รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน การล้างไพ่ครั้งใหม่ของรถยนต์ทางเลือกที่ถูกลืม

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer20 มิ.ย. 2566 avatar writer1.6 K
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน การล้างไพ่ครั้งใหม่ของรถยนต์ทางเลือกที่ถูกลืม

 

หลังจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV เป็นที่พูดถึงและมาแรงมากในบ้านเรา ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจรถยนต์พลังงานทางเลือกกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะด้วยเหตุผลราคาน้ำมันที่แพง บวกกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เลยทำให้หลายคนพยายามจะช่วยกันหาทางออก ที่จะช่วยแก้ปัญหาและผลกระทบทั้งหลายที่กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้ให้ลดลง จนกระทั่งหมดไป

 

อย่างในบางประเทศถึงขั้นมีประกาศลงมติ เลิกขายรถยนต์น้ำมัน กันแบบจริงจัง ทำให้รถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ ที่ไม่ใช่แค่รถยนต์ไฟฟ้า EV  กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจแทนการใช้รถยนต์น้ำมันแบบเดิม ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน อดีตรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ถูกมองข้าม ว่าจะสามารถใช้โอกาสนี้ในการล้างไพ่และแก้เกมให้ตัวเองได้สำเร็จไหม ?

 


 

รู้จัก รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน รถยนต์ทางเลือกที่ถูกลืม

 

เมื่อเอ่ยถึงรถยนต์พลังงานทางเลือก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะคุ้นหูกันแต่รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่เป็นกระแสและถูกพูดถึงกันเยอะมากในช่วงก่อนหน้านี้ แต่นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า EV แล้ว ยังมีรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น

 

  • รถยนต์พลังงานโซลาร์เซลล์
  • รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
  • รถยนต์พลังงานลม

 

โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่เรียกได้ว่ามีต้นกำเนิดมานานพอ ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้า EV แถมยังลงสนามพิสูจน์ตัวเองมาเยอะ เจ็บมาก็เยอะ  และถึงแม้ว่าจะเจ็บตัวมาเยอะแค่ไหน แต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งยังคงเชื่อมั่น มั่นใจ และยังคงมีหวัง ว่ารถยนต์พลังงานทางเลือกประเภทนี้ จะสามารถพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการไว้ใจจากผู้ที่ใช้รถใช้ถนนกันได้อีกครั้ง 

 

 

 

 

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน หรือถูกเรียกในชื่อว่า FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นหนึ่งในรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงที่ได้มาจากไฮโดรเจน ก่อนจะถูกแปลงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าในการใช้ขับเคลื่อนตัวรถต่อไป ซึ่งวิธีการทำงานของรถยนต์พลังงานทางเลือกประเภทนี้ จะทำงานโดยอาศัยตัวแปรสำคัญอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

 

  1. ส่วนที่เป็นก๊าซไฮโดรเจน หรือเซลล์เชื้อเพลิงที่ได้รับการเติมเข้าไป

  2. ส่วนที่เป็น Fuel Cell หรือขั้นตอนในการแยกอิเล็กตรอน (ประจุไฟฟ้า) ออกมาจากไฮโดรเจน ซึ่งอิเล็กตรอนที่ได้ก็จะถูกแปรสภาพไปเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งต่อไปยังมอเตอร์ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนตัวรถต่อไป ส่วนไฮโดรเจนที่เหลือก็จะถูกแปรสภาพไปเป็นน้ำ ปล่อยออกไปทางท่อที่อยู่ด้านหลัง ทำหน้าที่เหมือนท่อไอเสียในรถยนต์น้ำมัน  แต่เป็นการเปลี่ยนจากไอเสียให้กลายเป็นน้ำเปล่าแทนนั่นเอง

 

รถยนต์ประเภทนี้แน่นอนว่าจะช่วย Save เรื่องการปล่อยมลพิษในอากาศได้ดีพอ ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้า EV เพราะสิ่งที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนปล่อยออกมาจะมีแค่ตัวละอองน้ำเท่านั้น

