เตือน! อิ๊วโซดา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มากกว่าดับกระหายคลายร้อน แถมน้ำตาลและโซเดียมสูงเกินค่ากำหนด WHO

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer12 เม.ย. 2566 avatar writer424
เตือน! อิ๊วโซดา ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มากกว่าดับกระหายคลายร้อน แถมน้ำตาลและโซเดียมสูงเกินค่ากำหนด WHO

 

สะเทือนวงการเครื่องดื่ม เมื่อแบรนด์ซีอิ๊วดำเจ้าดังในท้องตลาด เตรียมเปิดตัว "อิ๊วโซดา" รับช่วงซัมเมอร์ในเดือน เม.ย. 66 นี้ ถือเป็นเครื่องดื่มที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์ หลายคนพยายามจินตนาการรสชาติ ของเครื่องดื่มซีอิ๊วดำผสมโซดาว่า จะออกมาเป็นยังไง จะเข้ากันไหมหรือออกไปทางเค็มปะแล่ม ๆ แต่สุดท้ายทางแบรนด์ก็ออกมาเฉลยว่า ทั้งหมดเป็นเพียงแคมเปญต้อนรับวัน April Fool's Day หรือวันแห่งการโกหก ส่วนใครที่กำลังรอ F รอชิมอยู่ ไม่ต้องรอแล้วนะ 😅 

 


 

| กรมอนามัย เตือน อิ๊วโซดา ส่งผลเสียต่อสุขภาพกว่าที่คิด |

 

แม้เครื่องดื่ม "อิ๊วโซดา" จะเป็นคอนเทนต์ต้อนร้บวัน April Fool's Day แต่ก็มีนักกินบนโลกโซเชียลออกมาแชร์สูตรอิ๊วโซดา ให้หลายคนที่อยากลองเปิดประสบการณ์เปิบพิสดารได้ลองทำตามกัน จนกลายเป็นเทรนด์ #อิ๊วโซดา บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องทาง Tiktok แต่ล่าสุด! เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 66 กรมอนามัย ได้ออกมาเตือนประชาชนถึงอันตรายของเครื่องดื่มอิ๊วโซดาว่า อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

 

อิ๊วโซดา

 

| ทำไม อิ๊วโซดา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ?

 

สำหรับเทรนด์เครื่องดื่มอิ๊วโซดาที่กำลังเป็นกระแส โดยการนำซีอิ๊วดำสูตรเฉพาะ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเครื่องดื่มโซดา 1 กระป๋อง เพื่อดื่มคลายร้อนและดับกระหาย ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากซีอิ๊วดำมีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลทราย 56% กลูโคสไซรัป 13.4% และซีอิ๊ว 13.6% 

 

อีกทั้งมีโซเดียมสูงถึง 3,600 มิลลิกรัม (ซีอิ้วดำ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียมประมาณ 1,200 มิลลิกรัม) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

 

WHO กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณซีอิ๊วดำไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

 

โดยปกติร่างกายจะได้รับน้ำตาลและโซเดียม จากอาหารที่บริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เราจึงควรระมัดระวังการดื่มเครื่องดื่ม ที่จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาล และโซเดียมเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ "โซดา" ยังเป็นเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ในน้ำ ทำให้มีความซ่า ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กะปรี้กะเปร่า แต่โซดายังมีฤทธิ์เป็นกรด หากดื่มตอนท้องว่างจะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และโซดายังเต็มไปด้วยก๊าซที่ทำให้อิ่มเร็ว การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมโซดามากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับน้ำเปล่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำเปล่าที่ไม่เย็นจัด เพื่อคลายร้อน ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย และป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke) ☀️ 

 


 

ซีอิ๊วดำ

 

| ระวัง! อิ๊วโซดา สำหรับผู้แพ้ถั่วเหลือง

 

นอกจากนี้การนำซีอิ๊วดำมาใช้ปรุงอาหาร ⚠️ มีข้อควรระวัง สำหรับผู้ที่แพ้ถั่วเหลือง หรือกลูเตน สำหรับซีอิ๊วดำทั่วไปจัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องปรุงรสที่มีรสเค็ม แม้ว่าจะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือและน้ำปลา ก็ควรจะใช้เพื่อปรุงรสอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

การนำซีอิ๊วดำมาทำเป็นเครื่องดื่ม อาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสุขภาพได้

 

ปัจจุบันมีการผลิตซีอิ๊วออกมามากมายหลายสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะตามวัตถุประสงค์ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครื่องปรุงรส ควรอ่านฉลากก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและบริโภคได้อย่างปลอดภัย สำหรับผู้ที่เป็นโรคไต หรือโรคความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีเกลือในปริมาณสูง หรือบริโภคในปริมาณที่จำกัด

 

👉🏼 บทความที่เกี่ยวข้อง

  • สมชื่อเดือนที่ร้อนที่สุดของปี ! กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 3-9 เมษายน ระวังรังสียูวีระดับ Extreme 🔥 คลิก
  • เปย์เป้ป้ายยา "7 สเปรย์เย็นฉีดตัว" หน้าร้อนนี้ เราต้องรอด ! คลิก
  • เปิดแอร์ให้ประหยัดไฟ ต้องทำยังไง อุณหภูมิเท่าไหร่ดี มีคำตอบ! คลิก

 

🔗 ข้อมูลอ้างอิง กรมอนามัย

 

แสดงความคิดเห็น