บันทึกชีวิต วางแผนอนาคต ฉบับไร้โซเชียลด้วย Bullet Journal

avatar writer
โดย : Belt
avatar writer18 ก.ย. 2563 avatar writer6.2 K
บันทึกชีวิต วางแผนอนาคต ฉบับไร้โซเชียลด้วย Bullet Journal

จัดระเบียบชีวิตง่ายๆ
วุ่นแค่ไหนก็เอาอยู่ด้วยการจดแบบ
Bullet Journal


📔 ทั้งสมุดไดอารี่ บันทึกตารางงาน แพลนเนอร์ รายการสิ่งที่ต้องทำ และอีกมากมายที่ซื้อมาเต็มตู้นั้นก็จดไม่เคยหมดเล่มสักที! แต่จะง่ายกว่าไหม? หากว่าเราสามารถรวบรวมทุกอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เอาไว้ในสมุดเล่มเดียวให้เรียบร้อยและเป็นระบบระเบียบได้ด้วยการจดบันทึกแบบ Bullet Journal หรือเรียกสั้นๆ ว่า BUJO ที่นำไปใช้กันได้ง่ายๆ ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะจดงานอะไรก็เอาไปประยุกต์ได้ไม่มีกั๊ก!!


 Bullet Journal (BUJO) คืออะไร 


Credit : paperandinkco.heidi

Bullet Journal คือการจดบันทึกทุกสิ่งอย่าง ให้เป็นระบบระเบียบและรวดเร็ว รวมเอาไว้ภายในสมุดเล่มเดียวของปีนั้นๆ  ซึ่งจะช่วยให้เราแยกแยะ ลำดับความสำคัญเรื่องต่างๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น โฟกัสกับสิ่งจำเป็นจริงๆ หรือเรียกว่าเป็นการแบ่งเวลาอันน้อยนิดของเรา ให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง


 ทำไมจึงสำคัญ 


แน่นอนว่าหากชีวิตไร้ซึ่งการวางแผนใดๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องรัก ก็จะเหมือนกับว่าเราใช้ชีวิตไปแบบวันต่อวัน นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ หรือพูดง่ายๆ เลยก็คือกลายเป็นคนที่ขาดเป้าหมายในชีวิต

Bullet Journal คือการคัดสรรสิ่งมากมายต่างๆ ให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์จริงๆ กับเรา แล้วจากนั้นเส้นทางชีวิตของเราที่ดูเหมือนจะวุ่นวาย ก็จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

และสิ่งที่ทำให้การจดแบบ Bullet Journal แตกต่างจากการจดแบบอื่น นั่นก็เพราะมันยืดหยุ่นกว่า ปรับใช้ได้กับทุกโอกาส ไม่ถูกตีกรอบจนเกินไปเหมือนกับสมุดแพลนเนอร์ จึงทำให้ผู้เขียนบันทึกมีไอเดียใหม่ๆ ในการจดได้ตลอดเวลา อยากจะวาด อยากจะเติมแต่งอะไรก็ทำได้เลยจ้า


 เหมาะกับใครบ้าง 


จริงๆ ใครจะใช้ก็ได้ทั้งนั้น แต่ปันโปรจะขอแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 ประเภทหลัก ที่ควรใช้บันทึกแบบ Bullet Journal เพื่อที่เราจะได้ลองถามตัวเองด้วยว่า เราเหมาะสมกับการจดแบบนี้ด้วยรึเปล่าน้าา

  • คนที่มีสมุดเก็บไว้เพียบ แต่ไม่เคยเขียนหมดสักเล่ม
  • ผู้ที่อยากเขียนไดอารี่แต่ไม่มีเวลา เพราะต้องทำหลายอย่าง
  • มนุษย์ปลีกตัว เบื่อโลกโซเชียล ไม่อยากเก็บข้อมูลที่มากเกินไป
  • ชาว Productive ที่อยากแบ่งเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 แล้วทำไมต้องใช้สมุด? 


หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าเดี๋ยวนี้ก็มีเทคโนโลยีสุดล้ำมากมาย ทั้งแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน, โปรแกรมจากคอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ตที่ใช้งานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพกว่าสมุดเล่มเดียว แต่ทำไมต้องสมุดล่ะ?