 

สำหรับต้นกำเนิดของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของโลกนั้นเป็นของ Chevrolet Electrovan โดยเปิดตัวในปี 1966  ก่อนจะตามมาด้วย Toyota FCHV และ Honda FCX ในปี 2002 ที่ถือว่าเป็นรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เชิงพาณิชย์  คันแรกของโลก

 

แม้จะมีจุดเริ่มต้นมานาน แต่ทำไมรถยนต์ไฮโดรเจนถึงไม่ปังกับเขาสักที

มีเหตุผลอะไรที่เรายังไม่รู้กันอีกบ้างนะ ?

 


 

รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน กระแสที่พยายามผลักดัน แต่ดันมาพร้อมกับข้อจำกัด

 

แม้ว่าไฮโดรเจนจะเป็นธาตุที่มีอยู่มากที่สุดในโลก แต่การจะนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ให้ได้จริง ๆ นั้น มันต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อนหลายขั้นตอนมาก และยิ่งถ้าเราอยากจะได้ก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย วิธีการที่จะได้มันมาก็จะยิ่งละเอียดขึ้น  แถมยังต้องพ่วงด้วยค่าใช้จ่ายอีกมากมายมหาศาล 

 

 

 

 

โดยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทุกวันนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

 

  • ไฮโดรเจนสีเทา เป็นไฮโดรเจนที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ก๊าซธรรมชาติ หรือว่าถ่านหิน ถือเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตได้มากที่สุด  แต่แน่นอนว่าก๊าซที่ได้ก็อาจจะไม่ใช่ไฮโดรเจนที่สะอาดที่สุด

  • ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน เป็นไฮโดรเจนที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ไฮโดรเจนชนิดนี้จะเป็นไฮโดรเจนที่ ผ่านการดักจับและกักเก็บคาร์บอนมาแล้วเรียบร้อย  เลยทำให้ไฮโดรเจนที่ได้มีความสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา แต่ก็ยังเป็นรองไฮโดรเจนประเภทต่อไปอยู่ดี

  • ไฮโดรเจนสีเขียว  ไฮโดรเจนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ถ้าต้องการจะเคลมเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยถึงน้อยมาก ไฮโดรเจนสีเขียวถือว่าตอบโจทย์มากที่สุดในบรรดาไฮโดรเจนทั้งหมด แต่ก็ต้องแลกมาด้วย กระบวนการที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าเดิมด้วย  เพราะไฮโดรเจนประเภทนี้จะได้มาจากแหล่งพลังงานสะอาดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เลยทำให้กว่าจะได้ไฮโดรเจนชนิดนี้มา ก็จะมีความยากกว่าไฮโดรเจนประเภทอื่น ๆ พอสมควร

 

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน  ไฮโดรเจนสีเขียวเลยจะตอบโจทย์กับความต้องการมากที่สุด เพราะต่อให้รถยนต์ไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยไอเสียออกมาเวลาขับขี่ แต่กระบวนการผลิต แน่นอนว่าเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี

 

และถ้าเราต้องการจะลงทุนกับไฮโดรเจนสีเขียว มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกด้วยเช่นกัน  เพราะเราจะต้องลงทุนกับกระบวนการผลิตที่เยอะมาก ละเอียดอ่อนมาก อีกทั้งยังซับซ้อนมาก นี่เลยเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่มีความเป็นไปได้อยู่เลย เพราะถ้าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ไหนอยากจะลงทุนลงแรงกับรถยนต์พลังงานสะอาดนี้จริง ๆ ก็จะต้องยอมลงทุนกับไฮโดรเจนที่สะอาดกว่า อย่างน้อยไฮโดรเจนสีน้ำเงินก็ดูจะพอมีหวังอยู่

 

 

แต่การลงทุนกับไฮโดรเจนสะอาด ไม่ใช่ข้อจำกัดเดียวที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเผชิญอยู่

