รักแห่งสยาม 14 ปีผ่านไป กับเรื่องราวที่ไม่เคยเก่าเลย
โดย : imnat
เข้าสู่เดือน Pride Month ทั้งที จะไม่ให้นึกถึงหนังเรื่องนี้ได้ยังไง?
รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม
ด้วยเนื้อหาที่หลายคนเข้าใจว่าน่าจะเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว
แต่หารู้ไม่ว่ามันได้สะท้อนภาพสังคมในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ทำเอาหลายคนเซอร์ไพรส์กันมาแล้ว!
เป็นเวลากว่า 14 ปีมาแล้วหลังจากที่คนไทยได้รู้จักกับภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ที่หลังจากเปิดตัวไปก็ได้เกิดกระแสตามมามากมาย โดยเฉพาะทัศนคติเกี่ยวกับมุมมองของเพศทางเลือก ที่ไม่ค่อยได้ถูกหยิบมาพูดถึงเท่าไหร่ในอุตสาหกรรมบันเทิง เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แต่หลังจากเวลาผ่านไปจนภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม นี้ได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนสำคัญอย่างมิถุนายน ที่ถูกยกให้เป็นเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า Pride Month จู่ๆ เราก็ได้นึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา เลยอยากเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกคนมาร่วมย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 14 ปีก่อนหน้านี้ด้วยกัน...
ยินดีที่ได้รู้จัก รักแห่งสยาม
ท่ามกลางการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2550 ต้องบอกเลยว่าเป็นปีที่คนไทยอย่างเราได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ดีๆ กันหลายเรื่องมาก ซึ่งถ้าเอ่ยถึงบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์เบอร์ต้นๆ ในสมัยนั้นก็คงหนีไม่พ้น ไฟว์ สตาร์, พระนครฟิล์ม, GTH รวมไปถึงสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 นั้น ทางสหมงคลฟิล์มได้เปิดตัวภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศทางเลือกมากมาย อาทิ โกยเถอะเกย์, คู่แรด, เพื่อน...กูรักมึงว่ะ รวมไปถึงภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ รวมไปถึงครอบครัวอย่าง รักแห่งสยาม เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
รักแห่งสยาม เปิดตัวด้วยภาพจำที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าน่าจะเป็นหนังรักวัยรุ่น สังเกตจากภาพใบปิดรวมไปถึงตัวอย่างของภาพยนตร์ที่ถูกปล่อยออกมา ล้วนชวนให้คนส่วนใหญ่เข้าใจในแบบเดียวกันว่านี่คือภาพยนตร์รักโรแมนติกเกี่ยวกับชาย-หญิงทั่วไป ที่มีการใส่ประเด็นเรื่องของการตามหาความฝัน, รักครั้งแรก, การแอบรัก, ความผิดหวัง รวมไปถึงความเป็นครอบครัวลงไปในเนื้อหา
ซึ่งใครจะไปรู้ว่าหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายไปในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2550 ก็ได้เปลี่ยนความเข้าใจของคนดูใหม่แบบชนิดที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว
โดยเราขอเรียกการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือตรงนี้ว่าไม่ต่างอะไรจากการทำเซอร์ไพรส์ หรือใครจะเรียกมันว่าการหักมุมก็ได้นะ ไม่ติด เพราะการลำดับเรื่องราวในหนังได้หลอกล่อคนดูอย่างเราไปเรื่อยๆ ผ่านการทำความรู้จักกับตัวละครของเด็กหนุ่มที่บ้านอยู่ตรงข้ามกันอย่างโต้งและมิว ที่ทั้งสองคนเติบโตมาในสภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน มิวอาศัยอยู่กับอาม่า ส่วนโต้งอาศัยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อ แม่ และพี่สาว