เพราะว่าในปัจจุบันใครๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้สมองของเราต้องรับข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีหยุดหย่อน ส่งผลให้สมาธิสั้นลง และไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องตรงหน้าต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

แต่กลับกันสำหรับสมุดหน้าเปล่าๆ (หรือบางเล่มที่มีเส้นขั้น) จะไม่มีสิ่งรบกวนอื่นๆ คอยทำให้เราต้องเสียสมาธิ เช่น ข้อความไลน์แก้งานจากลูกค้า หรือแจ้งเตือนของลดราคาบนแอปที่เราตั้งไว้

สมองของเราจะได้พัก ได้ทบทวนเรื่องราวต่างๆ และโฟกัสกับเรื่องสำคัญได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังใช้งานและเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายกว่า เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถจำสูตรโปรแกรมเอ็กเซลได้อย่างช่ำชอง หรือมีงบพอจะซื้อแท็ปเล็ตดีๆ ไว้ใช้งานสักเครื่อง

แต่ถ้าถามว่ามีกฏห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีรึเปล่า คำตอบคือไม่มีจ้าา ทั้งหมดนี้เราเป็นคนเลือกและตัดสินใจเองเลย!

เพราะไม่ว่าจะเป็น สมุดจดบันทึก หรืออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้น ให้ได้เกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหน บางคนถนัดใช้สมุด บางคนชอบแท็ปเล็ต ดังนั้นจะใช้อะไรก็แล้วแต่เราได้เลยจ้าา


 ต่างกับการจดแบบธรรมดายังไง 


"ดูไปดูมามันก็แค่การจดบันทึกทั่วๆ ไป ใช้สมุดแพลนเนอร์ก็ได้ป่ะ ไม่เห็นจะแตกต่างกันตรงไหน?"

เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่เคยสงสัยแน่นอนว่า เอ๊ะ มันต่างกับการจดบันทึกแบบธรรมดายังไง มีดีอะไรบ้าง ทำไมเดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญ ซึ่งปันโปรจะขอแยกเหตุผลหลักๆ ออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้จ้าา

1. ระบบดัชนี และการโยงข้อมูล

การทำหน้าดัชนีและใส่เลขหน้า เป็นอีกหนึ่งเทคนิคสำหรับการจดแบบ Bullet Journal ในการค้นหาข้อมูลอันมากมายที่เราบันทึกเอาไว้ในแต่ละวัน ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาพริกหน้าไปมา เพียงแค่เปิดไปที่หน้าดัชนี แล้วหาหัวข้อที่เราต้องการ เหมือนกับการหาบทต่างๆ ในหนังสือเรียนนั่นเอง

2. ออกแบบได้ตามใจชอบ!

ถ้าเป็นสมุดแพลนเนอร์ก็จะถูกจำกัดด้วยกรอบ ตาราง ที่สมุดเล่มนั้นฟิกซ์มาให้แล้ว เราก็จะได้ตารางแบบนั้นจดไปทั้งปี แต่สำหรับ Bullet Journal ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สมุดกราฟ หรือสมุดหน้าเปล่า เราสามารถที่จะออกแบบตารางในแบบที่เราต้องการได้นั่นเอง แถมยังได้ลองออกแบบอะไรใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจอีกด้วย

เดือนนี้อยากลองตารางแบบนี้ เดือนต่อไปอยากวาดรูปประกอบด้วย กลับมาเปิดสมุดกี่ครั้งก็ดูเพลินได้ไม่มีเบื่อเลยละน้าา

3. ใช้งานได้หลากหลายในเล่มเดียว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าสมุดแพลนเนอร์ทั้งแบบ Yearly, Monthly หรือ Daily ต่างก็ถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลาทั้งสิ้น จะเปลี่ยนไปจดแบบอื่นก็ไม่ได้เพราะติดเส้นตารางอีก ซึ่ง Bullet Journal ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ เพียงแค่เราเข้าใจระบบการทำงานของมัน ที่เหลือก็ปรับใช้ตามความเหมาะสมกันได้เลย!


