แชร์ทริคจ่ายค่าโดยสาร "รถไฟฟ้า BTS" ทำยังไงให้ประหยัดทั้งเวลาและเงินในกระเป๋า
โดย : MilD
รถไฟฟ้า BTS ถือเป็นตัวช่วยสำคัญของคนกรุงเทพฯ
เดินทางไปไหนก็สะดวก ประหยัดเวลาได้เยอะ
แล้วเลือกจ่ายค่าโดยสารแบบไหนดี ถึงคุ้มสุด?
รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือ BTS Skytrain เรียกว่าเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของคนกรุงเทพฯ ที่จะขาดไม่ได้เลย ปัจจุบันสามารถพูดได้เต็มปากว่า ได้กลายเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีความจำเป็นของผู้คนนับล้านไปแล้ว สำคัญขนาดนั้นเลยหรอ? ลองคิดดูว่าถ้าทุกวันนี้ไม่มีรถไฟฟ้า BTS ทุกคนจะต้องใช้การเดินทางบนท้องถนนแทน ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะถึงที่ทำงานตอนไหน จะต้องทนรถติดจอดนิ่งนานหลายชั่วโมงได้ยังไงกันนะ
เหตุผลที่สำคัญอีกข้อนึง ที่ทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถไฟฟ้า BTS เยอะมาก ก็มาจากเส้นทางที่เปิดให้บริการในตอนนี้ ครอบคลุมพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งพระนคร ฝั่งธนบุรี วิ่งไกลไปถึงสมุทรปราการ และปทุมธานี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะเปิดให้บริกรในช่วงปลายนี้ หลายคนเวลาจะมาใช้บริการ ก็มาซื้อตั๋วที่เครื่องออกบัตรโดยสารอัตโนมัติ จ่ายราคาเต็มตามปกติ 16-59 บาท แต่ยังมีวิธีที่ทำให้สามารถประหยัดค่าโดยสารได้เยอะมาก แค่เลือกใช้งานให้เหมาะสมเท่านั้นเอง
3 ช่องทางซื้อบัตรโดยสาร BTS เลือกได้เอง
ก่อนอื่นก็ต้องมาทำความรู้จักว่า ถ้าเราจะซื้อบัตรโดยสารเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้า BTS เนี่ย สามารถทำผ่านช่องทางไหนได้บ้าง ไม่ได้มีแค่ตู้จำหน่ายตั๋วอีกแล้วนะเออ
(1) ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งมีให้เลือก 2 แบบ คือ เครื่องที่รับเฉพาะเหรียญ และเครื่องที่รับทั้งธนบัตรและเหรียญ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้รับเฉพาะเงินสดเพียงอย่างเดียวแล้ว เราสามารถจ่ายค่าโดยสารด้วย QR Code ผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกธนาคาร รวมถึง Rabbit LINE Pay ก็ได้เหมือนกัน แค่สแกนกดจ่าย ก็รับบัตรโดยสารได้เล้ยยย~
ปล. เครื่องออกบัตรโดยสารที่รับทั้งเหรียญและธนบัตร คือเจ๋งไปอีก! เพราะสามารถเติมเงิน หรือเติมเที่ยวเดินทางเข้าบัตรแรบบิทได้แล้ว แต่รับเฉพาะเงินสด และไม่มีใบเสร็จให้นาจา
(2) ห้องออกบัตรโดยสารแต่ละสถานี หลายคนอาจจะคุ้นชินกับการไปต่อคิวแลกเหรียญกับเจ้าหน้าที่ แล้วมาหยอดเหรียญซื้อบัตรโดยสารที่ตู้อัตโนมัติ แต่เดี๋ยวนี้สามารถออกบัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียวที่ห้องออกบัตรโดยสารได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาต่อคิวสองรอบอีกละ ถือเป็นเรื่องดีๆ ซะเหลือเกิน
(3) แอปพลิเคชัน Rabbit LINE Pay สำหรับคนที่ผูกบัตรแรบบิทเอาไว้แล้ว เพียงแค่เติมเงินเข้ากระเป๋า Rabbit LINE Pay Wallet หรือผูกบัญชีบัตรเครดิตเอาไว้ ก็สามารถเติมเที่ยวเดินทางใช้งานได้ทันที ไม่ต้องมาซื้อตั๋วโดยสารที่ตู้จำหน่ายตั๋ว หรือห้องออกบัตรโดยสารแล้ว
การเลือกใช้บัตรโดยสารแต่ละประเภท จะต้องดูลักษณะการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งแบ่งตามความถี่ในการใช้บริการออกเป็น 3 กลุ่ม จะเลือกใช้แบบไหนต้องอ่านเลย รับรองว่างานนี้คุ้มกว่าเดิมแน่นอน!
