ลูกศร ศรุติ ปั้นแบรนด์เสื้อผ้า-ร้านอาหาร ด้วยการเสิร์ฟประสบการณ์ที่เหมือนได้นั่ง Time Machine | ปันโปร Interview
โดย : imnat
ปันโปร | Interview
พูดคุยกับ ลูกศร ศรุติ ตันติวิทยากุล
ผู้อยู่เบื้องหลัง Story ที่น่าสนใจของ
Daddy and the Muscle Academy
Frank Garcon และล่าสุดกับร้านอาหาร Paknang BKK
จากนักเรียนแฟชั่นดีไซน์ สู่ดีไซน์เนอร์แบรนด์ไทย Sretsis กับการสั่งสมประสบการณ์กว่า 3 ปี จนได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่ได้ไอเดียมาจากความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็น Daddy and the Muscle Academy, Frank Garcon รวมไปถึง Paknang ที่เรียกได้ว่าสลัดคราบร้านอาหารใต้หน้าตาเดิมๆ สู่การเล่าเรื่องใหม่โดย ลูกศร ศรุติ ตันติวิทยากุล ที่เธอได้ให้คำนิยามอาชีพของเธอว่า นักสร้างแบรนด์ กับเส้นทางที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ส่วนจะ เป็นไง | มาไง ตามมาพูดคุยกับเธอกันได้เลย...
ลูกศร ศรุติ ตันติวิทยากุล
Station 1 | Daddy and the Muscle Academy ธุรกิจแรกที่จุดไฟ จากแรงบันดาลใจหนังยุค 90
ลูกศร : Daddy เกิดขึ้นมาโดยเพื่อนที่ทำงาน Sretsis ด้วยกัน 4 คน ที่นั่งคิดกันเล่นๆ ว่า จะทำยังไงกันดีถ้าเราอยากจะหาเงินไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยที่ไม่ใช้เงินเดือนของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าจะขายอะไร และจะใช้ชื่ออะไรดี แล้วพอได้ไอเดียขึ้นมาว่า การที่เพื่อนมารวมตัวกันแบบนี้ มันให้ฟีลเหมือนเป็นครอบครัว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความถนัด มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน เราเลยตั้งชื่อว่า Daddy and the Muscle Academy
แล้วจริงๆ Daddy and the Muscle Academy ชื่อนี้ มันเป็นชื่อหนังยุค 90 จากประเทศฟินแลนด์ แต่เรารู้สึกว่าชื่อมันสามารถหยิบเอามาเล่นอะไรต่อได้ เราเลยนำมาพัฒนาเป็นเรื่องราวต่อจากนั้นอีกที และทุกอย่างในแบรนด์ก็จะพรีเซนต์คาแรคเตอร์ของแต่ละตัวละครโดยมีที่มาจากเพื่อนทั้ง 4 คน ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดเป็น Mood and Tone ของ Product ต่างๆ ขึ้นมา
สำหรับ Daddy จะมีตัวละครหลักๆ อยู่ 4 คน ได้แก่ Daddy คุณพ่อนักกล้าม ผู้ชายคนเดียวของบ้าน Mommy คุณแม่เจ้าระเบียบ ชอบจัดการ Wendy พี่สาวคนโต เป็นเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มมีความรัก Lucy น้องสาวคนเล็กที่มีนิสัยเด็กมากๆ ชอบอยู่ในโลกของจินตนาการและความเพ้อฝัน
Credit : Daddy and the Muscle Academy
โจทย์หินด่านแรกของ Daddy คือทำร้านยังไงให้ออกมา DIY มากที่สุด
ลูกศร : หลังจากศรเปิดร้านใน IG มาได้ 3 ปีกว่า ก็ถึงเวลาของการลงหน้าร้าน จำได้ว่าวันนั้นศรเดินอยู่แถวสยามแล้วไปเจอที่นึงที่ค่าเช่าถูกมาก แต่เป็นสัญญาแบบเดือนต่อเดือน หมายความว่าถ้าเค้าไล่แล้ว เราก็ต้องออกเลย ศรคิดว่าเราก็น่าจะลองดู เลยทำให้โจทย์แรกที่เข้ามาในหัวตอนนั้นเลยก็คือ จะทำร้านยังไงให้ออกมา DIY มากที่สุด
แล้วโชคดีที่บ้านของศรทำบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ก็เลยจะมีช่างที่เค้ารู้ใจเราประมาณนึง ศรก็เลยหยิบของที่มีอยู่แล้วในโกดัง แล้วเลือกใช้วิธีการเพ้นท์มือ ทุกอย่างมันเลยประหยัด และเน้นไปที่การใส่ไอเดียมากที่สุด ภาพรวมที่ออกมาก็จะให้ความรู้สึกเป็นงาน Handmade และ Handcrafted ซึ่งข้อดีเลยก็คือ เวลาลูกค้าเข้าร้านมาเค้าจะสัมผัสได้ถึงความเข้าถึงง่าย ไม่ได้ดูหรูหรา จับต้องยากขนาดนั้น
ตอนนั้นสยามกำลังอยู่ในช่วงซบเซา
พอเราเข้าไป
มันเลยให้ความรู้สึกเหมือนจุดพลุ!
