หลับยากนักต้องเจอนี่ ! "White Noise" ตัวช่วยสำหรับคนนอนหลับยาก จบปัญหาเช้าไม่ตื่น กลางคืนไม่ง่วง

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer14 ก.ค. 2565 avatar writer1.2 K
หลับยากนักต้องเจอนี่ ! "White Noise" ตัวช่วยสำหรับคนนอนหลับยาก จบปัญหาเช้าไม่ตื่น กลางคืนไม่ง่วง

 

หมดและ ความฝันว่าจะได้นอนครบ 8 ชั่วโมงแบบคนอื่นเค้า

เพราะต่อให้เข้านอนเร็วแค่ไหน บทจะไม่หลับ มันก็ไม่หลับอยู่ดีอ่ะสาว !

 

ดาหน้ากันเข้ามาเลย คนที่รู้ตัวว่าหลับยาก ต่อให้พยายามแค่ไหน ลองใช้วิธีอะไรก็ไม่ได้ผล เพราะวันนี้เรามีอีกหนึ่งวิธีมาแนะนำ เผื่อว่า 108 วิธีที่ทุกคนเคยลองมาแล้วไม่ได้ผล อาจจะมาจบลงที่วิธีที่ 109 ที่เรากำลังจะแนะนำนี้ก็เป็นได้ อิอิ 😜 

 


 

 

"เช้าไม่ตื่น กลางคืนไม่ง่วง"

แล้วจะทำยังไงให้เราหลับง่าย-ตื่นง่าย แบบที่หวัง (แต่ทำไม่เคยได้) กันบ้างนะ ?

 

ใครที่รู้ตัวว่าเป็นมนุษย์ที่ตื่นยากกก และนอนยากมากที่สุดในสามโลก น่าจะเคยผ่านการทดลองสารพัดวิธีที่ช่วยทำให้เรานอนหลับง่ายกันมาบ้างแล้ว อย่างบางคนถึงกับเป็นเอามาก กว่าจะนอนก็ปาไปนู่น... ตีห้า กว่าจะตื่นก็ปาไปโน่น... เที่ยงวัน 😅 ซึ่งตารางชีวิตที่กลับตาลปัตรแบบนี้นอกจากจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีระบบ-ระเบียบในการนอนแล้ว มันอาจจะส่งผลต่อสุขภาพ ชีวิตประจำวัน เวลาเรียน รวมไปถึงเวลาทำงานกันได้เลย

 

แล้วสารพัดวิธีที่ช่วยให้นอนหลับ ที่ได้รับความนิยมมีอะไรบ้างล่ะ ?

 

มา ! ไหนมาลองเช็กลิสต์กันทีละข้อ ว่าใครเคยผ่านการใช้วิธีที่ช่วยในการนอนหลับเหล่านี้กันมาแล้วบ้าง เริ่มตั้งแต่

  • การออกกำลังกาย แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เท่านั้นนะ
  • การทำสมาธิ หรือนั่งสมาธิก่อนนอน บรรยากาศที่เงียบ ๆ อาจจะทำให้เราง่วงขึ้นมาได้
  • ฟังเรื่องผี หรือพวก Podcast ฟังไป ฟังมาอาจมีเคลิ้ม แต่ถ้าถามว่าจับใจความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ ! แหะ ๆ 
  • อ่านหนังสือ บางคนแค่เปิดหน้าแรกปุ๊บ อย่างกับธานอสดีดนิ้วให้ง่วงปั๊บ !
  • ใช้สเปรย์ฉีดหมอน หรือเทียนหอมที่มีกลิ่นผ่อนคลาย กลิ่นเหล่านี้มันจะช่วยทำให้เราง่วงไวขึ้นได้
  • ดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนนอน เคยเห็นบ่อยในละคร แต่บอกเลยว่ามันช่วยได้จริง
  • คอลหาแฟน หรือเพื่อนก็ได้ บางคนตอนแรกเม้าท์มอยกันอยู่ดี ๆ เม้าท์ไป-เม้าท์มา หลับคาสายก็เคยมีมาแล้ว 😅 
  • กินยานอนหลับ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็คงต้องขอให้ยาช่วย แต่ เตือนไว้ก่อนเลยว่าเราไม่ควรหาซื้อยามากินเองนะ แต่ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลเสีย และทำให้ติดเป็นนิสัยได้