 ส่วนประกอบหลัก 


Bullet Journal จะประกอบไปด้วย 7 ส่วนสำคัญ ที่เราต้องใส่ในสมุดเสมอ ได้แก่

  • Bullet (สัญลักษณ์)
  • Index (ดัชนี, เลขหน้า)
  • Future Log (บันทึกอนาคต)
  • Monthly Log (บันทึกประจำเดือน)
  • Daily Log (บันทึกประจำวัน)
  • Move & Connect (การย้ายและโยงข้อมูล)
  • Special Topic (คอลเล็กชั่นพิเศษ)

ในแต่ละอย่างจะมีรายละเอียดการใช้อย่างไรบ้าง เข้ามาดูในหัวข้อถัดไปกันได้เลย


 Bullet (สัญลักษณ์) 


สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายต่างๆ ที่เรากำหนดเอาไว้ จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาและจดบันทึกได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นมากๆ สำหรับการจดแบบ Bullet Journal

  • . งานที่ต้องทำ
  • > งานที่ถูกย้าย
  • < กำหนดการต่างๆ 
  • X งานสำเร็จเรียบร้อย
  • o เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
  • * เอาไว้ย้ำว่าเป็นเนื้อหาสำคัญ
  • - บันทึกไอเดีย, คำคม, ความเห็น
  • (ขีดฆ่า) งานที่ไม่จำเป็น หมดความสำคัญ, ยกเลิก

ซึ่งเราสามารถออกแบบสัญญาลักษณ์ของเราได้ตามใจชอบเลย ไม่จำเป็นต้องตามนี้เป๊ะๆ สะดวกแบบไหนเรากำหนดเองได้เลย ขอแค่เราใช้งานได้ก็ถือว่าโอเคแล้ว


Index (ดัชนีและเลขหน้า)


ดัชนีหรือสารบัญ ซึ่งประโยชน์ของมันก็ชัดเจนอยู่แล้วคือ ช่วยเราค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่จะแตกต่างจากสารบัญในหนังสือตรงที่ว่า Bullet Journal เราไม่จำเป็นต้องเรียงหน้าเป๊ะๆ แบบ 1, 2, 3

เช่น หัวข้อ : การทำโครงการวิจัยหน้า 5-10 และระหว่างนั้นเราก็มีจดหัวข้อวางแผนเที่ยวทะเลที่หน้าถัดไประหว่างหน้า 11-15 พอจะกลับมาบันทึกในหัวข้อโครงการวิจัย ก็เริ่มทำต่อที่หน้า 16 และก็กลับไปเขียนในหน้าดัชนีเพื่อระบุหน้าก็เป็นอันเสร็จสิ้น

อย่างที่รู้ๆ กันว่าในแต่ละวัน บางครั้งแผนที่เราอุตส่าห์ตั้งมาทั้งหมด ก็ไม่เป็นไปตามแพลนที่วางไว้เสมอไป อาจมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาได้ทุกเวลา

ดังนั้นการใส่เลขหน้านี่แหละ ที่ทำให้การจดแบบนี้มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามโอกาส เหมือนกับการสอดแฟ้มใส่ซองเอกสาร ขอแค่อยู่ในซองเดียวกัน พร้อมระบุเลขหน้า แค่นี้ก็เปิดหาง่ายๆ ไม่ต้องเสียเวลาหา


Future Log (บันทึกอนาคต)


อย่าเพิ่งตกใจไปเพราะคิดว่าจะสามารถทำนายอนาคตได้นะ เพราะบันทึกอนาคต คือการระบุสิ่งที่จะต้องทำ หรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบได้กับแผนที่เราตั้งใจจะทำ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น เช่น จัดบ้านเดือนธันวาคม, วางแผนเรียนการตลาดออนไลน์เดือนตุลาคม ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับ บันทึกประจำเดือน ทุกครั้งที่เราเขียนเริ่มต้นเดือนใหม่


 Monthly Log (บันทึกประจำเดือน) 


หน้าปฏิทิน เราสามารถดีไซน์เป็นกรอบได้ตามที่ต้องการเลยจ้าา ไม่จำเป็นจะต้องเรียงแบบนี้เสมอไป หรือใครอยากใช้พื้นที่มากกว่าหนึ่งหน้าก็จัดได้เลยนะ