บริบทของหนังถ่ายทอดออกมาให้คนดูอย่างเราสัมผัสกับมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างมิวและโต้งในวัยเด็ก ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ แม้กระทั่งฉากเล็กๆ น้อยๆ แต่ทว่ามีความหมายอย่างตอนที่โต้งเข้าไปช่วยเหลือมิวที่กำลังถูกแกล้งในห้องน้ำก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงมิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างพวกเขาสองคนกันจริงๆ เรื่องราวที่ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างราบเรียบ กลับมีจุดหักเหขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ทั้งสองคนจำเป็นต้องแยกจากกัน ซึ่งหลังจากแยกกันแล้ว ภาพความทรงจำต่างๆ ที่เคยมีก่อนหน้าก็ค่อยๆ เลือนหายไป
จนกระทั่งหนังได้ดำเนินมาถึงช่วงที่ทั้งสองคนเติบโตเป็นวัยรุ่น มิวกลายเป็นเด็กที่โตมาพร้อมกับพรสวรรค์ด้านดนตรี ส่วนโต้งก็กลายเป็นเด็กหนุ่มที่ชีวิตห้อมล้อมไปด้วยกลุ่มเพื่อน, สังคม รวมไปถึงคนรัก ทุกอย่างเหมือนจะดำเนินไปได้สวย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งสองคนได้กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง ตรงนี้นี่แหละที่เรามองว่าเป็นจุดพลิกผันของเหตุการณ์หลายๆ อย่าง แบบที่เราใช้คำว่าเซอร์ไพรส์ไปในก่อนหน้านี้เลย
รักแห่งสยาม กับการเปิดกว้างทางสังคม
ถ้าให้พูดตามความเป็นจริง สังคมไทยในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการเปิดกว้างเรื่องเพศเหมือนอย่างตอนนี้ เลยทำให้หลังจากที่หนังเข้าฉาย ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งแง่บวกและแง่ลบ และถึงแม้ว่าในช่วงก่อนหน้าจะมีหนังแนวๆ นี้ถูกทำออกมาบ้างแล้ว แต่เพราะความแตกต่างทั้งในเรื่องของมุมมองการเล่า ที่ทางผู้เขียนบทและกำกับได้เลือกหยิบตัวละครที่อยู่ในวัยเรียนมาถ่ายทอด
รวมไปถึงเนื้อหาที่ไม่ได้จะเอนเอียงไปทางฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป มีการใช้เหตุผลบนพื้นฐานของความจริงมาประกอบ แล้วไหนจะมีเรื่องของครอบครัว, เพื่อน, ความฝัน รวมถึงเป้าหมายในชีวิตมาใส่ลงไปในเนื้อหาแบบนี้ ยิ่งทำให้เกิดความน่าสนใจขึ้นมา พร้อมกับสร้างความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งกระแสที่ออกมานี้เราถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง ที่มีแนวโน้มและทิศทางส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวกมากกว่าลบ ทำให้คนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในตอนนั้น ได้เข้าใจมุมมองความรักระหว่างเพศเดียวกันได้มากขึ้น แถมยังทำให้ได้รู้อีกด้วยว่าความรักนั้นมีคุณค่าและส่งผลกระทบต่อคนๆ นึงได้มากกว่าที่เราคิดจริงๆ
หลังจากการเปิดตัวของรักแห่งสยามไปแล้ว ก็มีภาพยนตร์, ละคร รวมถึงซีรีส์ ที่ได้ใส่เนื้อหาของความแตกต่างทางเพศลงไปให้เห็นกันเรื่อยๆ จนตอนนี้ดูเหมือนว่าเรื่องเพศกับการเปิดกว้างทางสังคมเริ่มที่จะได้รับการยอมรับ และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม สังเกตจากสื่อบันเทิงที่เราเห็นกันทุกวันนี้ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คู่จิ้นชาย-ชาย, หญิง-หญิง รวมไปถึงซีรีส์วาย ก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติของคนในสังคมกันไปแล้ว จะมีหลงเหลือก็แค่เพียงคนบางกลุ่มที่เราอาจจะต้องให้เวลาพวกเค้าเหล่านั้นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจ
เพราะไม่ว่าเราจะต้องเผชิญกับความรักรูปแบบไหน ต่อให้เป็นเพศเดียวกัน ต่างเพศ หรืออะไรใดใดก็ตาม ขอจงรู้ไว้ว่าตราบใดที่ได้ชื่อว่าความรักแล้ว สิ่งๆ นั้นล้วนงดงามและมีคุณค่าเสมอ สำคัญที่สุดคือการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ต้องมองว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด เพราะเราทุกคนมีสิทธิที่จะรักและมีสิทธิที่จะแสดงออกถึงเสรีภาพในสิ่งที่ตัวเองเป็นเสมอ
จุดเริ่มต้นของเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
ในภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม
แม้จะเป็นฉากสั้นๆ แต่กลับสะท้อนอะไรออกมาได้มากกว่าที่คิด ไม่รู้ทุกคนจะจำกันได้อยู่ไหม กับฉากที่มิวและเพื่อนคนนึงในวงจะต้องมาสาธิตวิธีปฐมพยาบาลด้วยวิธี CPR หรือวิธีการช่วยชีวิตด้วยวิธีการปั้มหัวใจ ที่จะต้องมีการเป่าปาก โดยในฉากนี้เพื่อนในวงได้มีการแสดงพฤติกรรมออกมาในทางที่ไม่ดีกับมิว ซึ่งนอกจากมิวและเพื่อนในวงคนนั้นแล้ว ยังมีเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ หัวเราะกันอย่างสนุกสนานเป็นฉากหลัง แม้จะเป็นฉากที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันกลับสะท้อนค่านิยมของเด็กวัยรุ่นเกี่ยวกับการยอมรับในคนที่รักเพศเดียวกันออกมาได้ค่อนข้างชัด และเห็นภาพมากๆ
นอกจากจะสะท้อนให้เห็นมุมมองของเด็กวัยรุ่นแล้ว รักแห่งสยาม ยังสะท้อนภาพของคนในวัยผู้ใหญ่ออกมาให้เห็นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นใครไปไม่ได้นอกจากพ่อกับแม่ของโต้ง ที่หลังจากสูญเสียพี่สาวคนโตของบ้านไป ความหวังทุกอย่างเลยมาตกอยู่ที่ตัวของโต้งแทน โดยเฉพาะแม่ที่คาดหวังอยากให้โต้งมีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จกับการเรียน รวมไปถึงหน้าที่การงานในอนาคต แต่เมื่อเธอได้บังเอิญมาเห็นภาพลูกชายที่กำลังจูบอยู่กับเพื่อนสนิทในวัยเด็กอย่างมิว ความหวังทุกอย่างก็แทบสูญสลายหายไปในพริบตา
นอกจากนั้นแล้ว ตัวละครอื่นๆ อย่าง หญิง เด็กสาวที่แอบรักมิวข้างเดียว, จูน หญิงสาวที่มีหน้าตาคล้ายกับ แตง พี่สาวที่สูญหายไปของโต้ง รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนๆ ของมิวและโต้งเอง ก็ได้แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมิวและโต้งในมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวละครทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เหมือนเป็นตัวแทนของคนในสังคมที่มีทั้งรับได้ และรับไม่ได้กับสถานะทางเพศที่แตกต่างออกไปจากเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนออกมานั้นล้วนเป็นภาพที่เราทุกคนเคยเห็นในสังคมจริงๆ ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาในแบบที่โลกสวยหรือผิดแปลกจากความเป็นจริงมากจนเกินไป
14 ปีผ่านไป กับเรื่องราวที่ไม่เคยเก่าเลย
ไม่เก่าเลยในที่นี้ก็คือภาพของสังคมรวมไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวบริบทของหนัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแตกต่างทางเพศ, ปัญหาครอบครัว, ปัญหาการ Bully หรือพฤติกรรมการรังแกผู้อื่น ที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะวัยรุ่น แต่ยังรวมไปถึงคนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น...
การยอมรับในความแตกต่างทางเพศที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่
เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสังคมไทยในปี พ.ศ. 2550 กับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเด็นปัญหาในเรื่องของการยอมรับ รวมไปถึงการเปิดกว้างในความแตกต่างทางเพศนั้นเหมือนจะมีทิศทางที่ดีขึ้น สังเกตได้จากความกล้าที่จะเปิดเผยสถานะของผู้ที่รักในเพศเดียวกัน รวมไปถึงการยอมรับในเพื่อนต่างเพศที่เป็นไปอย่างสบายใจมากขึ้น
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังต่อต้านและไม่ให้การยอมรับในความแตกต่างตรงนี้อยู่ ทั้งนี้อาจจะด้วยจังหวะเวลารวมไปถึงความคิดและทัศนคติต่างๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอด ยังไงก็หวังว่าในอนาคตข้างหน้าสังคมเราจะเปิดกว้างให้กับความแตกต่าง โดยเฉพาะเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยที่ควรถูกให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ปัญหาครอบครัว ที่ฟังดูเหมือนจะแก้ง่ายแต่เอาเข้าจริงแล้วกลับยากกว่าที่คิด
ไม่ใช่ทุกครอบครัวหรอกที่จะพบกับปัญหา แล้วก็ไม่ใช่ทุกครอบครัวหรอกที่จะมีแต่ความราบรื่นไร้อุปสรรค ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอนั้นเรามองว่ามันก็เหมือนกับสีสันของชีวิต ที่วันนึงอาจจะเป็นสีดำ บางวันอาจจะเป็นสีขาว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ควรนึกถึงก็คือ ทุกปัญหานั้นมีทางออกเสมอ ก็เหมือนกับครอบครัวของโต้งที่หลังจากสูญเสียพี่สาวคนโตไป ครอบครัวก็ได้ดำเนินไปแบบขรุขระอยู่พักนึง
