ปันโปรสรุปให้ "ขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA" มาตรการใหม่ ที่นักท่องเที่ยวไทย หัวใจเกาต้องอ่าน !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer7 เม.ย. 2565 avatar writer34.5 K
ปันโปรสรุปให้ "ขั้นตอนลงทะเบียน K-ETA" มาตรการใหม่ ที่นักท่องเที่ยวไทย หัวใจเกาต้องอ่าน !

 

🇰🇷 เกาหลีจ๋า พี่มาแล้ววววว~ 🤩 

 

ห่างหายจากบ้านหลังที่ 2 กันไปซะนาน ในที่สุดพวกเราก็มีโอกาสคัมแบควงการกันแล้ววว (ไหน ใครคิดถึงอะไรที่เกาหลีกันบ้าง คอมเมนต์มาบอกหน่อยซิ 😉 ) หลังจากปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางสถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทย ได้มีประกาศให้นักท่องเที่ยวไทย (หัวใจเกา) สามารถเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศเกาหลีกันได้แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้กันเลย ที่สำคัญงานนี้ไม่ต้องขอวีซ่า แถมลงจากเครื่องปุ๊บ สามารถเที่ยวต่อได้เลยไม่ต้องกักตัวโอ้โห... อื้อหือ... ดีงามขนาดนี้ ทำเอาสายเที่ยวที่เฝ้านับวันรอการไปเที่ยวเกาหลีอย่างเรา ๆ ดีใจน้ำตาจิไหลกันถ้วนหน้า 😅

 

แต่เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ถึงแม้ว่าจะฟรีวีซ่าก็จริง แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราจะต้องทำการ ขออนุมัติเดินทางเข้าประเทศเกาหลีกันก่อน  ผ่านระบบ K-ETA ว่าแต่ว่า ไอ้เจ้า K-ETA ที่ว่านี้คืออะไร เดี๋ยวเปย์เป้ 'โอปป้า' จะมาสรุปให้ฟัง !

 


 

 

🇰🇷  K-ETA สำคัญอย่างไร ทำไมต้องลง... (ทะเบียน) 🤔

 

อย่างที่เปย์เป้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า K-ETA เป็นเหมือนการขออนุมัติเดินทางเข้าประเทศเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกนำมาใช้ได้สักพักนึงแล้ว ก่อนที่โควิดระบาดส่งผลทำให้ประเทศเกาหลีต้องปิดประเทศ งดรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศสุ่มเสี่ยงเป็นการชั่วคราว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย 😓 

 

แต่ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่มีการใช้ K-ETA แรก ๆ จุดประสงค์ของมันก็คือมีไว้เพื่อ คัดกรองพลเมืองจากต่างประเทศที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวที่ประเทศเกาหลี  โดยไม่จำเป็นจะต้องขอวีซ่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาเยอะมากเกี่ยวกับระบบด่านตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลี ที่เข้มงวดมากจนทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถูกเทหน้างาน ซึ่งต้นเหตุของความเข้มงวดนี้มาจากอะไร ก็มาจากนักท่องเที่ยวที่ 'ไม่น่ารัก' ที่แอบลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หรือเมื่อเข้ามาแล้วก็มาทำงานที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีใบอนุญาติ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ ผีน้อย 👻 

 

ดังนั้นระบบนี้ก็จะเป็นการลดการเสียเวลาหน้างานลงไปได้เยอะมาก และที่สำคัญหลังจากที่เราลงทะเบียน K-ETA ปุ๊บ เราจะสามารถรับทราบผลก่อนบินกันได้เลยว่า เรามีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีในครั้งนี้ไหม และ การลงทะเบียน K-ETA ผ่าน ไม่ได้แปลว่าหน้างานเราจะไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เพราะยังไงก็ต้องเจออยู่ดี แต่การลงทะเบียนผ่าน ก็จะสามารถช่วยลดโอกาสที่เราจะถูกเทหน้างานได้ ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด หรือมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงนอกจากมาเที่ยวกันอะนะ 😎 

 


 

 

🇰🇷  "OK อารัซซอ" แล้วขั้นตอนลงทะเบียนล่ะ.. ออต๊อกเค ? 🤔

 

ก่อนจะไปว่ากันถึงขั้นตอนการลงทะเบียน อันดับแรกเรามาเตรียมตัวให้พร้อมกับ เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการลงทะเบียน กันก่อนดีกว่า สำหรับเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการลงทะเบียน K-ETA นั้นมีด้วยกันดังนี้ 

