แชร์ไอเดียบริหารเงินในช่วง วิกฤติ COVID-19 ให้มีสุขภาพการเงินที่ดี

avatar writer
โดย : MilD
avatar writer20 เม.ย. 2563 avatar writer3.7 K
แชร์ไอเดียบริหารเงินในช่วง วิกฤติ COVID-19 ให้มีสุขภาพการเงินที่ดี

บริหารเงินให้เป็น ยังไงก็รอดแน่นอน!
ถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้จะโดนผลกระทบกันถ้วนหน้า
แต่อย่าลืมดูแลสุขภาพการเงินของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย


Highlight ของการบริหารเงินในช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ 


• ในช่วงประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกคนล้วนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขึ้นอยู่ว่าจะเยอะหรือน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งตัวเราก็จะต้องรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วยจ้า

• สิ่งแรกที่ควรทำในตอนนี้คือรัดเข็มขัดทางการเงินให้ดี รายได้ที่มีวันนึงอาจจะน้อยลงหรือหายไปเลยก็เกิดขึ้นได้ ประหยัดอะไรได้ก็ทำเลยจ้า เพราะประโยชน์เกิดขึ้นกับตัวเราเองทั้งนั้น

• บริหารเงินให้ดีกว่าเดิม ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนเริ่มทำได้ง่ายๆ เลย แต่สำเร็จมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับระเบียบวินัยตัวเองว่าจะทำหรือเปล่า ถ้าหากทำได้จริงจะช่วยให้เรามีสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ไม่กลัวเจ้าไวรัสพวกนี้อีกต่อไป


การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างปัญหาหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ประชากรล้มป่วยเป็นจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก และยังมีแนวโน้มขยายออกไปเรื่อยๆ ส่วนด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการต่างๆ ทั้งปิดสถานบริการชั่วคราว จนไปถึงปิดประเทศ ห้ามผู้คนเดินทางจากต่างประเทศ แต่หลังจากบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และมีแนวโน้มที่ดีที่จะกลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า แต่นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนาน ยิ่งเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็มีโอกาสที่ไวรัสจะกลับมาแพร่ระบาดได้อีกรอบ และสถานการณ์บ้านเมืองอาจจะกลับมา Lock Down แบบนี้อีกครั้งก็เป็นได้ ถึงตอนนั้นเดาไม่ถูกเลยว่าจะเลวร้ายขนาดไหนกันนะ 

COVID-19

คนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ไม่มีงานทำ หรือถึงจะยังมีงานทำอยู่ แต่รายได้ก็ลดลง แถมยังต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสอีก ปัญหารุมเร้าเต็มไปหมด ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนแล้ว ก่อนอื่นจะต้องตั้งสติให้ไวที่สุดก่อน ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ แต่เราจะรอให้คนอื่นหยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างเดียวก็คงไม่ได้ ตัวเราก็ต้องยืนหยัดได้เอง ปัญหาหลักของทุกคนตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง "เงิน เงิน เงิน" ว่าจะทำยังไงดี วันนี้แอดก็เลยขอมาแชร์มุมมองในเรื่องการบริหารเงินในช่วงวิกฤติว่าจะทำยังไงดี ถึงจะผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัยน้าาา~

ก่อนอื่นแอดขอแบ่งกลุ่มคนในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้มองเห็นภาพกันง่ายๆ ว่าตอนนี้ตัวเราเองอยู่ในสถานะอะไรอยู่ ได้แก่ คนที่ยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิม, คนที่ถูกปรับลดเงินเดือน และกลุ่มที่ถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือน (Leave without Pay) ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีแนวทางของการบริหารเงินที่แตกต่างกันออกไปอยู่นะ จะเป็นยังไงตามมาเล้ยยย!


