ลายขวาง จากสัญลักษณ์แห่งพันธนาการ สู่อิสรภาพที่ได้รับการปลดปล่อย

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer27 ต.ค. 2566 avatar writer154
ลายขวาง จากสัญลักษณ์แห่งพันธนาการ สู่อิสรภาพที่ได้รับการปลดปล่อย

 

ลายขวาง ลวดลายสุดคลาสสิกที่ซุกซ่อนตัวอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์มายาวนาน ผ่านการให้คำจำกัดความที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมของผู้คนในหลาย ๆ ยุค หลาย ๆ สมัย แม้ว่าการตีความในช่วงแรกจะออกมาในแง่ที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นพัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ พร้อมกับการเน้นย้ำให้ไม่ลืม 'รากเหง้า' ของตัวเองไปพร้อมกัน

 


 

ปฐมบทลายขวาง สัญลักษณ์แห่งพันธนาการและขบถ

 

ลายขวาง หรือ ลายทาง มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกลาง หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยในยุคเริ่มแรกนั้นลายขวางเป็นลายที่ถูกตีความออกมาในแง่ที่ไม่ดี เพราะมันถือเป็นลวดลายที่มีความโดดเด่น สะดุดตาคนที่พบเห็นมากเกินไป จนทำให้ใคร ๆ ต่างพากันขยาด เพราะกลัวว่าจะตกเป็นขี้ปากของสังคม 

 

แต่ในทางกลับกัน คนที่กล้าสวมเสื้อผ้าที่มีแถบลายขวางในสมัยนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะหนีไม่พ้นพวกที่ชอบเป็นจุดสนใจ อาทิ ตัวตลก นักเล่นกล หรือไม่ก็โสเภณี ที่ต้องการจะดึงดูดความสนใจจากคนอื่นโดยการใช้ลายขวางเป็นจุดนำสายตามาหาตน

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังได้มีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความ 'ไม่เข้าพวก' ของลายขวางเกิดขึ้นอีก ในปี ค.ศ. 1200 คณะนักบวชกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Carmelite (คาร์เมไลท์) ได้เดินทางมายังประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก โดยการมาของคณะนักบวชกลุ่มนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักบวชด้วยกัน แถมยังกินระยะเวลายาวนานกว่า 25 ปี โดยมีต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจาก การสวมเสื้อคลุมลายขวางของคณะคาร์เมไลท์ ที่ท้ายที่สุดแล้วคณะนักบวชกลุ่มนี้ก็ต้องยอมจำนนต่อคำสั่งของพระสันตะปาปา แถมยังมีการเปลี่ยนสีของเสื้อคลุมจากเดิมที่เป็นลายขวางสีขาวน้ำตาล ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นพื้นสีขาวอย่างเดียวในที่สุด

 

ถ้าถามว่าอิมแพคของลายขวางเป็นภัยต่อสังคม (โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส) มากแค่ไหน เคยมีบันทึกเหตุการณ์ระบุเอาไว้ว่า ในปี ค.ศ. 1310 ทางประเทศฝรั่งเศสตอนเหนือ มีชาวประมงคนหนึ่งถูกตัดสินให้ประหารชีวิต แค่เพียงเพราะเขาสวมเสื้อผ้าที่เป็นลายขวาง ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนอื่น ๆ ในสังคมได้ไม่น้อย ถึงขั้นมีคนตั้งชื่อให้กับเสื้อผ้าที่เป็นลายขวางเลยว่า The Devil's Cloth หรือเสื้อผ้าของปีศาจ เพราะคนที่จะสวมเสื้อผ้าที่เป็นลายขวางได้ จะมีแต่ 'พวกที่ไม่กลัวตาย' หรือไม่ก็เป็นกลุ่มนักโทษที่กำลังรอวันประหารอยู่เท่านั้น

 

 

 


 

พันธนาการที่ได้รับการปลดปล่อยของคนนอก (คอก)

 