  • หนังสือเดินทาง หรือ Passport ของตัวเอง สำคัญที่สุดคือต้องม่หมดอายุนะ  ของใครที่หมดอายุแล้วอย่าลืมไปต่อกันก่อนเด้อ

  • รูปถ่ายหน้าตรง พื้นหลังขาว แบบทางการ ขนาดไม่เกิน 700 x 700 หรือรูปติดบัตรที่เราเรียกกันนั่นแหละ

  • ข้อมูลที่พักที่ประเทศเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดที่ตั้ง, เบอร์ติดต่อที่พัก ระยะเวลาที่เราจะเข้าพัก

  • บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต จำเป็นที่จะต้องมี เอาไว้สำหรับหักค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียน โดยจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 วอน หรือประมาณ 300 บาทไทย

 

หลังจากเตรียมเอกสารที่ต้องใช้กันเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นในส่วนของขั้นตอนการลงทะเบียน จริง ๆ แล้วเราสามารถลงทะเบียนได้ทั้งเว็บไซต์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นกันเลยนะ แต่เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการกรอกข้อมูล เปย์เป้แนะนำให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์จะเป็นการดีที่สุดฮะ

 

📌  ขั้นตอนที่ 1 : เข้าเว็บไซต์ www.k-eta.go.kr แล้วเลือก Apply for K-ETA

 

 

📌  ขั้นตอนที่ 2 : ช่อง Select Continent ให้เลือก Asia Pacific  ส่วนช่อง Select Your Nationality ให้เลือก Thailand  เสร็จแล้วกด Agree ทุกช่อง (อย่าลืมอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนกดยอมรับนะฮะ)

 

 

📌  ขั้นตอนที่ 3 : กรอกหมายเลข Passport และ E-mail ของเราให้เรียบร้อย

 

 

📌  ขั้นตอนที่ 4 : อัปโหลดรูปหน้า Passport พร้อมกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับ Passport ของเราให้ครบถ้วน

 

 

📌  ขั้นตอนที่ 5 : อัปโหลดภาพถ่ายหน้าตรง พื้นหลังขาว แบบทางการ พร้อมกรอกข้อมูลส่วนตัวของเราให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ ฐานเงินเดือน จุดประสงค์ของการเดินทาง วันเดินทาง ที่อยู่ในเกาหลี (ต้องเป็นที่อยู่จริง)  รายละเอียดเพื่อนร่วมเดินทาง รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับคนรู้จักที่อยู่ที่ประเทศเกาหลี ถ้าไม่มี ไม่ต้องกรอก (สำหรับขั้นตอนนี้ และหลังจากนี้จะไม่มีภาพตัวอย่างประกอบ เนื่องจากทางเว็บไซต์ลงทะเบียนของเค้าป้องกันการแคปหน้าจอนะฮะ)

 

📌  ขั้นตอนที่ 6 : หลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วน ทางเว็บไซต์จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดที่เราได้กรอกไป ให้เราได้เช็กความถูกต้องกันอีกครั้ง เมื่อเช็กเรียบร้อยแล้ว ก็ให้จัดการชำระเงินค่าลงทะเบียน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 วอน หรือประมาณ 300 บาทไทย

 

📌  ขั้นตอนที่ 7 : หลังจากชำระค่าลงทะเบียนเรียบร้อย ก็ให้รอรับเอกสารยืนยันทาง E-mail อีกรอบ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้รออีเมลแสดงผลการลงทะเบียนอีกครั้งภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (เป็นอย่างต่ำ) หรือจะเข้าไปเช็กด้วยตัวเองได้ที่เว็บไซต์ โดยให้เข้าไปที่เมนู Check K-ETA Results นะฮะ

 

 

เมื่อเราได้รับผลการลงทะเบียนมาแล้วว่าผ่าน และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้

เอกสารอนุญาตนั้นจะมีอายุ 2 ปี สามารถเก็บไว้เดินทางในภายหลังได้ หรือจะเดินทางเลยก็ได้

โดยการเดินทางแต่ละครั้ง สามารถอยู่ที่เกาหลีได้ไม่เกิน 90 วัน / ครั้ง

แต่เปย์เป้แนะนำว่าให้ติดตามข่าวสารกันเรื่อย ๆ เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเดินทางเพิ่มเติมนะฮะ 😉 

 


 

 