กลุ่มที่ยังคงได้รับเงินเดือนเท่าเดิม


COVID-19

ถึงแม้ว่าเราจะยังได้รับเงินเดือนเท่าเดิมอยู่ในตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในอนาคตจะมีความแน่นอนเสมอไป อาจจะถูกปรับลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้างวันไหนก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าอนาคตเนี่ยเศรษฐกิจจะเกิดวิกฤติหนักกว่านี้อีกมั้ย สิ่งที่ดีที่สุดคือเราต้องทำตัวเองให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

เพิ่มสัดส่วนของเงินเก็บให้มากขึ้น เช่น จาก 10% เป็น 30% หรือ จาก 30% เป็น 50% แล้วแต่ความเหมาะสม

หลายคนอาจจะไม่เคยจัดการเรื่องเงินเก็บอย่างจริงจัง นี่แหละเป็นเวลาเหมาะสมที่สุดแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีแบ่งเงินส่วนนึงไว้สำหรับการออมนั่นแหละ แต่อาจจะไม่ได้ทำแบบชัดเจนว่าเดือนนึงจะออมเงินกี่ % ของเงินเดือน แต่ช่วงนี้เราควรเพิ่มสัดส่วนของเงินเก็บให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราไม่รู้เลยว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นยังไงบ้าง ถ้าใครที่ออมเงินเป็นประจำอยู่แล้ว ก็เพิ่มสัดส่วนขึ้นสัก 20% น่าจะไหวอยู่ เพราะช่วงนี้อยู่บ้านทำงาน WFH ไม่ได้ออกไปไหนเลย เราก็สามารถเอาค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้มากขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าช้อปปิ้ง มาเพิ่มสัดส่วนของเงินออมแทน 

สมมติว่ามีเงินเดือน 20,000 บาท จากเดิมออมแค่เดือนละ 2,000 บาท (คิดเป็น 10%) ก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 บาท (คิดเป็น 30%) ลองดูก่อนว่าส่วนที่เหลือเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหรือเปล่า อาจจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นอีกก็ได้ ช่วงนี้บอกเลยว่าออมเงินเอาไว้ดีกว่าจริงๆ จ้า

• ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

แนวทางที่จะทำให้มีเงินเก็บมากขึ้นได้ ง่ายที่สุดคือการปรับลดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนลง วิธีการง่ายๆ เลยก็คือจดบันทึกเก็บข้อมูลของตัวเองว่าแต่ละเดือนเนี่ย มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องจ่ายไปบ้าง (อย่าใช้วิธีจดจำไว้นะ เพราะสุดท้ายก็จะลืม) แล้วก็มาเช็คลิสต์เลยว่ารายการไหนที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย ตัดออกไปให้ได้มากที่สุด เช่น เงินช้อปปิ้งออนไลน์, ค่ารายเดือนเบอร์โทรศัพท์มือถือ, ค่าน้ำ-ค่าไฟ เป็นต้น ถ้าตัดออกไปไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นใช้งานน้อยลงแทน เงินก็จะเหลือเยอะขึ้นแน่นอน

• บริหารจัดการหนี้สินที่มีอยู่ จากมาตรการของแต่ละสถาบันการเงิน

สำหรับใครที่มีภาระหนี้สินอยู่ ก็สามารถใช้ช่วงเวลานี้เพื่อบริหารจัดการเงินกู้ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดได้ บางธนาคารอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ผ่อนปรนการชำระเงินคืน ก็ลองดูว่ามาตรการไหนดีก็ตอบรับได้เลย แต่ไม่แนะนำให้พักชำระหนี้ ถ้าหากยังมีความสามารถในการชำระคืนอยู่ เพราะยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ดี 

• ต้องมีเงินสดสำรองในมือ อย่างน้อย 6 เดือน ถ้าหากเกิดว่างงานขึ้นมา

สิ่งที่ทำมาทั้งหมดของการบริหารเงินนี้ ก็เพื่อให้เรามีเงินสดสำรองในมือให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน สำหรับใช้ชีวิตได้แบบไม่ลำบาก ถ้าหากเกิดกรณีถูกเลิกจ้างหรือว่างงานขึ้นมา ก็จะได้มีเงินที่สำรองไว้ส่วนนี้รองรับอยู่ ช่วงนี้จะหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเกิดตกงานขึ้นมาแล้วไม่มีเงินใช้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้


กลุ่มที่ถูกปรับลดเงินเดือนลง


COVID-19

สำหรับคนกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับนึง บางบริษัทจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายลงตามรายได้ที่น้อยลงไป ซึ่งนี่ก็เป็นทางเลือกนึงที่สามารถรักษาพนักงานเอาไว้ได้ โดยปรับลดเงินเดือนลง ซึ่งก็มีทั้งลดลงเพียงเล็กน้อย 5-10% ไปจนถึงลดลงเกือบครึ่งนึงก็มีนะ ถ้าเราโดนปรับลดเงินเดือนลงแบบนี้ ควรบริหารจัดการเงินยังไงดี ลองมาดูกันเลยจ้า

