มิวสิคเลิฟเวอร์ต้องอ่าน ! เปรียบเทียบ "7 มิวสิคสตรีมมิ่งในไทย" เจ้าไหน 'ใช่' มากที่สุด ?

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer18 มี.ค. 2565 avatar writer12.5 K
มิวสิคเลิฟเวอร์ต้องอ่าน ! เปรียบเทียบ "7 มิวสิคสตรีมมิ่งในไทย" เจ้าไหน 'ใช่' มากที่สุด ?

 

นอกจากสายดูหนังจะมีปัญหาเวลาไถหาอะไรดูกันแล้ว จะบอกว่าสายฟังเพลงเองก็มักจะเจอปัญหานี้ไม่ต่างกัน ดังนั้นคำว่า 'ไม่รู้จะดูอะไร'  ของสายดูหนัง เลยมีความหมายไม่ต่างจากคำว่า 'ไม่รู้จะฟังอะไร'  ของสายฟังเพลง

 

และเมื่อพูดถึงการฟังเพลง เปย์เป้มองว่ามันเป็นอะไรที่เฉพาะส่วนบุคคลมาก ๆ เพราะเดี๋ยวนี้แพลตฟอร์มฟังเพลงในบ้านเราก็คือมีเยอะ ถ้าเจ้าฮิต ๆ เลยก็จะมี Spotify, Youtube Music หรือไม่ก็ Apple Music แถมแต่ละแพลตฟอร์มก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันออกไปคนละทิศคนละทาง วันนี้เปย์เป้เลยจัดการคว้าหมับ !  7 มิวสิคสตรีมมิ่งเจ้าดังในไทย ก่อนมานั่งเปรียบเทียบจุดเด่นของแต่ละเจ้าให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เผื่อว่ามีเพื่อน ๆ คนไหนกำลังเบื่อ ๆ ในการนั่งไถหาเพลงฟังกันอยู่ล่ะก็.. หวังว่าคอนเทนต์นี้ของเราจะช่วยเคลียร์ปัญหาให้ไม่มากก็น้อยนะ 😎 

 


 

 

เปรียบเทียบ 7 แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงในไทย

เจ้าไหนตอบโจทย์เราที่สุด มาเช็กกัน !

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 1 : Spotify

 

ขอประเดิมกันด้วยแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง Spotify กันก่อนเลยก็แล้วกัน เพราะเปย์เป้เชื่อว่าเพื่อน ๆ กว่า 80% ที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์นี้น่าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสตรีมมิ่งเจ้านี้กันดีอยู่แล้ว สำหรับ Spotify เป็นแพลตฟอร์มฟังเพลงสัญชาติสวีเดน ที่มีคลังเพลงให้เลือกฟังมากถึง 50+ ล้านเพลง สำหรับจุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้ ก็คือ ความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลง, การจัดหมวดหมู่การฟัง ไปจนถึงรายการวิทยุ, คอนเสิร์ต หรือรายการพอดแคสต์ต่าง ๆ ก็มี แต่เมื่อมันมีทุกอย่างเยอะแยะไปหมด ทำให้ผู้ใช้งานบางคนอาจจะเจอกับปัญหา ไม่รู้จะฟังอะไร เกิดขึ้นได้ ด้วยความที่ว่ามันมีเยอะเกินไปจนเลือกฟังไม่ถูกนั่นเอง 😅 

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : มีทั้งแบบฟรี และพรีเมียม โดยความแตกต่างระหว่างทั้งสองแบบ ก็คือ ถ้าสมัครแบบพรีเมียมจะสามารถฟังเพลงได้โดยไม่มีโฆษณาคั่น, สามารถโหลดเพลงเพื่อเก็บไว้ฟังได้ (แบบออฟไลน์), มีคุณภาพเพลงที่ดีกว่า, สามารถเลือกแทร็กหรือเพลงที่ต้องการจะเล่นได้ (ถ้าใช้งานแบบฟรีจะไม่สามารถเลือกเพลงได้)