 

ซึ่งสารพัดวิธีเหล่านี้ บางคนอาจจะเคยผ่านการทดลองกับตัวเองกันมาหมดแล้ว ซึ่งมันก็อาจจะมีทั้งวิธีที่ได้ผล กับวิธีที่ไม่ได้ผล สำหรับใครที่เคยลองมาหมดทุกวิธี แต่ใช้กับตัวเองไม่ได้ผลเลยสักวิธี เดี๋ยวเราจะมาแนะนำอีกหนึ่งวิธีที่อยากให้ทุกคนลองนำไปใช้กันดู เผื่อว่ามันอาจจะเป็น Last Man Standing  ของทุกคนกันก็ได้ 😎 

 


 

 

เสียงกล่อมเบบี๋ หรือ White Noise คืออะไร

มันจะช่วยทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราหลับง่ายขึ้นจริงรึป่าว ?

 

ก่อนที่จะไปหาคำตอบกันว่า White Noise มันจะช่วยทำให้เราหลับง่ายขึ้นได้จริงไหม อันดับแรกเรามา ทำความรู้จักกับเจ้า White Noise นี้กันก่อนดีกว่า  เพราะเราเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ อาจจะงง ๆ หรือบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของ White Noise กันมาก่อนเลย แต่ที่เข้ามาอ่านเพราะแค่อยากได้วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับยากของตัวเองก็เท่านั้น

 

ซึ่งเจ้า White Noise ที่เรากำลังจะพูดถึงกันอยู่นี้มัน คือ คลื่นเสียงรบกวน ประเภทหนึ่งที่ใช้แรงสั่นสะเทือนจากเสียงเข้าไปทำปฎิกริยาบางอย่างกับร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วบรรดาเสียงที่เราได้ยินกันทุกวันนี้มันก็จะประกอบไปด้วยคลื่นเสียงรบกวนกันอยู่แล้ว แต่ความแตกต่างของ White Noise กับบรรดาคลื่นเสียงอื่น ๆ คือ ความถี่ของมันจะมีความสม่ำเสมอ ไม่โดดไปสูงบ้าง หรือต่ำบ้าง มีความคงที่ต่อเนื่องกันไปยาว ๆ

 

ซึ่งโดยปกติแล้ว White Noise มักจะถูกใช้ในการกล่อมให้เด็กทารกเข้านอน ได้ง่ายและไวขึ้น  แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้ถูกนำมาใช้ในผู้ใหญ่อย่างเราด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกนำมาใช้ในการเพิ่มสมาธิในการอ่านหนังสือ ทำงาน แก้เครียด ไปจนถึงการถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาให้กับคนที่นอนหลับยากเรื้อรัง ในการช่วยทำให้ง่วงได้ไวขึ้นนั่นเอง

 

 

แล้วไอ้เจ้าเสียง White Noise มันเป็นเสียงแบบไหน

ใช่เสียงซ่า ๆ เหมือนเวลาที่เราเปิดทีวีไปเจอช่องที่ไม่มีรายการหรือเปล่า ? 