จำได้ว่าตั้งแต่เปิดร้านวันแรก ลูกค้าก็เยอะเลย ซึ่งเราเองก็ดีใจมาก เพราะส่วนตัวเวลาที่ศรไปต่างประเทศ ศรก็จะชอบไปร้านแนววินเทจกุ๊กกิ๊ก ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้หลุดไปอยู่อีกโลกนึง ซึ่งศรมองว่ามันดีนะ ถ้าร้านของเราจะทำให้หลายคนรู้สึกแบบนั้น
แต่หลังจากเปิดร้าน Daddy ที่ซอย 11 ไปได้ไม่นาน ปรากฏว่าก็ถูกขอที่คืน ตอนนั้นเราก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าจะทำยังไงกันดี หลังจากคิดกันก็กลายมาเป็นร้าน Daddy and the Muscle Academy ที่สยามสแควร์ ซอย 2 จนถึงทุกปัจจุบัน
Daddy and the Muscle Academy ปลายทางแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ลูกศร : Daddy เรียกได้ว่าโชคดีมาก เพราะเรามีลูกค้าชาวเอเชียที่เค้าชอบสไตล์นี้เยอะมาก แล้วเวลามาไทย Daddy เลยกลายเป็นเหมือน Shopping Destination ของนักท่องเที่ยวที่มากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ฮ่องกง เกาหลี พอเค้าได้รู้จักก็มีการบอกต่อ แนะนำต่อ อย่างก่อนหน้านี้เราก็ได้มีการทำเป็น Pop-up Exhibition ที่ฮาราจุกุ ปรากฏว่าก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เหมือนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทางฝั่งเอเชีย
แล้วอย่างช่วงก่อนที่จะมีโควิด ร้านเราก็มีลูกค้าที่เป็นชาวจีนเยอะ พอปิดโควิดปุ๊บ เราก็ยังมีการ Keep Connection กับลูกค้าอยู่ เพราะเรามีการทำการตลาดกับ Wechat เรามีน้องๆ Admin ที่คอยตอบ ทำให้ลูกค้าที่สนใจสินค้าของเราสามารถสั่งได้ และกลายเป็นว่าช่วงที่ปิดโควิด ยอดขายของ Daddy เยอะที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมา โดยได้ลูกค้าชาวต่างชาติที่เค้าซื้อผ่านทางออนไลน์นี่แหละที่ทำให้ Daddy อยู่ได้
Credit : Frank Garcon
Station 2 | Frank Garcon การมาถึงของชายหนุ่มที่ชื่อ "แฟรงก์"
ลูกศร : ต้องเท้าความย้อนกลับไปนิดนึง คือในระหว่างที่ศรทำ Daddy ศรก็มีอีกหนึ่งอาชีพซึ่งนั่นก็คือ สไตลิสต์โฆษณา ที่ศรทำมาได้ประมาณ 3-4 ปี สมัยที่ศรทำ ศรมักจะเจอปัญหาที่ว่า เสื้อผ้าผู้ชายนั้นหายากมาก คือถ้าไม่ใช่ Uniqlo ZARA ศรจะหาเสื้อผ้าผู้ชายที่ออกแบบดีๆ ได้ยาก ซึ่งร้านเสื้อผ้าที่ออกแบบดีๆ ส่วนใหญ่มักจะวางขายเฉพาะออนไลน์ ศรเลยมองว่าตรงนี้มันเหมือนเป็นช่องว่างทางการตลาด แล้วประจวบกับหุ้นส่วนอีกคนนึง เค้าก็มากระซิบบอกเราว่า ที่สยามซอย 2 มีห้องว่างนะ
