พักก่อน ! "สังคมชายเป็นใหญ่" ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ทำไมเรายังย่ำอยู่กับที่ ?

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer29 พ.ย. 2565 avatar writer743
พักก่อน ! "สังคมชายเป็นใหญ่" ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ทำไมเรายังย่ำอยู่กับที่ ?

 

“โลกหมุนเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย”

 

อดีตวลีสุดฮิตที่หลายคนเคยใช้เพื่อความสนุกสนาน ปนเสียดสีสังคมหน่อย ๆ นี้ จริงอยู่ที่ว่าความหมายของมัน เราอาจจะใช้อ้างอิงถึงบางสถานการณ์ได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคำในประโยคนี้จะสามารถแทนสภาพสังคมปัจจุบันได้ทั้งหมด เพราะประโยคที่บอกว่า “ฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย” กับ “เรื่องบางเรื่อง” ถ้าเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ฉันยังคงย่ำอยู่กับที่อยู่เลยพี่บัวลอย” คงจะถูกต้องกว่า

 

อย่างหนึ่งในเรื่องที่หยิบมาเป็นประเด็นได้เสมอ แถมยังมีเคสตัวอย่างให้ได้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ มายาคติเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศ ที่ไม่ใช่แค่เพศทางเลือกอย่างเดียวที่จะถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น แต่อย่างเพศชายหรือเพศหญิงเอง ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมากล่าวถึงได้อยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี แต่ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ สรุปแล้ว คือ โลกหมุนไปเร็วจนเราวิ่งตามไม่ทัน หรือเป็นเพราะตัวเราเองต่างหากที่มัวแต่ปิดกั้น ไม่ยอมอ้าแขนเปิดรับอะไรใหม่ ๆ เสียเอง ?

 


 

 

ยินดีด้วย คุณเกิดในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ 🎉 

 

จริง ๆ การหยิบเอาประเด็นเรื่องสังคมผู้ชายเป็นใหญ่มาพูดถึงนี้ ไม่ได้ต้องการให้ใครก็ตามที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ เข้าใจผู้ชายผิดไป (ดังนั้น คุณผู้ชายทั้งหลายจงสบายใจได้) แต่การหยิบเอาประเด็นนี้มาพูดถึงนั้น เราแค่ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า สังคมในปัจจุบัน (รวมไปถึงก่อนหน้านี้) มีการให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง กล่อมหูกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ในบ้านเราหรอกนะ แต่ในอีกหลาย ๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นในแถบเอเชีย หรือจะข้ามไปทางฝั่งตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ หรือว่าในยุโรปเอง ก็มีชุดความคิดและทัศนคติเหล่านี้ปะปนอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

 

และเพราะมายาคติแบบนี้นี่เอง ที่ส่งผลทำให้สังคมทุกวันนี้

กลายเป็นสังคมที่ "ผู้ชายเป็นใหญ่" ในแบบที่ปฏิเสธไม่ได้

 

ยกตัวอย่างครอบครัวของคนจีน รวมไปถึงคนไทยเชื้อสายจีนที่ คนเป็นพ่อเป็นแม่มักจะคาดหวังในตัวของลูกชายมากกว่าลูกสาว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสอะไรดี ๆ เข้ามา โอกาสดี ๆ เหล่านั้นก็จะถูกส่งให้กับลูกชายก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนทางด้านของลูกสาวก็จะถูกวางบทบาทให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน เป็นภรรยา เป็นแม่ของลูกที่ดี ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความสามารถ หรือมีการศึกษาอะไรที่สูงมาก ผิดกันกับลูกชายที่จะต้องเรียนจบให้สูง ๆ มีหน้าที่การงานที่ดี เพื่อที่จะได้เป็นหน้าเป็นตาให้กับคนในครอบครัว

 

การพร่ำสอน และการได้รับชุดความคิดและทัศนคติเหล่านี้มาตั้งแต่โบราณ ส่งผลทำให้คนรุ่นหลังรับเอามายาคติเหล่านี้มาใช้กับชีวิตของตัวเองด้วยเช่นกัน บางครอบครัวซีเรียสมาก บางครอบครัวอาจจะมีการยืดหยุ่นบ้าง ซึ่งอนาคตของเด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ลืมตาดูโลกขึ้นมา ก็จะถูกตัดสินด้วยสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวพร่ำสอนกันมานี่แหละ ส่วนจะซีเรียสมาก-น้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการสอนของคนในครอบครัวล้วน ๆ เลย

 


 

 

การให้ความสำคัญกับสังคมผู้ชายเป็นใหญ่

ส่งผลทำให้ผู้หญิง "ใช้ชีวิตได้ยากขึ้น"

 

เมื่อเราโตขึ้น มีโอกาสต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้น ในสังคมที่ยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่ ก็จะยิ่งผลักดันให้ผู้ชายไต่ระดับขึ้นไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับผู้หญิง ที่ถูกมองว่าเป็นช้างเท้าหลังมาโดยตลอด จนทำให้ไม่ได้รับการไว้ใจ หรือเชื่อใจว่าพวกเธอนั้นจะมีความสามารถเท่าเทียมกับผู้ชาย เลยทำให้ภาพของความเหลื่อมล้ำค่อย ๆ ปรากฏให้เห็น และไม่ใช่แค่เรื่องภายในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว

