เศร้าไม่ไหว ! "Blue Monday" หนึ่งปีมีครั้ง กับวันที่ "เศร้าที่สุด" ของปี
โดย : imnat
ปีใหม่แล้ว จะสิ้นปีต่อได้ยัง ?
ผ่านพ้นช่วงเทศกาลคริสต์มาสต่อด้วยปีใหม่กันมาหมาด ๆ เชื่อว่าหลายคนอารมณ์ยังคงค้างกันอยู่เลย อย่างใครที่เปิดปีใหม่มาแล้วต้องทำงานต่อเลยเนี่ย บอกเลยว่าไม่มีอะไรน่าเศร้าไปมากกว่านี้อีกแล้ว 😥 แต่เชื่อหรือไม่ว่านอกจากอารมณ์หม่น ๆ จากควันหลงวันหยุดยาว ยังมีวันที่อารมณ์ของเราจะหม่นไปมากกว่านี้อีกนะ กับวัน Blue Monday ที่ว่ากันว่าเป็นวันที่เราจะ "เศร้าที่สุด" ในปีนั้น ๆ ส่วนจะจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ อย่ารอช้า ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยดีกว่า !
รู้จัก Blue Monday หรือวันจันทร์ที่ 3 หลังปีใหม่
ที่ว่ากันว่า.. จะเป็นวันที่เรา "เศร้าที่สุด"
เปิดปีใหม่มา จะให้รับบทเป็นคนเศร้าที่สุดแห่งปีกันเลยหรอ ? สำหรับ Blue Monday หรือวันเศร้าที่สุดแห่งปี ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 2005 โดยนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Cardiff ประเทศอังกฤษ ที่ได้ทำการศึกษา และวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคร่วมกันกับ Sky Travel หรือกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ในการวางแผนการตลาดโดยการใช้หลักจิตวิทยา ผ่านการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค
และจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในครั้งนี้ ทำให้ตัวของเขาได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ นั่นก็คือข้อมูลที่ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีการวางแผนการเดินทางออกจากประเทศที่ทำให้พวกเขารู้สึก Gloomy หรือหดหู่ ก่อนจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ทำให้พวกเขารู้สึก Sunny ไม่ว่าจะเป็น Sunny ในเชิงเปรียบเทียบ หรือจะเป็น Sunny ที่หมายถึงสภาพอากาศก็ตาม
และจากข้อมูลนี้สามารถเจาะรายละเอียดลึกลงไปได้มากกว่านั้นอีกด้วยว่า ช่วงที่คนนิยมออกเดินทางมากที่สุดหลังปีใหม่ ก็ได้แก่ วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม จนทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่ได้รับการขนานนามว่า Blue Monday หรือวันที่น่าหดหู่ที่สุดของปี จนทำให้คนถึงขั้นอยากหนีออกจากพื้นที่ที่ตัวเองอยู่กันเลย 😱
แล้วอะไรที่ทำให้รู้สึกถึงความ Gloomy ได้บ้าง ?
บ้านเราอาจจะไม่อินกันเท่าไหร่กับวัน Blue Monday แต่จะบอกว่าในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ หรือทางฝั่งยุโรปเขาจะอินกับวันนี้กันมาก ๆ ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงอิน หลัก ๆ เลยก็คือ สภาพอากาศ ที่ช่วงรอยต่อระหว่างคริสต์มาสกับปีใหม่ ประเทศทางฝั่งบ้านเขายังคงอยู่ในช่วงฤดูหนาว มีหิมะตก บรรยากาศเรียกได้ว่ามีความหม่น ๆ หนาว ๆ เหงา ๆ โดยเฉพาะช่วงควันหลงหลังจากการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขกันมา ก็ยิ่งพาให้อารมณ์ของคนหม่นตามสภาพอากาศไปด้วย (ตัดภาพมาที่บ้านเรา ก็คือ พร้อมวิ่งเข้าชนฤดูหนาวแบบอ้าแขนรับด้วยความเต็มใจ 😂 )
ซึ่งบรรยากาศแห่งความหม่น ๆ แบบนี้ เลยทำให้หลายคนที่กำลังเอื่อยเฉื่อยกันอยู่ ยิ่งต้องมองหาอะไรที่จะสามารถดึงดูดตัวเองให้กลับมาสดใส สดชื่นกันได้อีกครั้ง
และต่อให้ทางฝั่งบ้านเราจะไม่ได้รู้สึกอินกับเทศกาลนี้ แต่ก็มีข้อมูลที่พอจะเข้าข่ายกับการเป็นวันที่เศร้าที่สุดอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน กับผลการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2009 ที่ระบุเอาไว้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นมีเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์สูงกว่าวันอื่น ๆ ในสัปดาห์ และไม่ใช่แค่นั้น แต่วัน Blue Monday ที่ว่านี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับสภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น...
