รู้หรือไม่! โรคออฟฟิศซินโดรม โรคในวัยทำงาน ใช้เงินประกันสังคมได้

avatar writer
avatar writer10 ส.ค. 2563 avatar writer27.4 K
รู้หรือไม่! โรคออฟฟิศซินโดรม โรคในวัยทำงาน ใช้เงินประกันสังคมได้

 ออฟฟิศซินโดรม โรคในวัยทำงานที่ใคร ๆ ก็เข้าเทรนด์  🤕
รู้หรือไม่ว่า ใช้เงินประกันสังคมได้!
ไม่ต้องควักเนื้อ ตามไปดูกันว่ามันทำยังไง


 

โรคออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน 😫  เป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากเพื่อน ๆ ไม่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างถูกวิธี แต่ถ้าหากมันเรื้อรังแล้ว ทางออกของปัญหานี้คือการรักษาโดยแพทย์ค่ะ แต่! บางคนก็ไม่อยากไปหาหมอ เพราะกลัวว่าจะใช้เงินประกันสังคมไม่ได้ แล้วถ้าออกเงินเองอาจจะหลายบาท ก็เลยเลือกที่จะปล่อยมันไป ปันโปรบอกเลยว่าไม่ได้เด็ดขาด โรคนี้มาพร้อมความเสี่ยง ๆ หลาย ๆ อย่างเลยล่ะค่ะ

 

โรคออฟฟิศซินโดรม

Punpro Highlight

  • อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม
  • โรคออฟฟิศซินโดรมอันตรายไหม
  • สารพัดโรคจากออฟฟิศซินโดรม
  • วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม
  • โรคออฟฟิศซินโดรม รักษาที่ไหนดี
  • การใช้ประกันสังคมรักษาออฟฟิศซินโดรม

 


อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม


 

หากเพื่อน ๆ มีอาการเหล่านี้

👉  ปวดหลัง

👉  ปวดคอ บ่า ไหล่

👉  ปวดข้อมือ

👉  ปวดหัว

 

นั่นแหละค่ะ 😰  อาการมันมาขนาดนี้แล้ว เพื่อน ๆ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) อย่ารอให้เป็นหนัก เพราะมันอาจทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง แต่..อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด โดยสามารถปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดได้ที่แผนกกายภาพบำบัด หรือการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม หรือหากเรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมได้ด้วยตนเองค่ะ

 

 


ออฟฟิศซินโดรมอันตรายไหม?


 

แพทย์หญิงสุคนธมาศ เสรีสิทธิธรรม แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้เล่าว่า สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนาน ๆ และไม่มีการยืดตัว หรือเปลี่ยนท่าทาง เกิดจากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การเพ่งใช้สายตามาก ๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดหัวปวดตาได้ สภาพแวดล้อมในการทำงานหากไม่เหมาะสมก็มีโอกาสค่ะ เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้การทำงานที่หนักจนเกินไป หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาได้ น่ากลัวใช่ไหมคะ อย่าปล่อยปละแล้วหันมาดูแลสุขภาพกัน

 

โรคออฟฟิศซินโดรม

 


สารพัดโรคจาก "ออฟฟิศซินโดรม"


 

ออฟฟิศซินโดรม เสี่ยงโรคอันตรายดังต่อไปนี้

  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • กระดูกสันหลังคด (อาการนี้เห็นบ่อยมากกก)
  • แขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมาก อาจทำให้กล้ามเนื้อหด ยึด ตึง
  • โรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียด ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน
  • ไขมันในเลือดสูง จากการกินอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย
  • โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

โรคออฟฟิศซินโดรม

 


วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเอง


 

ออฟฟิศซินโดรมเป็นแล้วก็รักษาได้ค่ะ วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเองไม่ว่าจะเป็น...