  • ค่าบริการแพ็กเกจพรีเมียม : มีให้เลือกใช้งานแบบ 1 วัน จะมีค่าบริการ 7 บาท, แบบใช้งาน 1 สัปดาห์ จะมีค่าบริการ 26 บาท, แบบใช้งาน 1 เดือน (ใช้งานได้ 1 บัญชี) จะมีค่าบริการ 129 บาท, แบบใช้งาน 1 เดือน (ใช้งานได้ 2 บัญชี) จะมีค่าบริการ 169 บาท และแบบใช้งาน 1 เดือน (ใช้งานได้สูงสุด 6 บัญชี) จะมีค่าบริการ 209 บาท

 

สมัครใช้บริการที่นี่ > คลิก

 


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 2 : Apple Music

 

มาต่อกันด้วยแพลตฟอร์มพื้นฐานของผู้ใช้งาน iOS อย่าง Apple Music กันบ้าง ซึ่งจะบอกว่าจริง ๆ แล้วผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ก็สามารถโหลด Apple Music มาใช้งานได้เหมือนกัน ลองเปิดหน้า Google Play ของตัวเองแล้วค้นหากันดู  สำหรับจุดเด่นของเจ้า Apple Music นี้  เค้าจะเน้นไปที่ความเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่เห็นแบบนี้เค้ามีคลังเพลงมากถึง 90 ล้านเพลง มีหมวดหมู่ให้เลือกฟังเพียบ จะฟังเป็นรายการวิทยุสด ๆ ก็ได้, รายการสัมภาษณ์ศิลปินก็มี หรือจะเปิดดูเอ็มวีก็เวิร์ค

 

ถึงแม้ว่ามองเผิน ๆ เค้าจะไม่ได้มีลูกเล่นอะไรให้ได้เห็นโจ่งแจ้งเหมือน Spotify แต่ Apple Music ตัวนี้ยังสามารถใช้งานควบคู่ไปกับฟีเจอร์ต่าง ๆ ของระบบ iOS ได้ ไม่ว่าจะเป็น ฟีเจอร์ค้นหาจากเสียงเพลง, การฟังเพลงผ่าน Car Play, รวมถึงคอนเทนต์ Exclusive เฉพาะผู้ที่ใช้งาน Apple Music เท่านั้น แถมยังมีระบบเสียงคุณภาพรองรับการใช้งานได้แบบเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : ไม่สามารถใช้งานแบบฟรีได้ ต้องสมัครแพ็กเกจก่อนเท่านั้น สำหรับผู้ที่สมัครใช้บริการแพ็กเกจใด แพ็กเกจหนึ่งของ Apple Music จะสามารถฟังเพลงได้แบบไม่มีโฆษณาคั่น, รับชมรายการ Exclusive ได้ฟรี, โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ได้ อีกทั้งยังสามารถใช้งานควบคู่ไปกับฟีเจอร์อื่น ๆ ของ iOS เพื่อประสบการณ์ในการฟังที่มากขึ้นก็ได้เช่นกัน หรือถ้าใครอยากทดลองฟังเล่น ๆ ก่อนตัดสินใจ ก็สามารถเข้าไปทดลองใช้งานแบบฟรีได้ ในระยะเวลาที่จำกัด

  • ค่าบริการแพ็กเกจ : แพ็กเกจสำหรับนักศึกษา (ใช้งานได้ 1 คน) มีค่าบริการ 69 บาท / เดือน, แพ็กเกจสำหรับบุคคลธรรมดา (ใช้งานได้ 1 คน)  มีค่าบริการ 129 บาท / เดือน และแพ็กเกจแบบครอบครัว (ใช้งานได้สูงสุด 6 คน) มีค่าบริการ 199 บาท / เดือน 

 

สมัครใช้บริการที่นี่ > คลิก

 


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 3 : Youtube Music

 