😥 Sunday Night Blues หรือความรู้สึกเศร้าทุกเย็นวันอาทิตย์
ที่เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ ก่อนที่จะเข้าสู่สัปดาห์ใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยสภาวะนี้จะทำให้เรา รู้สึกเศร้าที่วันหยุดกำลังจะสิ้นสุดลง เพราะเช้าวันต่อมาเราจะต้องตื่นขึ้นไปเรียน ไปทำงาน ซึ่งสภาวะทางอารมณ์แบบนี้ เราค่อนข้างมั่นใจเลยว่า มันจะต้องเคยเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างแน่นอน
😥 Monday Morning Blues หรือความรู้สึกที่ไม่อยากให้วันหยุดสิ้นสุดลง
อันนี้จะเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจาก Sunday Night Blues คือเป็นสภาวะที่ร่างกายไม่อยากลุกขึ้นมาจากเตียง เป็นความเอื่อยเฉื่อย ไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นกับการไปทำงาน หรือมีความกลัวในการออกไปทำงาน เดินทาง หรือใช้ชีวิต
😥 Winter Depression / Winter Blues / Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือความรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนฤดูกาล
สำหรับสภาวะนี้จะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน ร่างกายก็จะปรับอารมณ์ไปตามฤดูกาลด้วย ส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ดิ่งมักจะเกิดขึ้นและลากยาวไปตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ไปจนถึงหน้าหนาว บรรยากาศนำพาให้อารมณ์ขุ่นมัว ร่วงโรย ไม่สดใส สดชื่นเหมือนช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น Blue Monday
แต่เราก็สามารถทำให้วันนี้กลายเป็น Best Monday ของเราได้ !
อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับเทคนิคในการทำการตลาดล้วน ๆ เลย เพราะหลังจากที่รู้ Pain Point ของคนส่วนใหญ่ไปเป็นที่เรียบร้อย ทางกลุ่มธุรกิจ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ได้งัดกลเม็ดเคล็ดลับในการทำการตลาดของตัวเองมาสู้กันใหญ่ แถมการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ ยิ่งมีแววว่าจะได้ผลดีกว่าเทคนิคการทำการตลาดแบบอื่น ๆ เสียด้วยซ้ำ และสำหรับตัวอย่างของเทคนิคการทำการตลาดที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นในวัน Blue Monday นี้ก็คือ
- Don't Be Blue, We Got You แคมเปญของ Pretty Liปttle Thing ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นจากประเทศอังกฤษ ที่ได้ปล่อยแคมเปญนี้ออกมา ด้วยการมอบส่วนลดให้ลูกค้าทุกคนในจำนวน 20% สำหรับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของร้าน
- Glossy Box ธุรกิจ Subscription เพื่อรับผลิตภัณฑ์ในหมวดสุขภาพและความงามไปทดลองใช้เป็นรายเดือน / รายปี ได้มอบโค้ดส่วนลด Blue Monday Code ให้ลูกค้านำไปใช้ลดราคาสำหรับการ Subscription ในราคาส่วนลด 40%
- หรือจะเป็นแคมเปญ Blueberry Monday ของทาง Tesco ที่ปล่อยออกมาส่วนกระแส Blue Monday ด้วยการยกซุ้มเครื่องดื่ม Blueberry มาแจกให้กับคนที่เดินซื้อของอยู่ในห้าง แถมยังมีการแจกผลไม้ฟรี ให้กับคนที่เดินผ่านไป ผ่านมาอีกด้วย
- Brew Monday แคมเปญจากทาง Samaritans กลุ่มการกุศลเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่ปล่อยแคมเปญนี้ออกมาเพื่อให้คนที่มีปัญหาชีวิต อยากหาที่ระบาย ได้ออกมารวมกลุ่มดื่มชา ดื่มกาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนให้กำลังใจกัน แถมยังมีการระดมเงินบริจาคเพื่อการกุศลในวัน Blue Monday นี้อีกด้วย