🇰🇷 ลงทะเบียนเสร็จ ตื่นเต้นไม่ไหว ขั้นตอนต่อไปบินไปเที่ยวได้เลยป่าว 🤔

 

ถึงแม้ว่าจะลงทะเบียน K-ETA ผ่านก็จริง แต่การเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ในช่วงนี้ จะต้องพ่วงมากับการเตรียมเอกสาร รวมถึงการลงทะเบียนอื่น ๆ ร่วมด้วย ใครที่คิดว่าถ้าลงทะเบียน K-ETA ผ่าน จะเหมือนเป็นการปูพรมให้เราเดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้แบบสบาย ๆ เลยหรือเปล่า เปย์เป้ตอบให้เลยว่า ไม่ใช่นะฮะ  เพราะการลงทะเบียน K-ETA เป็นเพียงแค่ ด่านแรก ของกระบวนการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีเท่านั้น ส่วนหลังจากนั้นจะต้องเตรียมตัวยังไงกันอีก มาฮะ เดี๋ยวเปย์เป้โอปป้าจะมาเทรนความพร้อมให้กับทุกคนกันต่อ 😎 

 

📌  อยากเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว ต้องอย่าลืมลงทะเบียน Q-CODE กันก่อน สำหรับเพื่อน ๆ ที่สงสัย Q-CODE นี้คืออิหยัง จะบอกว่าเจ้า Q-CODE นี้จะเป็นการให้นักท่องเที่ยวได้ลงทะเบียนแจ้งประวัติการได้รับวัคซีนที่ผ่าน ๆ มาของเรา ว่าได้รับวัคซีนครบตามเงื่อนไขไหม ถ้าได้รับ ได้รับวัคซีนตัวไหนมาบ้าง ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปลงทะเบียนกันได้ ทางเว็บไซต์  cov19ent.kdca.go.kr

 

 

โดยการลงทะเบียน Q-CODE นี้เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญกับการเดินทางเข้าประเทศเกาหลี เพราะหลังจากที่เราลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย เราจะต้องทำการนำ QR-CODE ที่ระบบได้ให้ไว้ มาสแกนเพื่อเข้าประเทศเกาหลี กันอีกที โดยสิ่งที่ต้องมีและจะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนจะลงทะเบียน Q-CODE นั่นก็คือ

 

  • รายละเอียดหนังสือเดินทาง หรือ Passport ของเรา

  • ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง และที่พักระหว่างอยู่ที่เกาหลี (ต้องเป็นข้อมูลจริง)

  • ข้อมูลการฉีดวัคซีน และผลการตรวจโควิดแบบ Fit to Fly โดยผลจะต้องมีอายุไม่เกิน 48 ชั่วโมง

 

📌  ยัง ยังไม่พอ หลังจากลงทะเบียน Q-CODE เสร็จ อย่าลืมลงทะเบียนตรวจโควิดแบบ RT-PCR ที่เกาหลีกันต่อด้วย แม้ว่าโอกาสในการบินไปเที่ยวเกาหลีของเราจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่สิ่งที่ตามมา (และเราจะต้องยอมรับแบบปฎิเสธไม่ได้) นั่นก็คือการปฎิบัติตามกฎที่เข้มงวดของทางบ้านเค้า ซึ่งหลังจากที่เราเดินทางเข้าประเทศเกาหลีปุ๊บ เราจะต้องทำการตรวจโควิดแบบ RT-PCR อีกครั้งที่สนามบิน (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ www.safe2gopass.com 

 

 

ซึ่งข้อดีของการจองมาก่อนก็คือ เมื่อเราเดินทางมาถึงสนามบินปุ๊บ สามารถเข้ารับการตรวจตามคิวที่จองไว้ได้เลย ตรวจปุ๊บรับทราบผล สามารถออกไปเที่ยวต่อได้ทันที ในส่วนของรายละเอียดที่จะต้องกรอกสำหรับการจองเข้ารับการตรวจ RT-PCR ที่สนามบินนั้นได้แก่ รายละเอียด Passport, เที่ยวบินในการเดินทางมาที่ประเทศเกาหลี, ช่วงเวลาที่ต้องการจองคิวเพื่อเข้ารับการตรวจ และการจ่ายค่าตรวจซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 120,000 วอน หรือประมาณสามพันบาท

 