กลุ่มที่ 1 : คนต่างจังหวัด นานๆ จะใช้ BTS สักที
เริ่มต้นสำหรับคนกลุ่มแรกเลย ใช้งาน BTS เดือนนึงแทบจะนับครั้งได้ (ไม่เกิน 5 ครั้งต่อเดือน) แบบนี้ ไม่ค่อยอยากแนะนำให้ซื้อบัตรแรบบิทมาใช้งานเท่าไหร่ เพราะจะต้องเติมเงินเข้าบัตรทิ้งไว้ก่อน แต่กว่าจะได้ใช้แต่ละครั้ง กินระยะเวลานานเกินไป เลยอยากแนะนำให้ใช้เป็น "บัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว" ซึ่งสามารถซื้อได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติทุกสถานี แต่จะเพิ่มความคุ้มค่า #SaveForMore จะใช้เงินสดก็ธรรมดาไปแล้วล่ะ แบบนี้ก็ต้องจ่ายด้วย Rabbit LINE Pay เริ่ดกว่าเยอะ
จุดเด่นของการใช้บัตรโดยสารแบบเที่ยวเดียว และจ่ายผ่าน Rabbit LINE Pay
• ผูกบัตรเครดิตที่ใช้งานกับบัญชี Rabbit LINE Pay เพื่อใช้จ่ายได้ทุกที่ รวมถึงการซื้อตั๋วรถไฟฟ้า BTS ด้วย
• จ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงิน ณ ตอนนั้นทันที ก็รอให้ตัดรอบบัญชีก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินเต็มจำนวน ก่อนวันครบกำหนดชำระ ทำให้เพิ่มความสภาพคล่องทางการเงินให้เราได้อีกด้วย
• ได้รับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน จากสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตที่ใช้งานอยู่ เช่น บัตรเครดิต TMRW by UOB รับเครดิตเงินคืน 15%, บัตรเครดิต UOB Preferred Platinum รับเครดิตเงินคืน 15% หรือบัตรเครดิต Citi Rewards รับคะแนนสะสม 5 เท่า เป็นต้น
• ไม่ต้องพกเงินสดเยอะๆ หรือเสียเวลาต่อคิวแลกเหรียญอีกต่อไป สแกนจ่ายด้วย QR Code ง่ายๆ ถึงจะใช้ไม่บ่อย ก็ได้รับความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่าไม่แพ้กับคนที่ใช้บ่อยเลยจ้า คนใช้เงินเป็นก็แบบเนี้ยแหละ
กลุ่มที่ 2 : คนกรุงฯ ใช้บริการบ้าง ไม่ได้นั่งเป็นประจำ
สำหรับคนที่ใช้บริการ BTS เพียงแค่ครั้งคราว (ประมาณ 10-15 ครั้งต่อเดือน) และอาจจะใช้งานระบบขนส่งอื่นร่วมด้วย ถือเป็นกลุ่มที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างใช้งานน้อยกับเยอะไปเลย ขอแนะนำให้เลือกใช้ "บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน" และผูกกับบัญชี Rabbit LINE Pay ด้วย จะได้รับความคุ้มค่าและสะดวกในการใช้บริการมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แบบตัดเงินรายครั้ง หรือซื้อเที่ยวเดินทาง
แต่คนกลุ่มนี้มีความยากนิดนึง เพราะเราจะต้องเจาะลึกถึงพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละคนเพิ่มเติมด้วย ว่าจะเลือกใช้งานบัตรโดยสารแบบเติมเงิน หรือบัตรโดยสารแบบเติมเที่ยวเดินทาง ดีกว่ากัน? หลักการง่ายๆ เลยก็คือดูจากระยะทางที่ใช้บริการ ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน และใช้ค่าโดยสาร ราคา 31 บาทเป็นตัวตัดสินใจ
• ถ้าหากนั่ง BTS แต่ละครั้ง ค่าโดยสารแพงกว่า 31 บาท แนะนำให้เลือกเติมเที่ยวเดินทาง จำนวน 15 เที่ยว ใช้งานได้ 30 วัน น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่ใช้งานไม่เยอะ ถ้าหากนั่งไป-กลับ ก็จะใช้หมดภายใน 7 วันเอง
• ถ้าหากนั่ง BTS แต่ละครั้ง ค่าโดยสารไม่เกิน 31 บาท แนะนำให้เลือกบัตรโดยสารแบบเติมเงิน เพราะคิดตามระยะทางจริง ถ้าหากนั่งแค่สั้นๆ ไม่กี่สถานี จะคุ้มกว่าแบบเติมเที่ยวเดินทางนะ
