ไขข้อสงสัย ทำไมปีนี้หนาวช้ากว่าปกติ? แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากเอลนีโญ

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer15 พ.ย. 2566 avatar writer500
ไขข้อสงสัย ทำไมปีนี้หนาวช้ากว่าปกติ? แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากเอลนีโญ

 

บทจะหนาวก็ไม่ได้หนาวกับเค้าสักที อุตส่าห์รื้อเสื้อหนาวออกมารอไว้นานล่ะเนี่ย 😫 สงสัยกันมั้ยว่าทำไมปีนี้ฤดูหนาวมาช้ากว่าปกติ ทั้ง ๆ ที่ควรจะต้องได้ฤกษ์เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว...จะบอกว่ามันมีเหตุผลของการดีเลย์นี้อยู่นะ!

 


 

ปกติบ้านเราเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวกันเมื่อไหร่?

 

โดยปกติแล้วประเทศไทยจะเข้าสู่หน้าหนาวกันตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค. - ต้นเดือน พ.ย. ซึ่งจะเริ่มส่งสัญญาณการเข้าสู่หน้าหนาวไล่มาตั้งแต่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาสูง หรือยอดดอยจะมีโอกาสสัมผัสกับอากาศเย็นได้เร็วกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ใคร ๆ อยากจะออกไปสัมผัสอากาศเย็นกันที่ภาคเหนือในช่วงปลายปีแบบนี้

 

 


 

แต่ปีนี้หน้าหนาวดันมาช้ากว่าปกติ เพราะ...?

 

หากใครได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศกันมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะเคยได้ยินชื่อของ "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" กันอยู่บ้าง ซึ่งเจ้าเอลนีโญนี่แหละคือตัวการสำคัญที่ทำให้ ฤดูหนาวในบ้านเราดีเลย์ แล้วเอลนีโญที่ว่านี้คืออะไร?

 

เอลนีโญ (El Niño) คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน 🌪️  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากลมสินค้าที่พัดจากทวีปอเมริกาใต้เข้าสู่ทวีปเอเชียและออสเตรเลีย "มีการอ่อนกำลังลงเร็วกว่าปกติ" หรือเอาง่าย ๆ คือฝนดันไปตกในที่ ๆ ควรจะแห้ง และดันมาแห้งในพื้นที่ ๆ ควรจะตก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ก่อนหน้านี้หลายประเทศในแถบเอเชียและออสเตรเลียได้เผชิญกับปัญหาภัยแล้งกันถ้วนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการดีเลย์ของฝนนี่แหละ!

 


 

มี เอลนีโญ ก็ต้องมี...ลานีญา

 

อันนี้ขอเสริมเพิ่มอีกนิด...ปกติแล้วเวลาที่พูดถึงเอลนีโญ มักจะถูกหยิบมาพูดถึงคู่กับลานีญา (La Niña) เพราะทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกัน ประหนึ่งกาสะลอง-ซ้องปีบ 😅 อย่างเอลนีโญ เค้าขึ้นชื่อเรื่องการดีเลย์ใช่มะ แต่ทางด้านลานีญาเค้าจะขึ้นชื่อเรื่องความทวีคูณ เลยทำให้จากเดิมที่แล้ง ก็จะแล้งมาก จากเดิมที่ตก ก็จะตกหนักจนท่วม แต่เค้าก็มีเงื่อนไขให้พวกเราพอจะสบายใจกันได้อยู่ก็คือ ถ้าพื้นที่ไหนเกิดเอลนีโญ ก็จะไม่มีลานีญา ถ้าพื้นที่ไหนเกิดลานีญา ก็จะไม่มีเอลนีโญ ที่สำคัญปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญานี้ก็มีจังหวะเกิดของมันอยู่นะ

 

  • เอลนีโญจะเกิดขึ้นทุก 5-6 ปี โดยแต่ละครั้งจะกินเวลาตั้งแต่ 12-18 เดือน
  • ลานีญาจะเกิดขึ้นทุก 2-3 ปี โดยแต่ละครั้งจะกินเวลาตั้งแต่ 9-12 เดือน

 

ส่วนช่วงไหนที่ไม่มีการเกิดของเอลนีโญ ลานีญา สภาพอากาศก็จะเป็นไปตามปกติ ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ถูกจัดให้เป็น ซูเปอร์เอลนีโญ (คืออุณหภูมิในบ้านเราจะสูงมากกว่าปกติ) โดยจะกินเวลาถึงประมาณเดือน มี.ค. 67 นู่นเลย...

 


 

 

แล้วแบบนี้บ้านเราจะได้หนาวกับเค้ามั้ย?

 

อ้างอิงจากข้อมูลของทางกรมอุตุนิยมวิทยาที่ประกาศออกมาในช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ย. 66 ว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว 🥳 สืบเนื่องมาจากมวลอากาศเย็นที่เข้ามาแผ่ปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวันที่ 12-13 พ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะได้สัมผัสกับอากาศเย็นแบบจริง ๆ จัง ๆ ไล่ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. เป็นต้นไป โดยช่วงที่เราจะสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นสุดจะอยู่ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 66 ถึงประมาณปลายเดือน ม.ค. 67 สิริรวม 1 เดือน ก่อนที่อุณหภูมิจะค่อย ๆ อุ่นขึ้น เอาเป็นว่าใครอยากจะหยิบเสื้อหนาวออกมาใส่ให้คุ้มก็ต้องช่วงนี้นี่แหละ...จังหวะดีสุด ๆ

 


 

"หนาวอยู่...แต่ไม่หนาวมาก" นิยามความหนาวปี 66

 

เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมไปถึงสภาวะโลกร้อน ที่มีส่วนทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในช่วงพักหลังมา "มีตัวเลขสูงกว่าที่ควรจะเป็น" เลยทำให้บทจะหนาวก็หนาวไม่สุด บทจะร้อนก็ร้อนหนักมาก 😩  หน้าหนาวของปีนี้เลยถูกให้คำนิยามจากเราไปเลยว่า หนาวอยู่...แต่ไม่หนาวมาก อย่างใครที่ทำอาชีพเกษตรกรยิ่งต้องคอยหมั่นอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศกันอยู่เรื่อย ๆ จะได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งท้ายปีกันได้ทัน!

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://ppro.onl/yckuhw3ehttps://ppro.onl/yck5dfxh, https://ppro.onl/mrx6bbhd, https://ppro.onl/yh32v3uf และ https://ppro.onl/yubrsr9x 

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น