รวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 62 แค่วางแผนให้ดี ก็มีเงินเหลือแน่นอน!

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer1 พ.ย. 2562 avatar writer20.6 K
รวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 62 แค่วางแผนให้ดี ก็มีเงินเหลือแน่นอน!

ภาษีเงินได้ เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคนจะต้องยื่นตามกฎหมาย
เพียงแค่ศึกษาและวางแผนให้ดี ก็ช่วยให้เราประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายได้
เราลองมาดู "รายการลดหย่อนภาษี ปี 2562"
ว่ามีอะไรบ้าง?
ก่อนจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มี.ค. 63 นี้กัน!


กำลังจะเข้าสู่ช่วงปลายปีแบบนี้ เหลืออีกแค่ไม่กี่เดือนก็จะเทศกาลปีใหม่แล้ว ถึงเวลาแล้วล่ะที่เราก็จะต้องมาวางแผนเรื่องภาษีกันอย่างจริงจัง เพราะจะต้องเตรียมยื่นแสดงรายได้ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ของปี 62 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 63 กันแล้ว ช่วงนี้ถ้าจะเห็นเทศกาลขายประกันเยอะก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลดหย่อนภาษีได้ โดยทั้งหมดจะต้องดำเนินการภายในปีภาษีนี้ ซึ่งก็คือก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 62 จ้า แต่สำหรับมือใหม่เพื่งเรียนจบ ทำงานเป็นปีแรกอาจจะไม่รู้ว่าเงินได้สุทธิจะคำนวณยังไง รายการลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้างน้า แถมปีนี้ยังมีรายการลดหย่อนภาษีพิเศษที่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย อยากให้ลองศึกษาและทำความเข้าใจกันสักนิด จะเป็นประโยชน์มากๆ ตอนยื่นภาษีในช่วงต้นปีหน้าอย่างแน่นอน!


ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถคำนวณได้ 2 แบบนะ

1) แบบขั้นบันได

[รายได้ตลอดปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน] = รายได้สุทธิ

การคำนวณภาษีแบบนี้เป็นวิธีที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ เราจะรวบรวมรายได้ตลอดทั้งปี 62 ว่าเป็นเท่าไหร่ จากนั้นก็นำค่าใช้จ่ายมาหักออก และปิดท้ายหักด้วยรายการลดหย่อนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในปีภาษีนั้น ก็จะคำนวณออกมาเป็นรายได้สุทธิประจำปี สุดท้ายเราก็นำรายได้สุทธิดังกล่าวมาคูณด้วยอัตราภาษีตามเรทแบบขั้นบันได

รายได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

2) แบบเหมา 0.5%

เมื่อมีรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราจะต้องคำนวณโดยวิธีเหมา โดยใช้อัตรา 0.5% ได้เลย ซึ่งเราจะเลือกคำนวณภาษีโดยวิธีเหมาจ่าย จะต้องเข้าเงื่อนไข คือ

  • คำนวณจากเงินได้ทั้งหมดที่ไม่ได้มาจากเงินเดือน
  • ภาษีที่จะต้องจ่ายเกิน 5,000.- (ถ้าไม่เกิน 5,000.- ก็ไม่ต้องคำนวณวิธีนี้)
  • คำนวณภาษีเงินได้แบบเหมา 0.5% แล้วจะต้องมากกว่าแบบขั้นบันได

เงินได้ที่ไม่ได้มาจากเงินเดือน x 0.005 = ภาษีที่ต้องจ่าย

Tax


"ค่าใช้จ่าย" ที่นำมาหักจากเงินได้ จะคำนวณยังไง?

เราจะเห็นว่าเวลาจะคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายในแต่ละปี จะต้องนำรายได้-ค่าใช้จ่าย แต่เงินได้มีถึง 8 ประเภท ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากันนะ มาลองดูกันว่าแต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายยังไงกันบ้าง?

