รวม! แอปพลิเคชันวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 โหลดได้ทั้ง iOS และ Android

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer13 ก.พ. 2566 avatar writer23.0 K
รวม! แอปพลิเคชันวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 โหลดได้ทั้ง iOS และ Android

 

😷

สถานการณ์ PM 2.5 เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา กทม. ไต่อันดับ ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 183 AQI เป็นอันดับ 7 ของโลก นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจนัก เพราะการที่เรามีสภาพอากาศย่ำแย่ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราทุกคนโดยตรง นอกจาก กทม. แล้ว จังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังรั้งอันดับที่ 13 ของโลก ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 158 AQI เรียกได้ว่า ประเทศไทยมีหลายพื้นที่ ที่เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง

 


 

PM 2.5

 

| รู้จัก 4 แอปพลิเคชันเช็ก PM 2.5 โหลดได้ทั้ง iOS และ Android |

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า "ฝุ่นละออง PM 2.5" สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ และที่อันตรายที่สุดอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด โดยองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศว่า

 

" หากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
จะถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ "

 

IQAir

 

| เช็ก! PM 2.5 ผ่าน AirVisual 

 

AirVisual แอปพลิเคชันรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ จากผู้ให้บริการข้อมูลมลพิษทางอากาศชั้นนำของโลก โดยสามารถวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI)  ที่จะช่วยให้เราทราบว่า ในพื้นที่ที่เราอยู่หรือใกล้เคียงมีค่า AQI เท่าไร แต่หากค่าสูงเกินไปแอปพลิเคชันจะแนะนำให้เตรียมพร้อมในการป้องกัน อย่างการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางนอกอาคาร หรืองดออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เมื่อสภาพอากาศเป็นพิษ

 

📱 กดดาวน์โหลดที่นี่

 


 

ฝุ่น PM 2.5

 

| เช็ก! PM 2.5 ผ่าน Air4Thai

 

Air4Thai เป็นแอปพลิเคชันรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยรายงานข้อมูลเป็นรายชั่วโมงในบางสถานี และข้อมูลรายวัน พร้อมแผนที่แสดง และแสดงกราฟคุณภาพอากาศย้อนหลัง 7 วัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะแสดงค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) หรือ "ค่าฝุ่น" ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย

 

1. สีฟ้า ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 0-25 คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

 

2. สีเขียว ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ PM 2.5 อยู่ที่ 26-50 คุณภาพอากาศระดับดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

 

3. สีเหลือง ค่าค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 51-100 คุณภาพอากาศระดับปานกลาง

  • ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
  • ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

 

4. สีส้ม ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 101-200 คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

  • ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น
  • ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

 

5. สีแดง ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 201 ขึ้นไป ⚠️ คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง พื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือ ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

 

📱 กดดาวน์โหลดที่นี่

 


 

GISTDA

 

| เช็ก! PM 2.5 ผ่าน GISTDA

 

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" ซึ่งเป็นการนำฐานข้อมูลของข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ PM2.5 เชิงพื้นที่มาผสมผสานเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ชั่วโมงต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันอันตรายจากมลภาวะทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

📱 กดดาวน์โหลดที่นี่

 


 

AirBKK

 

| เช็ก! PM 2.5 ผ่าน AirBKK

 

AirBKK แอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศของ กทม. ที่สามารถแจ้งเตือนให้รู้ถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือระยะเวลาที่สามารถอยู่ได้ในแต่ละพื้นที่อย่างปลอดภัย จากผลกระทบของปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งเราสามารถประเมินความเสี่ยงและป้องกันตนเองในเบื้องต้นได้ หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงกรุงเทพมหานคร หรือคลิก www.bangkokairquality.com

 

📱 กดดาวน์โหลดที่นี่

 

🔗 ข้อมูลอ้างอิง ไทยรัฐ, สมิติเวช

แสดงความคิดเห็น
kao
kao
ดีครับ
ตอบกลับ | 1 เดือนที่แล้ว 0