เมื่อเสร็จเรียบร้อยหลังจากที่เราได้ทำตามกระบวนการทุกอย่างกันจนเสร็จสรรพ ในกรณีที่เพื่อน ๆ คนไหนอาศัย อยู่ที่เกาหลีมากกว่า 6-7 วันเป็นต้นไป  จะต้องทำการตรวจโควิดแบบ Rapid Antigen Test กันอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเรายังปลอดภัย ห่างไกลจากเจ้าไวรัสตัวร้ายกันอยู่นะ 😅 

 

ส่วนใครที่สงสัยว่าแล้วขากลับก่อนขึ้นเครื่องเราจะต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR กันอีกรอบไหม คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับทางสายการบินของเพื่อน ๆ เลยฮะว่าจำเป็นที่จะต้องตรวจไหม ถ้าต้องตรวจ ก็สามารถใช้วิธีการจองตรวจที่สนามบินแบบขามากันได้ หรือถ้าเพื่อความสบายใจและลื่นไหลในการกลับบ้าน เปย์เป้ว่าตรวจเผื่อไว้สักหน่อยก็จะเป็นการดีน้าา อ้อ อย่าลืมลงทะเบียน Thailand Pass ก่อนเดินทางกลับเข้าประเทศไทยกันด้วยนะ

 

 

📌  คำแนะนำเพิ่มเติมในการเลือกที่พักสำหรับการลงทะเบียนเข้าประเทศเกาหลี  ข้อมูลอย่างที่พักเป็นอะไรที่สำคัญและก็จำเป็นมาก ๆ สำหรับการลงทะเบียน K-ETA รวมถึงการลงทะเบียนอื่น ๆ อย่างที่เปย์เป้ย้ำนักย้ำหนาว่าข้อมูลที่จะต้องกรอก จำเป็นที่จะต้องกรอกข้อมูลจริง ดังนั้นเพื่อน ๆ หลายคนอาจจะกลัวกันว่า ถ้าสมมุติเราจองที่พักไป ปรากฎว่าลงทะเบียนไม่ผ่าน ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีได้ แบบนี้เรียกว่าเสียเงินค่าที่พักไปฟรี ๆ เลยหรือเปล่า ?

 

เปย์เป้เลยมีคำแนะนำมาฝากสำหรับการเลือกที่พักสำหรับใช้ในการกรอกเอกสาร รวมถึงเพื่อความสะดวกเวลาที่เราพำนักอยู่ที่ประเทศเกาหลีดังนี้

 

ควรเลือกที่พักแบบที่สามารถไปจ่ายหน้างานได้

หรือยกเลิกได้ฟรีก่อนวันเดินทาง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

 

แบบนี้จะเวิร์ค และเซฟต่อพวกเราที่สุด แต่อย่าใช้วิธีสุ่มเลือกที่พักไปก่อน (ซึ่งหน้างานอาจจะไม่ได้พักที่นี่) อันนี้เปย์เป้บอกเลยว่า อย่าหาทำเด็ดขาด เพราะถ้าทางประเทศเกาหลีตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าเราให้การเท็จเมื่อไหร่ บอกเลยว่าการเดินทางไปที่ประเทศเกาหลีครั้งต่อไป หรือเผลอ ๆ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหลังจากลงจากเครื่องเลยนั่นแหละ อาจจะทำให้เราถูกส่งตัวกลับประเทศทันที หรือไม่ก็ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศเค้าได้ง่ายและสะดวกแบบนี้อีกแล้วนะ !

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 7 เมษายน 2565


 

💭 และทั้งหมดนี้ก็เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้า K-ETA เพื่อให้นักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ได้เตรียมตัวก่อนจะเก็บกระเป๋า แล้วบินไปเที่ยวที่ประเทศเกาหลีกัน แต่ใดใดก็ตาม ต่อให้เกาหลีจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้วก็จริง แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในบ้านเค้าจะอยู่ในระดับที่วางใจได้ขนาดนั้น ถ้าใครไม่ได้รีบร้อน เปย์เป้ว่ารอดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักพักดีกว่า หรือถ้าใครอดใจไม่ไหว บ้านหลังที่ 2 มันเรียกร้องให้กลับไปหา ก็ต้องดูแลตัวเองดี ๆ หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ใดใดต้องพร้อม สำคัญที่สุดก็คือการดูแลตัวเองหน้างานนี่แหละ ถ้าเรามั่นใจว่าเราดูแลตัวเองได้ ก็ไม่ต้องวอรี่ ขอให้เที่ยวให้สนุก อย่าลืมเที่ยวเผื่อเปย์เป้โอปป้าด้วยนะ อิอิ 😎 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : ฐานเศรษฐกิจ

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น