ไม่รู้ | ไม่ได้ สรุปความต่างของไวรัส 2 สายพันธุ์ “โอไมครอน & เดลต้า” ใครยังไม่รู้อ่านด่วน !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer16 ธ.ค. 2564 avatar writer1.5 K
ไม่รู้ | ไม่ได้ สรุปความต่างของไวรัส 2 สายพันธุ์ “โอไมครอน & เดลต้า” ใครยังไม่รู้อ่านด่วน !

 

สายพันธุ์เก่ายังไม่ทันไป สายพันธุ์ใหม่มาอีกแล้ว บรื๋ออ.. หลอน 😱 กับน้องโอไมครอน (Omicron) ที่กำลังระบาดอยู่ในบ้านเราตอนนี้ หลังจากที่สายพันธุ์เดลต้า (Delta) ปักหลักอยู่ด้วยกันมานานแสนนาน อย่างบางคนนะเพิ่งจะได้ฉีดวัคซีนกันไปด้วยซ้ำ ฉีดยังไม่ถึงเดือน เอ้า สายพันธุ์ใหม่มาเฉย ความกังวลก็คือบังเกิดแล้วหนึ่ง ว่าเอ๊ะ.. วัคซีนที่เพิ่งตบตีได้มา มันสามารถเป็นภูมิต้านทานไอ้เจ้าสายพันธุ์ใหม่กับเค้าได้ไหม หรือจะต้องแทงอีกกี่เข็ม ถึงจะรับมือกับมันไหว อะหรือ อะหรือว่า จริง ๆ แล้วมันอาจจะใหม่แค่ชื่อ แต่อาการต่าง ๆ ไม่ต่างจากเดิม 🤔  อะ ใครที่กำลังสงสัยกันอยู่ ได้เวลามาเคลียร์กันให้จบ ๆ ไปเลยดีกว่า !

 


 


จะอยู่ด้วยกันอีกนานมั้ย ไม่รู้

แต่ที่รู้ ๆ ขอทำความรู้จักสักหน่อยเหอะ !

 

จะว่าไป.. เราก็อยู่กับโควิดกันมานานแล้วเหมือนกันนะ ยิ่งถามถึงโอกาสในการใช้ชีวิตปกติ การได้ออกไปเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ก็คือเท่ากับศูนย์ จนทำให้หลายคนถอนหายใจออกมาแทนคำพูดกันไปแล้วหลายตลบ แล้วเดี๋ยวนี้นางล้ำซะด้วยนะ ขนาดสายพันธุ์เดลต้ายังพัฒนาตัวเองมาเป็นเดลต้าพลัสได้ ล่าสุดยังมีโอไมครอนโผล่มาด้วยอีกหนึ่ง ยิ่งทำให้คนอกสั่นขวัญแขวนเข้าไปใหญ่ แล้วไหนจะสายพันธุ์ก่อนหน้าที่ยังไม่สามารถเมคชัวร์ได้เลยว่า ไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ดังนั้นดูเหมือนทางออกที่เราพอจะทำได้ในตอนนี้คืออยู่ร่วมกับมัน แล้วหาทางป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งในระหว่างนี้ก็รอผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในการหาเวย์จัดการกับมัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ไม่รู้ว่าร่างจะพรุนกันอีกแค่ไหนเชียว เข็ม 10 จะมามั้ยน้า แฮะๆ  😅 

 

| จากเดลต้าพัฒนาสู่เดลต้าพลัส

 

ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดอยู่ในบ้านเรามานานพอสมควรแล้ว ซึ่งที่มาของสายพันธุ์นี้ มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่การกระจายของเชื้อที่ทำได้เร็ว ง่าย และ ภูมิคุ้มกันโควิดในร่างกาย (แต่เดิม) ไม่สามารถต้านทานได้  ดังนั้นทางออกแรกก็หนีไม่พ้นการฉีดวัคซีน ซึ่งในบ้านเราก็มีให้เลือกฉีดกันหลายยี่ห้อมาก ที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็ได้แก่ ซิโนแวค รวมถึงแอสตร้า

 