เราเลยมานั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรดี คือเหมือนเป็นการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเลยอีกแบรนด์นึง ศรเลยเสนอขึ้นมาว่า ทุกครั้งเวลาที่ศรมาหาซื้อเสื้อผ้าทำสไตลิสต์ ศรหาซื้อเสื้อผ้าผู้ชายไม่ค่อยได้ แค่ศรบอกปัญหาตรงนี้ไป หุ้นส่วนของศรเค้าก็ไปทำการบ้าน แล้วก็มาคุยกันว่าหรือเราจะทำเป็นร้านเสื้อผ้าผู้ชาย ที่มีราคาจับต้องได้ ไม่แพง แถมยังมีสไตล์
Credit : Frank Garcon
Frank! ส่วนผสมที่ลงตัวของ Lifestyle Store
ลูกศร : การทำงานที่ Frank! ในมุมของศรนั้นถือว่าต่างจาก Daddy โดยสิ้นเชิง เพราะ Daddy จะมีความเป็นผู้หญิงกุ๊กกิ๊ก แต่ความเป็น Frank! มันเหมือนกับเป็นอีกสไตล์นึง ที่ศรรู้สึกว่า Frank! จะมีความเป็นผู้ใหญ่กว่า ถ้าเปรียบกับคน คนๆ นั้นก็จะเป็นคนที่มีความเป็นวัยรุ่นนะ แต่ในความคิดของเค้า ก็จะมีความเป็นขบถอยู่นิดนึง
โดยในช่วงแรกที่เปิดร้าน สินค้าส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่ผู้ชายจ๋าเลย แล้วเราก็จะมี Section ของผู้หญิงอยู่นิดนึง ซึ่งเมื่อดูหน้างานจริงๆ คนที่เข้าร้านเราเนี่ย ส่วนใหญ่คือผู้หญิง หรือถ้าเป็นผู้ชาย การที่เค้าจะเข้า เค้าก็จะควงแฟนของเค้าเข้าไปด้วย ศรเลยมานั่งคิดต่อว่า เอ๊ะ อย่างนี้แปลว่าเราอาจจะต้องเพิ่ม Product ในส่วนที่เป็นของผู้หญิงเข้าไปด้วย แต่การที่ผู้หญิงจะซื้อของ เค้าก็จะเลือกจากอะไรที่มันกระจุกกระจิก ซึ่งเราก็นำตรงนี้มาปรับให้มันดูมีอะไรมากขึ้น
ความท้าทายก็คือ
การนำทุกคนมาปั่นรวมกัน
จนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่าง Frank!
หลายคนอาจจะเห็นว่าภายนอกของศร นั้นเป็นสาวหวานที่ไม่น่าจะทำเสื้อผ้าผู้ชายได้ แต่ด้วยความที่หุ้นส่วนของเราแต่ละคน เรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่ต่างกันออกไป หุ้นส่วนของศรคนนึงเค้าจะมีความเป็น Gentlement มาก ตรงข้ามกับศรที่มีความเป็นผู้หญิงจ๋า เราก็จะต้องนำความแตกต่างตรงนี้มาเบลนด์ให้มันเข้ากันให้ได้มากที่สุด ซึ่งศรมองว่าพอมันเบลนด์ออกมาแล้วมันกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลยนะ
จาก Daddy มาจนถึง Frank! ถ้าเปรียบกับคน ลูกสองคนนี้เลี้ยงยากไหม?
