ได้รับผลกระทบจาก "ไฟไหม้" ควรทำยังไงต่อไป เรียกร้องค่าเสียหายจากไหนได้บ้าง ?

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer20 ต.ค. 2564 avatar writer2.7 K
ได้รับผลกระทบจาก "ไฟไหม้" ควรทำยังไงต่อไป เรียกร้องค่าเสียหายจากไหนได้บ้าง ?

 

เมื่อพูดถึงเรื่องฟืนไฟ เอาจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดเยอะมากกก  ลองนึกย้อนกลับไปในช่วงเดือน - สองเดือนที่ผ่านมานี้กันดูซิ ว่าในบ้านเราเกิดเหตุเพลิงไหม้กันมากี่ครั้งแล้ว ซึ่งแต่ละครั้งดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้างแทบจะทั้งนั้น แล้วไหนจะมีภัยพิบัติ น้ำท่วม เข้ามาอีก คือ ที่เผชิญอยู่ก็แทบจะรับไม่ไหว ทำไมธรรมชาติชอบเล่นตลกกับพวกเราจังเลยนะ 🤔 

 

ไหนๆ เราก็คาดเดาสถานการณ์อะไรกันไม่ได้แล้ว การเตรียมตัวตั้งรับไว้ก่อนเลยน่าจะเป็นอะไรที่เซฟสุด อย่างล่าสุดได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นมาที่ซอยกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการกันอีกแล้ว ใครที่รู้ตัวว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณนั้น หรืออยู่ที่จังหวัดอื่นแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในรัศมี 5-10 กม. ก็ให้หาข้อมูลเตรียมตัวไว้ก่อนเลยดีกว่า ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นมา แล้วเราดันได้รับผลกระทบพอดี จะต้องจัดการยังไง หรือเรียกร้องค่าเสียหายจากไหนได้บ้าง ?

 


 

 

ถ้าต้องเจอกับเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นมา
"เบื้องต้น" เราต้องทำอะไรกันก่อน

 

  • โทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่เบอร์ 199 (แจ้งเหตุไฟไหม้ ดับเพลิง), เบอร์ 191 (สำหรับแจ้งเหตุด่วน เหตุร้ายทุกชนิด), เบอร์ 1137 (จส.100 แจ้งเหตุฉุกเฉินได้ทุกชนิด) หรือเบอร์ 1669 (สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน)

  • ถ้าหากเพลิงไหม้ยังไม่ได้ลุกลามเข้าพื้นที่ของตัวเอง ให้รีบทำการขนย้ายข้าวของเท่าที่จำเป็น ปิดสวิชต์ไฟให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร หรือที่บ้านใครมีสัญญาณเตือนไฟไหม้อยู่ก็ให้ทำการกดได้เลย ⚠️ 

  • ในกรณีที่เราอยู่ใกล้เหตุเพลิงไหม้ แล้วกำลังรอให้หน่วยงานเข้ามาทำการช่วยเหลือ ให้เราทำการ หาผ้าชุบน้ำสะอาดมาปิดที่บริเวณจมูกและปากของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมควันไฟเข้าไปในร่างกาย

  • และถ้าต้องมีการเคลื่อนย้าย ห้ามใช้ลิฟต์เป็นอันขาด เราแนะนำให้เคลื่อนย้ายผ่านทางบันไดหนีไฟเท่านั้น !

 

| แล้วถ้าสถานที่ที่เป็นต้นเหตุของไฟไหม้ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาล่ะ ต้องทำยังไง ?

 

วิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นก็จะ คล้ายกันกับเหตุการณ์ไฟไหม้ปกติ เพียงแต่เราจะมาแนะนำเพิ่มเติมในส่วนของวิธีการจัดการกับสารพิษหรือสารเคมีที่ปลิวมาเกาะอยู่ที่บริเวณเสื้อผ้าและผิวหนังของเรากัน !

  • ข้อแรก ถ้ารู้ตัวว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมา ให้รีบพาตัวเองออกไปยังสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หรือถ้าต้องรอหน่วยงานมาทำการช่วยเหลือก็ขอให้เลือกรอที่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีสารพิษเป็นระยะเวลานาน ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเรากันได้

  • แล้วถ้าพบว่ามีสารพิษปลิวมาติดที่บริเวณเสื้อผ้าของเรา ให้รีบถอดออกแล้วทำการล้างตัวให้สะอาด ก่อนจะหาเสื้อผ้าตัวใหม่ที่สะอาดกว่ามาสวมแทน

  • ถ้าอวัยวะที่สัมผัสกับสารเคมีนั้นเป็นดวงตา ให้เราทำการล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อกำจัดสารพิษที่ตกค้างอยู่ให้ออกไป

  • หรือถ้าพบว่าตัวเองได้รับผลข้างเคียงจากสารเคมีหนักมาก ให้รีบไปพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปเด็ดขาด

 


 

 

เมื่อจัดการกับตัวเองเบื้องต้นกันแล้ว
ขั้นตอนต่อไปเรามารับมือกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกันต่อบ้าง !

 

ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการจัดการหลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กัน เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าคำนิยามของคำว่า ภัยพิบัติ ที่เค้าพูดถึงกันนั้นมันมีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร ตรงนี้ห้ามมองข้ามกันนะ เพราะมันจะมีความเกี่ยวข้องในเวลาที่เราต้องการจะขอเงินเยียวยากันด้วย !