  • เงินได้ประเภทที่ 1 (เงินเดือน/โบนัส) และเงินได้ประเภทที่ 2 (ค่าจ้าง) เป็นเงินได้ส่วนใหญ่ที่มักจะนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากัน ซึ่งก็คือกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน, ข้าราชการ, ลูกจ้าง หรืออาชีพอิสระ เป็นต้น จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000.-
  • เงินได้ประเภทที่ 3 (ค่าลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา) เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000.- หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้จ้า
  • เงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากหุ้น) จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
  • เงินได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) เลือกหักแบบเหมา 10-30% แล้วแต่ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ (ทั่วไปจะเป็น 30%) หรือเลือกหักตามจริงก็ได้ 
  • เงินได้ประเภทที่ 6 (ค่าวิชาชีพอิสระ) เลือกหักแบบเหมา 30-60% (กลุ่มแพทย์หักได้ 60% ส่วนกลุ่มอื่นจะเป็น 30%) หรือเลือกหักตามจริงก็ได้ 
  • เงินได้ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมา ค่าแรง) เลือกหักแบบเหมา 60% หรือเลือกหักตามจริงก็ได้ 
  • เงินได้ประเภทที่ 8 (อื่นๆ) เลือกหักแบบเหมา 60% เฉพาะอาชีพที่กำหนด หรือเลือกหักตามจริงก็ได้ ถ้าไม่เข้าข่ายอาชีพที่กำหนดจะต้องหักตามจริงเท่านั้นจ้า

Tax

ตัวอย่าง : ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีเงินได้รวมตลอดทั้งปี จำนวน 300,000.- ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่สูงสุดได้เพียง 100,000.- เท่านั้นจ้า แต่ถ้าเรามีเงินได้ทั้งปี 80,000.- สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% หรือ 40,000.- นั่นเองจ้า


สรุปครบสุด "รายการลดหย่อนปี 62" มีอะไรบ้าง?

การลดหย่อนภาษี ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าไม่ใช่การเลี่ยงภาษีนะ แต่เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำมาหักจากรายได้ ก่อนจะนำไปคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิในปีนั้น ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงนั่นเอง ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถลดหย่อนได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่ว่าเราจะสามารถร่วมรายการไหนได้บ้าง ซึ่งจะมีทั้งรายการลดหย่อนที่เหมือนเดิมทุกปี และรายการพิเศษที่เพิ่มเติมขึ้นมาเฉพาะปีจากรัฐบาลอนุมัติเพิ่มเข้ามาด้วย แต่จะมีรายการไหนลดหย่อนได้บ้างนะ เรามาเจาะลึกกันเลยจ้าาา~

🌠 รายการลดหย่อนส่วนตัว และการใช้ชีวิต 🌠

ส่วนแรกนี้จะเป็นค่าลดหย่อนสำหรับส่วนตัวและบุคคลในครอบครัว ซึ่งเราสามารถเลือกลดหย่อนได้หลายรายการ หากเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดได้นะ โดยยอดขั้นต่ำที่ลดหย่อนได้แน่นอน คือค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000.- ซึ่งทุกคนจะได้รับสิทธิ์แน่นอนจ้า

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000.-
    ไม่ว่าจะมีเงินได้เท่าไหร่ก็ตาม สามารถหักลดหย่อนในส่วนนี้ได้ 60,000.- ทันที
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000.-
    โดยจะต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และคู่สมรสไม่มีเงินได้ในปีภาษี ถ้ามีเงินได้จะไม่สามารถหักลดหย่อนได้
  • ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000.- (ลูกคนที่ 2 เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000.-)
    โดยจะต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรือหากอายุ 21-25 ปี จะต้องศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย หรืออุดมศึกษา
    - บุตรชอบด้วยกฎหมาย > ลดหย่อนได้ไม่จำกัด
    - บุตรบุญธรรม หรือมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม > ลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน
  • ค่าลดหย่อนบิดา-มารดา คนละ 30,000.- (ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 4 คน)
    - ต้องเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายของตัวเองหรือคู่สมรส (กรณีเป็นพ่อแม่ของคู่สมรส คู่สมรสจะต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น)
    - อายุ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษีนั้นๆ
    - รายได้ตลอดปีภาษีไม่เกิน 30,000.-
    - สามารถลดหย่อนได้เพียงคนเดียว (กรณีมีลูกหลายคน) ต้องเลือกว่าใครจะรับสิทธิ์ลดหย่อนพ่อแม่นะ
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ตามที่จ่ายจริงไม่เกินท้องละ 60,000.-
    กรณีคาบเกี่ยวปี จะสามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000.-
  • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ คนละ 60,000.- โดยลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีก กรณีเป็นคู่สมรส / บุตร / พ่อแม่
    - เป็นคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์
    - ต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000.- ต่อปี

🌠 รายการลดหย่อนด้านประกันและลงทุน 🌠

เข้าสู่ช่วงปลายปีแบบนี้ ถ้าเรามองหาตัวลดหย่อนภาษีอยู่ ส่วนนี้คือทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยล่ะ เพราะเป็นการลงทุนเงินที่มีอยู่ให้ได้ผลตอบแทน แถมยังนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยแหละ ลองวางแผนดีๆ ช่วยประหยัดภาษีไปได้เยอะสุดเลยนะเอาจริง