จนกระทั่งมีจุดหักเหที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับมัน ซึ่งผลสุดท้ายสิ่งนั้นก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นกันเรียบร้อยแล้ว ว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นฃได้ดำเนินมาในทิศทางที่ถูกต้องและดีที่สุดในตัวของมันแล้ว
การ Bully ประเด็นละเอียดอ่อนที่พบได้ในทุกสังคม
ถ้าเพื่อนๆ ได้ติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมากันอยู่บ้าง คงจะคุ้นๆ กับข่าวการเสียชีวิตของนักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นอย่าง ฮานะ คิมูระ หลังจากด้านมืดของโลกโซเชียลได้ทำให้เธอตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยวัยเพียงแค่ 22 ปี ซึ่งเมื่อเอ่ยถึงปัญหาของการ Bully หรือพฤติกรรมการรังแกผู้อื่นแล้ว คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะโลกออนไลน์อย่างเดียว แต่หารู้ไม่ว่ามันได้เกิดขึ้นอยู่ในทุกยุค ทุกสมัย เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นเอง
อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามนั้น การ Bully จะอยู่ในรูปแบบของคำวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครอย่างมิวและโต้ง ที่ถูกล้อเลียนว่าเป็นเกย์ ชอบผู้ชายด้วยกัน ซึ่งคนที่วิพากษ์วิจารณ์ออกไปนั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคำพูดของตนนั้นรุนแรงหรือส่งผลกระทบกับคนๆ นึงได้มากน้อยเพียงใด มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่สิ่งเหล่านั้นได้ทำร้ายคนๆ นึงไปเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งประเด็นปัญหาที่พบในหนังเรื่องรักแห่งสยามนี้ ต่อให้เรานำมันกลับมาพูดถึงใหม่กันอีกครั้ง ก็สามารถหยิบประเด็นมาโต้เถียงได้ตลอด เพราะปัญหาทุกอย่างได้เกิดขึ้นให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ไม่ตัวเราเองก็คนรอบข้าง เพียงแค่อาจจะมีความแตกต่างในตัวสถานการณ์ แต่ทว่าประเด็นที่ลึกลงไปนั้นไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม ดังนั้นต่อให้เวลาจะผ่านไปกี่ปีต่อกี่ปี แต่เรื่องราวทุกอย่างที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ก็ไม่เคยเก่าเลย...
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
- รักแห่งสยาม ผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของมาริโอ้ เมาเร่อ และพิช วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล สองนักแสดงนำที่เรียกได้ว่าจับมือกันแจ้งเกิดเลยก็ว่าได้ และนอกจากนักแสดงนำแล้วภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามนี้ยังกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่ๆ ระดับประเทศ รวมไปถึงต่างประเทศมาอีกเพียบเลยนะ!
- ประเด็นสำคัญในภาพยนตร์รักแห่งสยามเรื่องนี้คือการสะท้อนภาพสังคมไทยออกมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวและมิตรภาพอีกด้วย
- และเพื่อต้อนรับเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้ เราก็หวังว่าภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม จะทำให้ทุกคนอิ่มอกอิ่มใจไปกับความรักและมิตรภาพระหว่างมิวและโต้งกัน สำหรับใครที่อยากปัดฝุ่นหามาดูซ้ำกันอีกสักรอบ ตอนนี้ Netflix เค้ามีให้ได้ชมกันแล้วด้วยนะ คลิกเลย > https://www.netflix.com/title/70124211
- ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 14 ปี แต่ภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามนี้ก็ยังคงมีเนื้อหาที่สดใหม่ เปิดดูเมื่อไหร่ก็สะท้อนภาพของสังคมไทยได้อยู่เสมอ ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ของการทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางเพศที่ดีอีกเรื่องนึงเลยทีเดียว
แด่... ทุกความรักที่สร้างเรา
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