ทุกครั้งก่อนเริ่มต้นเดือนใหม่ ตั้งสติแล้วกลับไปดูที่หน้า บันทึกอนาคต และเดือนก่อนหน้า ว่ามีอะไรที่เราแพลนไว้จะทำในเดือนนี้รึเปล่า จากนั้นก็เริ่มต้นเขียนบันทึกประจำเดือน โดยใช้หน้าเปล่าสองหน้า หน้าแรกด้านซ้ายเขียนปฎิทินของเดือนนั้นๆ ส่วนด้านขวาให้ระบุลิสต์งาน หรือคิวนัดต่างๆ ที่ต้องทำตามรูปเลยจ้าา


 Daily Log (บันทึกประจำวัน) 


เสร็จจากบันทึกประจำเดือน ก็ได้เวลาจดแบบรายวันกันแล้วล่ะ! สำหรับบันทึกประจำวันนั้น ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพียงแค่เราระบุวันที่ และใส่เลขหน้าให้พร้อม จากนั้นก็จดแบบเป็นลิสต์ลงมา โดยการใช้สัญลักษณ์ที่เราตั้งเอาไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจเนื้อหา

แต่ก็อย่าจดยาวจนเกินไปจนกลายเป็นเรียงความนะ เช่น ส่งไฟล์งานสำหรับการนำเสนอให้กับหัวหน้า นาย ก ในวันพรุ่งนี้ ก่อน 11.00 น. เราก็อาจจะเปลี่ยนให้สั้น กระชับ แต่ยังใจความเหมือนเดิมเป็น ส่งไฟล์นำเสนอ @หัวหน้า ก พรุ่งนี้เช้า

ซึ่งการจดแบบสั้นๆ จะช่วยฝึกเราให้รู้จักย่อยข้อมูล อีกทั้งยังไม่ทำให้เสียเวลาอีกด้วยน้าา


 Special Topic (คอลเล็กชั่นพิเศษ) 


เมื่อมีงาน ไอเดีย หรือบันทึกกิจวัตรประจำวันของเรา ที่สามารถต่อยอดออกไปได้อีก คอลเล็กชั่นพิเศษจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการ เช่น การวางแผนเที่ยววันหยุดยาว ก็สามารถแยกออกไปเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษได้เหมือนกัน โดยอาจต่อยอดออกไปเป็น หาที่เที่ยววิวดีบนภูเขา ลิสต์ข้อมูลที่เราต้องการจากนั้นก็ค่อยๆ ย่อยข้อมูลจนได้คำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด


 Move & Connect (การย้ายและโยงข้อมูล) 


หลังจากที่ได้เรียนรู้ถึงส่วนประกอบสำคัญต่างๆ กันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Bullet Journal แตกต่างจากการจดแบบอื่น นั่นก็คือระบบการเชื่อมโยงและย้ายข้อมูล เปรียบได้กับการย้ายโฟลเดอร์งาน หรือลิงก์ไฟล์นั้นๆ บนคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ว่าเราสามารถทำได้ในสมุดอีกด้วย!

Move (การย้ายข้อมูล)

ไม่ว่าจะเป็นตารางงาน คิวนัดลูกค้า หรือบันทึกอื่นๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ จึงจำเป็นที่เราในฐานะคนจดบันทึก จะต้องอัปเดตข้อมูลให้มีความเป็นปัจจุบัน การย้ายข้อมูลเราจะใช้สัญลักษณ์ “ > ” เครื่องหมายมากกว่า หรือหากใครชอบเครื่องหมายอื่น ก็ตั้งตามที่เราชอบกันได้เลย 

วิธีการใช้

หากว่าในเดือนที่ผ่านมาเรามีงานหรือกิจกรรมที่ยังค้างคา ทำไม่เสร็จ ให้เขียนงานที่ยังไม่เสร็จนั้นๆ ในเดือนใหม่ แล้วใส่เครื่องหมาย “ > ” กำกับไว้ข้างหน้า ตัวอย่างนี้คืองานที่ยังไม่เสร็จจากเดือนกันยายน ก็ถูกโอนย้ายแล้วใส่เครื่องหมายมาไว้ในหน้างานของเดือนตุลาคม