• หาแนวทางชดเชยรายได้ส่วนที่หายไป ด้วยการทำงานอื่นๆ หารายได้เสริม หรือลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้อง

เมื่อรายได้ที่มีอยู่ในแต่ละเดือนลดลงแล้ว แนวทางในการบริหารเงินก็มีแค่ 2 แบบตามหลักการง่ายๆ เลย คือ หารายได้ให้เพิ่มขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง อยู่ที่ว่าเราจะเลือกไปในทางไหน หรือทำทั้งสองอันร่วมกันก็ดียกกำลังสองไปเลย มาเริ่มต้นกันด้วยหารายได้เพิ่มขึ้นก่อน

แม้ว่าช่วงนี้หลายธุรกิจจะประสบปัญหามากมาย แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ จะเห็นว่ามีงานที่ช่วงนี้รับสมัครเพิ่มมากขึ้น เช่น พนักงานส่งสินค้า พนักงานไปรษณีย์ เป็นต้น หรือขายสินค้าออนไลน์ ก็สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำเลยเชียวแหละ อาจจะไม่ต้องทำจริงจังขนาดไปรบกวนงานหลักที่ทำอยู่ แต่เป็นอาชีพเสริมมีเวลาว่างก็ค่อยทำ อย่างน้อยก็ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น บางทีรวมแล้วอาจจะมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับก่อนหน้าอีกก็ได้นะ

เมื่อรายได้ลดลงแล้ว อีกทางเลือกนึงก็คือลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ลองดูว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในเวลานี้ เช่น ปกติต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกอาทิตย์ นัดกินบุฟเฟ่ต์กับเพื่อน แซลมอนคือของโปรด เครื่องสำอางลดราคาเมื่อไหร่ก็ต้องโดนฉัน เหล่านี้ล้วนสามารถตัดออกไปได้ ก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับรายรับที่ลดลงได้

• ดูแลการจัดการหนี้สิน จากมาตรการที่ธนาคารออกมาช่วยเหลือ

เมื่อรายได้ของเราลดลง ย่อมส่งผลต่อการชำระเงินคืนหนี้สินเป็นธรรมดา แต่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากมายขนาดนั้น ก็ต้องลองดูว่ามีผลมากน้อยเพียงใด แล้วค่อยดูว่าจะเข้าร่วมมาตรการที่ธนาคารออกมาช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง อย่างมาตรการพักชำระหนี้ก็ถือเป็นทางเลือกนึง เราสามารถเข้าร่วมได้ตามความจำเป็น ถ้ายังมีเงินสามารถจ่ายได้ก็ทำต่อไป แต่อาจจะปรับลดลงตามความเหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามจ่ายให้เหมือนเดิมที่สุด เพราะช่วงนี้ดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารก็ลดลงด้วย ก็ทำให้ภาระหนี้สินน้อยลงตามไปด้วย

• ยังต้องสำรองเงินไว้กรณีฉุกเฉินเหมือนเดิม หรือเก็บออมให้มากขึ้น ถ้าสามารถทำได้

ในช่วงเวลาแบบนี้จำเป็นต้องสำรองเงินสดในมือไว้ให้ได้มากที่สุด เราควรจะนำเงินส่วนนี้มาใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ต้องรักษาระเบียบวินัยในการออมเงินไว้เช่นเดิม แต่ถ้าหากเป็นไปได้ก็ควรออมให้มากขึ้น สัก 10-20% ลองตั้งเป้าหมายไว้ให้ท้าทาย เผื่อไว้สำหรับอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา เราก็ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม #เราต้องรอด