หลายคนอาจจะรู้จักและคุ้นเคยกันดีกับ Youtube ผู้ให้บริการเว็บไซต์เผยแพร่คลิปวิดีโอกันดีอยู่แล้ว จนบางคนอาจจะสงสัย เอ้า ถ้ามี Youtube อยู่แล้ว แล้วเจ้า Youtube Music นี้แตกต่างจาก Youtube ปกติยังไง สำหรับจุดเด่นของ Youtube Music ก็คือ เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ โดยอาศัยคลังเพลงขนาดใหญ่นั่นก็คือ Youtube ดังนั้นเราจึงมั่นใจได้ว่า ลิสต์เพลงก็คือมีให้เลือกฟังเพียบ จนปลดล็อกสกินหูทองคำกันแน่นอน

 

และที่สำคัญนอกจากจะฟังเพลงได้แล้ว เรายังสามารถดูมิวสิควิดีโอกันได้ด้วย ส่วนหมวดหมู่ของ Playlist ก็จะมีความคล้ายคลึงกับ Spotify อยู่ แต่จะเหมาะกับคนที่ถนัดใช้งาน Youtube กันมาก่อน เพราะเล่นไปเล่นมา จะสัมผัสได้ถึงฟีลลิ่งเวลาที่เราไถหาเพลงฟังในยูทูปอยู่เหมือนกัน อ้อ สำหรับใครที่เป็นสายฟัง Podcast อาจจะต้องข้าม Youtube Music ไป เพราะตอนนี้ยังไม่มีให้ฟังเยอะขนาดนั้น เดี๋ยวเสียเงินมาแล้วจะไม่คุ้มกัน แหะ ๆ 

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : มีทั้งแบบฟรี และพรีเมียม โดยความแตกต่างระหว่างทั้งสองแบบ ก็คือ ถ้าสมัครแบบพรีเมียมจะสามารถฟังเพลงได้โดยไม่มีโฆษณาคั่น, สามารถโหลดเพลงเก็บไว้ฟังได้ (แบบออฟไลน์), ดูมิวสิควิดีโอใหม่ ๆ ได้ และถึงแม้ว่าจะปิดหน้าจอไปแล้วก็ยังสามารถฟังเพลงได้อยู่ อ้อ อันนี้พิเศษสุด สำหรับใครที่เป็นสมาชิก Youtube Premium กันอยู่แล้ว สามารถใช้บริการ Youtube Music Premium กันได้เลย ส่วนใครไม่ได้เป็นสมาชิก Youtube Premium ก็ต้องเสียค่าบริการกันตามระเบียบนะจ๊ะ

  • ค่าบริการแพ็กเกจพรีเมียม : แพ็กเกจสำหรับนักเรียน - นักศึกษา (ใช้งานได้ 1 คน) มีค่าบริการ 65 บาท / เดือน, แพ็กเกจสำหรับบุคคลธรรมดา (ใช้งานได้ 1 คน)  มีค่าบริการ 129 บาท / เดือน, แพ็กเกจแบบครอบครัว (ใช้งานได้สูงสุด 5 คน) มีค่าบริการ 199 บาท / เดือน และแพ็กเกจสำหรับบุคคลธรรมดา คิดเป็นรายปี (ใช้งานได้ 1 คน) มีค่าบริการ 1,290 บาท (ตกเดือนละ 107.5 บาท)

 

สมัครใช้บริการที่นี่ > คลิก

 


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 4 : JOOX

 

มาถึงมิวสิคสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ของเอเชียอย่าง JOOX กันดูบ้าง จะบอกว่าสัดส่วนของผู้ใช้งานก็คือตีคู่สูสีมากับ Spotify กันเลย แต่จุดเด่นของ JOOX นั่นก็คือ จะตอบโจทย์กับคนที่ฟังเพลงไทยได้มากกว่า แถมยังมีลูกเล่นต่าง ๆ เยอะ มีคอนเทนต์ Exclusive ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ เพลงที่ปล่อยออกมาเฉพาะ JOOX ลามไปถึงขั้นสามารถร้องคาราโอเกะได้ (อ่ะ คอนเทนต์นักร้องเสียงเพราะ หรือเสียงเพี้ยนต้องมาแล้วหนึ่ง) แถมยังประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ด้วยการถ่ายทอดสดงานประกาศผลรางวัลเพลงทั้งในไทย ไปจนถึงระดับเอเชียเลยก็มี แถมตอนนี้เค้ายังมีหน้า Buzz ที่มีความคล้ายคลึงกับเจ้า TikTok ที่เรารู้จักกันด้วย ก็คือลูกเล่นเพียบ สายฟังเพลงไทย รวมถึงเพลงเอเชียห้ามพลาด !

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : มีทั้งแบบฟรี และ VIP โดยความแตกต่างระหว่างทั้งสองแบบ ก็คือ ถ้าสมัครแบบพรีเมียมจะสามารถฟังเพลงได้โดยไม่มีโฆษณาคั่น, สามารถโหลดเพลงเก็บไว้ฟังได้แบบไม่อั้น (แบบออฟไลน์) แถมยังฟังเพลงได้ในคุณภาพระดับเสียงที่สูง

  • ค่าบริการแพ็กเกจ VIP : แพ็กเกจแบบรายครั้ง ใช้งานได้ 1 คน / 1 สัปดาห์ ค่าบริการ 59 บาท, แพ็กเกจแบบรายเดือน (ใช้งานได้ 1 คน) โปรโมชันพิเศษลดเหลือ 49 บาท (จาก 99 บาท), แพ็กเกจแบบราย 3 เดือน (ใช้งานได้ 1 คน) ค่าบริการ 99 บาท (จาก 279 บาท), แพ็กเกจแบบรายปี (ใช้งานได้ 1 คน) ค่าบริการ 999 บาท และแพ็กเกจแบบครอบครัว (ใช้งานได้สูงสุด 6 คน) ค่าบริการ 179 บาท / เดือน

 

สมัครใช้บริการที่นี่ > คลิก

 

*ราคาโปรโมชัน ณ วันที่ 18 มีนาคม 2565


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 5 : Fungjai

 

สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงไทย ไม่ว่าเพลงนั้นจะอยู่ในกระแสหรือนอกกระแส เปย์เป้ขอยกป้ายไฟเชียร์ Fungjai มิวสิคสตรีมมิ่งสุดอินดี้ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ ความหลากหลายของอาณาจักรเพลงไทย ถ้าไม่เชื่อลองสุ่มเปิดมาฟังสักเพลย์ลิสต์นึงดู เปย์เป้รับรองว่าเพื่อน ๆ จะได้เพลงโปรดใหม่ ๆ ตามมาเพียบ แถมหมวดหมู่ของเค้าก็คือลึกล้ำเวอร์ อะ ยกตัวอย่างเช่น Playlist กะเพราไก่ใส่ไข่ดาว คือเดาออกกันไหมว่าคือเพลย์ลิสต์เพลงแนวไหน 😅  แล้วไหนจะมีรายการวิทยุให้เราได้ฟังกันแบบสด ๆ ทุกชั่วโมง รวมถึงให้เราออกแบบรายการวิทยุของตัวเองกันได้ งานนี้ก็เพลิดเพลิน เจริญใจกันไปเลยสิครัช

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : ตอนนี้สามารถฟังได้แบบฟรี ๆ ไม่ว่าจะฟังผ่านทางเว็บไซต์ หรือจะโหลดแอปมาฟังกันบนมือถือก็ได้ ฟรีแบบนี้เป้เลิฟเลอ !

