อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด ! กับทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของความ " ซวย "
โดย : waranggg

วันนี้อะไรๆ ก็ไม่เป็นใจซักอย่าง ทำไมถึงเป็นวันที่ "ซวย" อะไรแบบนี้นะ !
นี่คือคำพูดที่เรามักจะหลุดพูดออกมาอยู่เสมอ เมื่อต้องพบเจอกับเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เช่น เคยพกร่มมาทุกวัน แต่วันนี้ดันลืมหยิบใส่กระเป๋ามา แน่นอนว่า ฝนดันตกซะงั้น หรือในกรณีที่มีนัดสำคัญมาก แต่ต้องผิดนัดแบบน่าโมโหเพราะรถเกิดเสียกระทันหัน หรือรถติดหนักมากแบบไม่เคยพบเจอมาก่อน จะเรียกว่าความซวยก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ จริงไหมล่ะ ?
รวมมิตรเรื่องซวยๆ ที่เราเจอกันเป็นประจำ !
☔️ ถ้าวันไหนลืมพกร่ม วันนั้นฝนจะตก
ถ้าเคยพกร่มทุกวัน ไม่เคยเอาร่มออกจากกระเป๋าเลย แล้ววันนี้ไม่รู้คิดอะไรอยู่ ดันหยิบเอาร่มออกจากกระเป๋า สังหรณ์ใจไว้เลยว่าวันนั้นฝนจะตกอย่างแน่นอน
👨🏻💻 คอมมักจะค้าง ไฟมักจะดับ ในตอนที่เราลืมกดเซฟงานอยู่เสมอ
ข้อนี้เราเป็นบ่อยมาก บางทีหัวแล่นมากพิมงานเพลินแล้วจะลืมกดเซฟงานตลอด จังหวะนี้แหละ มันต้องเจอคอมค้าง ไม่ก็ไฟดับ แต่น่าโมโหสุดคือมีคนเดินเตะปลั๊กคอมพิวเตอร์ เจอแบบนี้บอกเลยว่าแทบล้มโต๊ะ
🚙 ถ้าวันไหนล้างรถ วันนั้นฝนจะต้องตกเสมอ
ข้อนี้คนมีรถมักจะต้องเคยเจอด้วยตัวเอง เอารถไปล้าง ดูดฝุ่น ลงแว๊กซ์ขัดเงาซะดิบดี ยังขับไม่ถึงบ้านเลยฝนตกซะงั้น รถสะอาดเหมือนใหม่ยังไม่ทันข้ามวัน ต้องโดนน้ำขังสาดใส่รถอีกแล้ว สุดท้ายก็ต้องมาล้างใหม่ตามระเบียบ
🚦 รถเราอยู่เลนไหน เลนนั้นจะรถติด
เวลาขับรถถ้าเราอยู่เลนไหน เลนของเราจะรถติดกว่าเลนอื่นเสมอ หรือบางทีเปลี่ยนเลนหนีรถติดได้แล้ว เลนเดิมดันวิ่งฉิวเฉยเลย บอกเลยว่าเจ็บใจสุด จากที่หัวร้อนจากรถติดอยู่แล้ว เจอแบบนี้คือเดือดระดับสิบ
🚨 ถ้าวันไหนที่รีบมากๆ รถจะติดมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
วันปกติธรรมดาร้อยวันพันปี ถนนเส้นที่ใช้เป็นประจำ รถไม่เคยติด พอถึงวันที่มีนัดสำคัญเท่านั้นแหละ รถก็ติดขึ้นมาเลยเชียว
เราเชื่อว่าทุกคนต้องมี Bad Day แบบนี้แน่ๆ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่ามันเป็นเพราะอะไร ?
กฎของเมอร์ฟี คือ คำตอบ !
Murphy's Law กฎของเมอร์ฟี
กฎที่ว่าด้วยเรื่องของ อะไรจะเกิด เราก็ไม่สามารถห้ามมันได้
ว่ากันว่าทฤษฎีนี้ เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายเรื่องของความซวย ความโชคร้าย หรือความผิดพลาดต่างๆ โดยมีประโยคเด็ดที่เป็นไฮไลท์ของกฎนี้ว่า
Anything that can go wrong, will go wrong
ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาดได้ มันมักจะผิดพลาดเสมอ !