 

 

นอกจากเรื่องการลงทุนกับการได้มาซึ่งพลังงานสะอาดแล้ว รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนยังมาพร้อมกับข้อจำกัดอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น 

 

  • ขาดผู้สนับสนุนและลงทุน เพราะเราจะอาศัยการผลักดันจากค่ายรถยนต์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ อย่าลืมว่ากระบวนการขับเคลื่อนรถยนต์ไฮโดรเจนยังต้องอาศัยการเติมก๊าซที่สถานีกันอยู่ ขนาดรถยนต์ EV ที่หลายคนกังวลนักกังวลหนาก่อนหน้านี้ ยังได้รวม จำนวนสถานีชาร์จไฟ  ไว้อยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจไปแล้วเรียบร้อย

    ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเทียบสัดส่วนสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนในบ้านเราทุกวันนี้ เรียกได้ว่าอยู่ในสัดส่วนที่ น้อยถึงน้อยมาก  แถมการลงทุนเปิดสถานีเติมก๊าซขึ้นมาสถานีหนึ่ง ต้นทุนของมันก็ไม่ใช่ถูก ๆ อย่างต่ำก็ปาไปแล้ว 50 ล้าน เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวว่าถ้าลงทุนเปิดสถานีเติมก๊าซขึ้นมาแล้ว แต่มีรถมาเติมก๊าซที่สถานีน้อย การลงทุนที่ว่าก็ดูจะไม่คุ้มเสียสักเท่าไหร่

  • นั่นเลยเป็นผลกระทบไปสู่ ราคาการเติมก๊าซ  ที่ถึงแม้ว่าระยะทางในการวิ่ง / ก๊าซหนึ่งถัง จะมีความสามารถในการทำให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนวิ่งได้ไกลถึง 700 กม. แต่ทว่าราคาการเติมก๊าซแต่ละที เมื่อเทียบดูแล้วถือว่า สูสีกับราคาน้ำมัน  แม้ว่าการวิ่งของเราจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่เรื่องราคาน้ำมันถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ทางเลือกกันมากขึ้น

    และยิ่งคนลงทุนกับสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนน้อย ยิ่งส่งผลทำให้ราคาการเติมก๊าซพลอยจะสูงขึ้นตามไปด้วย ด้วยข้อจำกัดเรื่องราคาการเติมก๊าซ เลยทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะเปิดใจยอมรับรถยนต์พลังงานทางเลือกประเภทนี้กันอยู่

 

Chevrolet Electrovan โฉมหน้ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันแรกของโลก ภาพจาก hydrogencarsnow

 

 

  • การติดภาพไปแล้วว่าไฮโดรเจน = ก๊าซอันตราย  ซึ่งจริง ๆ แล้ว อายุงานของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบตรงนี้เลยก็ว่าได้ อย่างที่บอกว่าผ่านการลงสนามมาเยอะ มันเลยไม่มีทางที่บริษัทรถยนต์แบรนด์ไหน จะกล้าผลิตรถยนต์ที่เป็นอันตรายต่อการขับขี่ออกมาวางขาย ถ้าไม่ได้ผ่านการทดสอบ ออกแบบ หรือพัฒนากระบวนการภายในต่าง ๆ ของรถยนต์ให้ได้มาตรฐานกันมาแล้ว

    และต่อให้เราจะติดภาพกันไปว่าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคือเชื้อเพลิงที่อันตราย ก่อให้เกิดประกายไฟได้ง่าย แต่ขั้นตอนการบรรจุเชื้อเพลิงเราจะต้องผ่านเกราะป้องกันที่เรียกว่า ถังเก็บไฮโดรเจน  ที่มีความแข็งแรงและปลอดภัย จนถึงขั้นค่ายผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งมีการทดสอบด้วยการยิงปืนใส่ถังเก็บไฮโดรเจนมาแล้วว่าจะระเบิดไหม