  • หากเริ่มรู้สึกเมื่อยล้า ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง เช่น ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป หากใครที่มี Smart Watch อยู่แล้วก็โชคดีหน่อย เพราะมันจะเตือนให้เราลุกเดิน ในกรณีที่เรานั่งนานเกินไปได้ด้วย
  • ออกกำลังกาย เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้ออย่างม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็น และข้อยึด ที่สำคัญยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายได้อีกด้วย
  • ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระร่างกาย ทำความสะอาดออฟฟิศให้โล่ง และมีอากาศถ่ายเทมากขึ้น
  • หากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว อาการปวดกล้ามเนื้อมันยังไม่ดีขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ เราควรรีบปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อรับการตรวจประเมินรักษาด้วยยา และการกายภาพบำบัดร่วม 3-7 ครั้ง แล้วแต่สาเหตุและความรุนแรงของโรค

 


โรคออฟฟิศซินโดรม รักษาที่ไหนดี


 

ในกรณีที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ทันแล้ว 😱  โรคออฟฟิศซินโดรม สามารถรักษาได้หลายที่มาก ๆ ปันโปรแนะนำสถานที่ยอดฮิตกันค่ะ

 

ออฟฟิศซินโดรม

 

1. โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล 

ขั้นตอนการรักษาจะมีตั้งแต่ กายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาและลดอาการปวดเรื้อรัง สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อย จากการทำงานซึ่งก่อให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม ด้วยเทคนิคเฉพาะทางกายภาพบำบัดและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ อาทิ เลเซอร์กำลังสูง, คลื่นแม่เหล็ก หรือคลื่นอัลตร้าซาวน์ ที่จะช่วยบรรเทา อาการปวดเรื้อรัง, เส้นประสาทถูกกดทับและพังผืด รวมไปถึงปัญหาข้อติด, ปวดเข่า, ปวดหลัง จากข้อเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน ซึ่งวิธีการรักษาในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับคุณหมอพิจารณาว่าเราควรทำแบบไหน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :  theworldmedicalcenter.com

 

โรคออฟฟิศซินโดรม

 

2. โรงพยาบาลธนบุรี

หากใครเปิดรีวิวบ่อย ๆ หลายเสียงจะลงความเห็นว่าโรงพยาบาลธนบุรีให้คำปรึกษาดีมาก โดยแนวทางการรักษาจะมี 2 แบบคือ

1. การรักษาที่อาการ เช่น ให้การรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด การฝังเข็มไปตามตำแหน่งที่เกิดปัญหาและอาจมีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าร่วมด้วย

2. การรักษาที่สาเหตุของปัญหา หรือที่เรียกว่า “ Active Therapy” จะให้ผลการรักษาที่ครอบคลุมยาวนานกว่า การรักษาในแนวทางนี้มุ่งเน้นฟื้นฟูโครงสร้างที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาโดยใช้เทคนิคการจัดปรับโครงสร้างแก้ไขความสมดุลของร่างกายรวมไปถึงการพัฒนาสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.thonburihospital.com 

 

รักษาออฟฟิศซินโดรม

 

3.โรงพยาบาลศิครินทร์

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตคนทำงานออฟฟิศ ที่โรงพยาบาลศิครินทร์ จะมีคลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด มุ่งให้บริการทางการแพทย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายค่ะ ซึ่งวิธีรักษาก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบท่ากายบริหารเหยียดยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการ โดยผู้เชี่ยวชาญ การนวด กดจุด หรือการใช้เครื่องมือประคบทางกายภาพบำบัด การสอดแทรกท่ากายบริหารเพื่อเพิ่มความคงทนของกล้ามเนื้อที่มีอาการเข้าไปในการออกกำลังกายประจำวันของผู้ป่วย การรักษาด้วยการดัดข้อ การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยเข็ม ฝังเข็ม หรือฉีดยาลงบนกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์และออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.sikarin.com/

 

ออฟฟิศซินโดรม

 