จนกระทั่งการมาของเดลต้าพลัส คือ ถ้าเปรียบเทียบสายพันธุ์เดลต้าเป็นพนักงานออฟฟิศ เดลต้าจะเป็นเหมือนพนักงานน้องใหม่ใสกริ๊งที่ยังไม่ได้เชี่ยวชาญในการทำงานเท่าไหร่ ส่วนเดลต้าพลัสก็จะเป็นเหมือนพี่ใหญ่ผู้คร่ำหวอด ผ่านอะไรต่อมิอะไรมาเยอะ หรือเรียกว่าอึดมากกว่าเดิมก็ได้ เอาง่าย ๆ คือ เดลต้าพลัสที่ว่านี้ นางพัฒนาตัวเองมาจากสายพันธุ์เดลต้าเดิม ทำให้อะไร ๆ ที่ดูเหมือนจะง่ายกลับท้าทายมากขึ้น !

 

จุดเด่นของสายพันธุ์เดลต้าพลัสคือ แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น, ไวขึ้น, เป็นอันตรายกับปอดมากขึ้น มิหนำซ้ำยังเริ่มต่อต้านกับการรักษาขึ้นมาแล้ว  ยิ่งรู้แบบนี้วัคซีนตัวแรกที่ถูกปัดตกไป ก็ได้แก่ซิโนแวค แต่วัคซีนที่กลายเป็นที่สนใจมากขึ้นนอกจากแอสตร้าแล้ว ยังมีโมเดอร์น่า รวมถึงไฟเซอร์อีกตัวที่กลายเป็นเป้าหมายหลักของคนส่วนใหญ่ขึ้นมา เพราะประสิทธิภาพในการคุ้มกันของมันที่ทำได้ดีกว่า แถมยังพิสูจน์ผลลัพธ์เป็นรูปเป็นร่างได้จริง ๆ

 

ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสเดลต้าและเดลต้าพลัสจะมีอาการเหมือนกัน

คือเหมือนอาการไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ มีน้ำมูก เหมือนกัน

 

 

| เดลต้ายังไม่ทันหาย โอไมครอนก็เข้ามาแทรก

 

ใหม่ล่ามาแรง ใหม่จนแบบตั้งตัวกันไม่ทัน 😅 ถ้าใครจะใช้คำว่าปุ๊บปั๊บรับโชคเราก็ว่าไม่แปลก คือถ้าถามว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมันโอเคขึ้นมั้ย มันก็ถือว่าโอเคขึ้นแล้วนะ แบบสถานที่ต่าง ๆ ก็เริ่มเปิดให้บริการได้ตามปกติ (แต่ก็ยังบินไปต่างประเทศไม่ได้เหมือนเดิม) พอโอไมครอนมาปุ๊บ อะไร ๆ ก็เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอีกครั้ง สาเหตุหลักไม่ใช่อะไรเลย แต่เป็นเพราะว่ามันเป็นสายพันธุ์ที่ใหม่มาก ดังนั้นผลการทดสอบวัคซีนต่าง ๆ คือแทบจะยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ อย่างตอนแรกที่มีข่าวสถานการณ์ในบ้านเราถือว่ายังปกติอยู่ ตัดภาพไปหลังจากนั้นไม่นาน แจ็คพอตก็แตก ตอนที่ตรวจเจอผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่คนแรก งานนี้ทำเอาผวากันทั้งประเทศ จนหลายคนเริ่มกังวลกันอีกรอบแล้วว่าปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ตรูจะยังรอดอยู่ไหม ?

 

คือเดลต้าพลัสก็น่ากลัวแล้ว แต่จุดเด่นของโอไมครอนรอบนี้ ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพในการติดเชื้อ, แพร่กระจาย รวมถึงการหลบหลีกภูมิคุ้มกันก็คือง่ายกว่าเดิมมาก ๆ แถมยังมีรายงานอีกด้วยว่า คนที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน สามารถติดเชื้อซ้ำได้จากสายพันธุ์ใหม่นี้ จากตอนแรกที่หลายคนเข้าใจว่าติดแล้ว โอกาสติดซ้ำอาจจะมีน้อยจนถึงแทบไม่มี (เพราะร่างกายได้รับภูมิคุ้มกันแล้ว) แต่นั่นคือสายพันธุ์เดลต้าไงจ๊ะ ไม่ใช่โอไมครอน เอาดี ๆ ความรู้สึกไม่ต่างอะไรจากการล้างไพ่ ที่นอกจากจะมีเดลต้าให้กังวลแล้ว พอโอไมครอนมาปุ๊บ บอกได้คำเดียวว่ายาดมต้องเข้าแล้ว !

