"Busy Culture" เมื่อสังคมหล่อหลอมให้รู้สึกผิดเมื่อทำตัว "ขี้เกียจ"

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer11 ต.ค. 2564 avatar writer726
"Busy Culture" เมื่อสังคมหล่อหลอมให้รู้สึกผิดเมื่อทำตัว "ขี้เกียจ"

 

อ่าา.. วันนี้ขี้เกียจจัง นอนเปื่อยๆ ออมแรงซักหน่อยดีกว่า 

 

เราเชื่อว่าอาการเหล่านี้ต้องเคยเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างแน่นอน ปล่อยเวลาว่างให้ผ่านเลยไปด้วยการนอนเปื่อยอยู่เฉยๆ บนเตียง ปล่อยตัวปล่อยใจให้สบาย ไม่ต้องทำอะไร หรือคิดถึงสิ่งที่ต้องทำให้วุ่นวาย หรือในวันทำงานเองก็มีบางครั้งที่เคลียร์งานเสร็จไว เวลาเหลือก็อยากนั่งเฉยๆ เพื่อขอพักสมองกันซักเล็กน้อย 

 

แต่... เมื่อเรามีเวลาว่างแล้ว อยากจะอยู่เฉยๆ ทำไมลึกๆ ในใจถึงต้องรู้สึกผิดขึ้นมาทุกทีเลยละเนี่ย ?! 

นั่นอาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรม Busy Culture ที่กำลังหล่อหลอมเราให้กลายเป็นคนที่ดูยุ่ง ต้องมีความ Productive อยู่ตลอดเวลา

 


 

busy culture

 

ทำไมวัฒนธรรม Busy Culture ถึงมีอิทธิพลกับความขี้เกียจของเรามากขนาดนั้น ? 

 

อาจจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ของการเป็นคนยุ่งๆ หรือกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ดูเป็นคนขยันขันแข็ง ยกตัวอย่างเช่น คนที่งานยุ่งเป็นประจำ เรามักจะเห็นคนเหล่านี้ทำงานตลอดเวลาอย่างเอาเป็นเอาตาย เสียสละเวลาส่วนตัวนั่งทำงานล่วงเวลา จนบางครั้งก็ไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนแบบนี้จะได้คะแนนพิเศษจากเจ้านายอย่างแน่นอน แม้ว่าเบื้องหลังของคนๆ นั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องการทำงานช้าหรือจัดการเวลาก็ตาม 

 

ซึ่งจุดนี้นี่แหละ ที่ทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นอาจรู้สึกกดดันและรู้สึกผิด แถมยังต้องผลักดันตัวเองให้ลุกไปหางานมาทำ แม้ว่าจะเคลียร์งานในส่วนที่ต้องทำเสร็จไปแล้วก็ตาม จนเกิดเป็น Busy Culture ชั้นจะต้องทำตัวให้ยุ่ง แม้ว่าจะไม่ได้ยุ่ง เพราะกลัวว่าคนอื่นหรือเจ้านายจะมองว่าเราไม่ใช่คนขยัน ไม่ทุ่มเท และไม่กระตือรือร้นกับงานนั่นเอง หรือถ้าจะมองให้กว้างไปกว่านั้นการทำตัวให้ว่างๆ ขี้เกียจ ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ก็อาจจะถูกมองว่าช่างเป็นคนที่ใช้ชีวิตได้ไม่คุ้มค่าเอาซะเลยก็เป็นได้ 

 

แน่นอนว่าการทำตัวเองให้ยุ่งตลอดเวลาจนติดเป็นนิสัยไม่ใช่เรื่องที่ดี และย่อมมีผลเสียตามมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การป่วยจากการทำงาน หรือในเรื่องของความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว หลายคนอาจจะเคยพบเจอประสบการณ์นี้กับตัวเอง จากการนัดเพื่อนแฮงค์เอ้าท์ แต่นัดทีไรเราก็ไม่สามารถไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้ หรือทะเลาะกับแฟน เพราะว่ายุ่งจนเกินไป ทำให้ใช้เวลาด้วยกันน้อยลง จนบางคู่ถึงขั้นเลิกรากันไปเลยก็มี

 


 

busy culture

 

ลองทำตัวขี้เกียจดูบ้าง มีผลดีมากกว่าที่คิดนะ

 

การตั้งใจปล่อยให้ตัวเองว่าง ไม่อยากทำอะไร ไม่ใช่เรื่องที่ผิด และก็ไม่ได้ส่งผลเสียไปซะทั้งหมด แต่จริงๆ การทำตัวขี้เกียจก็มีข้อดีเหมือนกันนะ 

 

❤️ สมองและร่างกายได้ชาร์จแบต

 

เมื่อร่างกายของเราหยุดนิ่ง ปล่อยใจให้ล่องลอยโดยที่ไม่ต้องคิดหรือโฟกัสกับสิ่งใด จะช่วยให้สมองของเรากระจายโฟกัสไปที่หลายสิ่ง มากกว่าการคิดจดจ่อหรือโฟกัสอยู่ที่สิ่งๆ เดียว  และเมื่อสมองเข้าสู่โหมดที่ไม่ต้องใช้ความคิด ก็จะช่วยให้สมองและร่างกายได้ฟื้นฟูพลังงาน ให้พร้อมกับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้งนั่นเอง

 

❤️ วางแผนได้ดีขึ้น 

 

เมื่อสมองของเราไม่ได้โฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะทำให้คิดเรื่องของอนาคตมากขึ้นกว่าตอนที่สมองกำลังจดจ่อกับสิ่งๆ หนึ่งตลอดทั้งวันด้วย และยังช่วยให้เราวางแผนอนาคตระยะยาว (Long-term goals) ได้มากถึง 7 ครั้งต่อวัน เมื่อสมองของเราได้พักผ่อนแบบเต็มที่ 

 

❤️ ปิ๊งไอเดียใหม่ๆ 

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดงานไม่ออก ลองหยุดพักซักครู่ หยุดคิดหรือเค้นไอเดียให้เหนื่อยเปล่า ลองปล่อยให้จิตใจและสมองของเราโลดแล่นอย่างเป็นอิสระดูบ้าง แล้วเราจะค้นพบว่าจิตใจของเราจะนึกไปถึงเรื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ลึกซึ้งขึ้น และจะทำให้เราปิ๊งไอเดียเจ๋งๆ โดยไม่ต้องคิดให้หัวแตกอีกต่อไป เพราะบางครั้งไอเดียสุดบรรเจิดก็สามารถเกิดจากการที่สมองของเราไม่ได้โฟกัสอะไรเลยเช่นกัน 

 

จริงอยู่ที่ว่าการใช้เวลาว่างไปกับการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ลองคิดอีกที ถ้าเราใช้เวลาว่างเหล่านั้นไปซะทั้งหมด แล้วจะเรียกเวลาเหล่านั้นว่าเวลาว่างได้ยังไง เพราะเมื่อมีกิจกรรมต้องทำนั่นก็แปลว่าเราไม่ว่างแล้ว หรือไม่จริง ?  เพราะฉะนั้น การที่เราจะขี้เกียจไปบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยนะ แถมยังมีข้อดีอีกด้วย !


ขอขอบคุณที่มา : hbr.org, imsa-search.com, time.com

แสดงความคิดเห็น