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เกิดแรงกระเพื่อมแห่งอิสรภาพเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีการเปิดตัวชุดยูนิฟอร์มของกะลาสีเรือ ที่มีการใช้แถบลายขวางสีขาวกรมมาเป็นองค์ประกอบหลักของเสื้อผ้า

 

ซึ่งเหตุผลของการใช้แถบลายขวางสีขาวกรมนี้ คือการใช้ความเด่นของลายขวางให้เป็นประโยชน์ (เช่นเดียวกับเสื้อผ้าของนักโทษ) เพราะถ้าสมมุติเกิดมีกะลาสีเรือคนใดคนหนึ่งพลัดตกลงไปในน้ำ ก็จะสามารถใช้ความเด่นของลายขวางในการตามหาตัวเจอได้ อีกทั้งแถบลายขวางที่ว่า ยังถูกให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างจำนวนของแถบ ที่จะต้องมีแถบสีขาวบนเสื้อ 21 แถบ มีแถบสีกรมบนเสื้อ 20 ถึง 21 แถบ ความกว้างของแถบสีขาวจะต้องกว้าง 20 มม. ส่วนแถบสีกรมจะต้องกว้าง 10 มม. ทำให้ลายขวางถูกให้การใส่ใจและดูมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น (แม้ว่ากะลาสีเรือจะเป็นตำแหน่งของลูกเรือที่อยู่ในระดับชั้นล่างสุดก็ตาม)

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ในระดับของกะลาสีเรือเท่านั้น แต่ลายขวางยังถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์บนเสื้อผ้าของกองทัพเรือในระดับชั้นอื่นอีกด้วย อย่างเช่นชุดของกัปตันเรือ และนายทหารเรือ เพียงแต่เสื้อของกะลาสีเรือจะมีความโดดเด่นของแถบลายขวางมากที่สุดในบรรดาเครื่องแบบของกองทัพเรือทั้งหมด

 

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรในชุดทหารเรือ ภาพจาก Royal Collection Trust

 

 

มาถึงแรงกระเพื่อมครั้งที่สอง ที่ได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1846 โดยแรงกระเพื่อมครั้งนี้ถือว่าอิมแพคต่อสังคมประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีภาพของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ถูกจับแต่งตัวในชุดทหารเรือก่อนจะออกไปร่วมกิจกรรมล่องเรือกับเจ้าหญิงวิกตอเรียผู้เป็นแม่ จนกลายเป็นที่สนใจ เพราะเครื่องแบบที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสวมมี 'ลายต้องห้าม' อย่างลายขวางปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแถบลายขวางที่ตกแต่งอยู่บริเวณแขนเสื้อและหน้าอก รวมไปถึงเสื้อเชิ้ตลายขวางที่อยู่ด้านใน จนทำให้ลายขวางถูกให้คำจำกัดความใหม่ ในฐานะลวดลายแห่งความสนุกสนานและร่าเริง โดยมีผู้นำเทรนด์เป็นว่าที่พระมหากษัตริย์ ที่ ณ ตอนนั้นมีอายุได้เพียง 4 ปีเท่านั้น

 

แต่นั่นก็ยังไม่อิมแพคต่อคนหมู่มากเท่ากับเหตุการณ์ที่ Gabrielle Coco Chanel (กาเบรียล โกโก ชาแนล) นักออกแบบเสื้อผ้าผู้สร้างแบรนด์ CHANEL ช่วยลบล้างมลทินให้กับลายขวาง ทำให้ลายขวางได้รับการจดจำในฐานะองค์ประกอบที่น่าสนใจของวงการแฟชั่น กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจ อิสรภาพ และความกล้าที่จะแหกกฏของสังคม แทนที่สัญลักษณ์แห่งพันธนาการและขบถแบบเดิม ๆ 

 

 

ภาพถ่ายของ Coco Chanel ที่สร้างความตะลึงงันให้สังคม

เพราะเสื้อกะลาสีเรือที่เธอสวมอยู่ ในสมัยนั้นเป็นยูนิฟอร์มที่ถูกสวมโดยผู้ชายเท่านั้น ภาพจาก CHANEL

 

 

