เงินฝากปลอดภาษี ดียังไง ต้องฝากเท่าไหร่ ดอกเบี้ยสูงแค่ไหน?

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer1 มิ.ย. 2563 avatar writer58.9 K
เงินฝากปลอดภาษี ดียังไง ต้องฝากเท่าไหร่ ดอกเบี้ยสูงแค่ไหน?

เงินฝากปลอดภาษี ฝากเงินเท่ากันทุกเดือน
เริ่มต้นแค่หลักพันก็ได้แล้ว ดอกเบี้ยสูงกว่า ไม่ต้องเสียภาษี
เป็นทางเลือกของการลงทุน ในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้


Highlight ของเงินฝากปลอดภาษี อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า แถมไม่ต้องเสียภาษี


  • เงินฝากปลอดภาษี มีความพิเศษเหมือนเป็นตัวช่วยสำหรับการออมเงิน เพียงแค่ฝากเงินเท่ากันทุกเดือน ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ได้รับดอกเบี้ยสูงแล้ว คือแบ่งเงินในแต่ละเดือนมาออมบัญชีนี้นั่นเอง
  • นอกจากดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำทั่วไปแล้ว ดอกเบี้ยที่ได้รับยังไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย อีกด้วย ทำให้หลายคนเลือกเปิดบัญชีประเภทนี้สำหรับการออมเงินโดยเฉพาะ
  • อัตราดอกเบี้ยภาพรวมของตลาด ตอนนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ จากการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. แต่ก็ยังมีบางธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงอยู่ ถือเป็นตัวเลือกให้กับประชาชนและนักลงทุน รีบไปฝากเงินกันดีกว่า!

แบ่งเงินสำหรับใช้ยามฉุกเฉิน ถือเป็นสิ่งจำเป็นในเวลานี้


ในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบนี้ ทำให้ทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่งผลไปถึงสภาพคล่องทางการเงิน บางคนถูกปรับลดเงินเดือน บางคนถูกให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงิน (Leave Without Pay) และถึงแม้บางคนจะยังได้รับเงินเดือนตามปกติ แต่ก็มีความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม (อ่านเพิ่ม ไอเดียบริหารเงินยังไงในช่วงวิกฤติ COVID-19)

เราทุกคนจำเป็นต้องวางแผนทางการเงิน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพิ่มส่วนของเงินออมให้มากขึ้น ทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังคงได้รับดอกเบี้ยสูงอยู่ในเวลานี้ ก็คือ "เงินฝากปลอดภาษี" เป็นช่องทางที่ง่ายและสะดวกสำหรับทุกคน สามารถวางแผนการเงินในอนาคตได้ล่วงหน้า ช่วงเวลาแบบนี้การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและปลอดภัย ก็ให้ผลตอบแทนลดลงไปเยอะ งั้นก็แบ่งเงินมาออมกับเงินฝากปลอดภาษี รับรองเลยว่าเริ่ดจริง


"เงินฝากปลอดภาษี" กับ "เงินฝากประจำ" แตกต่างกันยังไง?


เงินฝากปลอดภาษี ถือเป็นบัญชีเงินฝากประจำประเภทหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาฝากเงินที่ชัดเจนว่า เริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อไหร่ และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ไม่ได้แปรผันตามอัตราดอกเบี้ยตลาดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะหดตัวลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารต่างๆ ปรับลดลงแค่ไหนก็ตาม จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นเลยจ้า ทำให้เราสามารถคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าได้เลยว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการฝากแล้ว จะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่นั่นเอง โดยปกติแล้วเงินฝากประจำทั่วไป ดอกเบี้ยที่ได้รับ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เสมอ โดยไม่มีขอยกเว้น แต่ก็จะมีเพียงบัญชีเงินฝากปลอดภาษีนี่แหละ ได้รับการยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ทำให้ได้รับดอกเบี้ยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

Tax Free Account

Did You Know?
ความแตกต่างของเงินฝากประจำ VS เงินฝากปลอดภาษี

  • เงินฝากประจำทั่วไป : ฝากเงินก้อนเดียวตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3 เดือน, 6 เดือน, 24 เดือน โดยจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด หรือจ่ายแบบรายเดือน (แล้วแต่ตกลง) โดยต้องเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่มีข้อยกเว้น
  • เงินฝากปลอดภาษี : ฝากเงินเท่ากันทุกงวดตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 24 เดือน ก็ต้องฝากเงินเท่ากันรวม 24 งวด โดยจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด และไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% (ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด)

เงินฝากปลอดภาษี ไม่ต้องเสียภาษีจริงๆ ใช่มั้ย?