ลูกศร : เอาจริงๆ ไม่ยุ่งยากนะคะ เพราะตอนที่เราตัดสินใจทำ Frank! ตอนนั้น Daddy ก็โตไปในระดับนึงแล้ว อย่าง Daddy เรียกได้ว่าโชคดีมากๆ เพราะเรามีน้องๆ ทีมงานที่เค้าสามารถเข้าใจความเป็นตัวแบรนด์ได้ดี เอาจริงๆ ศรได้ทีมงานที่เก่งมากๆ ด้วยแหละ อย่างบางคนก็อยู่กับเรามาตั้งแต่สมัยมีหน้าร้านที่ซอย 11 คือเหมือนทุกคนก็ค่อยๆ โตขึ้นไปด้วยกันกับ Daddy
หน้าที่ของเราคือการคอยสังเกต คอยดูว่าน้องๆ แต่ละคนเค้า Shine ไปในทางไหน ศรก็จะดึงให้เค้าโตในเวย์ที่แตกต่างกันออกไป โดยที่แต่ละคนก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้แบบสุดความสามารถ แล้วเราสามารถวางใจ และปล่อยให้พวกเค้าดูแลบ้านของเราได้ โดยที่เราจะคอยมองดูภาพรวม คอย Assign หรือสามารถเอาตัวเองไปดูแลในส่วนอื่นๆ ต่อได้ โดยที่เราไม่ได้ทิ้ง
Station 3 | Paknang BKK ร้านอาหารใต้รสมือคุณยายที่ถ่ายทอดโดย Millennial Gen
ลูกศร : ศรมีเพื่อนสนิทคนนึงชื่ออายค่ะ แล้วทางบ้านของอาย เค้าก็เปิดเป็นร้านอาหารใต้มาได้ 30 กว่าปีแล้ว ซึ่งศรกินอาหารร้านอายมาตั้งแต่อยู่ ม.2 จนช่วงโควิดที่ผ่านมาอายโทรมาหาศร บอกว่าจะปิดร้านแล้วนะ ซึ่งเอาจริงๆ ศรค่อนข้างเสียดายรสชาติมากๆ เพราะอาหารบ้านของอายจะโดดเด่นในเรื่องของรสชาติที่เผ็ด จัดจ้าน ซึ่งมันเป็นรสชาติที่ศรชอบ
แล้วพออายบอกเราแบบนั้น ศรบอกกับตัวเองเลยว่า ศรจะปล่อยให้อายปิดไม่ได้ ไม่รู้ทุกคนเป็นเหมือนกันไหม เวลาที่เราชอบรสชาติของอาหารจากร้านไหน เราก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่มีร้านอื่นที่สามารถทำได้ดีเท่ากับร้านที่เราชอบอีกแล้ว ซึ่งอาหารแต่ละอย่างที่ทางบ้านของอายทำออกมาคืออร่อยหมดเลย
คือเรามีความสามารถเรื่องการทำ Branding ซึ่งศรมองเห็นปัญหาแล้วว่า ร้านของอายคือตัวแบรนด์มันโตขึ้นก็จริง แต่กลุ่มลูกค้าหลักก็โตตามไปด้วยเหมือนกัน แล้วพอเปิดร้านมา 30 ปี ลูกค้าที่กินมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้าน จนถึงตอนนี้กลายเป็นว่าอายุก็มากขึ้น สวนทางกับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่ทาน เพราะยังยึดติดอยู่กับภาพร้านอาหารใต้แบบเดิมๆ
ศรเลยตัดสินใจว่า ถ้าจะทำ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นโลเคชั่น คือเราจะอยู่ที่เดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนให้เป็นอะไรที่เทรนดี้ขึ้น รวมไปถึงหน้าตาอาหาร วิธีการพรีเซนต์ต่างๆ คือต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย ภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังจากที่อายบอกเรา
ภารกิจพรีเซนต์เรื่องราวของ คุณยายละมูล
ลูกศร : ปากนัง เป็นร้านอาหารใต้ที่ตอนนี้ เรียกได้ว่าเข้าสู่ Gen ที่ 3 แล้ว คืออายเป็น Gen ที่ 3 โดยสูตรอาหารดั้งเดิมเลยเนี่ยมาจาก ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสูตรของคุณยายละมูล ที่ร้านของคุณยายเมื่อก่อน เป็นร้านข้าวแกงบ้านๆ เลยค่ะ แล้วขายดีมาก เอกลักษณ์ของอาหารฝีมือคุณยายจะอยู่ที่เครื่องแกง ที่คุณยายทำขึ้นมาเอง ศรเลยนำเรื่องราวต่างๆ ของคุณยายที่ได้ฟังมาจากอาย มาผสมผสานกลายเป็นร้านปากนัง ร้านนี้ขึ้นมา
ศรรู้สึกว่าร้านนี้ สามารถนำ Story ของคุณยายมาเล่นต่อได้ เราเลยพรีเซนต์ออกมาผ่านงาน Painting โดยยึดศิลปะแบบ Post-Impressionism (ใครนึกไม่ออกลองนึกถึงผลงานของแวนโก๊ะดูก็ได้) ไม่ว่าใครที่เข้ามาจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เราอาศัยภาพในการเล่าเรื่อง