* อีกทริคหนึ่งสำหรับใครที่ต้องการระบุว่า งานนี้ย้ายมาจากวันไหน ก็อาจใส่วันที่ของวันที่เราย้ายมา ใส่ข้างหน้าเครื่องหมาย “ > ” ก็ได้ เช่น 02/09 > เตรียมแผนนำเสนอโครงการ A แสดงว่างานนี้ย้ายมาจากวันที่ 02 กันยายน นั่นเอง

 Connect (การโยงข้อมูล)

นี่เป็นอีกหนึ่งทริคที่หลายคนชอบมากๆ ในการทำ Bullet Journal เพราะนอกจากจะช่วยให้หาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ยังช่วยให้เราไม่รู้สึกว่าการจดด้วยสมุดนั้นลำบากอีกต่อไป มาดูกันเลยว่าต้องทำอะไรกันบ้าง

  • ตัวอย่างเช่นเราได้ทำคอลเล็กชั่นวางแผนไปเที่ยววันหยุดเอาไว้ที่หน้า 5-8 
  • ระหว่างนั้นก็เขียนบันทึกประจำวัน แถมยังวาดรูปอีกสองหน้าจัดเต็ม ตั้งแต่หน้า 9-14
  • จากนั้นกลับมาเขียนคอลเล็กชั่นวางแผนไปเที่ยวต่อให้เสร็จที่หน้า 15-17 
  • เพื่อที่จะได้รู้ว่าเนื้อหาก่อนหน้าและต่อไปอยู่ที่หน้าไหน ก็จะเขียนเลขทับไว้ด้านหลังอย่างนี้
  • หากเริ่มเนื้อหาที่สองที่หน้า 15 ก็จะเป็น 15/5
  • ดังนั้นหน้าที่ 15 คือหน้าเริ่มต้นเนื้อหาที่สอง, หน้าที่ 5 คือหน้าเริ่มต้นเนื้อหาแรกนั่นเอง

เมื่อเขียนกำกับไว้แบบนี้ ก็จะทำให้เราสามารถหาข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม โดยที่ไม่ต้องกลับไปเปิดหน้าดัชนีให้เสียเวลาจ้า


 การออกแบบ (ที่ไม่สมบูรณ์) 


 

สิ่งที่เรามักจะคุ้นตากันดีเวลาที่กล่าวถึง Bullet Journal นั่นก็คือภาพสมุดเรียบเนี้ยบ สไตล์มินิมอล พร้อมกับภาพประกอบสุดอลังการ ราวกับว่าคนที่ทำต้องเป็นศิลปินมากฝีมือแน่นอน และเมื่อเราลงมือทำเองบ้าง ทำไมถึงไม่สวยเหมือนกับที่คนอื่นๆ ทำเลยล่ะ?

แน่นอนว่าหากเราสามารถบันทึกได้ดี และวาดภาพสวยด้วย ก็จะเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ทว่าไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่จะเยี่ยมยุทธ์ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน บางคนเขียนเป็นระบบแต่วาดรูปไม่เก่ง บ้างอาจเขียนไม่รู้เรื่อง แต่วาดรูปเป็นเลิศ

ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจจริงๆ นั่นก็คือบันทึกของเรามีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเราจดดี แต่วาดรูปไม่สวย แต่สุดท้ายเราก็ยังใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ ก็ถือว่าบันทึกนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้ารูปสวยให้ตาย แต่อ่านไม่เก็ท บันทึกของเราก็จะไร้ประโยชน์ทันที

ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าความสวยงามที่ดีนั้น จะต้องมีฟังก์ชันที่เกิดประโยชน์กับเราควบคู่ไปด้วยนั่นเอง


 วางแผนงบการเงินให้พร้อมเที่ยว 


คราวนี้เราจะมาลองใช้ Bullet Journal วางแผนเที่ยวกันบ้าง เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพการใช้งานให้มากขึ้น

ใกล้ช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีกันแล้ว ใครเป็นสายเที่ยว ทำกิจกรรม ก็สามารถใช้ Bullet Journal ออกแบบและวางแผนเที่ยวได้เหมือนกันนะ โดยการเริ่มสร้างคอลเล็กชั่นพิเศษเกี่ยวกับแผนท่องเที่ยวของเรา เริ่มจากเขียนกว้างๆ ก่อน ระบุว่าทำไมอยากจะไป ไปที่ไหน ทำอะไร งบประมาณเท่าไหร่ คร่าวๆ จากนั้นก็ค่อยหาข้อมูลพิจารณา ตัดตัวเลือกให้แคบลง