 

ใช้บริการได้ที่นี่ > คลิก

 


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 6 : Soundcloud

 

ถัดจากอินดี้ ก็มาต่อกันที่สตรีมมิ่งอินดี้สัญชาติเยอรมนีกันต่อบ้าง สำหรับจุดเด่นของสตรีมมิ่งเจ้านี้  คือเค้าเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานเพลง ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือว่าไม่มี แต่อยากจะลงผลงานให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ได้ฟัง และเข้ามาคอมเมนต์กัน ก็สามารถใช้ช่องทางอย่าง Soundcloud ในการแสดงฝีมือของตัวเองกันได้

 

แต่ถ้ามองในมุมของคนฟังเพลง นับว่าเป็นอะไรที่เปิดโลกในการฟังเอามาก ๆ เพราะสตรีมมิ่งเจ้านี้นอกจากจะมีเพลงนอกกระแสที่น่าสนใจให้ได้เลือกฟังกันเยอะแล้ว ยังมีการนำเอาเพลงที่เราอาจจะรู้จัก หรือเคยได้ยินกันมารีมิกซ์ใหม่ในสไตล์ของคนทำเพลง เรียกได้ว่าปลดล็อกสกินหูทองคำที่แท้ทรู กับบรรดาผลงานคุณภาพของคนทำเพลงที่มีฝีมือจากทั่วโลกผ่านทางมิวสิคสตรีมมิ่งเจ้านี้ (อ้อ ถ้าใครชอบฟัง Podcast ของ The Standard รวมถึงรายการในเครือ เค้าก็มีการนำมาลงในช่องทางนี้ให้ได้ฟังกันด้วยนะ)

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : ฟรีค่าบริการ แต่ถ้าเพื่อน ๆ เป็นคนที่ทำเพลง สามารถอัปเกรดให้เป็นสมาชิกแบบ Pro ได้ เพราะจะมีสิทธิพิเศษในการลงผลงานเพิ่มขึ้นจากสมาชิกแบบฟรีเยอะมาก แต่ถ้าเราแค่จะเข้าไปฟังเพลงเฉย ๆ ก็ไม่ต้องอัปเกรดสมาชิกให้เป็น Pro กันก็ได้จ้า

  • ค่าบริการสำหรับคนที่ต้องการอัปเกรดเป็น Pro  : มีค่าบริการอยู่ที่ $12 ต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทยได้ 398.94 บาทโดยประมาณ

 

ใช้บริการได้ที่นี่ > คลิก

 


 

 

🎧  แพลตฟอร์มที่ 7 : Deezer

 

ปิดท้ายกันด้วยมิวสิคสตรีมมิ่งสัญชาติฝรั่งเศส ที่ตอนนี้ได้เปิดให้แฟนเพลงชาวไทยได้ใช้บริการกันแล้ว สำหรับจุดเด่นของ Deezer ก็คือ  มีคลังเพลงให้ได้เลือกฟังมากถึง 90 ล้านเพลง แถมยังมีหมวดหมู่ให้เลือกฟังกันเยอะ มี Podcast ที่น่าสนใจเพียบ ที่สำคัญเรายังสามารถอัปโหลดเพลงจากที่อื่นมาลง Deezer กันได้, สามารถใช้ฟีเจอร์ค้นหาจากเสียงเพลงได้ ส่วนหน้าตาตัวสตรีมเค้าจะแอบคล้ายกับ Apple Music ในเวอร์ชันที่มีลูกเล่นในตัวเบา ๆ อารมณ์แบบว่าแค่เปิดเพลงฟังก็ดูชิคได้ ฟีลประมาณนั้นเลย

 

  • แพ็กเกจที่ให้บริการ : มีให้เลือกทั้งแบบฟรี และแบบเสียเงิน ซึ่งความแตกต่างระหว่างทั้งสองแพ็กเกจนี้ ก็คือ ถ้าสมัครแพ็กเกจรายเดือนของเค้า เราจะสามารถฟังเพลงได้แบบไม่มีโฆษณา, มีหมวดหมู่ของเพลงให้ได้ฟังเยอะกว่า, สามารถโหลดมาฟังตอนออฟไลน์ได้, เสียงมีความคมชัด และสามารถใช้งานได้หลายอุปกรณ์ / 1 บัญชี