    ผลปรากฏว่ากระสุนปืนสามารถเจาะทะลุผ่านตัวถังไปได้จริง มีก๊าซรั่วออกมาจริง แต่ทว่าไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าการพิสูจน์ความไว้เนื้อเชื่อใจด้านความปลอดภัยจะต้องเป็นอีกหนึ่งจุดขาย ถ้ารถยนต์ค่ายไหนต้องการจะผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนออกมาวางขายกันจริง ๆ

  • และอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญต่อกำลังซื้อของคนมาก ๆ นั่นก็คือ ราคาขาย ที่แน่นอนว่าน่าจะมีระดับราคาที่สูงพอ ๆ กับรถยนต์ EV  ยิ่งถ้ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนคันนั้นเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดมาก ต้นทุนของมันก็จะยิ่งเพิ่มมากตามไปด้วย

    อีกทั้งกระบวนการภายในของรถ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขับเคลื่อนภายใน ระบบความปลอดภัยทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีความละเอียด มีเทคนิคในการผลิตที่ซับซ้อน ยิ่งความต้องการในตลาดมีน้อย ราคาของมันก็จะยิ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ยกตัวอย่างช่วงที่รถยนต์ไฟฟ้า EV เพิ่งตีตลาดใหม่ ๆ ความต้องการของมันยังถือว่าน้อยอยู่ ราคาขายเลยสตาร์ทที่สูง แต่แนวโน้มความเป็นไปได้หลังจากนี้ เห็นทีว่าจะมีผู้ใช้งานหน้าใหม่เกิดขึ้นเยอะ ราคาขายของรถยนต์ EV ในอนาคตก็อาจจะถูกปรับให้ออกมาในราคาที่ถูกลงตามไปด้วยเช่นกัน

 


 

 

แล้วถ้ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้

หรือนี่จะถึงจุดสิ้นสุดของรถยนต์ EV แล้วจริง ๆ ?

 

 

แม้ว่าภาษีของการเป็นหนึ่งในรถยนต์พลังงานทางเลือกที่น่าสนใจจะตีคู่สูสีกันมา แต่ต้องบอกเลยว่าจุดขายของรถยนต์ทางเลือกทั้ง 2 ประเภทนี้ แตกต่างกัน  เพราะรถยนต์ไฟฟ้า EV จะเน้นจุดขายไปที่เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้กับการขับขี่ ตัดภาพมาที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่อาจจะไม่ได้มีลูกเล่นเรื่องเทคโนโลยีอะไรมาก แต่มันก็โดดเด่นและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรถยนต์น้ำมันในปัจจุบัน

 

ซึ่งถ้าเราตัดเรื่องข้อจำกัดทั้งหลายก่อนหน้านี้ออกไป รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถเป็นอีกหนึ่งร่างโคลนนิ่ง (ที่ดีกว่า) รถยนต์น้ำมันกันได้เลย แต่ถ้าเทียบเรื่องพื้นฐานทั่วไปในการขับขี่ ส่วนตัวเรามองว่า รถยนต์ทางเลือกทั้ง 2 ประเภทนี้มีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกัน  ถ้ามองในแง่จุดเด่น สิ่งที่รถยนต์ทางเลือก 2 ประเภทนี้ทำได้ดีเหมือนกันนั่นก็คือ

 

  • ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศได้ดีเหมือนกัน
  • ให้ประสบการณ์ในการขับขี่ที่เงียบเหมือนกัน

 

แต่ถ้ามองในแง่จุดด้อย อาจจะมีบางอย่างที่รถยนต์ไฟฟ้า EV ทำได้ดีกว่า และอาจจะมีบางอย่างที่รถยนต์ไฮโดรเจนทำได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น

 

  • ระยะเวลาในการเติมก๊าซ ที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ปกติแล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที (ระยะเวลาพอ ๆ กับการเติมน้ำมัน) แต่ตัดภาพไปที่รถยนต์ EV ต่อให้ Super Charge แค่ไหน ก็ปาไปเกือบ ๆ 20 นาทีอยู่ดี