จุดเด่นของการใช้งานบัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน หรือเติมเที่ยวเดินทาง
• ปรับรูปแบบการใช้งานบัตรแรบบิทได้ตามใจเลย อยากใช้แบบรายครั้ง ก็สามารถแตะบัตรเข้าระบบได้เลย แต่ถ้าช่วงไหนจะต้องใช้งานเยอะเป็นพิเศษ ก็เลือกเติมเที่ยวเดินทาง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้
• ไม่ต้องไปต่อคิวซื้อบัตรโดยสารที่เครื่องจำหน่ายตั๋วอีกแล้ว ถ้าเลือกจ่าย"แบบรายครั้ง" ระบบจะตัดเงินจากบัญชีบัตรเครดิตที่ผูกไว้อัตโนมัติเลย หรือ "แบบเที่ยวเดินทาง" ก็สามารถกดซื้อเที่ยวเดินทางผ่านแอปฯ LINE ได้ตลอดเวลา
กลุ่มที่ 3 : คนเมืองตัวจริง นั่งแทบทุกวัน ชีวิตติดรถไฟฟ้า
ตอนเช้านั่ง BTS ไปทำงาน ตอนเย็นนั่ง BTS กลับบ้าน กิจวัตรประจำวันเป็นแบบนี้ใช่มั้ย งั้นต้องเรียกว่าเป็นขาประจำ BTS แล้วค่ะขุ่นพี่ แฟนตัวยงแบบนี้ ก็ต้องเลือกใช้ "บัตรโดยสารประเภทเติมเที่ยวเดินทาง" ยังไงก็ถูกกว่าแน่นอน ประหยัดไปได้เยอะสุดพลัง ไม่ใช้ถือว่าพลาดอย่างแรง บางคนอาจจะใช้เป็นประจำจนชินแล้ว แต่สำหรับมือใหม่เพิ่งเริ่มใช้งาน อาจจะยังไม่คุ้นชิน งั้นมาทำความรู้จักกับเที่ยวเดินทางของรถไฟฟ้า BTS ว่าเป็นยังไงนะ
สำหรับเที่ยวเดินทางของรถไฟฟ้า BTS แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 4 ราคาให้เลือกตามปริมาณการใช้งานของแต่ละคน สามารถใช้งานได้ 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้งานหักเที่ยวเดินทางครั้งแรก โดยปัจจุบันสามารถเลือกเติมเที่ยวเดินทางได้ 2 ช่องทาง คือ ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี หรือผูกบัตรแรบบิท กับ Rabbit LINE Pay เติมเที่ยวเดินทางในแอปพลิเคชัน LINE ได้เลย
(1) ประเภทบุคคลทั่วไป (อายุ 23 ปีขึ้นไป)
• จำนวน 15 เที่ยว ราคา 465 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท)
• จำนวน 25 เที่ยว ราคา 725 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท)
• จำนวน 40 เที่ยว ราคา 1,080 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท)
• จำนวน 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท)
(2) ประเภทนักเรียน-นักศึกษา (อายุไม่เกิน 23 ปี) ต้องแสดงบัตรนักเรียน-นักศึกษาที่ยังไม่หมดอายุ หากมีการขอตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ถ้าหากใช้บัตรผิดประเภท โดนปรับสูงสุด 20 เท่าเลยนะ
• จำนวน 15 เที่ยว ราคา 360 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท)
• จำนวน 25 เที่ยว ราคา 550 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท)
• จำนวน 40 เที่ยว ราคา 800 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท)
• จำนวน 50 เที่ยว ราคา 950 บาท (เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท)
* เที่ยวเดินทางสามารถเดินทางได้ระหว่างสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่เท่านั้น กรณีเดินทางข้ามไปยังส่วนต่อขยาย จะต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มเติม 15 บาทด้วย
เราจะเห็นว่าเที่ยวเดินทางทั้ง 2 ประเภท จำนวนเที่ยวมีให้เลือกสมัครเท่ากันเป๊ะๆ แตกต่างกันเฉพาะราคาเฉลี่ยต่อเที่ยว สำหรับนักเรียน-นักศึกษา ราคาถูกกว่านิดหน่อยเท่านั้นเอง
จุดเด่นของการใช้งานบัตรแรบบิท แบบเติมเที่ยวเดินทาง
กรณีเติมเที่ยวเดินทางที่ห้องออกบัตรโดยสาร
• สามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้ด้วย ซึ่งก็มีบัตรเครดิตที่ให้เครดิตเงินคืนพิเศษ เพิ่มความคุ้มค่าในการเดินทางได้อีกเยอะเลย เช่น บัตรเครดิต Citi Cashback Platinum รับเครดิตเงินคืน 11% สมมติว่าเติมจำนวน 15 เที่ยว ราคา 465 บาท ได้รับเงินคืน 11% ก็เท่ากับ 51.15 บาทเชียวนะเออ
• สามารถเติมเที่ยวเดินทางล่วงหน้าได้ ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง รู้ว่าเที่ยวกำลังจะหมด ก็เติมเที่ยวไว้ก่อนได้เลย โดยจะต้องใช้งานครั้งแรกภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้ทำการเติมเที่ยว
กรณีเติมเที่ยวเดินทางผ่านบริการ Rabbit LINE Pay
• ได้รับสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตต่างๆ ที่ให้เครดิตเงินคืนหรือคะแนนสะสมพิเศษเยอะมาก คุ้มกว่านี้ไม่มีแล้ว เช่น บัตรเครดิต TMRW รับเครดิตเงินคืน 15%, บัตรเครดิต UOB Preferred Platinum รับเครดิตเงินคืน 15% หรือบัตรเครดิต Citi Rewards รับคะแนนสะสม x5
• อยู่ที่ไหนก็เติมเที่ยวเดินทางได้ ไม่ต้องมาเสียเวลาต่อคิวอีก พร้อมจะแตะเข้าระบบได้เลย เกร๋ๆ เว่อร์
• กรณีบัตรหาย ก็สามารถโอนเที่ยวเดินทางมายังบัตรใหม่ได้ทันที ไม่ต้องเสียดาย เพราะเที่ยวไม่ได้หายไปไหน
• สามารถตรวจเช็คประวัติการใช้งานได้ตลอด เข้าระบบกี่โมง ออกจากระบบกี่โมง คือบันทึกไว้หมด เผื่อต้องใช้ดูข้อมูลในภายหลัง
อายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับคนสัญชาติไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ต้องเลือกใช้ "บัตรแรบบิท สำหรับผู้สูงอายุ" (บัตรสีม่วง) เท่านั้นเลยจ้า ถึงแม้ว่าจะใช้งานไม่บ่อยเท่าไหร่ แต่ยังไงก็คุ้มกว่า เพราะได้รับส่วนลด 50% ทุกครั้งที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS เลย อัตราค่าโดยสารจะเหลือแค่ 8-22 บาท (ค่าโดยสารปกติ 16-44 บาท) และสำหรับส่วนต่อขยาย จ่ายเพียง 7 บาท (ค่าโดยสารปกติ 15 บาท) และบัตรนี้ไม่สามารถเติมเที่ยวเดินทางได้นาจา
ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้งานบัตรแรบบิท สำหรับผู้สูงอายุ จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น บางครั้งเจ้าหน้าที่สถานีอาจขอดูหลักฐานบัตรประชาชน เพื่อตรวจสอบว่าใช้งานบัตรโดยสารถูกประเภทหรือไม่ด้วย แนะนำให้ใช้บัตรให้ถูกดีกว่าน้า โดนปรับไม่คุ้มนะเออ
🌈 สรุปให้ก่อนใช้บริการ 🌈
• รถไฟฟ้า BTS เค้ามีทางเลือกในการชำระเงินซื้อบัตรโดยสารเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นจ่ายด้วยเงินสด, บัตรเดบิต/บัตรเครดิต, Thai QR Paymant รวมถึง Rabbit LINE Pay ด้วย สะดวกสุดๆ
• เราสามารถเลือกจ่ายค่าโดยสาร BTS ได้คุ้มกว่าเดิม เพียงแค่จ่ายเงินผ่านช่องทางที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ลดการใช้เงินสด แถมยังปลอดภัยกว่าเดิมอีกต่างหาก
• ใครที่นั่งรถไฟฟ้า BTS เป็นประจำอยู่แล้ว แนะนำให้ "เติมเที่ยวเดินทาง" นี่แหละ คุ้มสุดแล้ว เลือกจำนวนให้เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเอง ถ้าใช้เยอะมากๆ ก็เติมไปเลย 50 เที่ยว ดีย์ไปอี๊กกก~
• ถ้าหากมาใช้บริการก่อน 6 โมงเช้า ห้องจำหน่ายตั๋วจะยังไม่เปิดให้บริการ แนะนำใช้ "บัตรแรบบิท" จะสะดวกกว่า แต่ถ้าเตรียมเงินมาพอดี หรือจ่ายผ่าน QR Code ก็ซื้อที่ตู้ได้เหมือนเดิมจ้า
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3