อยู่บ้านกันนาน ได้เวลาสำรวจตัวเอง ! นี่เราเป็น “โรคแพนิค” กันแล้วหรือยัง ?

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer14 ต.ค. 2564 avatar writer6.6 K
อยู่บ้านกันนาน ได้เวลาสำรวจตัวเอง ! นี่เราเป็น  “โรคแพนิค” กันแล้วหรือยัง ?

 

เรื่องสุขภาพนี่เป็นอะไรที่ละเลยไม่ได้จริงๆ  ล่าสุด หนุ่ม กรรชัย พิธีกรและนักแสดงชื่อดังได้ออกมาเปิดเผยผ่านรายการ Woody FM ว่าตัวเองเป็นโรคแพนิค จนถึงขนาดเคยไม่ออกจากบ้านเป็นเวลานานถึง 1 ปีมาแล้ว !

 

ซึ่งถ้ามองในแง่ดี ก็คือ ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนเช่นกันที่จะหนีโรคนี้ได้พ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนหน้านี้ที่พวกเราจะต้องเปลี่ยนกิจวัตรมาใช้เวลาอยู่ที่บ้านกันนานขึ้น เลยทำให้กิจกรรมทุกอย่างถูกรวมมาไว้ที่บ้านในแบบที่ปฏิเสธไม่ได้ บรรยากาศการออกไปข้างนอก หรือว่าพบเจอใครเลยน้อยลง โอกาสของการเป็นโรคนี้ก็จะยิ่งมีเปอร์เซ็นต์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

สำหรับใครที่แพนิคกันตั้งแต่ความกลัวการติดเชื้อไวรัส ตอนนี้เห็นทีจะต้องมาสำรวจตัวเองกันเพิ่มเติมแล้วว่า ความกลัวที่เรากำลังเป็นอยู่นั้น มีสาเหตุมาจากไวรัสจริงๆ หรือเรากลายเป็นคนที่แพนิคกับทุกอย่างไปซะแล้ว

 


 

 

ได้เวลาสำรวจอาการของ "โรคแพนิค"

 

โรคแพนิค เอาจริงๆ เหมือนเป็นโรคที่ดูไม่รุนแรง แต่ทว่าแท้จริงแล้วอันตรายกว่าที่หลายคนคิด อาการเบื้องต้นของโรคนี้ คือ การตื่นตระหนกอย่างรุนแรงเมื่อร่างกายของเราสัมผัสได้ว่ากำลังไม่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจจะมี หรือไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้

 

ปกติแล้วคนเรามักจะมีอาการแพนิคเกิดขึ้นกันเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากความตื่นเต้น หรือวิตกกังวลไปก่อนล่วงหน้า ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไป หลังจากที่เราผ่านความวิตกกังวลเหล่านั้นมาได้แล้ว ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มักจะทำให้เราแพนิคบ่อยๆ นั่นก็คือ สมัยที่ต้องพรีเซนต์งานหน้าห้อง คือก่อนพรีเซนต์งานเราจะตื่นเต้นมากๆ แต่พอการพรีเซนต์จบลง อาการแพนิคของเราก็จะหายไปเอง 

 

แต่ในบางคนอาจจะยิ่งไปกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การหวาดระแวงกับทุกสิ่งรอบตัว รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยตลอดเวลา หรือมีความกังวลในการเจอหน้าผู้คน แม้แต่คนรู้จักเองก็ยังกลัว ใครที่มีอาการเหล่านี้ บางทีคุณอาจจะเข้าข่ายของการเป็นโรคแพนิคกันไปแล้วก็ได้นะ

 

 

การมาของอาการแพนิคส่วนใหญ่ มักจะไม่มีสัญญาณเตือนก่อนล่วงหน้า บางคนมักจะเป็นๆ หายๆ อย่างบางคนอาจจะต้องเผชิญกับอาการวิตกกังวลกันอยู่บ่อยๆ จนทำให้รู้สึกอึกอัด ไม่สบายใจ และใช้ชีวิตไม่สะดวกกันไปเลย สำหรับใครที่มีอาการดังกล่าวนี้เข้ามาทักทายบ่อยๆ ให้พึงระวังไว้ก่อนเลยว่า เราอาจจะเป็นโรคแพนิคเข้าให้แล้ว !