  • ระยะทางในการขับ / การเติมพลังงานแต่ละครั้ง ที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถทำได้ดีกว่า (ถ้าเทียบกันกับรุ่นธรรมดา) อาจจะเป็นเพราะตัวถังเก็บก๊าซไฮโดรเจนที่อยู่ใต้รถมีขนาดใหญ่กว่า เลยทำให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมีความสามารถในการสะสมพลังงานในการวิ่งได้ไกลกว่า

  • ปริมาณสถานีชาร์จ ที่แน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV ทำได้ดีกว่าเห็น ๆ แถมยังมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

  • ประสบการณ์ในการขับขี่ที่เหนือกว่า แน่นอนว่าตกไปเป็นของ EV อย่างเลี่ยงไม่ได้ สังเกตได้จากสารพัดเทคโนโลยีการปรับแต่ง แถมยังอัปเกรดสเปกตัวเองได้แบบเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ในการใช้งาน รวมถึงเงื่อนไขอะไรต่อมิอะไรของรถยนต์ทางเลือกทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกัน บางอย่างก็สามารถหาจุดมาหักลบกลบหนี้กันได้ ยกตัวอย่าง การชาร์จไฟของ EV ที่เดี๋ยวนี้เราก็สามารถติดตั้งตัวชาร์จที่บ้านกันได้แล้ว ก็เพิ่มความสะดวกในการชาร์จไฟมากขึ้นไปอีก แต่ใดใดก็ตาม รถยนต์ทางเลือกทั้ง 2 ประเภทนี้ ไม่มีใครสามารถมาแทนที่ใครได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้คำว่า รถยนต์ทางเลือกทั้ง 2 ประเภทนี้ สามารถมาแทนที่รถยนต์น้ำมันได้  ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่า 👀 ✨ 

 

 


 

การมาของรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ แทบจะไม่ได้เป็นอะไรที่ดูใหม่แล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนถือว่าเป็นอะไรที่น่าจับตา เพราะด้วยความ เจนสนาม ของรถยนต์ประเภทนี้ ที่ถือว่าผ่านบททดสอบมาเยอะ เจ็บมาเยอะ ประสบความสำเร็จมาก็เยอะ อย่างที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจากรถขนส่งสาธารณะที่ใช้น้ำมัน มาเป็นรถขนส่งสาธารณะพลังงานไฮโดรเจน แถมยังมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณของรถขนส่งสาธารณะพลังงานไฮโดรเจนเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในอนาคต

 

 

Toyota Mirai โฉมหน้ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรุ่นล่าสุดของ Toyota

 

 

สังเกตได้จากหัวเรือใหญ่อย่าง Toyota ที่เร่งการผลิตรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนส่วนบุคคลมากขึ้น แถมยังมีรถยนต์ไฮโดรเจนรุ่นใหม่ ๆ ออกมาในทุกปี อย่างล่าสุดที่เปิดตัวออกมาก็คือ Toyota Mirai 2023  ที่ต่อให้จะถูก คนบางคน  กล่าวหาว่าเป็น รถยนต์พลังงานโง่ กันมาแล้ว แต่ Toyota ก็ยังคงเชื่อมั่น และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันอยู่เรื่อย ๆ

 

อย่างตอนนี้ถ้านับในแถบเอเชียก็เริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงกันแล้วทั้งในญี่ปุ่นเอย เกาหลีใต้เอย ไปจนถึงจีนเอย ส่วนในบ้านเราก็ต้องให้เวลารถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่นี้ ได้พิสูจน์ตัวเองกันอีกสักพัก เพราะถ้ามีตัวอย่างให้เห็นกันมากขึ้น เชื่อว่าในบ้านเราก็น่าจะเปิดใจให้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่ถูกลืมประเภทนี้ ได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

 


 

อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่

 

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : wikipedia, interplex และ toyota

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น