เสพข่าวอย่างไร ให้ไร้ดราม่ากวนใจ ในช่วงวิกฤตโควิด-19

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer13 เม.ย. 2563 avatar writer541
เสพข่าวอย่างไร ให้ไร้ดราม่ากวนใจ ในช่วงวิกฤตโควิด-19

เสพข่าวมากไปไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่คิด
อยู่กับข่าวสารอย่างไรให้ปลอดภัย
เรามีคำแนะนำมาให้แล้ว


ในยุคที่ข่าวสารมีอิทธิพลต่อคนในสังคมอย่างทุกวันนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเจอแต่ข่าว ข่าว และก็ข่าว จนไม่แปลกใจเลยถ้าจะมีคนบางส่วนของสังคมตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า เครียด และวิตกกังวลโดยมีสาเหตุมาจากการเสพข่าวที่มากเกินไป ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ กับวลีฮิตติดปากของคนส่วนใหญ่อย่าง 'มึงว่ากูติดยังวะ' ที่มองเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ก็แอบแฝงด้วยนัยยะบางอย่างที่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้สนุกอย่างที่คิด

 


พาดหัวข่าว ฆ่าคนอ่านได้... โดยที่เราไม่รู้ตัว


อ้างอิงจากผลสำรวจของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมไปถึงเสียชีวิตมากที่สุดในตอนนี้อย่างสหรัฐอเมริกาที่เรียกได้ว่าประชากรในประเทศนอกจากจะต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตอย่างไวรัสโควิด-19 ระบาดแล้ว ยังจะต้องเผชิญกับสภาวะเครียดอันเนื่องมาจากข่าวสารที่ได้รับในแต่ละวันอีกด้วย จากผลสำรวจนั้นระบุว่า ประชากรในสหรัฐจะต้องเจอกับข้อความอย่าง พักงาน, ตกงาน, ไวรัส รวมไปถึงอีกมากมายในทำนองเดียวกันเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งคำไม่กี่คำนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตของประชากรในประเทศเอามากๆ โดยสภาวะเหล่านี้ทางการแพทย์ได้ให้คำนิยามว่าเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์ได้เตรียมตัว วางแผน และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิด หรือเกิดอยู่นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัญชาตญาณของเราจะเร่งให้เกิดการจัดการหาทางออกต่อเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเร็วที่สุด แต่ปัญหาที่ตามมานั่นก็คือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการแก้ปัญหาของเรานั้นถูกต้อง?

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เปิดตัวคู่มือดูแลสุขภาพจิตระหว่างกักตัว ให้ประชากรทั่วโลกได้อ่านพร้อมกับทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ โดยมีใจความพูดถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตที่เป็นเชิงบวกเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีทั้งจิตใจและสังคมในระหว่างที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด พร้อมแนะนำวิธีการในการเสพข่าวสารที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อทั้งตัวเรารวมไปถึงคนรอบข้าง สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงวันสองวันมานี้ไม่ถึง 100 ราย แต่ข่าวสารตามสื่อต่างๆ กลับไม่ได้ทำให้พวกเรารู้สึกดีอย่างที่คิด ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าคำแนะนำจากคู่มือดูแลสุขภาพจิตของ WHO นี้จะมีอะไรบ้าง

 


ดูแลสุขภาพจิตในช่วงโควิดได้ง่ายๆ ถ้าเลือกเสพข่าวให้เป็น


ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชากรทุกคนบนโลก โดยสาเหตุของการติดต่อนั้นมีทั้งการติดต่อมาจากคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมไปถึงติดมาจากนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของคนในสังคมส่วนใหญ่ต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้มักจะเป็นไปในเชิงประณาม รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นในแง่ลบต่อคนที่ติดเชื้อรวมไปถึงผู้แพร่เชื้อ ซึ่งเมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แทนที่พวกเขาจะได้รับการเห็นอกเห็นใจ แต่ทุกคนในสังคมกลับหวาดกลัวและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาแทน

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ให้คำแนะนำว่า เราไม่ควรใช้คำเรียกผู้ที่ติดเชื้อว่าผู้เสียหาย, ครอบครัวโควิด หรือผู้ป่วย แต่ควรใช้คำเรียกอื่นอย่าง ผู้ติดเชื้อโควิด, ผู้ที่กำลังรับการรักษาโควิด รวมไปถึงผู้ที่กำลังฟื้นตัวจากโควิดแทน เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 นั้นมีโอกาสหายได้สูงมาก ดังนั้นถ้าเป็นเรา เราคงไม่อยากที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ป่วยโควิดไปตลอดชีวิต ดังนั้นสื่อรวมไปถึงพวกเราทุกคนควรสร้างความเข้าใจร่วมกันใหม่ โดยคำนึงถึงใจเขาใจเราให้มากๆ

 

 

หลักการเสพข่าวที่ดีในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาดนี้คือการเสพข่าวให้น้อยที่สุดเมื่อรู้สึกว่าตัวเองเริ่มเครียดเกินไป หรือเริ่มมีอาการวิตกกังวล โดยแหล่งข่าวที่เลือกเสพนั้นควรจะเป็นแหล่งข่าวที่มีการบอกแหล่งข้อมูลที่มาที่ไปครบ เชื่อถือได้ รวมไปถึงระยะเวลาในการอัปเดตข่าวต่อวันไม่ควรเกินวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะถ้าเราได้ไปรับรู้ข่าวมาว่าบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่เราอาศัยอยู่นั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด รวมไปถึงคนใกล้ตัวที่ได้รับเชื้อมา ก็ขอให้เช็กความถูกต้องจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออย่างทางจังหวัด หรืออำเภอก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันข่าวเท็จ