 

แล้วที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นคือข้อมูลของโอไมครอน ที่มันยังคลุมเครืออยู่มาก  บางอย่างเหมือนจะชัดเจนแล้วนะ แต่ก็ยังฟันธงแบบชัวร์ ๆ ไม่ได้อยู่ดี ก็อย่างที่บอกไปอะเนอะว่ามันใหม่มาก ๆ อย่างหลายประเทศ (ไม่ใช่แค่บ้านเรา) ก็กำลังพยายามปรับตัว หาเวย์ในการจัดการกับมันให้เหมือนกับไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ และในเมื่อมันยังคลุมเครืออยู่แบบนี้ เลยทำให้คนในบ้านเราหลายคนเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ว่าบ้านเราตอนนี้กำลังอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจ ในความไม่เต็มใจ (ชื่อเพลงใหม่ Getsunova 😂 ) รวมถึงยังไม่มีมาตรการใด ๆ ให้ได้เห็นกันแบบเด็ดขาด คือต่อให้มีมาตรการป้องกันที่สนามบินก็จริง แต่มันก็ยังไม่แน่นหนาพอ จนทำให้จากที่ป้องกันตัวเองดีในระดับนึง ก็ต้องเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองกันอีกชั้น จนตอนนี้บางคนอาจจะฉีดวัคซีนกันถึงเข็มที่ 4 ที่ 5 กันไปแล้วด้วยซ้ำ

 

คำถามต่อมาคือ แล้ววัคซีนที่ป้องกันเดลต้า สามารถป้องกันโอไมครอนได้เหมือนกันไหม ?

 

 

| ความแตกต่างระหว่าง "เดลต้า กับ โอไมครอน"

 

ก่อนที่จะไปตอบคำถามเรื่องวัคซีน เริ่มแรกเราต้องมาทำความเข้าใจถึง ความแตกต่างระหว่างเดลต้ากับโอไมครอน กันก่อน จากที่ได้อ่านกันไป ความเข้าใจเรื่องของระดับความดื้อของไวรัส ถ้าไล่เรียงจากน้อยไปมากก็จะเป็นตามนี้ เดลต้า > เดลต้าพลัส > โอไมครอน ซึ่งนอกจากนี้ยังมีลักษณะของอาการที่มีพัฒนาการล้ำไปกว่าเดิม ซึ่งสามารถสรุปความแตกต่างได้ตามนี้

 

  • การแสดงอาการของเดลต้า : จะมีอาการเหมือนไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็น มีไข้, มีน้ำมูก, เจ็บคอ ไปจนถึงไอ
  • การแสดงอาการของโอไมครอน : จะไม่มีไข้ แต่จะมีจุดสังเกตอาการอื่น ๆ อย่าง อ่อนเพลีย, เหนื่อยง่าย ไปจนถึงปอดอักเสบ

  • ความเร็วในการแพร่เชื้อของเดลต้า : จะแพร่เชื้อเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเดลต้าพลัส ก็คือจะเร็วกว่าเดิมมาก ๆ
  • ความเร็วในการแพร่เชื้อของโอไมครอน : แพร่เชื้อได้เร็วที่สุดในตอนนี้ (เทียบกับสายพันธุ์ทั้งหมดที่ระบาดในไทย) 

  • ระดับความรุนแรงของเดลต้า : ในเคสที่หนักมาก ๆ อาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ระดับความรุนแรงของโอไมครอน : ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ในต่างประเทศมีการพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว

  • การตรวจหาเชื้อไวรัสเดลต้า : ตอนนี้ชุดตรวจ ATK ที่วางจำหน่ายอยู่ในบ้านเราสามารถตรวจการติดเชื้อที่มาจากไวรัสตัวนี้ได้
  • การตรวจหาเชื้อไวรัสโอไมครอน : ชุดตรวจ ATK ที่วางจำหน่ายอยู่ตอนนี้มี 3 ยี่ห้อเท่านั้นที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้ตรวจเชื้อชนิดนี้ได้  ได้แก่ ชุดตรวจยี่ห้อ Siemens, Flowflex และ Roche ส่วนการตรวจแบบ RT-PCR สามารถตรวจไวรัสทั้งสองชนิดนี้ได้เลยจ้า

 

เท่าที่อ่านข้อมูลมา จากความรู้สึกของเราสามารถสรุปได้ว่า สายพันธุ์เดลต้า จะมีการแสดงออกของอาการที่ค่อนข้างชัดเจนกว่าโอไมครอน คือโอไมครอนจะเน้นการแพร่เชื้อแบบเงียบ ๆ (แต่รวดเร็วมาก) กว่าผู้ป่วยรู้ตัวก็คือตอนที่ติดเชื้อไปแล้ว แต่ด้วยความที่ว่าในบ้านเรา การพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนนี้ยังมีน้อยมาก ๆ ทุกอย่างมันเลยคลุมเครือ แต่เราก็ยังคงเชื่อนะ ว่าในอนาคตเราอาจจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเจ้าโอไมครอนกันมากกว่านี้แน่นอน

 

 

| แล้ววัคซีนในบ้านเราตอนนี้ มียี่ห้อไหนบ้างที่สามารถป้องกันโอไมครอนได้ " สักนิดสักหน่อยก็ยังดี "

 

จะใจร้ายไปไหมถ้าจะบอกว่าช้อยส์แรกที่ตัดออกไปคือซิโนแวค & ซิโนฟาร์มแหะ ๆ  ไม่ใช่ว่าเพราะเหตุผลส่วนตัวหรืออะไรนะ แต่มันมีงานวิจัยออกมาจริง ๆ ว่าวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อตาย ต่อให้จะฉีดครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงหรือช่วยลดความรุนแรงของโอไมครอนได้เลย นอกเสียจากว่าจะฉีดเข็ม 3 ที่ "ต่างชนิดกัน" กับเชื้อตาย ก็อาจจะช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ 

 

แต่คนที่ฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้า, โมเดอน่า คือต่อให้ฉีดครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ก็แนะนำให้หาเข็มอื่น ๆ บูสต์กันต่อ เพราะยิ่งนานวันเข้าประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มก่อนหน้าก็จะค่อย ๆ ลดลง ๆ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการบูสต์เข็มต่อ ๆ ไปกันด้วย ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยงานไหนออกมาชี้ชัดว่ามันสามารถป้องกันโอไมครอนได้แบบ 100% แต่วัคซีนประเภทนี้ก็สามารถช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ยังไงซะก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 

ดังนั้นถ้าถามว่าวัคซีนที่ป้องกันเดลต้าได้ จะสามารถป้องกันโอไมครอนได้ไหม คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน คือถ้าเป็นประเภทเชื้อตายอันนี้ตอบได้เลยว่าป้องกันโอไมครอนไม่ได้จริง ๆ แต่ถ้าเป็นชนิดอื่น ๆ อย่างโมเดอน่า, แอสตร้า รวมถึงไฟเซอร์ อันนี้สามารถช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของโอไมครอนลดลงได้ แต่เราเชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีวัคซีนใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ ยังไงก็จับตาดูกันต่อไป แต่ใดใดก็อย่าลืมดูแลตัวเองกันด้วย แม้ตอนนี้จะยังไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่นี้มาก (ในบ้านเรา) แต่ก็อย่าชะล่าใจเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงใกล้ปีใหม่เลยไปจนถึงหลังปีใหม่ยิ่งต้องระวัง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเดิม หรือโอไมครอนเองก็ตาม

 


 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : petcharavejhospital.com, sikarin.com, vichaivej-nongkhaem.comspringnews.co.th, pptvhd36.com และ prachachat.net

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น