เงินฝากปลอดภาษี จะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จริงๆ จ้า แต่จะจำกัดเอาไว้ 1 คน สามารถเปิดเงินฝากปลอดภาษีได้เพียง 1 บัญชี (รวมทุกธนาคาร) หากเปิดบัญชีเงินฝากปลอดภาษีมากกว่า 1 ธนาคาร ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพียงแห่งเดียว ส่วนบัญชีธนาคารอื่นๆ ก็จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ตามปกติ

  • จำนวนเงินฝากในบัญชี รวมแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝาก ถ้าระยะเวลา 24 เดือน ฝากได้สูงสุด 25,000 บาท/งวด และระยะเวลา 36 เดือน ฝากได้สูงสุด 16,500 บาท/งวด
  • สามารถรับสิทธิ์ยกเว้นภาษีได้เพียง 1 บัญชี/คน (รวมทุกธนาคาร) อ้างอิงจากหมายเลขบัตรประชาชน
  • โดยปกติแล้วเงินฝากปลอดภาษี แต่ละธนาคารจะกำหนดให้เปิดได้เพียง 1 บัญชี/คน เท่านั้น ลูกค้าคนนึงจะเปิดหลายบัญชี แบบนี้ทำไม่ได้นะจ๊ะ

ปันโปรคัดให้
3 อันดับของเงินฝากปลอดภาษี ที่น่าสนใจในเวลานี้


อันดับ 3 : ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

เงินฝากประจำเพิ่มค่าสบายใจ เป็นเงินฝากปลอดภาษีแบบรายเดือน มีให้เลือก 2 ระยะเวลาคือ 24 เดือน และ 36 เดือน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มลูกค้าพิเศษ (CIMB Preferred และ CIMB THAI Private Banking) ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ โดยใช้ชื่อว่า "เงินฝากประจำเพิ่มค่าสบายใจ Plus" อัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 2.15% ต่อปีนั่นเอง

CIMB THAI

  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 24 เดือน = สูงสุด 2.15%
  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 36 เดือน = สูงสุด 2.15%

อันดับ 2 : ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

LH Bank

ผลิตภัณฑ์เงินฝากปลอดภาษี จะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (ขั้นต่ำ) บวกกับส่วนเพิ่มตามที่กำหนด ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะส่งผลมาถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีด้วย ซึ่งมีให้เลือกฝาก 2 แบบ คือ 24 เดือน และ 36 เดือน อยากแนะนำให้เปิดบัญชีเงินฝากปลอดภาษีแบบ 36 เดือนไปเลยจ้า เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 24 เดือน ถึง 0.50% ต่อปีเลยทีเดียว ยิ่งดอกเบี้ยขาลงแบบนี้เน้นระยะยาวไปเลย

  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 24 เดือน = 1.80%
  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 36 เดือน = 2.30%

อันดับ 1 : ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย

TCR Bank

ยืนหนึ่งมาก ณ จุดนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีสูงสุดในตลาดเลยทีเดียว สาขาก็มีไม่น้อย ตามศูนย์การค้าต่างๆ ก็ยังเปิดให้บริการเหมือนเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนเวลาเปิดทำการตามประกาศธนาคาร มีให้เลือกฝากทั้งระยะเวลา 24 เดือน และ 36 เดือน ยิ่งฝากยาวก็ยิ่งได้ดอกเบี้ยเยอะกว่าเดิม ช่วงดอกเบี้ยลดแบบนี้ฝากยาวไปเลย ผลตอบแทนดีงามทีเดียว 

  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 24 เดือน = 2.15%
  • อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา 36 เดือน = 2.50%

มาส่องกันหน่อย แต่ละธนาคารให้ดอกเบี้ยเท่าไหร่บ้าง?


ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐต่างๆ ได้เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีไปบ้างแล้ว ตามสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 63 แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ได้ปรับดอกเบี้ยลดลง ในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีความอ่อนไหว และมีแนวโน้มลดลงอีกสักระยะเลย ถ้าใครอยากฝากเงินบัญชีเงินฝากปลอดภาษี แนะนำว่าให้รีบเปิดกันให้ไวเลยจ้า ดอกเบี้ยลดลงไม่รู้ด้วยน้า

Interest Rate

(ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 20 พ.ย. 63 และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา)

• สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถือว่าปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีไปค่อนข้างเยอะ มากกว่าธนาคารอื่นๆ เพราะในช่วงนี้เป็นการปล่อยเงินกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และช่วยเหลือในภาคธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งได้รับมาจากนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือความต้องการกู้เงินลดลงไปมาก ความต้องการใช้เงินมาปล่อยกู้ ก็ยังไม่มีความจำเป็น

• ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และขนาดกลาง เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษีอีกรอบ ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1.25-1.50% ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละธนาคาร

• ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ถือเป็นกลุ่มที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในตลาด แม้ว่าจะเป็นธนาคารที่มีขนาดไม่ใหญ่ แต่ก็ยังได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเหมือนกัน ไม่ต้องกังวลใจเลย ถือเป็นโอกาสของใครที่อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ เลยทีเดียว!

หมายเหตุ : อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปลอดภาษี อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สามารถตรวจสอบได้จากประกาศล่าสุดของธนาคารต่างๆ อีกครั้ง

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น
เคเคคิว สติวฟา
เคเคคิว สติวฟา
เรื่องนี้มันต้องมีอะไรแปลกๆ
ตอบกลับ | 4 ปีที่แล้ว 0