และก็ขยายไปเป็นคอลเล็กชั่นย่อย อย่างเรื่องค่าอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง ว่าต้องเตรียมอะไร ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง แยกย่อยออกมา ถ้าทำแบบนี้เราก็จะสามารถมองภาพรวมของแผนนี้ และรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจนอีกด้วยน้าา


 เตรียมอุปกรณ์ทำ Bullet Journal กันนน 


ได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ กันแล้วว คราวนี้ก็มาเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อมจดกันได้เลยจ้าา ซึ่งทุกวันนี้เราก็มีสมุดหลายแบบหลากสไตล์ให้เลือกเยอะเลยนะ มาดูกันว่าสมุดแบบไหนจะเหมาะกับเราบ้าง!

ปันโปรแนะนำ

สมุดกราฟ/เส้นกริด

เป็นสมุดจดที่เหมาะกับการทำ Bullet Journal อย่างมาก! เพราะสามารถจดบันทึก ทำตาราง หรือวาดรูปด้วยก็ยังได้ แถมเส้นตารางยังช่วยจัดระเบียบข้อมูลของเราให้อ่านง่ายอีกด้วยน้าา

ราคา 150 บาท

ซื้อได้ที่ : https://ppro.pro/3mqbcVZ

สมุดลายจุด

สำหรับคนที่รู้สึกว่าสมุดกราฟนั้นดูลายตาไป ก็ขอแนะนำเป็นสมุดลายจุดแทนจ้าา เพราะแม้ว่าจะไม่มีเส้นตาราง เราก็ยังสามารถตีกรอบ ทำตารางได้เหมือนกับสมุดกราฟ แถมยังไม่มีเส้นกั้นฟิกซ์จนเกินไปอีกด้วย เรียกว่าเขียนก็ได้ ทำตารางก็ดี หรือใครชอบวาดรูป ทำมายแมพปิ้ง ก็ใช้สมุดลายจุดทำได้เล้ยย

ราคา 390 บาท

ซื้อได้ที่ : https://ppro.pro/3mqUW78

สมุดเปล่า

สมุดสำหรับสายวาดรูปโดยแท้! หน้าเปล่าๆ พร้อมให้ใส่ข้อมูลและจินตนาการได้อย่างเต็มที่ จะวาดตรงไหน จดอะไร ก็ทำได้หมดไม่ต้องมีเส้นมากั้นให้รกสายตา ใครที่คิดว่าเราชอบอะไรที่เป็นอิสระก็ต้องจัดสมุดเปล่าไปใช้กันแล้วละน้าา

ราคา 149 บาท

ซื้อได้ที่ : https://ppro.pro/35DeP5b

สมุดเส้นบรรทัด

สายจดอย่างเดียว ไม่เน้นสวย เอาแต่เนื้อไม่มีน้ำ เหมาะกับสมุดแบบนี้สุดๆ ไม่รู้จะจดยังไง ไล่เป็นลิสต์ลงมา แล้วก็ใส่เครื่องหมายกำกับไว้ข้างหน้าอย่างเดียว เป็นอันเสร็จเรียบร้อยจ้าา

ราคา 679 บาท

ซื้อได้ที่ : https://ppro.pro/3kkZGtg


📙 สรุปให้ก่อนวางแผน 📙 

  • ผู้ที่เริ่มเขียน BUJO ควรแบ่งเวลามาเขียนบันทึกให้เป็นประจำเพื่อความต่อเนื่อง และยังเป็นการฝึกวินัยไปในตัวด้วย
  •  ถ้าใครยังไม่มีของตกแต่งละก็ ลองเข้าไปในช้อป FahFahsWorld กันได้เลยน้าา
  • ที่สำคัญเลยคือ ไม่จำเป็นต้องเน้นความสวยงาม แค่จดให้อ่านแล้วเราเข้าใจ เกิดประโยชน์กับตัวเราก็พอจ้า

ข้อมูลจาก 1 2 3 4 5

  • avatar writer
    โดย Belt
    Temporary content writer
แสดงความคิดเห็น