 

จากระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ระบุไว้ในมาตรา 41 วรรคหนึ่ง ข้อ 5 ว่า

 

  • ภัยพิบัติ หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจน ภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

    และจะต้องเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มาก มิใช่เกิดแก่บุคคลใดคนหนึ่ง โดยชุมชนที่ประสบภัยพิบัติไม่สามารถป้องกันหรือจัดการแก้ไขกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง

  • ฉุกเฉิน หมายความว่า เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน หรือเป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น ในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน

  • ผู้ประสบภัยพิบัติ หมายความว่า ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน แต่ไม่รวมถึงส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

 

ผู้ที่ประสบภัยพิบัติตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้ จะสามารถขอเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินกันได้ แต่ถ้าใครไม่เข้าข่ายนี้อาจจะต้องขอความช่วยเหลือเยียวยา โดยทางหน่วยงานอาจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีๆ ไป สมมุติว่าได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยมีแค่บ้านของเราที่ไหม้แค่หลังเดียว แบบนี้ไม่ถือว่าเข้าข่าย แต่ถ้าถามว่าสามารถขอความช่วยเหลือได้ไหม คำตอบก็คือได้

 

อ้างอิงจากระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ข้อ 12 วรรคสอง ที่ระบุเอาไว้ว่า ในกรณีเกิดอัคคีภัยที่ไม่เข้าข่ายภัยพิบัติ  การช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตามระเบียบนี้ ที่จะพิจารณาการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น เหมาะสม ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด

 

 

| ขั้นตอนการเรียกร้องค่าเสียหาย ในกรณีที่บ้านเกิดไฟไหม้

 

  • ถ่ายรูปความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านของเราให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะได้รับผลกระทบมาก - น้อยแค่ไหนก็ตาม อย่าลืมทำการถ่ายรูปทำหลักฐานกันไว้ด้วย (ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับการประเมินสภาพความเสียหายในภายหลัง)

  • ติดต่อแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน และเราต้องนำใบแจ้งความนี้มาใช้ในการยื่นขอความช่วยเหลือกันอีกที

  • ติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อทำการขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ หรืออบต.  เมื่อติดต่อขอความช่วยเหลือไปแล้ว ทางหน่วยงานของจังหวัดจะทำการประสานงานต่อไป โดยใช้เวลาสำหรับขั้นตอนหลังจากส่งเอกสารประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มทำการจ่ายเงินช่วยเหลือได้

  • ติดต่อบริษัทประกันภัย ในกรณีที่เราทำประกันอัคคีภัยเอาไว้

  • ในกรณีที่เราไม่เข้าข่าย ผู้ที่ประสบภัยพิบัติ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ เราสามารถขอความช่วยเหลือเยียวยากันเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิสันติสุข, สภากาชาดไทย, อสม ประจำหมู่บ้าน หรือ  มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย เป็นต้น

 

📍  สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมทำประกันอัคคีภัยกันด้วย ต่อให้เราจะมองว่าไม่ต้องทำก็ได้มั้ง มันไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้นเยอะขนาดนั้นหรอก สู้เอาเงินไปทำประกันอย่างอื่นดีกว่าไหม  อย่าลืมนะว่าการจะเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมาแต่ละครั้ง มันไม่ได้มีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อน เหมือนเวลาที่เราดูพยากรณ์อากาศแล้วเห็นแนวโน้มของสภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ซะหน่อย เพราะถ้ามันจะเกิด มันก็เกิดเลย ที่สำคัญบางทีอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่เราอาจจะไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจกันมาก่อนเลย

 


 

ถ้าไม่เสียหายอะไร เราก็อยากให้ทุกคนทำประกันไว้นะ เพราะเงินช่วยเหลือที่เราจะได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ อย่าลืมว่ามันต้องประเมินจากสภาพความเสียหายกันอีกที  แล้วจำนวนเงินช่วยเหลือก็มีกำหนดไว้อยู่ ว่าสามารถให้เงินช่วยเหลือได้มากสุดแค่ไหน ซึ่งเรามองว่ามันอาจจะเทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่เสียหายไปหรอก แต่ถ้าเราทำประกันอัคคีภัยกันไว้ เราก็จะสามารถอุ่นใจ และมั่นใจได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจะสามารถจัดการกับความเสียหายเหล่านั้นกันได้อย่างเต็มที่ 

 

โดยเฉพาะช่วงนี้ยิ่งเข้าใกล้ช่วงหน้าหนาวเข้ามาแล้ว อากาศก็จะเริ่มแห้ง ส่งผลทำให้พวกเราจะต้องระมัดระวังเรื่องของฟืนไฟกันให้มากขึ้น ยังไงกันไว้ดีกว่าแก้ อย่างน้อยก็ควรศึกษาข้อมูลเตรียมเอาไว้ เป็นพื้นฐานพอให้เราอุ่นใจได้ในระดับนึง เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมา เราจะได้ไม่ต้องมานั่งกุมขมับกันว่า จะจัดการกับตัวเองยังไงกันต่อดี ?

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา และ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น