 

คำตอบก็คือ ใช่จ้ะ  (ไม่เชื่อกันใช่ไหมว่าไอ้เจ้าเสียงซ่า ๆ นี้มันจะสามารถกล่อมให้เรานอนหลับได้ 😴 ) แต่ความแตกต่างของเจ้า White Noise กับเสียงซ่า ๆ ในทีวี จะบอกว่ามันมีความสลับซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น คือมันเป็นเสียงลักษณะเดียวกันก็จริง แต่ความต่างของมันจะวัดกันที่ เดซิเบลของเสียง ที่โดยปกติแล้ว White Noise ควรจะต้องมีเสียงไม่เกิน 50 เดซิเบล ถึงจะเป็นระดับของเสียงที่เหมาะสมและได้ผลดีกับการนอนหลับของเรามากที่สุด

 

ซึ่งไอ้เจ้าเสียงที่มีความถี่ไม่เกิน 50 เดซิเบลนี้ ใช่ว่าจะมีแค่เสียงซ่า ๆ ของทีวีให้เราได้ฟังเท่านั้นนะ แต่พวกเสียงพัดลม เสียงฝน เสียงลมพัด หรือเสียงเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จัดได้ว่าเป็นเสียง White Noise เช่นเดียวกัน ไม่เชื่อลองสังเกตตัวเอง หรือเบบี๋ใกล้ตัวกันดู ว่ามีเสียงอะไร หรือเสียงทำนองไหนที่ได้ยินนาน ๆ แล้วทำให้เกิดอาการง่วงหงาวหาวนอนกันขึ้นมาบ้าง ไม่แน่นะ เสียงที่เราได้ยินกันนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในเสียง White Noise ก็เป็นได้

 

| ตัวอย่างเสียง White Noise 

 

เสียง White Noise นี้ ฟังแล้วเหมือนเสียงบรรยากาศบนเครื่องบินมากเวอร์ !

 

เสียง White Noise ที่มีความซ่า ๆ เหมือนเสียงที่เคยได้ยินในทีวี แต่ลองฟังกันดี ๆ มันมีความต่างกันอยู่นะ 

 

เสียงฟ้าร้อง เสียงฝน ถือว่าเป็นเสียง White Noise ที่มาจากธรรมชาติที่แท้ทรู

 

เสียงเครื่องใช้ไฟฟ้าใกล้ตัวอย่าง ไดร์เป่าผม ก็ถือได้ว่าเป็น White Noise ชั้นดีเชียวล่ะ

 

 

นอกจากพวกคลิปเสียง หรือคลิปวิดีโอใน YouTube แล้ว จะบอกว่าสัดส่วนประชากรที่นอนหลับยากนั้นมีมากกว่าที่คิด เผื่อใครไม่อยากเปิดคลิป YouTube ค้างไว้ก่อนนอน หรือขี้เกียจมานั่งไถ่หาคลิปเสียงฟัง จริง ๆ แล้วมันก็มีพวกแอปพลิเคชันที่เกิดมาสำหรับผู้ที่ต้องการจะใช้เสียง White Noise ในการทำให้นอนหลับง่ายขึ้นอยู่หลายแอปเชียวนะ ไม่ว่าจะเป็น... 

 

 

⭐ BetterSleep

 

จุดเด่นของแอป

  • หน้าตาแอปที่สวยงาม น่าใช้
  • มีเสียงให้ได้ฟังมากกว่า 700 เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพื่อการผ่อนคลาย เสียงเพลง เสียงเพื่อการทำสมาธิ นิทานก่อนนอน หรือว่าจะเป็นเสียงกำหนดลมหายใจ สำหรับคนที่อยากฝึกการหายใจ เป็นต้น
  • ตัวแอปสามารถบันทึกกิจกรรมการนอนหลับของเรา สำหรับใครที่อยากเปรียบเทียบว่าหลังจากที่เราใช้เสียงเข้ามาช่วยในการนอนหลับแล้วเนี่ย มันเวิร์กกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน เราหลับง่ายขึ้นจริงไหม เผื่อใครอาจจะไม่ทันได้สังเกตตัวเอง ก็ให้บันทึกกิจกรรมนี้เป็นตัวลงบันทึกให้กับเราแทน

 

พรีวิวหน้าตาแอปคร่าว ๆ

 

โหลดแอปได้ที่นี่ : iOS คลิก,  Android คลิก

 


 

 

⭐ Calm

 