  • ค่าบริการแพ็กเกจ Premium: แพ็กเกจแบบรายเดือน (ใช้งานได้ 1 บัญชี) มีค่าบริการอยู่ที่ $10.99 หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 365.84 บาทโดยประมาณ, แพ็กเกจแบบครอบครัว (ใช้งานได้สูงสุด 6 บัญชี) มีค่าบริการอยู่ที่ $17.99 หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 598.86 บาทโดยประมาณ หรือจะสมัครแบบรายปี (ใช้งานได้ 1 บัญชี) มีค่าบริการตกเดือนละ $8.24 หรือคิดเป็นเงินไทยได้ 274.30 บาท / เดือนโดยประมาณ

 

สมัครใช้บริการที่นี่ > คลิก

 


 

 

  • ถ้าเพื่อน ๆ เป็นคนชอบลูกเล่นเยอะ ๆ และมีความรักอิสระในการฟัง มีความอยากรู้ อยากฟังโน่นนี่เต็มไปหมด เปย์เป้ขอแนะนำ Spotify เพราะเค้ามีจำนวนเพลงเยอะ มีเพลย์ลิสต์ให้เลือกเพียบ อีกทั้งยังสามารถให้ผู้ฟังคนอื่น ๆ จัดเก็บและแชร์เพลย์ลิสต์ของตัวเองได้ เกิดเบื่อ ๆ ไม่รู้ว่าจะฟังอะไร ก็ลองค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดอะไรง่าย ๆ สักอย่างนึงดู แพลตฟอร์มเค้าก็จะคัดเพลย์ลิสต์ที่ตอบโจทย์คำค้นหาของเรามาให้ ทางเราก็แค่สุ่มแล้วเข้าไปฟังกันโล้ด...

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ ชอบความเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้นจะต้องมีอะไร เปย์เป้ขอผายมือมาที่ Apple Music เพราะการใช้งาน รวมถึงลูกเล่นต่าง ๆ ของเค้าไม่สลับซับซ้อนเลย เหมาะสำหรับคนที่นึกอยากจะฟัง ก็ฟัง อารมณ์แบบไถเจอลิสต์ที่ต้องการแล้วก็สามารถฟังได้ทันที ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรให้มากความ แถม Apple Music ยังอัดแน่นไปด้วยคอนเทนต์คุณภาพที่หาดูจากที่ไหนไม่ได้ให้พอเป็นสีสันกรุบ ๆ ให้กับผู้ใช้งานอย่างเรากันด้วย

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ ถนัดใช้งาน Youtube กันอยู่แล้ว เปย์เป้ขอแนะนำ Youtube Music โดยเฉพาะคนที่เป็นสมาชิก Youtube แบบ Premium สามารถใช้งาน Youtube Music Premium ได้เลยฟรี ๆ ต่อให้โหลดมาทิ้งไว้ก็ไม่เสียหาย  แถมใช้งานง่าย เพราะมู้ดแอนด์โทนของสตรีมมิ่งนี้ยังคงมีกลิ่นอายความเป็น Youtube อยู่เยอะมาก ทำให้คนที่ถนัดใช้งานยูทูปกันมาก่อน สามารถทำความเข้าใจง่าย เมนูไม่สลับซับซ้อน เพลงก็มีให้เลือกฟังหลากหลาย เหมือนกับเวลาที่เราใช้งาน Youtube ธรรมดา ๆ กันนั่นแหละ เพียงแต่เจ้า Youtube Music จะตอบโจทย์คนที่ต้องการไถหาเพลงฟังกันมากกว่า 

