Ichiran Ramen (ราเมนข้อสอบ) ยืน 1 ร้านใน Safe Zone ไปญี่ปุ่นกี่รอบ ก็ต้องแวะไปทุกรอบ !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer1 พ.ย. 2566 avatar writer341
Ichiran Ramen (ราเมนข้อสอบ) ยืน 1 ร้านใน Safe Zone ไปญี่ปุ่นกี่รอบ ก็ต้องแวะไปทุกรอบ !

 

ราเมน 🍜  หนึ่งในเมนูอาหารยอดฮิตของคนไทยที่ไปญี่ปุ่น ถ้าให้เทียบกับบ้านเราคงจะให้ความรู้สึกเหมือนไปอยุธยาก็ต้องได้ลองสายไหม หรือไม่ก็ก๋วยเตี๋ยวเรือ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไปไม่ถึง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีร้านราเมนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก แถมยังมีการแบ่งประเภทของราเมนที่ยิบย่อยลงไป บ้างก็แบ่งตามประเภทของซุป บ้างก็แบ่งตามประเภทของเส้น หรือบ้างก็แบ่งตามวิธีการปรุง ลามไปจนถึงการแบ่งตามจังหวัดที่เป็นต้นกำเนิดของราเมนถ้วยนั้น ๆ เลยก็มี

 

แต่ถ้าถามถึงร้านราเมนที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย แถมหลายคนยังโอดครวญว่าเมื่อไหร่จะเข้ามาเปิดสาขาจริง ๆ จัง ๆ ในบ้านเราสักที ก็คงหนีไม่พ้น Ichiran (อิจิรัน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ราเมนข้อสอบ' หนึ่งในร้านเซฟโซนของคนที่ชอบเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ที่ล่าสุดเตรียมมาเปิดสาขาชั่วคราวในบ้านเราเป็นครั้งแรก สำหรับใครที่ยังไม่รู้ที่มา-ที่ไปว่าทำไมอิจิรันถึงได้เป็นร้านราเมนในดวงใจของใครหลายคน บทความนี้เรามีคำตอบมาให้แล้ว

 


 

 

รู้จัก Ichiran Ramen ร้านราเมนขวัญใจนักท่องเที่ยวไทยหัวใจญี่ปุ่น 🇯🇵

 

ปกติแล้วเวลาที่เราอ่านไปเจอที่มา-ที่ไปเกี่ยวกับร้านอาหาร หรือว่าแบรนด์สินค้าอะไรสักแบรนด์ เรามักจะเจอจุดเริ่มต้นที่แทบไม่ต่างกัน คือถ้าไม่ได้เริ่มต้นมาจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ ก็จะเป็นการจับสิ่งที่คลุกคลีอยู่แล้วมาบิลต์ใหม่ให้ดีขึ้น แต่ทว่าจุดเริ่มต้นของอิจิรัน กลับมีที่มาจาก ปัญหาของเพื่อนร่วมห้อง สมัยมัธยม จนถึงขั้นลงทุนเปิดร้านราเมนเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ

 

ย้อนกลับไปในสมัยมัธยมของ Manabu Yoshitomi (มานาบุ โยชิโทมิ) หรือผู้ก่อตั้งร้านอิจิรัน ที่มีอยู่วันหนึ่งในขณะที่เขาและกลุ่มเพื่อนกำลังกินราเมนกันอย่างเอร็ดอร่อย มานาบุเหลือบไปเห็นกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่อยู่ในห้องเดียวกัน กำลังทำท่าทางเก้ ๆ กัง ๆ ระหว่างกินราเมน คือเป็นการกินไปด้วย พร้อมกับเอามือป้องปากของตัวเองไปด้วย มันเลยทำให้เขาเกิดความสงสัยจนตัดสินใจเข้าไปถาม ปรากฏว่าคำตอบที่ได้คือ เพื่อนผู้หญิงร่วมห้องคนนั้นรู้สึก 'ไม่สบายใจ' เวลาซู้ดเส้นเสียงดังแล้วมีคนมอง ซึ่งเมื่อลองไปถามเพื่อนผู้หญิงในชั้นเรียนคนอื่น ๆ ปรากฏว่าคำตอบที่ได้แทบจะไม่ต่างกัน นั่นเลยทำให้มานาบุเกิดไอเดียในการเปิดร้านราเมน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สบายใจในการกินให้กับผู้หญิงได้

 

 

 

 

จากไอเดียที่ลอยละล่องอยู่ในหัว ก็ได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปี 1993 กับการเปิดตัวร้าน 一蘭 (อิจิรัน) ที่มีความหมายว่าดอกกล้วยไม้ 1 ดอก โดยอิจิรันมีจุดเด่นอย่างการมอบประสบการณ์ในการกินที่แตกต่าง ที่ให้เราตัดขาดจากโลกภายนอก ก่อนจะมาโฟกัสกับถ้วยราเมนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอยากให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิงได้เอนจอยกับการกินมากขึ้น หลังจากที่ได้เห็นปัญหาของเพื่อนร่วมห้องมากับตานั่นเอง

 

 


 

 

Ichiran Ramen กับการเสิร์ฟประสบการณ์ ที่ไม่เหมือนเจ้าอื่น ๆ

 

 

