จริงหรือไม่ ? Work From Home คือตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทำงาน 'สมาธิสั้น'

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer7 มี.ค. 2565 avatar writer556
จริงหรือไม่ ? Work From Home คือตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ทำงาน 'สมาธิสั้น'

 

คนเราเมื่อได้ใช้เวลาอยู่กับพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อถึงเวลาที่ถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยน เลยไม่ใช่เรื่องที่ง่าย อย่างมนุษย์ทำงานเอง หลังจากที่ปรับตัวเข้ากับการทำงานจากที่บ้านจนคุ้นชินแล้ว พอถูกโยกให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง เมื่อนั้นแหละ เราถึงสังเกตตัวเองกันได้ว่า สิ่งหนึ่งที่มันหายไปแบบชัดเจนเลย ก็คือ สมาธิในการทำงาน

 


 

สถานที่ทำงานเปลี่ยน = พฤติกรรมเปลี่ยน

 

ไม่รู้เคยมีใครมานั่งสังเกตตัวเองเหมือนเปย์เป้กันดูไหม ว่าพฤติกรรมการทำงานของเราเปลี่ยนไปเยอะมากตั้งแต่ที่เข้าสู่โหมด Work From Home มา อย่างด่านแรกที่ต้องเจอเลย ก็คือ การปรับตัวหลังจากที่ผ่านการทำงานในออฟฟิศมาตลอด แล้วจู่ ๆ ต้องย้ายสถานที่ทำงานมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นสถานที่พักอก พักใจของเรา พอปรับตัวได้ มีสมาธิในการทำงานที่บ้านมากขึ้น บทจะต้องย้ายกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเท่านั้นแหละ คราวนี้อาการออกแบบชัดเจนมาก โดยเฉพาะสาย Introvert ทั้งหลาย ที่จะต้องกลับไปเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่วุ่นวายกันอีกครั้ง จากที่ควรจะได้งานกลับไม่ได้ แถมยังทำให้ต้องเหนื่อยมานั่งปั่นงานที่บ้านตอนกลางคืน เพราะรู้สึกว่าเรามีสมาธิในการทำงานมากกว่า

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วการกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศไม่ได้ทำให้เราสมาธิสั้นกันนะ เพราะจริง ๆ แล้วการ Work From Home นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสมาธิสั้น สมาธิสั้นจากอะไร ?  ก็จากบรรดาสิ่งเร้ากวนใจทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในบ้าน สัตว์เลี้ยง หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก อาทิ เพื่อนร่วมห้อง คนข้างบ้าน เสียงประกาศอะไรต่อมิอะไรทั้งหลาย ที่ทำให้กว่ามนุษย์ทำงานจะปรับตัวเข้ากับมันได้ ก็ถือว่าหนักหน่วงอยู่เหมือนกัน และนี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สมาธิของเราสั้นลง จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง เราก็มีโอกาสที่จะแตกตื่น และต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเร้าใหม่ (ที่อาจจะเคยเป็นสภาวะเดิมของเรา) กันอีก

 


 

 

Work From Home ทำให้เกิด 'โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่' ได้ยังไง ?

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นกันก่อนว่าคืออะไร เกิดจากอะไร และมีอาการยังไง เพื่อที่ว่าเพื่อน ๆ ทุกคนจะได้ทำความเข้าใจกันได้ง่าย ๆ เมื่อเปย์เป้นำมารวมกับ Work From Home ในภายหลัง 😉 

 

โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD คือ สภาวะที่สมองส่วนหน้า ที่เป็นสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยลงจนทำให้สารสื่อประสาทหลั่งออกมาได้น้อยกว่าปกติ โดยอาการของโรคสมาธิสั้น คือ การทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างได้น้อยลง ทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ วอกแวกง่าย ทำอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง 

 

แต่โรคสมาธิสั้นที่เกิดกับผู้ใหญ่นั้น อาจจะเอาไปเทียบกับโรคสมาธิสั้นในเด็กไม่ได้ เพราะปัจจัยนั้นแตกต่างกัน อย่างโรคสมาธิสั้นในเด็กส่วนใหญ่มักจะเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหลัก แต่สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา มักจะเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็น...