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ อยากได้ลูกเล่นเยอะ ๆ และชอบฟังเพลงไทยที่อยู่ในกระแส เปย์เป้ขอแนะนำ JOOX เพราะเค้าจะเน้นหนักไปที่คลังเพลงไทย รวมถึงเพลงที่อยู่ในกระแสเป็นหลัก แต่ที่น่าจะโดนใจคนที่อยากได้บรรดาลูกเล่นในการฟังเพลงมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้นหน้า Buzz ที่ถอดแบบมาจากฟีด TikTok (แต่ของ JOOX จะเน้นไปที่คอนเทนต์เพลงเป็นหลัก) รวมถึงการตอบโจทย์คนที่รักในการร้องเพลง เพราะเราสามารถร้องคาราโอเกะกันได้ผ่านสตรีมมิ่งเจ้านี้ ที่สำคัญเค้ามีโปรโมชันสมัครแพ็กเกจปล่อยออกมาบ่อยมาก โดนใจคนรักโปรโมชันอย่างพวกเราแน่นอน 😉 

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ อยากเปิดโลกแห่งการฟังเพลง และเป็นสายอินดี้ เปย์เป้ขอแนะนำ Fungjai ที่น่าจะได้ใจทุกคนกันถ้วนหน้า แถมยังสามารถใช้งานได้ฟรี ไม่เสียเงินสักบาท ไหน ๆ ก็ฟรีขนาดนี้ ใครที่รู้ตัวว่าชอบฟังเพลงแนวอินดี้ นอกกระแส หรือกำลังหาเพลงแนวใหม่ ๆ ฟังกันอยู่ ฟังใจนี่แหละ เหมาะมาก !

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ อยากฟังเพลงนอกกระแส จากคนทำเพลงทั่วโลก ก็พาตัวเองมาซบไหล่ Soundcloud กันได้ เพราะสตรีมมิ่งเพลงเจ้านี้ขึ้นชื่อเรื่องของผลงานการทำเพลง จากคนทำเพลงทั่วทุกมุมโลกที่มาลงผลงานให้ได้ฟังกันแบบฟรี ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลงที่ผลิตขึ้นมาใหม่ หรือจะเป็นผลงานการรีมิกซ์เพลงใดใด ก็คือมีให้เลือกฟังกันหลากหลายแนว อย่าคิดว่าเพลงนอกกระแสจะมีแต่เพลงแนวอินดี้อย่างเดียว ลองเปิด Soundcloud แล้วฟังกันดู เพราะงานนี้มีแต่คุณตะพาบบ เอ้ย คุณภาพ~

 

 


 

  • ถ้าเพื่อน ๆ เบื่อ Apple Music กันแล้ว อยากหาตัวตายตัวแทนคนใหม่  เปย์เป้ขอแนะนำ Deezer เพราะความยากง่ายในการใช้งานเมื่อเทียบกับ Apple Music แล้ว เปย์เป้ตอบให้เลยว่าไม่ต่างกัน แถมที่เด่นกว่านั้นก็คือเค้ามี Podcast ที่น่าสนใจให้ได้ฟังเยอะมาก โดยเฉพาะถ้าเพื่อน ๆ เป็นสายชอบฟัง Podcast ต่างประเทศแล้วด้วย บอกเลยว่าตอบโจทย์สุด อะไรสุด 

 

 


 

💭 และทั้งหมดนี้ก็เป็นมิวสิคสตรีมมิ่งทั้ง 7 เจ้าที่เปย์เป้อยากจะมาป้ายยาต่อให้กับเพื่อน ๆ ที่เป็นสายชอบฟังเพลงเหมือนกัน โดยเฉพาะสตรีมมิ่งเจ้าไหนที่เปิดให้ใช้บริการฟรี เป้บอกเลยว่า งานนี้ไม่ควรพลาด หรือถ้าใครกำลังมองหาสตรีมมิ่งที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองกันอยู่ หวังว่าคอนเทนต์นี้ของเราจะสามารถคัดตัวเลือกที่น่าสนใจ ในราคาที่ตอบโจทย์ให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนกันได้มากขึ้น 

 

ส่วนใครที่เป็นสายดูหนัง สามารถตามไปเช็กลิสต์แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งดูหนัง และซีรีส์ กันต่อได้ที่นี่ > จบปัญหาไม่มีอะไรดู รวมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในไทย สายดูหนัง - ดูซีรีส์ ห้ามพลาด !

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น