เหตุการณ์ที่ทำให้ โกโก ชาแนล ตัดสินใจมอบหัวใจทั้งดวงให้กับลายขวาง ได้เกิดขึ้นในราว ๆ ปี ค.ศ. 1913 ที่ตัวเธอได้มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองชายฝั่งของประเทศฝรั่งเศส แล้วบังเอิญไปเจอกับกะลาสีเรือท้องถิ่นของที่นั่น  ซึ่งนั่นเป็นวินาทีแรกที่ทำให้โกโกเกิดสะดุดตากับเครื่องแบบที่กะลาสีเรือคนนั้นใส่ แต่นั่นจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย ถ้าหากไม่มีภาพถ่ายของเธอที่กำลังอยู่ในเสื้อกะลาสีเรือปล่อยออกมา เพราะเสื้อกะลาสีเรือที่ว่า เป็นเครื่องแบบที่มีเฉพาะแค่ผู้ชายใส่กันเท่านั้น 

 

จนกระทั่ง 4 ปีต่อมา โกโก ชาแนล ได้เปิดตัวคอลเล็กชันเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินเรือ ซึ่งเราแทบจะไม่ต้องเดาเลยว่ามันมีไอเทมชิ้นไหนอยู่ในคอลเล็กชันนี้ นอกเสียจากเสื้อลายขวางสีขาวกรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแบบของกะลาสีเรือ แถมหลังจากเปิดตัวคอลเล็กชันนี้ไป ก็ได้มีคนดังหลายคนออกมาปรากฏตัวในเสื้อลายขวางสีขาวกรมที่ว่า ไม่ว่าจะเป็น Audrey Hepburn (ออดรีย์ เฮปเบิร์น) และ Marilyn Monroe (มาริลิน มอนโร) จนทำให้เสื้อลายขวางกลายเป็นหนึ่งในไอคอนิกไอเทมของแบรนด์ CHANEL ไปเป็นที่เรียบร้อย แถมยังเป็นไอเทมที่ไม่ได้จำกัดเงื่อนไขของคนใส่อีกต่อไป ผู้ชายใส่ได้ ผู้หญิงก็ใส่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อภาพจำของลายขวางเลยก็ว่าได้

 

 

Audrey Hepburn ในเสื้อลายขวางของ CHANEL ภาพจาก Getty Images

 

 

เมื่อได้หัวเรือใหญ่อย่าง CHANEL มาเป็นใบเบิกทาง เลยทำให้ในปีถัด ๆ มา ลายขวางถูกตีความออกมาในแง่ที่ดีขึ้น จนกลายเป็นลวดลายที่ใคร ๆ ก็ใส่ได้ เป็นอิสรภาพที่ไม่ได้ถูกกักขัง หรือถูกล่ามไว้อยู่กับโซ่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 


 

รากเหง้าที่ไม่อาจลืมได้ของลายขวาง

 

"ฉันมีลาย ลายที่อยู่รอบไหล่ของฉัน

และโซ่พวกนั้น โซ่พวกนั้น กำลังลากฉันลงไป"

 

 

คำแปลเพลง I Got Stripes ของ Johnny Cash นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1959 โดยที่ผู้ฟังอย่างเราสามารถถอดความหมายของเพลงนี้ออกมาได้แบบง่าย ๆ ผ่านสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของนักโทษ ที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหาของเพลง ไม่ว่าจะเป็นลายขวางของชุดยูนิฟอร์ม รวมไปถึงโซ่ที่ล่ามอยู่บริเวณข้อเท้า แถมเนื้อหาในท่อนอื่น ๆ ของเพลง ยังสื่อถึงสังคมนักโทษอเมริกันในแบบที่ตรงประเด็นจนน่ากลัว

 

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในปี ค.ศ. 1970 เครื่องแบบของนักโทษในอเมริกาได้ถูกเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากลายขวางได้สร้างความไม่สบายใจให้กับนักโทษเป็นอย่างมาก ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องแบบที่มีสีสันสดใส พร้อมกับเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่ใช้คำว่าลงโทษ ให้เปลี่ยนมาเป็นการใช้คำว่า ฟื้นฟู เพื่อเพิ่มความสบายใจให้กับผู้ที่กระทำความผิดแทน