จริงๆ แล้วที่มาของกฎของเมอร์ฟีก็ยังเป็นปริศนาว่ามาจากที่ไหนกันแน่ แต่มีข้ออ้างอิงที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากนั่นก็คือในปี 1948 Edward Murphy วิศวกรฐานทัพอากาศของอเมริกา และลูกทีมกำลังทำการทดลองในโปรเจค Air Force MX981 เป็นโปรเจคที่ทดลองเกี่ยวกับเรื่องความอดทนของมนุษย์ที่มีต่อแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อนำผลการทดลองไปออกแบบเครื่องบินใหม่ในอนาคต
แต่ในระหว่างที่ทำการทดลองนั้น เมอร์ฟีและลูกทีมพบว่าผลการทดลองดันมีข้อผิดพลาดไปจากที่คาดการณ์ไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนจะพบว่าผู้เป็นต้นเหตุของความผิดพลาดนี้ คือ ช่างเทคนิคผู้ช่วยของเค้าเอง ที่เดินสายไฟและต่ออุปกรณ์ผิดพลาดสลับกันมั่วไปหมด จึงทำให้การอ่านผลการทดลองผิดเพี้ยน และด้วยความโมโหมาก เมอร์ฟีก็พูดออกมาหนึ่งประโยคว่า If there is any way to do it wrong, he'll find it. เป็นประโยคเหน็บช่างเทคนิคแบบแสบๆ คันๆ ว่า แม้ว่าจะรีเช็กหรือรอบคอบแค่ไหนแล้วก็ตาม ผู้ช่วยของเค้าจะสามารถหาหนทางทำให้มันผิดพลาดได้อยู่ดี! ซึ่งลองคิดๆ ตามดูแล้วถ้าเราเป็นคุณเมอร์ฟี ณ ตอนนั้นเราก็คงโมโหมากไม่ใช่น้อยเลย 😂
ในท้ายที่สุด การทดลองก็ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และคุณหมอ Stapp ผู้เข้าร่วมการทดลอง ได้ให้สัมภาษณ์กับบรรดานักข่าวว่า การทดลองนั้นผ่านไปด้วยดีเพราะทุกคนยึดกฎของเมอร์ฟี หลังจากที่เกิดข้อผิดพลาดจากการต่อสายผิดของช่างเทคนิค ก่อนการทดลองครั้งถัดๆ ไป ทุกคนจะต้องทำการเช็กอุปกรณ์อย่างละเอียดก่อนทุกครั้ง เพื่อปิดช่องว่างที่จะทำให้เกิดการผิดพลาด ด้วยเหตุนี้แหละจึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่ากฎของเมอร์ฟีและคำๆ นี้ก็ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในอเมริกามากยิ่งขึ้นด้วย
🤫 จากคำด่า สู่กฎของเมอร์ฟี คำตอบของความซวย
แรกๆ กฎของเมอร์ฟีก็ใช้พูดเพื่อใช้เตือนใจ ก่อนที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ต้องรู้จักวางแผน ต้องเช็กความเรียบร้อยก่อนเสมอ แต่ในภายหลังกฎของเมอร์ฟีก็เริ่มแตกไลน์ออกมาหลายแขนงมากขึ้น และกลายมาเป็นกฎที่อธิบายเรื่องความซวย หรือกฎที่อธิบายเรื่องความผิดพลาดต่างๆ มากมาย และสามารถสรุปจุดเด่นหลักๆ ได้ตามนี้เลย
- เรื่องทุกเรื่องไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็นหรือเป็นอย่างที่เราคิดเสมอไป
- ในทุกๆ เรื่องสามารถมีข้อผิดพลาดได้เสมอ
- อะไรที่สามารถเกิดข้อผิดพลาดได้ มักจะผิดพลาดเสมอ
- ในช่วงเวลาที่ไม่ควรจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น มักจะเกิดความผิดพลาดขึ้นเสมอ
- ถ้ามีลางสังหรณ์ว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น เท่ากับว่าแนวโน้มเรื่องที่ไม่ดีจะเกิดก็มากตามไปด้วย
กฎของเมอร์ฟี เป็นเรื่องจริง หรือแค่อำกันเล่น
ถ้าพูดถึงเรื่องกฎของเมอร์ฟีสิ่งที่พอจะทำให้หลายคนพอนึกภาพออกมากขึ้น ก็คงจะเป็นกรณีที่เราทำขนมปังทาเนยหรือแยมร่วง และความพีคคือด้านที่ทาเนยหรือแยมมักจะคว่ำลงพื้นเสมอ แล้วก็ทำให้พื้นเลอะเทอะจนเราต้องตามเช็ดพื้นให้วุ่นวาย กินก็ไม่ได้กิน แถมยังต้องมาเสียเวลาทำความสะอาดอีก เรียกว่าซวยในซวยที่แท้ทรู~
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีคนอีกหลายคนที่เชื่อว่ากฎของเมอร์ฟีไม่มีอยู่จริงหรอกจ้า
เป็นแค่โจ๊กพูดกันขำๆ เท่านั้นแหละ...
ในเมื่อไม่เชื่อก็ต้องหาทางพิสูจน์สิ! ว่าไอกฎของเมอร์ฟีที่บอกว่าขนมปังตกแล้วด้านทาเนยจะคว่ำลงพื้นเสมอๆ เนี่ย มันคือเรื่องจริงไหม และการทดสอบกฎของเมอร์ฟีที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงมากก็คงหนีไม่พ้น การทดสอบของรายการวิทยาศาสตร์ ช่อง BCC โดยทดลองโยนขนมปังทาเนยขึ้นบนท้องฟ้าเป็นร้อยๆ ครั้ง ผลที่ได้คือด้านที่ทาเนยและด้านที่ไม่ทาเนย คว่ำหน้าลงพื้นในอัตราที่เท่ากันคือ 50:50 หรือครึ่งต่อครึ่งเลย การทดสอบครั้งนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าจริงๆ แล้ว กฎของเมอร์ฟีไม่มีอยู่จริง
🧐 แต่ข้อสรุปของ BBC นั้นได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วจริงๆ หรอ ?
