ธนาคารพาณิชย์ไทย พาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้ สู้ไวรัสโควิด-19

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer1 เม.ย. 2563 avatar writer7.4 K
ธนาคารพาณิชย์ไทย พาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้ สู้ไวรัสโควิด-19

ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ย "เงินฝาก-เงินกู้"
ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งแตะระดับต่ำสุดที่ 0.75%
เพื่อลดภาระต้นทุนของประชาชนและภาคธุรกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ


Highlight ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน


• ไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะตัวเล็กนิดเดียว แต่กลับสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจของโลกใบนี้ และยังไม่รู้เลยว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อไหร่ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก 

• คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางการเงิน ได้มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียง 0.75% เพื่อลดผลกระทบทางการเงินให้กับประชาชนและภาคธุรกิจด้วย

• ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่ง เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงไปแล้ว ช่วยลดภาระของประชาชนในช่วงวิกฤติแบบนี้


ไวรัสโควิด-19 ทำเศรษฐกิจทั่วโลกล้มเป็นโดมิโน่


นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เรียกว่าได้รับผลกระทบกันแทบทุกอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งช่วงแรกอาจจะดูไม่ได้มีผลกระทบในวงกว้าง แต่พอจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายฝ่ายก็จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งหลายประเทศได้เลือกใช้มาตรการรุนแรงที่สุดคือ "ปิดประเทศ" ไม่ให้มีคนเข้า-ออกประเทศในช่วงเวลาที่กำหนดไว้เลย ไม่ให้คนออกจากบ้าน เรียกว่าหยุดกิจกรรมทุกอย่าง Shut Down ประเทศเลยก็มี 

สำหรับในประเทศไทย มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดค่อยๆ เข้มข้นขึ้นตามลำดับ หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นวันละกว่า 100 คน ทำให้ต้องมีการปิดสถานที่ต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงจะที่ติดเชื้อจากคนนึงไปสู่คนอื่นๆ ได้ หลายที่จำเป็นต้องปิดให้บริการเป็นเวลาหลายเดือน และก็ยังไม่รู้ว่าจะสามารถกลับมาดำเนินกิจการตามปกติได้เมื่อไหร่ เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด หลายหน่วยงานได้ออกมาคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตประเทศ​ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของไทยในปีนี้ จะพลิกจากบวกเล็กน้อยกลายเป็นติดลบ ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายลงมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งติดลบมากเท่านั้น

GDP

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 63 ก่อนหน้านี้จะสามารถขยายตัวได้เล็กน้อยเพียง 1.7% แต่เมื่อเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหดตัวลงมากถึง -6.4% ก็ต้องลุ้นกันอีกทีว่าช่วงหลังจากครึ่งปีแรกแล้ว จะสามารถฟื้นตัวได้มั้ย หรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Depression) ไปเลย (ข้อมูลจาก : https://www.ryt9.com/s/iq03/3110637)


"นโยบายการคลัง" ทำควบคู่กับ "นโยบายการเงิน"


ในช่วงเวลานี้ถือเป็นความยากลำบากของการบริหารจัดการนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจมีความเปราะบาง และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลัง ควบคู่กับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกัน

(1) นโยบายการคลัง บริหารดูแลโดยกระทรวงการคลัง จะเน้นไปที่เรื่องงบประมาณ ดูแลรายรับและรายจ่ายของประเทศ รวมถึงนโยบายทางภาษีด้วย ในตอนนี้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว หรืองบประมาณขาดดุล (รายจ่าย > รายรับ) เพราะในช่วงนี้เศรษฐกิจค่อนข้างย่ำแย่ จำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เห็นได้จากมาตรการของกระทรวงการคลังที่ออกมาเพื่อดูแลผู้ได้ผลกระทบที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แจกเงินให้กับประชาชนหลายล้านคน ลดภาษีต่างๆ ก็เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอยของคนกลุ่มต่างๆ

(2) นโยบายทางการเงิน ซึ่งบริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบ นั่นคืออัตราแลกเปลี่ยน และ "อัตราดอกเบี้ย" ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมของคณะกรรมการนโนบายการเงิน ช่วงต้นเดือน ก.พ. 63 ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 1% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดแล้ว แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 63 ได้มีการประชุมนัดพิเศษ และได้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือเพียง 0.75% เท่านั้น ทำให้เป็นแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ให้สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลงสำหรับคนที่กู้เงิน หรือมีสินเชื่อกับธนาคารอยู่ ส่วนอีกหนึ่งมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยทางอ้อม ก็คือการผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปให้กับลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อบุคคล เพื่อให้มีเงินสามารถนำไปใช้จ่ายในช่วงเวลาลำบากนี้ให้ได้นั่นเอง


ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้


หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้ประชุมนัดพิเศษในวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา และมีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือเพียง 0.75% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ จะส่งผลไปยังธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ด้วยเช่นกัน

Loan Rate

ธนาคารกรุงเทพ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 63

• MLR ลดลง 0.125% เหลือ 5.875% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.50% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.125% เหลือ 6.50% ต่อปี

ธนาคารกรุงไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63

• MLR ไม่เปลี่ยนแปลง เหลือ 5.875% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.62% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.125% เหลือ 6.745% ต่อปี

COVID-19

ธนาคารกสิกรไทย - มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 63

• MLR ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 6.00% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.62% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.12% เหลือ 6.50% ต่อปี

ธนาคารไทยพาณิชย์ - มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 63

• MLR ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 5.775% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.495% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.125% เหลือ 6.745% ต่อปี

COVID-19

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย - มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63

• MLR ลดลง 0.25% เหลือ 6.75% ต่อปี
• MOR ไม่เปลี่ยนแปลง เหลือ 7.25% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.125% เหลือ 7.75% ต่อปี

ธนาคารออมสิน - มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63

• MLR ลดลง 0.10% เหลือ 6.275% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.245% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.125% เหลือ 6.37% ต่อปี

COVID-19

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ - มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 63

• MLR ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 5.875% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.35% เหลือ 6.150% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.10% เหลือ 6.275% ต่อปี

ธนาคารทีเอ็มบี และธนชาต - มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63

• MLR ไม่เปลี่ยนแปลง เหลือ 6.65% ต่อปี
• MOR ลดลง 0.25% เหลือ 6.675% ต่อปี
• MRR ลดลง 0.12% เหลือ 7.03% ต่อปี


แบงก์ลดดอกเบี้ยแล้ว จะช่วยเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน?


ตอนนี้ปัญหาของประชาชนอยู่ที่เรื่องของปากท้อง ไม่มีเงินนำมาใช้จ่าย เพราะหลายคนต้องตกงานจากธุรกิจที่ต้องปิดตัวลงไป และถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ จะต้องมีกิจการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับภาระได้ จะต้องล้มลงอีกไม่น้อยแน่นอน ถ้าเราลองมาดูกันแล้ว "นโยบายการเงิน" ของธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอยู่ในตอนนี้ ถือเป็นตัวช่วยนึงที่จะสามารถลดผลกระทบของเศรษฐกิจในตอนนี้ได้ แต่ภาพรวมแล้วก็ต้องพึ่งนโยบายการคลังเป็นส่วนใหญ่ เพื่อจะช่วยให้เศรษฐกิจสู้กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ เครื่องมือในมือมีอะไรตอนนี้ก็คงต้องนำมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว เพราะดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้อาการสาหัสอยู่เหมือนกัน

สู้ต่อไปนะทุกคน!

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น