 

โดยความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ได้ปรากฏให้เราเห็นผ่านคุณภาพชีวิต สุขภาพ การศึกษา หน้าที่การงาน สถานะทางการเงิน อำนาจในการตัดสินใจ ทั้งยังรวมไปถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตด้วย

 

  • การเข้าถึงการศึกษา - จากผลการสำรวจจากทั่วโลกมีข้อมูลระบุเอาไว้ว่า จำนวนประชากรผู้หญิงที่ไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีปริมาณมากกว่าผู้ชาย โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้สูงถึง 58% ของประชากรที่เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอย่างที่เรารู้กันดีกว่า การศึกษาทุกวันนี้มีความจำเป็น และสำคัญมากกับอนาคต  เพราะการศึกษาถือว่าเป็นก้าวแรกของการต่อยอดที่ดี ในเมื่อผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่สามารถจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้แบบนี้ ก็เท่ากับว่าพวกเธอจะขาดความรู้ในส่วนใดส่วนหนึ่ง (ที่จำเป็นจะต้องมี) ไปโดยทันที

  • ความเท่าเทียมในการจ้างงาน และการได้รับค่าแรง - ด้วยความที่ว่าลักษณะทางกายภาพระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เมื่อเทียบกันแล้วมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปร่าง เลยทำให้ผู้หญิงมักจะถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า ไม่สามารถทำงานหนัก ๆ ได้ ดังนั้นช้อยส์แรกของผู้ที่ต้องการจะจ้างงานส่วนใหญ่ เลยจะตกไปอยู่ที่ลูกจ้างที่เป็นผู้ชายมากกว่า

    และด้วยเหตุผลนี้เลยทำให้ อัตราค่าแรงเริ่มต้นของผู้หญิงอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก  ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราค่าแรงของผู้ชาย ฝ่ายที่มีเกณฑ์จะได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่า ก็หนีไม่พ้นผู้หญิง ซึ่งถ้าพวกเธออยากจะได้ค่าจ้างที่อยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ชาย ก็จะต้องยอมแลกด้วยการรับจ็อบเพิ่ม ซึ่งมองยังไงก็ดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย มันเลยส่งผลทำให้เกิดเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานสตรีขึ้นในบางประเทศ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการจ้างงานนั่นเอง

  • กฎหมายคุ้มครอง (ที่อ่อนเกินไป) - ต่อให้มีกฎหมายคุ้มครองสตรีอยู่ก็จริง แต่ปัญหาที่พบตามมาหลังจากนั้นก็คือ ความเข้มงวดของกฎหมายที่ยังอ่อนเกินไป  เพราะในประเทศที่กฎหมายคุ้มครองนี้อ่อนมาก ๆ (หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองนี้อยู่เลย) ส่งผลทำให้เรามักจะเจอข่าวผู้หญิงถูกทำร้าย หรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงให้ได้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ นี่ยังไม่รวมเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางชนชาติอีกนะ ซึ่งความหละหลวมตรงนี้ได้ทำให้เกิดเป็นความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตของผู้หญิง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการถูกทำร้ายได้อีกด้วย

 

  • อิสระในการใช้ชีวิต และอำนาจในการตัดสินใจ - เพราะมายาคติที่กำลังกดผู้หญิงให้ตัวเล็กอยู่ ณ ตอนนี้ ส่งผลทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่ได้รับอิสระในการใช้ชีวิตเท่าที่ควร  ยกตัวอย่างเช่น อิสระในการแต่งตัว อย่างก่อนหน้านี้ที่มีกระแสของการโนบรา ที่คนบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการที่ผู้หญิงออกไปใช้ชีวิตโดยที่ไม่สวมบรานั้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิด  Sexual Harassment ขึ้นมาได้

    รวมไปถึงเรื่องของการตัดสินใจ ที่เมื่อเทียบกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้ชายมักจะได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และตัดสินใจมากกว่าผู้หญิง ต่อให้คำพูดที่ออกมาจะสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกันก็จริง แต่น้ำหนักความน่าเชื่อถือของผู้ชาย มักจะมีมากกว่าผู้หญิงเสมอ  ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างวัฒนธรรมในองค์กรที่ยึดการบริหารงานแบบสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งพนักงานที่ได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งส่วนใหญ่ มักจะมีสัดส่วนเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

  • สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ - เมื่อเทียบกันระหว่างคนไข้ที่เป็นผู้ชาย กับคนไข้ที่เป็นผู้หญิง ในบางประเทศ คนไข้ที่เป็นผู้หญิงจะไม่ได้ถูกเลือกให้เป็น Priority แรกในการรักษา  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงโอกาสในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ อาทิ วิธีการคุมกำเนิด หรือได้รับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านสุขภาพที่จะช่วยส่งเสริมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงดีขึ้น 

  • การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก - ในกลุ่มคนที่ยังย่ำอยู่กับที่ส่วนใหญ่ มักจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแสดงออกทางความคิดว่า เป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  ทั้ง ๆ ที่เราทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกเหมือนกัน

    ซึ่งในคนกลุ่มนั้นอาจจะเข้าใจว่า ผู้หญิงไม่ได้มีหน้าที่ในการแสดงออก หรืออาจจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจที่มากพอ เลยทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะสังคมไม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกให้กับพวกเธอ ซึ่งมายาคติที่ยังคงย่ำอยู่กับที่แบบนี้ อาจจะทำให้สังคมนั้น พลาดโอกาสที่จะได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ หรือการได้หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ไป

 

ซึ่งบรรดาตัวอย่างที่ว่ามานี้ เราทุกคนคงจะเห็นคำว่า โอกาส ที่ซ่อนตัวอยู่ในทุกบริบท เพราะ ทุกอย่างที่เอ่ยมา มันคือช่องทางของโอกาสทั้งนั้น และถ้าเกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ก็เท่ากับว่าในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ได้ถูกตัดโอกาสออกไปแล้ว 1 ช่องทาง ซึ่งกว่าเราจะหาหนทางในการพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับได้ โลกก็คงจะหมุนไปไกล จนผู้หญิงส่วนใหญ่วิ่งตามกันไม่ทัน

 

แต่ของแบบนี้ถ้าให้โทษพื้นฐานของครอบครัวอย่างเดียวมันก็คงจะไม่ถูก เพราะในยุคสมัยนี้สื่อต่าง ๆ ได้มีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติของคนเรามากกว่าที่คิด อย่างเด็กบางคนนอนไถ TikTok แค่วันเดียว วันต่อมาก็สามารถเลียนแบบท่าทางการเต้น หรือทำชาเลนจ์ดัง ๆ ที่เป็นกระแสอยู่ในตอนนั้นกันได้แล้ว ยิ่งถ้าเป็นอะไรที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเรามากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และทัศนคติของเราได้ง่าย และไวขึ้นมากเท่านั้น

 

 

ปัจจุบันนี้เลยมีหลาย ๆ องค์กร ที่ออกมาแสดงจุดยืนในการ เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของผู้หญิง กลุ่มเพศทางเลือก หรือว่าจะเป็นกลุ่มคนต่างชาติ ต่างศาสนา ให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับการยอมรับจากคนในสังคมมากขึ้น มีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคมมากขึ้น ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน กับกลุ่มที่ถูกเพิกเฉย

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน จนกลายเป็นการประกาศศักดาของความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงตอนนี้  จาก 193 ประเทศทั้งหมดบนโลก ตอนนี้มีเพียง 12 ประเทศเท่านั้น ที่ออกมาให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิของสตรีออกมาอย่างเป็นทางการ  ซึ่ง 12 ประเทศที่ว่านั้นก็ได้แก่

 

  • ประเทศเบลเยียม
  • ประเทศแคนาดา
  • ประเทศเดนมาร์ก
  • ประเทศฝรั่งเศส
  • ประเทศกรีซ
  • ประเทศไอซ์แลนด์
  • ประเทศไอร์แลนด์
  • ประเทศลัตเวีย
  • ประเทศลักเซมเบิร์ก
  • ประเทศโปรตุเกส
  • ประเทศสเปน
  • ประเทศสวีเดน

 

แต่ก็ใช่ว่าประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการออกมาให้การสนับสนุน หรือหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้กันเลยนะ แต่เราขอใช้คำว่า อยู่ในระหว่างกระบวนการ เพราะอย่างที่เห็นกันในบางประเทศว่าเริ่มมีการร่างกฎหมาย หรือแสดงตัวอย่างให้เห็นถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายกับเพศหญิงกันไปแล้ว อาทิ นายกรัฐมนตรีผู้หญิง ประธานาธิบดีผู้หญิง รองประธานาธิบดีผู้หญิง นักวิทยาศาสตร์ผู้หญิง นักกีฬาผู้หญิง กัปตันหญิง ฯลฯ ที่เป็นการประกาศจุดยืนเป็นนัย ๆ ว่าต่อให้เป็นผู้หญิง แต่เราก็มีความรู้ ความสามารถไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน

 

ดังนั้น ถ้าต้องการจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เราก็ขอย้อนกลับไปยังคำถามในตอนต้นกันอีกครั้ง ว่าต้นตอของปัญหาแท้จริงแล้วมาจาก โลกที่หมุนไปเร็วจนเราวิ่งตามไม่ทัน หรือเป็นเพราะตัวเราเองต่างหากที่มัวแต่ปิดกั้น ไม่ยอมอ้าแขนเปิดรับอะไรใหม่ ๆ เอง ?

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : unicef, peace corps, human rights careers, Columbia Business School และ The Gender Wage Gap โดย Francine D. Blau และ Lawrence M. Kahn

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น