 

  • การโฟกัสกับการทำงาน : โดยปกติเวลาที่ทำงานในออฟฟิศ เรา รวมถึงเพื่อนร่วมงานของเรามักจะให้การโฟกัสกับการทำงานตรงหน้าเป็นหลัก มีเวลาพักเที่ยงที่เป็นกิจจะลักษณะ มีเวลาเข้างาน - เลิกงานแบบชัดเจน ซึ่งพอได้มา Work From Home ปุ๊บ มันทำให้ ประสิทธิภาพการโฟกัสกับการทำงานตรงหน้าน้อยลง  หนึ่งเลยก็คือเราไม่ได้รายล้อมไปด้วยสังคมของคนทำงานเหมือนเก่า มีแค่เรา กับสิ่งเร้ารอบข้างไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว สัตว์เลี้ยง รวมถึงสภาวะเอื่อย ๆ จากการอยู่บ้าน ที่ทำให้เราโฟกัสกับงานได้น้อยลง อยากพักผ่อน หรือทำนู้น ทำนี่ (ที่ไม่ใช่ทำงาน) มากขึ้น

  • การบริหารเวลาในการทำงาน : หลังจากที่เราขาดการโฟกัสกับการทำงานไปแล้ว แต่ลึก ๆ แล้วมันก็ยังมีแรงกระตุ้นจากข้างในอยู่นะ ว่าเราต้องทำงานให้เสร็จ แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่เสร็จในเวลางานปกติกันหรอก เพราะเรามักจะหอบงานไปทำตอนกลางคืน ช่วงเวลาที่ไม่มีคนรอบข้างหรือสิ่งเร้าใดใดกวนใจ เลยทำให้ การบริหารเวลาในการทำงานค่อนข้างสะเปะสะปะ  และถ้าเราเคยชินกับการทำงานตอนกลางคืนไปเรื่อย ๆ นั่นแปลว่าเราจะต้องใช้เวลาเอื่อย ๆ กับการทำงานทั้งตอนกลางวัน ก่อนจะไปกระตุ้นตัวเองอีกครั้งในตอนกลางคืน วนลูปไปมาอย่างนี้ทุกวัน แล้วไหนคือเวลาพักผ่อนส่วนตัวของเรากันล่ะ ?

  • การจัดลำดับความสำคัญในการทำงาน : เมื่อเวลาในการทำงานสะเปะสะปะแบบนี้ ส่งผลทำให้การจัดลำดับความสำคัญในการทำงานของเราสะเปะสะปะตามไปด้วย จากที่ควรจะไล่ทำตามลำดับความสำคัญ ส่งผลทำให้นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ 'ความอยากทำ' ในตอนนั้น ว่าเราจะหยิบงานชิ้นไหนขึ้นมาทำก่อนดี แต่ถ้ามองอีกมุมนึงอันนี้เปย์เป้ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การทำงานของแต่ละคนนะ อย่างบางคนอาจจะเป็นสายชิล คือถ้าไฟไม่ลนชั้นก็จะไม่ทำ อะไรแบบนี้ก็ได้ 😅 

  • การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง : หลังจากที่ระบบทุกอย่างรวนไปหมด มันเลยทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ทำงานที่เคร่งเครียด และมุ่งมั่นที่จะผลิตชิ้นงานออกมาให้ได้เท่าเทียมกับตอนที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศ เลยทำให้สิ่งเร้ารอบตัวทุกอย่างของเรากลายเป็นอุปสรรคที่มาบั่นทอน และทำให้โอกาสที่งานจะสำเร็จลดลง อย่างบางคนสมัยที่ต้อง Work From Home แรก ๆ น่าจะเผลอหลุดปากว่าคนที่บ้านอยู่บ่อย ๆ ว่าเรากำลังทำงาน อย่าเพิ่งมาชวนคุยตอนนี้ (ไหนสารภาพมาซิว่าใครเคยทำ) จนมันทำให้วงล้อทุกอย่างในแต่ละวันหนีไม่พ้นงาน งาน และก็งาน สถานที่พักผ่อนอย่างบ้าน กลายเป็นออฟฟิศชั่วคราวขึ้นมา พอเราเอาตัวย่างเข้าไปเหยียบปุ๊บ คำว่างานลอยขึ้นมาในหัวปั๊บ

 


 

 

แต่งานนี้สบายใจได้ เพราะโรคสมาธิสั้นสามารถรักษาให้หายได้ !