 

 

บีเทิลจุ้ย ตัวละครผีสุดเพี้ยนจากภาพยนตร์เรื่อง Beetlejuice กับชุดสูทลายขวางสีขาวดำอันเป็นเอกลักษณ์

 

 

แม้ว่าหลายคนจะพยายามช่วยกันลบล้างอดีตอันไม่พิศวาสของลายขวาง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าลายขวางได้กลายเป็นตัวแทนของนัยยะสำคัญบางอย่างแบบ 'หยั่งรากฝังลึก' ไปเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้าน การปฏิวัติ อิสรภาพ ความแหวกแนว ความหัวดื้อ หรือจะเป็นการชี้เป้าแบบกลาย ๆ โดยอาศัยการบอกเล่าผ่านลวดลายที่มีความโดดเด่น ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยคำอธิบายใดใดกันให้มาก เพราะด้วยความเด่นของลายขวาง มันเลยทำให้การสื่อสารออกมาง่าย ชัด และตรงประเด็น และข้อดีคือมันได้ทำการสลัดคราบตัวเองจากการเป็นลายต้องห้าม ก่อนจะกลายเป็นลายสำหรับทุกคนไปเป็นที่เรียบร้อย

 

อย่างเช่นในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง ที่ได้มีการสื่อนัยยะที่สำคัญของตัวละครผ่านลวดลายขวาง อาทิเช่น ตัวละครของผีขี้จุ้ย ตัวละครผีสุดเพี้ยนจากภาพยนตร์เรื่อง Beetlejuice ที่มีการสวมชุดสูทลายขวางสีขาวดำ ที่ซุกซ่อนความเพี้ยน ความแตกต่าง และความประหลาดอยู่ในนั้น หรือจะเป็นการซ่อนคีย์เมสเซจที่สำคัญผ่านเสื้อผ้าของตัวละคร โรส อาร์มิเทจ ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง Get Out ที่ทางเราถึงกับบางอ้อในภายหลัง ว่าทางผู้สร้างพยายามส่งสัญญาณเตือนมาให้เราคอยระวังตัวละครตัวนี้มาตั้งแต่ช่วงเปิดเรื่องกันแล้ว

 

 

ภาพยนตร์เรื่อง Get Out ที่เข้าฉายในปี 2017 ยังคงใช้สัญลักษณ์อย่างลายขวางในการบอกใบ้นัยยะสำคัญบางอย่างให้กับคนดู

 

 

นอกจากนี้ลายขวางยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง และการขับเคลื่อนสังคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการจะให้เสียงของตัวเองสะท้อนไปยังคนกลุ่มใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น แถบลายขวางสีรุ้งบนธง LGBTQ ที่ประกอบไปด้วยแถบสีทั้งหมด 8 แถบ ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเพศทางเลือก รวมไปถึงแถบสีบนธงชาติไทย ที่แต่ละสีจะเป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ระบุตัวตนของคนกลุ่มหนึ่ง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องถูกตีความออกมาในแง่ที่ไม่ดีกันอย่างเดียว

 

แต่เราก็ปฏิเสธกันไม่ได้ว่ารากเหง้าที่ฝังลึกของลายขวาง จะมีโอกาสทำให้ลายขวางถูกตีความออกมาในแง่ของการถูกพันธนาการโดยความต่างของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้การตีความหมายสำหรับบางคน ลายขวาง ยังคงเป็นภาพจำของสิ่งที่เป็นปรปักษ์กับสังคม แม้ว่าทุกวันนี้สังคมเราจะเต็มไปด้วยคนที่มีการศึกษา แต่ทว่าภาพจำของลายขวาง ยังคงหนีไม่พ้นสัญลักษณ์แห่งพันธนาการที่กำลังรอการปลดปล่อยจาก 'ใครบางคน' กันอยู่

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : cosmopolitan, mannermagazine, clothandstitch, mylawquestions และ stylecircle

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น