ต่อให้จะได้ชื่อว่าเป็นวัน Blue Monday ที่คนบางกลุ่มมองว่าเป็นวันที่เศร้าที่สุดของปี แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม Blue Monday นี้เหมือนเป็นวันแห่งการสร้างสรรค์แคมเปญทางการตลาดเลยก็ว่าได้ แถมแนวโน้มของการทำการตลาดในวันนี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะมันเป็นเหมือน Sunshine in Winter หรือแสงสว่างในความมืดหม่น ให้ทุกคนได้หันเหความสนใจจากความหดหู่ หรือเอื่อยเฉื่อยหลังเทศกาลเฉลิมฉลอง ให้กลับมาสนุกสนานครึกครื้นกันได้อีกครั้ง
ซึ่งแคมเปญของการทำการตลาดในวันนี้ ก็ให้อารมณ์เหมือนแคมเปญช็อปปิ้งในช่วง Black Friday หรือ Cyber Monday เลย เพียงแต่จุดประสงค์ตั้งต้นของมัน ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว อย่าง Black Friday กับ Cyber Monday จุดประสงค์ตั้งต้นของมันคือการเชิญชวนให้คนออกไปช็อปปิ้ง ด้วยการโฆษณาว่า ช็อปในวันนี้ คุ้มที่สุดของปีแล้ว จะต่างจาก Blue Monday ที่เชิญชวนให้คนออกมาจากอารมณ์ดำดิ่งของตัวเอง ด้วยการหาอะไรทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ การออกไปเที่ยว ช็อปปิ้ง หรือหากิจกรรมสนุก ๆ ทำร่วมกันนั่นเอง
"Blue Monday" It's just a date on your calendar !
แม้ว่าที่มาของวันนี้จะถูกนิยามขึ้นโดยนักจิตวิทยา แต่ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กลับมองว่า มันไม่มีหรอกอาการที่คนเราจะเศร้า หรือผิดหวังเฉพาะแค่วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนมกราคม เพราะถ้าว่ากันในทางสุขภาพจิตแล้ว มันไม่มีอาการแบบที่ว่านี้อยู่เลยด้วยซ้ำ หรือถ้ามีก็นับว่าอันตรายมาก และมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ
เพราะคนเราสามารถเกิดสภาวะเศร้า และหดหู่กันได้ทุกวัน และระดับของความเศร้า ความหดหู่ที่ว่านั้นก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน เราจึงไม่สามารถนิยามวันนี้ในความหมายเชิงสุขภาพจิตได้ เพราะจุดประสงค์ตั้งต้นของมัน นั้นเกิดขึ้นมาเพราะความต้องการอยากหาลู่ทางใหม่ในการทำการตลาด ด้วยการ Cheer up ลูกค้าหลังจากวันหยุดยาว ด้วยสีสันทางการตลาด ที่เหมือนเป็นการประเดิม เริ่มต้นปีอย่างสนุกสนาน และเชิญชวนให้ทุกคนออกมาจับจ่ายใช้สอยกัน
และสำหรับปี ค.ศ. 2023 นี้ วัน Blue Monday จะตรงกับวันที่ 16 มกราคม ในบ้านเราอาจจะหาดูแคมเปญนี้กันได้ยากหน่อย เพราะไม่ถึงกับขั้นได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ แต่อย่างในประเทศที่มีหลายฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูหนาวที่มีหิมะตก อาจจะมีแคมเปญนี้ให้เห็นกันบ้าง ซึ่งความน่าสนใจก็จะอยู่ที่การบิดเอาคำว่า Blue ให้กลายเป็นคำอื่น ๆ ที่น่าสนใจขึ้นมา แต่ใดใดก็ตาม ขอย้ำกันอีกครั้งว่า Blue Monday เป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่งบนปฎิทิน ไม่ได้เป็นวันที่คนเราจะต้องเศร้าที่สุดในปีนั้น ๆ กันทุกคน
เพราะถ้ามันจะเศร้า ต่อให้วันนั้นจะเป็นวันอังคาร พุธ พฤหัส หรือวันไหน ๆ
มันก็ต้องเศร้าอยู่ดีนั่นแหละ 😅
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- รู้จัก Black Friday / Cyber Monday สองแคมเปญช็อปปิ้งที่คนทั่วโลกรอคอย ต่างกันยังไง แค่วันเท่านั้นเองหรอ ?
- สายประหยัดฟังทางนี้ ช็อปของ SALE จากต่างประเทศทั้งที แต่ทำไมภาษีแพงกว่าค่าของ ?
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ICS-Digital, creativepool, forbes และ medicalnewstoday
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)