  • (1) เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000.-
    ประกันระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเป็นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
  • (2) เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.-
    ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ / ประกันอุบัติเหตุ / ประกันภัยโรคที่ร้ายแรง / ประกันภัยการดูแลระยะยาว

(1) + (2) เมื่อรวมกันแล้ว สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000.-

  • เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.-
    จะต้องเป็นพ่อแม่ตามกฎหมาย และมีรายได้ไม่เกิน 30,000.- ต่อปี
  • (3) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000.-
    - ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
    - เป็นบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
    - จ่ายผลประโยชน์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
  • (4) กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
  • (5) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้
  • (6) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200.-

(3) + (4) + (5) + (6) เมื่อรวมกันแล้ว สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000.-

  • กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000.-
    ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน และปี 62 จะซื้อได้เป็นปีสุดท้ายแล้วจ้า ถ้าจะลดหย่อนต้องรีบเลย!
  • เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000.-

Tax

โครงการบ้านหลังแรก เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มเข้ามาในปี 62 อีกครั้ง

🌠 รายการลดหย่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 🌠

ส่วนนี้จะเรียกว่าเป็นรายการลดหย่อนพิเศษก็ได้อยู่ เพราะเป็นรายการลดหย่อนเฉพาะกิจเพิ่มเติมขึ้นมาจากมาตรการที่ภาครัฐอนุมัติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในบางช่วง มีทั้งรายการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า และบางรายการจะไม่สามารถรับสิทธิ์ได้ เพราะหมดเวลาไปแล้วจ้า (หัวข้อสีแดง)

  • โครงการบ้านหลังแรก (ปี 62) ลดหย่อนได้ตามจริงเพียงปีเดียว สูงสุด 200,000.-
    จะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 31 ธ.ค. 62
  • โครงการบ้านหลังแรก (ปี 58-59) เป็นสิทธิ์ลดหย่อนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58-59 นาน 5 ปี สูงสุดปีละ 120,000.-
    - จะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธ.ค. 59
    - ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้น
  • ค่าลดหย่อนช้อปช่วยชาติ ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.- (ซื้อระหว่างวันที่ 1-16 ม.ค. 62)
    เป็นมาตรการต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 61 สำหรับซื้อสินค้ายางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ, หนังสือ + E-Book และสินค้า OTOP
    * กรณีมีรายการลดหย่อนในปีภาษี 61 ไปแล้ว จะสามารถลดหย่อนในปีภาษี 62 ในส่วนที่เหลือได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000.- 
  • ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองไทย ลดหย่อนภาษีรวมกันได้สูงสุด 20,000.- (ซื้อระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 30 มิ.ย. 62)
    แบ่งเป็นค่าลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองหลัก 15,000.- และเมืองรอง 20,000.- แต่รวมกันไม่เกิน 20,000.-
    เฉพาะค่าทัวร์ ค่าที่พักโรงแรม (ที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมาย พรบ.การโรงแรม) และโฮมสเตย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่พักต่างที่ไม่ใช่โรงแรม โดยใช้หลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่มีชื่อผู้ซื้อ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องด้วยนะ
  • ค่าลดหย่อนซื้อสินค้า OTOP ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.- (ซื้อระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 30 มิ.ย. 62)
    สินค้า OTOP จะต้องลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนอย่างถูกต้อง โดยใช้หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีที่มีชื่อผู้ซื้อ
  • ค่าลดหย่อนซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.- (ซื้อระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 62) 
    จะต้องเป็นใบกำกับภาษีที่มีชื่อผู้ซื้อ ต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
  • ค่าลดหย่อนซื้อหนังสือและ E-Book ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000.- 
    ใช้หลักฐานใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี โดยต้องมีข้อมูลผู้ซื้อ ผู้ขาย และรายละเอียดครบถ้วน
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000.-
    กรณีเป็นการยื่นกู้ร่วมให้หารจำนวนคนตามจริง เช่น กู้ร่วม 3 คนก็เอาดอกเบี้ยที่จายไปหาร 3 แต่เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000.-
  • ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง
    เฉพาะรายการจากรายได้ประเภทที่ 5-8 ซึ่งได้แก่ ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และธุรกิจอื่นๆ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 59 - 31 ธ.ค. 64
  • เงินลงทุนในธุรกิจ Start-Up ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000.-
    โดยธุรกิจ Start-Up หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 58 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 62 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลา
  • ค่าลดหย่อนกรณีซ่อมแซมบ้านและรถที่เสียหายจากน้ำท่วมปาบึก ระหว่างวันที่ 3-7 ม.ค. 62 
    - กรณีซ่อมบ้าน ต้องเป็นบ้านที่ได้รับความเสียหายจากพายุ ลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุด 100,000.-
    - กรณีซ่อมรถ ต้องเป็นรถที่ได้รับความเสียหายจากพายุ ลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุด 30,000.-
    โดยจะต้องจ่ายเงินเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 62 และมีหลักฐานการชำระเงินด้วยจ้า