• กรณีเงินไม่พอใช้จ่าย สามารถกู้ยืมเงินได้เท่าที่จำเป็นจริงๆ

ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทุกวิถีทางดูแลจัดการทางการเงินอย่างเต็มที่แล้ว แต่ถ้าสุดท้ายมีปัญหาด้านการเงิน ทางเลือกก็คือต้องกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องกลับคืนมา แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเข้าร่วมโครงการของภาครัฐฯ ซึ่งออกมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ได้ เพราะจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้ยืมเงินแบบปกติ ช่วยลดต้นทุนทางการเงินไปได้มากทีเดียว แต่อย่างไรแล้วก็ยังคงต้องแบ่งเงินไว้ส่วนนึง สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินเหมือนเดิมนะ จะลืมส่วนนี้ไม่ได้เลยยย~


กลุ่มที่โดนให้หยุดงาน โดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือน (Leave without Pay)


COVID-19

สำหรับกลุ่มสุดท้าย ถือเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักเอาเรื่องเลย เพราะหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดการดำเนินธุรกิจไปเลย เช่น สายการบิน โรงภาพยนตร์ ร้านค้าภายในศูนย์การค้า ฯลฯ ทำให้พนักงานจำนวนมากต้องหยุดงานไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกพักงานโดยที่ไม่ได้รับค่าจ่างในช่วงนี้เลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อไหร่ แล้วควรจะบริหารเงินยังไงดีล่ะ?

• ลองมองหาอาชีพสำรองทดแทน พร้อมขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากหน่วยงานรัฐ

เมื่อเราต้องหยุดงานแสนรักไป เชื่อว่าหลายคนต้องรู้สึกเคว้งไปช่วงนึง ว่าเราจะทำยังไงต่อไปกับชีวิตดีนะ ชีวิตเรายังไม่สิ้นหวังนะ ลองหางานเสริมมาทำในช่วงนี้แทนก่อนก็ได้ อาจจะเป็นขายของออนไลน์ หรือทดลองงานใหม่ๆ ดูกันสักตั้งนึง อย่าเกี่ยงงาน จะงานเล็กงานน้อยทำได้ก็ทำไปก่อนจ้า พร้อมกับใช้สิทธิ์ขอรับความช่วยเหลือจากประกันสังคมหรือมาตรการอื่นๆ ที่ออกมา ซึ่งเป็นตัวช่วยตามกฎหมายที่เราสามารถทำได้ เพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้

• จัดการหนี้สินจากมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาในช่วงนี้

ถ้าหากยังมีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบอยู่ และเราก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ลองศึกษามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินต่างๆ แล้วมองว่าจะสามารถดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้อย่างไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นลดอัตราดอกเบี้ย ลดจำนวนเงินขั้นต่ำในการชำระคืน หรือพักชำระหนี้ไปก่อนในช่วงนี้ รอจนสถานการณ์กลับมาเป็นปกติอีกครั้งแล้วค่อยจ่ายคืนอีกครั้ง ไม่ได้มีความช่วยเหลือจากธนาคารแบบนี้ให้เห็นกันบ่อยๆ นะเออ เราก็ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ บางมาตรการจำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ด้วย ก็อย่าลืมรักษาสิทธิ์ของตัวเองกันด้วย เพราะถ้าอยู่ดีๆ ไม่จ่ายคืนเนี่ย ติดเครดิตยูโร และผิดนัดชำระหนี้ด้วย เสียประวัติแล้วเอากลับคืนมาไม่ได้น้า

• ลดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ให้ได้ หรือขายสินทรัพย์เป็นเงินสด

เมื่อเราเริ่มมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินแล้ว ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนมากขึ้น ปรับลดค่าใช้จ่ายก้อนโตในมือให้ลดลง ลองดูว่าอะไรเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ก่อนแล้วสามารถปรับลดได้หรือไม่ เช่น ปกติค่าผ่อนบ้านต้องเสียเป็น 1 ใน 3 ก็ปรับให้น้อยลง สามารถใช้มาตรการช่วยเหลือจากข้อที่แล้วมาช่วยซัพพอร์ตได้ หรือถ้าสภาพคล่องทางการเงินยังไม่ดีขึ้นอีก ก็อาจจะใช้การขายสินทรัพย์เพื่อสำรองเงินสดให้เพิ่มขึ้นได้ แต่อยากให้คิดดีๆ ก่อนเสมอ เพราะขายแล้วเอากลับคืนมายากนะจ๊ะ 