จุดเด่นของแอป

  • หน้าตาแอปสวยงาม มีระเบียบ ใช้งานง่าย
  • มีคอนเทนต์ Exclusive ยกตัวอย่างเช่น การไปดึงตัวคนดังมาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ก่อนจะนำเสียงมาใช้เพื่อให้ช่วยในการนอนหลับ และทำสมาธิให้กับเรา
  • มีเสียงให้เลือกหลายหมวดมาก ๆ ตอบโจทย์การใช้งานตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่เลย
  • สามารถบันทึกกิจกรรมการใช้งานของเรา บันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน กิจกรรมการนอนหลับ บันทึกการฟังที่ผ่านมา ฯลฯ เพื่อนำไปเปรียบเทียบได้ 

 

พรีวิวหน้าตาแอปคร่าว ๆ

 

โหลดแอปได้ที่นี่ : iOS คลิก,  Android คลิก

 


 

 

⭐ White Noise+

 

จุดเด่นของแอป

  • หน้าตาแอปใช้งานง่ายมาก ไม่ต้องมีเมนู หรือลูกเล่นอะไรให้ยุ่งยาก มือใหม่แค่ไหนก็เข้าใจได้
  • มีเมนูแยกเป็นสัดส่วนชัดเจน ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น เมนูเสียงสำหรับเด็ก เมนูเสียงสำหรับช่วยเรื่องการนอน
  • สามารถปรับแต่งเสียงให้เป็นเฉพาะของเราได้ ตั้งเวลาปิดเสียงได้

 

พรีวิวหน้าตาแอปคร่าว ๆ

 

โหลดแอปได้ที่นี่ : iOS คลิก

 


 

 

⭐ White Noise Deep Sleep Sound

 

จุดเด่นของแอป

  • หน้าตาแอปใช้งานง่ายที่สุดในบรรดาแอปที่แนะนำมา
  • ตัวแอปไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมาก เปิดมาก็สามารถเข้าไปฟังเสียงกันได้เลย แถมยังเลือกปรับแต่งได้ตามความต้องการของเราเลยด้วย
  • ที่สำคัญนอกจากปรับแต่งเสียงได้แล้ว ยังสามารถปรับแต่งลูกเล่น รวมถึงตั้งค่าการใช้งานอื่น ๆ ได้ อาทิเช่น การเฟดเสียง การตั้งเวลาปิดเสียง การปรับให้เล่นอัตโนมัติ เป็นต้น

 

พรีวิวหน้าตาแอปคร่าว ๆ

 

โหลดแอปได้ที่นี่ : iOS คลิก,  Android คลิก

 


 

แม้ว่าจะเป็นทางออกสำหรับคนที่นอนหลับยากก็จริง

แต่การใช้ White Noise ยังมีสิ่งที่ต้อง "ระวัง" อยู่นะ

 

ขอขึ้นคำเตือนไว้ก่อนเลยหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าข้อดีของ White Noise มันจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับการนอนหลับของเราได้ก็จริง แต่อย่างที่บอกไปว่า White Noise จัดว่าเป็นคลื่นเสียงรบกวนประเภทหนึ่ง ที่เมื่อเราได้ยินแล้ว คลื่นเสียงนั้นมันจะเชื่อมต่อไปยังสมองของเราในทันที ดังนั้นคำแนะนำในการใช้ White Noise เพื่อแก้ปัญหาการนอนหลับยาก ให้ไม่ส่งผลเสียต่อสมองของเรา ก็คือ

 

เราไม่ควรใช้ White Noise อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานเกินไป

 

ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่เปิดฟังต่อครั้ง รวมไปถึงระยะเวลาการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน เพราะสมองของเรามันจะสามารถจดจำในสิ่งที่เราฟังเข้าบ่อย ๆ ได้ อีกทั้งมันยังจะมีการปรับตัวให้เข้ากับเสียงนั้น ๆ ด้วย ซึ่งไอ้เจ้าเสียง White Noise นี้ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มของคลื่นเสียงรบกวน ซึ่งบางคนถ้าได้ฟังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือเปิดฟังตลอดทั้งวัน ในระยะเวลาเป็นเดือน ๆ สมองของเราก็จะขาดการรับข้อมูล เนื่องจากเสียงที่เราได้ยินมา ไม่ได้มีชุดข้อมูลอะไรเลย  มิหนำซ้ำมันอาจจะส่งผลเสียต่อระบบการได้ยิน ทำให้ประสิทธิภาพในการฟังของเราลดลงด้วยได้เช่นกัน