 

  • รู้สึกว่ากำลังจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง
  • กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวว่าตัวจะเป็นบ้า รวมถึงกลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิต
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • เหงื่อออก
  • ตัวสั่น
  • หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มปอด
  • หนาวสลับกับร้อนวูบวาบ
  • รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนแต่ไม่มีอะไรออกมา
  • ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ หน้ามืด เหมือนจะเป็นลม
  • มีอาการชา หรือรู้สึกซ่าๆ
  • รู้สึกว่ารอบตัวของเรามีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนที่ผ่านมา

 

ยิ่งไปกว่านั้น คือ ในบางคนร่างกายอาจจะแสดงอาการหลายอย่าง ไม่ใช่แค่อย่างเดียวจากทั้งหมดทุกข้อนี้ ดังนั้น ใครที่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการจากช้อยส์ด้านบนนี้มากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ก็ให้รีบทำการนัดเข้าไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา เพราะการใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ไปนานๆ เข้า อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่สูญเสียความมั่นใจ ไม่กล้าออกไปพบใคร และขาดสีสันในชีวิตไปโดยปริยาย

 


 

 

| อาการแพนิค ถ้าเป็นแล้วรักษาหายไหม ?

 

สำคัญที่สุดเลย ก็คือ ถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นโรคแพนิค ให้รีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุด  เพราะถ้าเราปล่อยให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ อาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นหัวใจวายฉับพลัน จนเสียชีวิตเลยก็เป็นได้

 

สำหรับวิธีการรักษานั้นจะเน้นไปที่การรักษาด้วยยา ควบคู่ไปกับการบำบัด สำหรับใครที่เพิ่งเป็นโรคแพนิคในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใครที่มีอาการของโรคแพนิคกันมานานก็อาจจะใช้เวลารักษากันนานหน่อย ก็ขอให้อดทน เดี๋ยวอาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องนะจ๊ะ

 

| จริงๆ แล้วโรคแพนิคมาจากอะไร แค่ความกังวลอย่างเดียวหรอ ?

 

อย่างที่บอกไปว่าโรคแพนิคจะมีอาการที่แสดงออกชัดเจนเกี่ยวกับสภาพทางจิตใจ โดยการแสดงออกในที่นี่ จะเป็นการแสดงออกผ่านความวิตกกังวล ความกลัว ความสิ้นหวัง ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วสาเหตุของโรคนี้มีที่มาจากหลายปัจจัยมากๆ ไม่ว่าจะเป็น การถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ ม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนที่รัก, การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิต หรือปมที่เกิดขึ้นในวัยเด็กแล้วตามหลอกหลอนเราอยู่จนถึงตอนนี้

 

นอกจากนั้น คนในครอบครัวก็มีส่วนทำให้เรามีอาการแพนิคเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีประวัติของการเป็นโรควิตกกังวลเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือเป็นเรื่องของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ การพักผ่อนน้อย หรือการที่อยู่บ้านนานๆ ไม่ได้ออกไปพบเจอใครอย่างช่วงที่ผ่านมา ก็สามารถก่อให้เกิดอาการวิตกกังวลหรือแพนิคเกิดขึ้นได้

 


 

 

แบบประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคแพนิค

เช็กให้ชัวร์ จะได้ไม่แพนิคไปซะเอง

 

สำหรับแบบประเมินนี้ จะมีทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นส่วนของการประเมินอาการเบื้องต้น (ใครที่มีอาการไม่ครบ 4 ข้อแปลว่าเราไม่ได้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคแพนิคนะ) กับส่วนที่สอง จะเป็นวิธีการจัดการเวลาที่ร่างกายของเราเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา เพื่อนๆ คนไหนที่อยากเช็กตัวเองกันก่อนเบื้องต้น ก็ไปเริ่มทำแบบทดสอบกันได้เลยจ้า 

 

👉🏼   คลิกที่นี่เพื่อเริ่มทำแบบทดสอบ > คลิก

 


 

อาการแพนิคเป็นอาการที่พบกันได้บ่อยจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ใครที่มักจะเผชิญกับอาการแพนิคอยู่บ่อยๆ เราแนะนำว่าให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นการดีที่สุด เพราะอย่างที่บอกไปว่ายิ่งเราเผชิญอยู่กับอาการของโรคนี้ไปนานๆ มันจะกระทบกับวิถีชีวิตประจำวันของเรากันแน่นอน หรือใครที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ แต่อยากป้องกันไม่ให้อาการวิตกกังวลเกิดขึ้นกับตัวของเรา ก็ขอแนะนำให้หากิจกรรมคลายเครียด หรือนั่งสมาธิบำบัดจิตใจของตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงการนอนดึกถ้าไม่จำเป็น พักผ่อนให้เยอะๆ ออกกำลังกาย ออกไปพบปะเจอหน้าผู้คนได้ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้กันได้นะ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : โรงพยาบาลพระรามเก้า และ mayoclinic.org

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น