• ยื่นเรื่องขอสินเชื่อเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ

ช่วงนี้หลายสถาบันการเงินได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อฉุกเฉิน ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะเราสามารถเข้าร่วมรับสิทธิ์ได้อยู่แล้ว ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ขนาดนี้อ่าเนอะ ลองหาเงินกู้ที่ตอบโจทย์มากที่สุด ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการชำระคืน แต่จากที่ได้ดูรายละเอียดคร่าวๆ ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยล่ะ ดอกเบี้ยต่ำมากจริงๆ แถมยังมีช่วงเวลาจัดการชำระคืนเงินกู้ได้อย่างเหมาะสม แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่าการกู้เงิน เราก็ต้องชำระคืนเค้าอยู่ดี ไม่เป็นหนี้ดีที่สุดเด้อ (ศึกษารายละเอียดเงินกู้ฉุกเฉิน ได้ที่ https://www.punpro.com/p/Loan-Special-COVID-19)


COVID-19

และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว เราก็ยังสามารถหาตัวช่วยต่างๆ มาใช้สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและวางแผนทางการเงินของตัวเราได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แอดเลยได้รวบรวม Tips & Trick เด็ดๆ มาฝากกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กันได้ตลอดเวลาเลย ไม่ว่าตอนไหนเราก็สามารถดูแลสุขภาพการเงินได้อย่างมั่นใจแน่นอน


"บัตรเครดิต" คือตัวช่วยที่ดีมาก (เน้นว่า ถ้าใช้ให้เป็น)


หลายคนอาจจะพบเจอกับปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเวลานี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังต้องเสียอยู่เหมือนเดิม แต่รายได้กลับหดหายลดลงไป บางคนอาจจะถูกปรับลดเงินเดือน หรือร้ายแรงหน่อยก็ถูกเลิกจ้างไปเลย ตัวช่วยนึงที่จะสามารถทำให้เราสามารถจัดการเงินในตอนนี้ได้ก็คือ "บัตรเครดิต" มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานอยู่ทุกคนน่าจะต้องมีอย่างน้อยคนละใบ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจหลักการของบัตรเครดิตกันก่อน เมื่อเรารูดใช้จ่ายไปแล้วยังไม่ต้องจ่ายเงินให้กับสถาบันการเงินทันที ระบบจะตัดรอบบัญชีตามวันที่กำหนดในแต่ละวัน แล้วกำหนดวันชำระเงิน เพื่อให้เราไปจ่ายเงินให้เรียบร้อย ถ้าจ่ายครบเต็มจำนวนภายในวันครบกำหนดชำระ เราก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมอะไรเลย แต่ถ้าจ่ายไม่ครบก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ทำรายการย้อนหลังไปเลย

CreditCard

จะเห็นว่าเพียงแค่เราใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต แล้วจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนภายในวันกำหนดชำระเงิน เพียงเท่านี้ก็ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ แล้ว ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเลยสักบาท โดยปกติระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยนานสูงสุดของแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ 45-55 วัน

ตัวอย่างเช่น ซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับอุปโภคบริโภค จำนวน 2,000 บาท ในวันที่ 15 เม.ย. 63 

• กรณีจ่ายด้วยเงินสด เงินก็จะออกจากกระเป๋าตังทันที ในวันที่ 15 เม.ย. 63

• กรณีจ่ายด้วยบัตรเดบิต เงินก็จะออกจากบัญชีเงินฝากทันที ในวันที่ 15 เม.ย. 63 เช่นเดียวกัน

• กรณีจ่ายด้วยบัตรเครดิต ระบบจะบันทึกรายการใช้จ่ายนี้ไว้ จนถึงวันตัดรอบบัญชี แล้วกำหนดว่าต้องชำระเงินภายในวันไหน ซึ่งเราสามารถจ่ายได้จนวันสุดท้ายที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดชำระภายในวันที่ 5 มิ.ย. 63 ก็ค่อยไปจ่ายช่วงใกล้ๆ ก็ได้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด หากเราจ่ายวันสุดท้ายพอดี เงินจะออกจากบัญชีเงินฝาก ในวันที่ 5 มิ.ย. 63)

เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีสภาพคล่องในช่วงนี้มากขึ้นได้แบบไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาบัตรเครดิตไปรูดรัวๆ ได้เลยนะ เพระายังไงต้องจ่ายคืนอยู่ดี ถ้าไม่มีเงินมาจ่ายคืนก็โดนดอกเบี้ยจุกๆ แน่นอน พร้อมค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกเพียบ ดังนั้น รูดใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น อย่าเกินตัว เอามาใช้บริหารเงินในช่วงนี้เยี่ยมเลย ในช่วงที่เงินสดขาดมือระยะสั้นๆ แบบนี้


เลือกใช้ e-Wallet แทนเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงไวรัส


เงินสดในช่วงนี้ถ้าเลี่ยงได้ก็คือเลี่ยงเลยจ้า พยายามใช้ให้น้อยที่สุดแล้วเปลี่ยนมาใช้กระเป๋าเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อของ e-Wallet อันนี้รวมไปถึง Mobile Banking ของธนาคารต่างๆ ด้วยนะ เพราะสามารถทำธุรกรรมแทนเงินสดได้เช่นเดียวกัน แล้วทำไมถึงควรใช้จ่ายผ่าน e-Wallet หรือ Mobile Banking แทน?

• เราสามารถตรวจสอบประวัติการใช้งานได้ตลอดเวลา เพราะทุกธุรกรรมจะมีหลักฐานการทำรายการ ซึ่งนอกจากจะเช็กได้แล้วว่าใช้อะไรไปบ้างแล้ว ยังสามารถนำมาควบคุมการใช้เงินของตัวเองได้ เราใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไปมั้ย ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่นาจา

• มีโปรโมชั่นต่างๆ กระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งช่วยทำให้เราประหยัดกว่าเดิมได้อีก แม้บางทีอาจจะดูเป็นเงินไม่กี่บาท แต่พอรวมหลายอันแล้วก็เยอะอยู่นะ

• จ่ายบิลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน แถมยังฟรีค่าธรรมเนียมอีกด้วยแหละ

e-Wallet

อยากรู้ว่าใช้ e-Wallet แล้วจะเริ่ดขนาดไหน คลิกเลยจ้า 
https://www.punpro.com/p/e-Wallet-Review


มองหาทางเลือกการลงทุน เพื่อได้ผลตอบแทนดีที่สุด


ในมุมมองของคนที่ไม่ได้เป็นหนี้ ไม่มีภาระต้องแบกรับใดๆ เลย ก็ต้องบริหารเงินเช่นเดียวกันนะ เพราะลองไปดูดอกเบี้ยเงินฝากสิ ลดลงเรื่อยๆ เลย ผลตอบแทนที่ได้รับก็ลดลงตามไปด้วย จำเป็นต้องมองหาการลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม และเป็นความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ด้วย ถ้าไม่อยากเสี่ยงเลยก็ฝากเงินกับธนาคารเหมือนเดิมก็ได้ แต่อาจจะต้องหาเงินฝากดอกเบี้ยดีๆ แทน (ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่นะจ๊ะ ลองไปดูได้ที่ https://www.punpro.com/p/Digital-Savings-Apr63) หรือถ้าชอบความเสี่ยงสูงๆ ก็ลองไปลงทุนในตลาดทองคำเลยจ้า สามารถเก็งกำไรกันได้เต็มที่ ถ้าได้กำไรก็เยอะเลย แต่ก็มีโอกาสขาดทุนเยอะเช่นเดียวกัน ตามหลัก High Risk High Return ลองดูกันได้

Money Management

ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ได้เป็นหลักการที่อยู่ในตำราเรียนทางการเงิน เพราะถ้าเอามาพูดแบบจริงจังอาจจะงงกันได้ โดยส่วนนึงเอามาจากมุมมองของตัวแอดเอง ซึ่งคิดว่านำไปใช้ได้จริง และมีประโยชน์สำหรับทุกคนในช่วงเวลาแบบนี้จ้า

#SaveForMore #Saveเงินในกระเป๋า #Saveชีวิตให้รอดจากโควิด

  • avatar writer
    โดย MilD
    รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
แสดงความคิดเห็น
Hanima Ali
Hanima Ali
บทความดีๆพร้อมบริการที่ดีเยี่ยม มันคุ้มค่าที่จะลอง. pm: https://drift-boss.io
ตอบกลับ | 4 เดือนที่แล้ว 0