยนมาเป็นเครื่องประดับในโทนสีที่เหมาะกับตัวเองดู น่าจะช่วยทำให้การสวมเครื่องประดับของเรานั้น เสริมบุคลิก และทำให้ดูสวยงามขึ้นกว่าเดิมได้  😊 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : didyouknowfashion, britannica, jhyoung และ brokeandchic

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น