 

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่กำลังมีความกังวลว่า โรคสมาธิสั้นรักษาหายไหม ?  เปย์เป้ตอบให้เลยว่า สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีพฤติกรรมหรืออาการที่รุนแรง อันนี้ก็สามารถใช้สัญชาตญาณในการปรับตัวของตัวเองกันได้ แต่สำหรับใครที่มีปัญหาหนักมากจริง ๆ จนไม่สามารถทำงานได้ แนะนำว่าให้รีบไปปรึกษาจิตแพทย์ โดยเฉพาะถ้าเพื่อน ๆ คนไหนเป็นชาว Extrovert จ๋า ๆ ที่พยายามปรับตัวในการทำงานคนเดียวแล้วแต่ยังไงก็ทำไม่ได้ ก็ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์ด่วน ๆ เพราะต่อให้ปัญหามันจะฟังดูไม่หนักสำหรับเรา แต่สำหรับบางคนมันอาจจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับพวกเค้าเลยก็ได้นะ

 

นอกจากนี้เหล่า Introvert เอง ที่คุ้นเคยกับการทำงานคนเดียวมาตลอด พอถึงเวลากลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศอีกรอบ ถึงขั้นสติแทบหลุด อันนี้ก็ขอให้ไปปรึกษาทางจิตแพทย์ดูว่าเราควรจะต้องปรับตัวยังไง อย่างบางเคสทางจิตแพทย์อาจจะมีเรื่องของการใช้ยาเข้ามาช่วย รวมถึงวิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • การรักษาด้วยการใช้ยา : อาทิ กลุ่มยากระตุ้นประสาท, ยาต้านโรคซึมเศร้า (ถ้าทางแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยคนนั้นมีสภาวะที่จะเป็นโรคซึมเศร้า) รวมถึงกลุ่มยาลดความกังวล ยาลดการเกิดพฤติกรรมที่รุนแรง เป็นต้น

  • การรักษาด้วยนักจิตวิทยา : ในด้านของการให้คำปรึกษา หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเคสที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่รุนแรงมาก

  • การรักษาด้วยสิ่งแวดล้อม : อันนี้จะเหมาะกับกลุ่มคนที่มีลักษณะ Introvert จ๋า ๆ ในการช่วยให้พวกเค้าสามารถเปิดรับเพื่อนใหม่ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่จะต้องพบเจอคนหมู่มากได้แบบไม่อึดอัด

  • การรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ (ถ้าคนนั้นมีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการสมาธิสั้นแค่ชั่วคราว) 

 

 

เปย์เป้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ การปรับตัว  และอย่าไปคิดว่ามีแค่เราเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับโรคสมาธิสั้นอยู่ เพราะความจริงแล้วมันไม่ได้มีแค่เราหรอก แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่สามารถเตรียมตัวเตรียมใจอะไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เลย อย่างส่วนตัวเปย์เป้เอง ช่วงที่ต้อง Work From Home แรก ๆ ก็ใช้เวลาปรับตัวอยู่นะ อารมณ์แบบ.. บ้านเราไม่ใช่ที่ทำงาน พอต้องมาทำงานที่บ้านมันเลยคิดงานไม่ออก ง่วงหงาวหาวนอนบ่อยมาก (เพราะหันไปก็เจอเตียง 😂 ) จนเมื่อปรับตัว และปรับสถานที่ให้มันดูเป็นห้องทำงานมากขึ้น ก็ค่อย ๆ เริ่มที่จะปรับตัวได้

 

จนมาเจอกับบททดสอบอีกรอบก็ช่วงที่ต้องทยอยกลับเข้าออฟฟิศนี่แหละ ถือว่ายังเป็นอะไรที่ท้าทาย และพยายามในการปรับตัวอยู่ แต่เป้ก็เชื่อว่าทุกอย่างมันจะดีขึ้น ถ้าหากเราได้ทำสิ่งใดสิ่งนึงซ้ำไปซ้ำมาเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัย แล้วเมื่อนั้นแหละ สภาพทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกครั้ง...

 

 


 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นผลพลอยได้จากการเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วของการ Work From Home ที่ส่งผลทำให้เกิดเป็นสภาวะของโรคสมาธิสั้น 'เทียม' หรือ โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ขึ้นมา ซึ่งพอเราปรับตัวได้ เริ่มจัดระเบียบชีวิตได้ ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกครั้ง ซึ่งเปย์เป้เองก็ไม่มีอะไรจะบอกนอกจากคำว่า ทำใจ และอยากให้ทุกคนสบายใจว่ามันมีทางออก  ไม่ใช่ว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงแต่อย่างใด แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนกังวลใจ ไม่เป็นอันทำงานเลย ก็ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยหาทางออก และรักษากันต่อไปน้า

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : rama.mahidol, manarom, drwichian และ additudemag 

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น