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจนั่นก็คือการอ่านข่าวที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ผ่านทางโปรแกรมสนทนา อาทิ LINE  ซึ่งอาจจะไม่ได้มีแค่ตัวเรา แต่ยังรวมไปถึงผู้สูงอายุภายในบ้านที่อาจได้รับผลกระทบจากการเสพข่าวที่คาดเคลื่อน ทางแก้ของปัญหานี้คือ การทำความเข้าใจกับคนในบ้านว่าหลังจากที่ได้รับข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ มานั้นให้ทำการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าจริงเท็จแค่ไหน โดยอาจจะให้พวกท่านสอบถามกับตัวเรา แล้วเราค่อยไปทำการหาข้อเท็จจริงมาสรุปให้ฟัง หรืออาจจะบอกแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้กับพวกท่าน เพื่อที่จะได้ทำการตรวจสอบให้แน่ใจด้วยตัวเองทำนองนี้ก็ได้ ซึ่งเมื่อทราบแล้วว่าข่าวที่ได้รับมานั้นจริงค่อยทำการส่งต่อเพื่อเป็นข้อมูลให้คนอื่นๆ ต่อไป

 

 

 

หรือถ้าคนที่เสพข่าวแล้วเครียดดันไม่ใช่ตัวเรา แต่กลายเป็นคนใกล้ตัวที่รู้สึกวิตกกังวลแทน คำแนะนำง่ายๆ คือการให้เราทำการเบี่ยงประเด็นความสนใจจากเรื่องราวเครียดๆ มาเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีผ่านกิจกรรมอื่นๆ รวมไปถึงเรื่องราวในด้านที่ดีของสถานการณ์การระบาด ยกตัวอย่าง จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว หรือการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามารองรับการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรื่องราวในทำนองนี้จะทำให้คนที่ได้รับข่าวสารนั้นมีความสบายใจขึ้นมาบ้าง ดีกว่ามานั่งจมอยู่กับตัวเลขของผู้ติดเชื้อ หรือพาดหัวข่าวในเชิงลบ

นอกจาก WHO แล้วทางกรมสุขภาพจิตของไทยยังมีการให้คำแนะนำข้อควรปฏิบัติในการดูข่าวให้ไม่เครียด โดยจัดทำเป็น Infographic น่ารักๆ อ่านง่ายทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งเนื้อหาในข้อแนะนำนั้นมีดังนี้

• ไม่ดูข่าวและรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ควรเปิดกว้างและรับข้อมูลข่าวสารที่แตกต่าง

• ไม่ดูข่าวต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะจะทำให้เครียดขึ้นกว่าเดิม

• ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ โดยเฉพาะหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

• และถ้าสมมุติเกิดสภาวะเครียดขึ้นมาก็ให้รีบหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกาย, กำหนดลมหายใจ รวมไปถึงนั่งสมาธิฝึกจิต เป็นต้น

 

 


ปันโปรสรุปให้

• คนในสังคมทุกวันนี้เรียกได้ว่ามีข่าวสารเป็นเพื่อนที่คอยเคียงข้างกันในทุกวัน ซึ่งหลายคนคงจะลืมคิดกันไปว่า เพื่อนคนนี้ก็สามารถย้อนกลับมาทำร้ายเราได้เช่นกัน โดยสิ่งที่เรามักจะโดนทำร้ายก็คือความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งถ้าเยอะเกินไปอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้

• ยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตอนนี้กลายเป็นประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมไปถึงเสียชีวิตมากที่สุดในโลก ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรในประเทศนั้นพบว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเครียดเพราะข่าวสารที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมไปถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนที่เยอะมาก จนกลายเป็นว่าทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ต้องออกมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพจิตระหว่างกักตัวกันเลย

• โดยคำแนะนำของ WHO นั้นสามารถสรุปได้ง่ายๆ คือ เมื่อเรารู้ตัวว่าเครียด หรือสภาวะจิตใจเริ่มไม่เป็นปกติ ให้เรางดการเสพข่าวสารลง แล้วหันไปหากิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ทำแทน รวมไปถึงตัวสื่อเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนจากการเรียกผู้ติดเชื้อว่า ผู้ป่วย รวมไปถึงผู้เสียหาย มาเป็นผู้ติดเชื้อโควิด หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาโควิดแทน

• และถ้าเพื่อนๆ คนไหนกำลังตกอยู่ในสภาวะเสพข่าวกันจนเครียด เราก็แนะนำว่าให้หยุดแล้วไปหากิจกรรมสนุกๆ ทำ อย่างการท่องพิพิธภัณฑ์เจ๋งๆ เที่ยวอวกาศคูลๆ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์อย่างการเข้าคอร์สเรียนก็จะเป็นการดีมากๆ เลยนะ

 

 

via GIPHY

 

- ขอบคุณแหล่งที่มาจาก Business Insider, Bangkok Hospital, WHO -

 

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น