การทดสอบเรื่องขนมปังทาเนยกลับไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะแค่โยนขนมปังขึ้นท้องฟ้าเฉยๆ ยังเป็นการทดลองที่ไม่ครบถ้วนพอน่ะซิ ต่อมาในปี 2000 จึงได้มีการจัดการแข่งขัน Tumbling Toast Test โดยหนังสือพิมพ์ The Sum ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเนย Lurpak และได้ข้อสรุปออกมาว่าการที่ขนมปังจะเอาหน้าด้านทาหรือไม่ทาเนยลงพื้นนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเนยแม้แต่นิดเดียว ปัจจัยสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ระดับความสูงต่างหาก หรือพูดง่ายๆ ว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความซวยแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางฟิสิกส์ล้วนๆ จบนะ!
และถึงแม้ว่าเรื่องของขนมปังตกลงพื้นจะได้ข้อสรุปแล้วก็ตาม แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ แม้ว่าเราจะเป็นคนละเอียดหรือรอบคอบมากแค่ไหน มันก็มักจะมีจุดผิดพลาดเล็กๆ ที่บางทีเราก็ไม่สามารถหาเหตุผล หรือข้อเท็จจริงมาอธิบายได้ จนท้ายที่สุดแล้วเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาเหตุผล หรือข้อเท็จจริงมาอธิบายได้นั้น ก็ทำให้เราหงุดหงิดใจเล่นๆ ได้อยู่ดี 😂
พื้นฐานเป็น "คนดวงซวย" มาแต่ไหนแต่ไร
มันแก้ได้ไหม ไอเรื่องซวยๆ เนี่ย
อย่างแรกเลยลองปรับ Mindset ปรับทัศคติเรื่องของความซวยกันก่อน เค้าว่ากันว่าโดยปกติ มนุษย์เราจะชอบโฟกัสและจดจำในเรื่องที่ไม่ดีมากกว่าเรื่องที่ดีเสมอ ยิ่งเมื่อเราเจอความผิดพลาดหรือเจอเรื่องไม่ดีซ้ำๆ กัน ก็จะยิ่งตอกย้ำว่าเรามันเป็นคนดวงซวย เราลองค่อยๆ ปรับมุมมองของมามองเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นบ้าง แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม แล้วก็จะพบความจริงว่าดวงเรามันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นนี่หน่า ส่วนตัวเราลองกับตัวเองมาแล้ว สบายใจขึ้นเยอะ!
แต่ถ้ารู้สึกว่ามันยังไม่พอ มันยังต้องการที่พึ่งทางใจ ก็ขอให้เดินทางสายมูเลยจ้ะ ณ จุดนี้ต้องมูเท่านั้น! ถ้าเป็นเรื่องของปีชงใดๆ ก็แนะนำว่าให้ไปแก้ชง เข้าวัดไหว้พระทำบุญบ่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีเพื่อความสบายใจกันไปเลย ถ้ายังไม่พอก็ดูดวงเพื่อเช็กดวงชะตากันก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่เสียหาย เพราะถ้าหมอดูทักว่าดวงตกอย่างน้อยๆ ก็จะได้ระมัดระวังตัวกันมากขึ้น แต่ถ้าโดนทักเรื่องไม่ดีแล้วจะคิดมาก ไม่สบายใจแนะนำว่าเลี่ยงได้เลี่ยงเลย เดี๋ยวจะจิตตกกันไปซะก่อน
แล้วถ้าคิดจะมูต้องไปให้สุด อย่าได้พัก ซึ่งแบบนี้ก็ต้องบูชาเครื่องรางของขลังกันไปเลยซิคะ สมัยนี้เครื่องรางก็มีการดีไซน์ที่สวยและทันสมัยมากขึ้น ทั้งไลลา ทั้งสร้อยข้อมือหินนำโชค หรือจะสร้อยข้อมือเทพเจ้าต่างๆ ก็เลือกเอาตามความศรัทธา ตามความสบายใจได้เลย สุดท้ายเรื่องของความรอบคอบก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคิดให้รอบด้าน คิดให้รอบคอบเสมอ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยปิดช่องโหว่ไม่ให้ความผิดพลาดเล่นงานเราได้นั่นเอง
### ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่ากฎของเมอร์ฟีจะมีจริงหรือไม่มีจริง อย่างไรก็ตามส่วนตัวเรามองว่ากฎของเมอร์ฟีก็มีข้อดีซ่อนอยู่นะ มันสอนให้เราปลง และระมัดระวังกับการใช้ชีวิต และไม่มีใครในโลกนี้ที่จะต้องพบกับโชคดีหรือโชคร้ายไปตลอดหรอก และเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นแล้ว เราก็ต้องทำใจและเรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นซ้ำอีก พร้อมกับยอมรับกับความจริงที่ว่า "อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด" ###
ขอขอบคุณที่มา : murphys-laws.com, hoonsmart.com, rmutphysics.com
โดย waranggg
thaitealism










บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