Tax

เงินบริจาคน้ำท่วม ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะ

🌠 รายการลดหย่อนค่าบริจาค 🌠

รายการลดหย่อนในส่วนสุดท้าย เป็นส่วนที่ให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรการกุศล ไม่แสวงหาผลกำไร หรือมีเหตุการณ์พิเศษซึ่งต้องการรับบริจาคเงิน เวลาจะลดหย่อนส่วนนี้จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายและลดหย่อนต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นรายการลดหย่อนสุดท้ายก่อนจะรู้เงินได้สุทธิประจำปีนั่นเอง

  • เงินบริจาคพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 10,000.-
  • เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และช่วยเหลือสังคม ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
    * กรณีบริจาคเงินให้กับสถานศึกษา จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e–Donation เท่านั้น จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง
  • เงินบริจาคสถานพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคทั่วไปและบริจาคน้ำท่วม (ปาบึก) ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน และเงินบริจาคในกลุ่ม 2 เท่าแล้ว

Tax

เงินบริจาคเพื่อการศึกษา ก็นำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าเลย


คำนวณเงินได้สุทธิแล้ว ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?

เมื่อคำนวณจนออกมาเป็นเงินได้สุทธิแล้ว ก็ต้องนำมาคำนวณภาษีตามขั้นบันไดว่าเราจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งถ้ามีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000.- ก็จะไม่ต้องเสียภาษีจ้า สำหรับบางคนอาจจะได้รับการคืนภาษี กรณีจ่ายภาษีเกินไปนะ

Tax Rate

  • คนที่มีรายได้ตลอดทั้งปี จำนวน 310,000.- จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000.- และค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000.- จะเหลือเงินได้สุทธิ 150,000.- ซึ่งอยู่ในช่วงที่ได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเองจ้า นี่ยังไม่นับรวมค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกนะ
  • การคำนวณภาษีเป็นแบบขั้นบันได ไม่ได้เอาเงินได้สุทธิทั้งหมดคูณด้วยเปอร์เซ็นน้า ต้องคำนวณในแต่ละขั้นไปเรื่อยๆ
    ตัวอย่าง : มีเงินได้สุทธิ 450,000.- จะเสียภาษีเงินได้รวม 22,500.- คำนวณตามนี้จ้า
    - ส่วนที่เป็น 150,000.- แรก จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี
    - ส่วนที่เกิน 150,001.- ถึง 300,000.- จะเสียภาษี 5% = 7,500.-
    - ส่วนที่เกิน 300,001.- ถึง 450,000.- จะเสียภาษี 10% = 15,000.-

 🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈

  • คนที่มีเงินได้ทุกคนจะต้องยื่นแสดงรายการ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ของปี 62 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 63 (หากเงินได้ทั้งปีไม่ถึง 120,000.- ไม่ต้องยื่นก็ได้) ซึ่งเราสามารถเลือกจ่ายภาษีน้อยลงได้ เพียงนำรายการลดหย่อนมาหักออกจากเงินได้ของปีภาษีนั้นตามที่กฎหมายกำหนดได้เลย
  • รายการลดหย่อนภาษีปี 62 จะมีเพิ่มเข้ามาจากปีก่อนๆ อยู่ไม่น้อยเลย อาทิ ช้อปช่วยชาติ เที่ยวเมืองไทย บ้านหลังแรก สินค้า OTOP ซึ่งบางอย่างเราอาจจะไม่รู้ว่านำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้นะ เราจะต้องศึกษาและวางแผนให้ดีก็จะมีประโยชน์ตอนยื่นภาษีนี่แหละ
  • ถ้าตอนนี้คำนวณแล้วเงินได้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแน่ๆ แล้ว ก็หารายการลดหย่อนได้ ง่ายที่สุดตอนนี้ซื้อได้ทันที ก็คือรายการลดหย่อนในหมวดประกันและลงทุน ช่วงปลายปีแบบนี้โปรมาแน่นสุดดด!

-- ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมสรรพากร, iTax และ aomMONEY --

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น