โดย Story ของแต่ละภาพก็จะเป็นเรื่องราวของคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านของคุณยายที่ปากพนัง, ภาพคุณยายกำลังทำอาหาร, ปลูกผัก อะไรต่อมิอะไรต่างๆ โดยศรอาศัยเรื่องราวจาก Gen ที่ 3 ที่ไม่เคยไปปากพนัง ไม่เคยเจอหน้าคุณยาย ศรอยากให้มันออกมาในลักษณะของภาพวาดจากจินตนาการของอาย ที่ถ่ายทอดมาถึงศรอีกที
เคล็ดลับการทำงานของลูกศร คือ ไม่ว่าจะทำอะไร Story ที่สื่อออกมาต้องชัด
ลูกศร : ทุกวันนี้แบรนด์ในตลาดคือมีเยอะมาก ถ้าเราอยากจะทำออกมาให้โดดเด่นและต่างจริงๆ เราต้องเริ่มจากการสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าได้เห็นก่อน แบบทำยังไงให้เค้าจำเราได้ ศรเลยคิดว่า Story มันเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีมากๆ รวมไปถึง Brand Identity เองก็ต้องชัด เราจะขายอะไร เราจะขายให้กลุ่มลูกค้าแบบไหน เราอยากให้ Mood and Tone โดยรวมมันออกมายังไง ศรมองว่าเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้แต่ละแบรนด์น่าสนใจขึ้นมาได้
ไม่ว่าจะเป็น Daddy, Frank! หรือปากนัง ศรรู้สึกว่าไม่ว่าเราจะทำงานอะไร ทุกอย่างมันต้องชัด และต้องเห็นภาพตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้ามา ต้องตอบได้ว่า รูป รส กลิ่น เสียง เป็นยังไง อย่างตัวปากนังเอง เพลงที่ใช้ในร้านก็จะเป็นเพลงยุค 70 ยุค Disco ยุค Funk แล้วศรสังเกตว่าเวลาลูกค้าอยู่ในร้านแล้วได้ยินเพลงก็จะแอบมีขยับขาตามบ้าง หรือไม่ก็คุยกันเรื่องเพลง ประมาณว่าเพลงน่ารักดี ไปหามาจากไหน ซึ่งตรงนี้ศรมองว่ามันถือว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายของเราในระดับนึงแล้วนะ เพราะเราทำให้เค้าสัมผัสถึงสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารได้
บนเส้นทางสายธุรกิจที่ผ่านมา สอนอะไรเราบ้าง
ลูกศร : จากการทำงานที่ผ่านๆ มา ศรรู้สึกว่าทุกๆ อย่างมันตบทำให้ศรกลมขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ศรมักจะมองอะไรเพียงด้านเดียว พอเราได้มาทำงาน มันทำให้ศรรู้เลยว่าการรับรู้แบบ 360 องศานั้นสำคัญมาก รวมไปถึงการเรียนรู้ต่างๆ จากการทำงานในแต่ละวัน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานต่อๆ ไปได้ ไม่ว่าจะทั้งตัวศรเอง รวมไปถึงองค์กร
ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เจออุปสรรคเลยนะคะ แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจออุปสรรคใหญ่หรือเล็กแค่ไหน อย่างตอนที่ทำ Daddy ศรเจอมาเยอะมาก ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไป มันก็ขึ้นอยู่กับการ Carry ของเราและว่าจะทำยังไง
และถึงแม้ว่าศรจะเรียนจบแฟชั่นดีไซน์มา แต่ตั้งแต่โตมาเนี่ย ศรจะได้รับการใส่ Mindset เรื่องของการทำธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว ด้วยความที่ศรเป็นลูกคนจีน ที่บ้านก็จะสอนเรื่องของการทำธุรกิจ มันเลยหล่อหลอมทำให้เราเป็นคนที่ ถึงแม้ว่าจะเรียนแฟชั่น แต่ศรก็จะมีมุมที่อยากจะทำธุรกิจตลอดเวลาไปด้วยเช่นกัน
ในตอนนี้ศรไม่สามารถนิยามอาชีพของตัวเองออกมาได้ เพราะศรทำหลายอย่างมาก แต่เอาเป็นว่าอาชีพหลักๆ ของศรคือ นักสร้างแบรนด์ คือการบริหารทุกอย่าง ให้มันออกมาดีที่สุด
- ลูกศร ศรุติ ตันติวิทยากุล -
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