สิทธิบัตรทอง "ฉบับอัปเดตปี 65" มีเงื่อนไขอะไรร่วม - ไม่ร่วมบ้าง ?

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer6 ม.ค. 2565 avatar writer12.8 K
สิทธิบัตรทอง "ฉบับอัปเดตปี 65" มีเงื่อนไขอะไรร่วม - ไม่ร่วมบ้าง ?

 

รู้ไหมว่า คนไทยทุกคนสามารถใช้สิทธิบัตรทองกันได้นะ !

 

หากใครเคยมีความเชื่อว่าคนที่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้จะต้องเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น จะบอกว่าทุกคนเข้าใจผิด !  เพราะบัตรทองเป็นบัตรที่อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยทุกคนในการเข้ารับการรักษาพยาบาลพื้นฐานที่โรงพยาบาลของรัฐ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญบัตรทองเป็นบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุ สามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต แต่มีข้อแม้ว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิบัตรทองนั้นจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีสิทธิอื่น ๆ อยู่แล้ว อาทิ สิทธิประกันสังคม, สิทธิรัฐวิสาหกิจ, รวมถึงสิทธิจากบัตรข้าราชการ เป็นต้น

 

ซึ่งเมื่อมีการเริ่มต้นเข้าสู่ปีใหม่ เชื่อว่าจะต้องมีเพื่อน ๆ ที่อยากอัปเดตสิทธิประโยชน์ ที่เราควรจะได้ จากเจ้าบัตรตัวนี้กันอยู่ไม่น้อย และจากที่เราได้อัปเดตข่าวมา ก็ได้ข้อมูลมาว่าสิทธิบัตรทองประจำปี 2565 นี้ มีสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายข้ออยู่ ส่วนจะมีอะไรบ้าง ได้เวลาไปเช็กลิสต์สิทธิพิเศษแต่ละข้อไปพร้อม ๆ กันเลยจ้าาา

 


 

 

อัปเดต " สิทธิบัตรทองประจำปี 2565 "

มีอะไรเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ?

 

สำหรับเงื่อนไขของสิทธิบัตรทองประจำปี 2565 นี้ สามารถเริ่มใช้กันได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป  โดยยื่นใช้สิทธิบัตรทองกันได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเข้ารับบริการจากหน่วยงานรัฐ รวมถึงหน่วยงานเอกชน ก็สามารถใช้สิทธิจากหน่วยงานที่ร่วมโครงการกันได้เลย

 

| 4 วิธีเช็กสิทธิบัตรทองด้วยตัวเอง

 

  • โทรเช็กสิทธิที่สายด่วน สปสช. หรือโทร 1330 กด 2
  • เช็กสิทธิที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือ คลิก 
  • เข้าแอปฯ สปสช. แล้วเลือก ตรวจสอบสิทธิตนเอง
  • เช็กสิทธิผ่าน LINE สปสช. 

 

 

| แล้วสิทธิพื้นฐานของบัตรทองมีอะไรบ้าง ?

 

  • สิทธิในการรักษาเนื่องมาจากการเจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งอาการเจ็บป่วยทั่วไปนี้หมายถึงอาการที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน ซึ่งอาจรอรับบริการสาธารณสุขในเวลาทำการปกติ ไม่ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา

  • สิทธิในการรักษาเนื่องมาจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องรับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการรุนแรงขึ้นมาของอาการป่วยนั้น

  • สิทธิในการรักษาเนื่องมาจากอุบัติเหตุ มี 2 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอุบัติเหตุทั่วไป และกรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ

  • สิทธิในการส่งต่อเพื่อรักษาต่อเนื่อง

  • นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิได้ทุกที่ ไม่ต้องสำรองจ่าย

  • สิทธิในการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์, กลุ่มเด็กเล็ก 0-5 ปี, กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น 6-24 ปี, กลุ่มผู้ใหญ่ 25-59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

  • สิทธิประโยชน์ การบำบัดทดแทนไต

  • สิทธิประโยชน์ ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี 

 

 

| อัปเดตสิทธิประโยชน์ "ที่เพิ่มขึ้นมา" ในปี 2565

 

  • สิทธิในการรับบริการหมอครอบครัว หรือหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการนอกเครือข่ายได้ โดยที่ทางหน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวเหมือนในอดีต รวมถึงเก็บค่าบริการเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้ได้ขยายบริการให้ครอบคลุมทั้งประเทศแล้ว

  • ผู้ป่วยใน ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ

  • สิทธิในบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังจากสัมผัสเชื้อ โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี หลังสัมผัสเชื้อได้ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

  • สิทธิในการตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม

  • บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็ก

  • บริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม สำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก และมีข้อบ่งชี้ว่าต้องใส่รากฟันเทียม จำนวน 24,200 บาท / ราย

  • บริการตรวจคัดกรองโรคเสี่ยงมะเร็งรวมถึงมะเร็งช่องปาก สำหรับประชาชนไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา 

  • บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ

  • บริการตรวจคัดกรองผู้หญิงตั้งครรภ์ อาทิ การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียและเชื้อซิฟิลิส

  • ขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis หรือ APD) รวมถึงเพิ่มจำนวนเครื่องล้างไตอัตโนมัติกว่า 1,300 เครื่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

  • เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ไหนก็ได้ 

  • ในกรณีที่มีการย้ายหน่วยบริการ หลังจากที่ย้ายแล้ว สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน

 

 

| สิทธิบัตรทอง "ไม่ครอบคลุม" การรักษาใดบ้าง ?

 

  • การรักษาเพื่อความสวยงาม ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาทิ การศัลยกรรม
  • การตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ของทางแพทย์
  • การรักษาที่อยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย
  • การบริการทางการแพทย์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่กำหนด

 


 

💭  ถือว่าเป็น ของขวัญด้านสุขภาพ ที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพมอบให้กับทุกคนในปีใหม่นี้ และสำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ยังรู้สึกว่าไม่เคลียร์ หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง สปสช. ก็สามารถทำการติดต่อไปที่สายด่วน โทร 1330 กันได้ หรือใครอยากจะอ่านคู่มือการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพพื้นฐาน ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ > คลิก

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : prachachat.net, komchadluek.netprachachat.netthairath.co.th และ สปสช.

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น