 

 

ดังนั้นคำแนะนำง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังวางแผนว่าจะใช้เจ้าเสียง White Noise นี้ในการจัดการกับปัญหาการนอนของตัวเองกันอยู่ ก็ควรจะใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ และในระหว่างที่ทดลองปรับเปลี่ยนการนอนด้วยการใช้ White Noise นี้ เวลาเข้านอน กับตื่นนอนของเรา ควรจะต้องเป็นเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน  อย่างเช่น พยายามเข้านอนให้ได้ตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม (โดยเวลานั้นอาจจะเริ่มเปิดฟังเสียง White Noise กันแล้ว) และจะตื่นนอนในเวลา 6 โมงเช้าทุกวัน เมื่อเราทำซ้ำไป ซ้ำมา ร่างกายของเราก็จะเคยชิน ทำให้หลังจากนั้นเราจะสามารถเข้านอนได้ไว และตื่นได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องพึ่งพา White Noise รวมถึงตัวช่วยต่าง ๆ กันอีกต่อไป

 

ส่วนการเลือกเสียง White Noise ที่เหมาะกับตัวเอง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ รวมถึงปฎิกริยาของเราต่อเสียง White Noise นั้น ๆ ก็ต้องลองเปิดฟังกันไปเรื่อย ๆ ถ้ารู้สึกว่าเสียงไหนทำให้เรารู้สึกสบาย เกิดอาการง่วงขึ้นมา เสียงนั้นอาจจะเป็นเสียง White Noise ที่ใช่ ที่เกิดมาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของเราให้เป็นระบบระเบียบ และทำให้ปัญหาการนอนยากของเรา มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นก็ได้

 

หรือใครที่อยากได้ตัวช่วยที่สามารถนำมาใช้งานควบคู่กับเจ้าตัว White Noise นี้ได้ แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องผลเสียเกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงคลื่นสมอง เราขอแนะนำตัวช่วยอย่าง สเปรย์ฉีดหมอน และเทียนหอม ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มบรรยากาศภายในห้องนอนของเราให้ดูผ่อนคลาย และชวนให้ง่วงมากกว่าเดิม โดยใครที่สนใจสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวกันได้ที่นี่

 

  • ดูผลิตภัณฑ์สเปรย์ฉีดหมอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ ได้ที่นี่
  • ดูผลิตภัณฑ์เทียนหอม เพื่อบิลด์บรรยากาศภายในห้องนอนของเราให้ผ่อนคลายขึ้น คลิก

 


 

💭 สำหรับใครที่เริ่มหมดหนทางในการแก้ปัญหานอนหลับยากของตัวเองกันแล้ว ลองมาใช้วิธีเปิดฟังคลื่นเสียง White Noise นี้กันดูไหม บางทีวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เราจัดการกับปัญหานอนหลับยาก ให้ง่ายขึ้นก็เป็นได้ แต่อย่างที่เราได้แนะนำไปถึงความเหมาะสมในการเปิดฟังเสียงเหล่านี้ เพราะต่อให้มันจะแลดูเป็นเสียงที่ปลอดภัย ไร้กังวลก็จริง แต่ถ้าเราเปิดฟังในความถี่ที่มากจนเกินไป จากที่ควรจะได้ผลดี อาจจะทำให้เราได้รับผลเสีย  ไม่ว่าจะต่อสมอง รวมไปถึงระบบการได้ยินของเรากันได้เลย เพราะฉะนั้น เปิดฟังได้ แต่ควรอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสมถึงจะดีต่อสุขภาพการฟังของเรานะจ๊ะ 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : ddproperty และ bustle

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น