4. โรงพยาบาลพญาไท 3

แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมของที่นี่ ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด ลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเอ็นกล้ามเนื้อด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้มือดัดดึง/นวด (mobilization/massage) การกดตรงจุดกล้ามเนื้อ (trigger point) ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด  โดยใช้คลื่นกระเเทก (shockwave) รักษาโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (shotwave diathermy) คลื่นเหนือเสียง (ultrsound) เครื่องเลเซอร์ (low level laser) การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (electrical stimulation) การประคบความร้อน  บางรายต้องได้รับการดึงคอ/ดึงหลัง (traction)  ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การเลือกใช้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับตามความเหมาะสม และการวินิจฉัยโรคจากดุลพินิจของนักกายภาพบำบัด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม www.phyathai.com

 

รักษาออฟฟิศซินโดรม

 


ประกันสังคมใช้รักษาออฟฟิศซินโดรมได้จริง ๆ


 

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ดูแลหลักประกันการทำงานให้แก่แรงงาน ได้ผลักดัน พ.ร.บ. เงินทดแทนฉบับใหม่ หรือชื่อเต็มที่ว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง “รองเลขาฯ สปส.” ได้ชี้แจงว่า กองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จัดหนัก จ่ายแทนลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงานจนสิ้นสุดการรักษา “ออฟฟิศซินโดรม” ก็ใช้สิทธิ์ได้!

 

ประกันสังคม ออฟฟิศซินโดรม

 

“การดูแลผู้เจ็บป่วยจากการทำงานตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนนี้จะครอบคลุมหมด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ผลกระทบจากฝุ่นละอองหรือสารเคมีในโรงงาน หรือแม้แต่โรคออฟฟิศซินโดรมซึ่งมีอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ จากการนั่งทำงานนาน ๆ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจากการยกของหนักติดต่อกันนาน ๆ ลูกจ้างก็สามารถรับการรักษาหรือรับเงินทดแทนกรณีต้องหยุดงานจากกองทุนฯ ได้ หรือกรณีทุพพลภาพก็ครอบคลุมหมด ไม่ใช่แค่ตาบอด แขนขาดขาขาด แม้แต่เส้นเลือดในสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็ได้รับเงินทดแทนเช่นกัน” รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมระบุไว้

 

ประกันสังคม ออฟฟิศซินโดรม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://sso-life.com/


ทำไมเข้ารับการรักษาแล้วเสียเงิน เราไปผิดโรงพยาบาลหรือเปล่า?


 

กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาล ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานได้แจงไว้ว่า

  • การเข้ารับการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก หรือ ผู้ป่วยใน หากเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เว้นแต่ ผู้ประกันตน ขอพิเศษนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ผู้ประกันตนต้องเสียส่วนต่างเอง ซึ่งรายละเอียดการขอพิเศษ แนะนำให้ผู้ประกันตน สอบถามกับทางสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาลโดยตรง
  • โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือก ถือเป็น “โรงพยาบาลหลัก” ซึ่งโรงพยาบาลหลักนั้น อาจมีสถานพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลระดับรอง หรือคลินิก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตน โดยผู้ประกันตนสามารถเข้าไปรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • หากการรักษาโรคบางโรคที่สถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาลไม่สามารถรักษาได้ ก็จะส่งตัวไปรักษาที่สถานพยาบาลที่มีศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตน โดยสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

 


 

🤷🏻  สรุปก่อนใช้เงินประกันสังคมรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม 🤷🏻

  • ดูชื่อโรงพยาบาลดี ๆ ว่าเราเข้าไปใช้ประกันสังคมถูกที่ไหม
  • ถ้าเราไม่สะดวกไปโรงพยาบาลหลัก ก็ดูว่าเขามีเครือข่ายที่ไหนที่เราเข้าไปใช้ได้บ้าง
  • การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น เช่น ให้กินยาก็กินยา ถ้ามันมีนอกเหนือจากแพทย์สั่ง เราต้องจ่ายส่วนต่างเองค่ะ (ตรงนี้คุยกับแพทย์ดี ๆ) เช่น อยากฝังเข็มเพิ่ม ครอบแก้วเพิ่ม แต่แพทย์คิดว่ามันไม่จำเป็น แต่เราอยากทำ อันนี้คือส่วนต่างนะคะ

 

via GIPHY

ขอบคุณข้อมูลจาก 1 2 3

แสดงความคิดเห็น