นอกจากความตั้งใจอยากจะให้อิจิรันเป็นร้านราเมนสำหรับทุกคนแล้ว อิจิรันยังให้ความสำคัญกับองค์ประกอบในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ นับตั้งแต่รสชาติ บรรยากาศภายในร้าน การจัดวางโต๊ะที่นั่ง ที่จะต้องผ่านการตกผลึกมาอย่างดี ก่อนจะส่งไปถึงมือของลูกค้าทุกคน

 

  • เริ่มกันตั้งแต่เมนู ที่ทางอิจิรัน ได้นำของดีประจำจังหวัดอย่าง 'ทงคตสึราเมน' หรือราเมนซุปกระดูกหมู ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองฟุกุโอกะ มาเป็นเมนหลักประจำร้าน ในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ ทางอิจิรันได้คุมคุณภาพด้วยการนำเข้าวัตถุดิบที่มาจากแหล่งเดียวกัน ก่อนจะทยอยส่งวัตถุดิบเหล่านั้นไปยังร้านอิจิรันสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันมากที่สุด

  • ในส่วนของรสชาติ ทางอิจิรันได้มี 'สูตรลับเฉพาะ' ของรสชาติในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวซุปที่มีรสชาติซับซ้อนอันเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงซอสแดง (หรือ ซอสเผ็ด) ที่ออนท็อปอยู่บนเส้นของราเมน ที่สำคัญคือ คนที่รู้สูตรลับของรสชาติที่ว่านี้ มีอยู่แค่เพียง 4 คนบนโลกเท่านั้น คือถ้าขาด 4 คนนี้ไป นั่นก็เท่ากับว่ารสชาติสุดพิเศษของอิจิรันก็จะอันตรธานหายไปตลอดกาล

  • แล้วเห็นความลับเยอะแบบนี้ แต่ทางอิจิรันได้ 'เก็บรักษาความลับเอาไว้อย่างดี' อย่าว่าแต่สูตรของน้ำซุปเลย เคล็ดลับในการทำวัตถุดิบแต่ละอย่างก็ถูกเก็บเป็นความลับด้วยเช่นกัน อย่างเส้นราเมน น้ำซุป รวมไปถึงหมูชาชู จะถูกผลิตออกมาจากโรงงานคนละแห่ง (กันคนรู้สูตร) หลังจากผลิตเสร็จ วัตถุดิบแต่ละอย่างก็จะถูกส่งมายังร้าน ร้านก็จะทำหน้าที่แค่จับทุกอย่างมารวมกัน จนออกมาเป็นราเมนอิจิรัน 1 ถ้วย ที่มีรสชาติได้มาตรฐานเหมือนกันหมด

 

  • อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็ได้แก่ 'การทำข้อสอบก่อนกิน' ที่จริง ๆ แล้วทางอิจิรันไม่ได้เป็นคนคิดค้นคำว่า ราเมนข้อสอบ แต่อย่างใด แต่เป็นกลุ่มลูกค้าเองต่างหากที่เป็นคนคิดค้นคำ ๆ นี้ให้ สืบเนื่องมาจากแบบฟอร์มที่ลูกค้าทุกคนจะต้องกรอกตอนที่ยื่นใบออร์เดอร์ให้พนักงาน ที่มีลักษณะคล้ายกับการทำข้อสอบ เลยเป็นที่มาของการถูกตั้งชื่อว่าราเมนข้อสอบนั่นเอง

    สำหรับจุดประสงค์ของใบข้อสอบที่ว่า เป็นผลพลอยได้ (ในแง่ดี) กับทั้งตัวพนักงาน ไปจนถึงตัวลูกค้า อย่างในมุมของพนักงาน การที่ลูกค้าทุกคนกรอกรายละเอียดของราเมนที่ต้องการ จะช่วยลดโอกาสเกิดความผิดพลาดให้กับออร์เดอร์นั้น ๆ ได้ ส่วนในมุมของลูกค้า ก็จะทำให้ได้ราเมนรสชาติในแบบที่ตัวเองชอบ เพราะในใบข้อสอบจะมีให้เราระบุรายละเอียดตั้งแต่ความเข้มข้นของซุป น้ำมัน กระเทียม ต้นหอม หมูชาชู ระดับความเผ็ด ไปจนถึงรูปแบบของเส้นที่ต้องการ หน้าที่ของเราก็แค่ทำการวงไปที่ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง ก่อนจะส่งให้พนักงาน เพื่อให้พนักงานไปจัดการเตรียมเสิร์ฟต่อไป

 

รายละเอียดต่าง ๆ ที่ลูกค้าทุกคนจะต้องวงบนแบบฟอร์ม

 

 

  • นอกจากนี้ เวลาในการเสิร์ฟ ก็สามารถสร้างประสบการณ์อันดีให้กับการกินราเมนของเราได้ บางคนอาจจะเคยได้ยิน กฏ 7 นาทีของ McDonald's กันมาบ้าง สำหรับอิจิรันก็ไม่ต่างกัน แถมยังลดระยะเวลาให้สั้นลงจนเหลือแค่ 15 วินาที เท่านั้น

    สำหรับกฏ 15 วินาทีนี้ ถือเป็นกฏที่ใช้กันอย่างเคร่งครัดในร้านอิจิรันทุกสาขา เพราะช่วงเวลา 15 วินาทีแรกหลังจากที่ราเมนได้ถูกเสิร์ฟ จะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ลิ้มรสชาติของราเมนอิจิรันที่อร่อยที่สุด มีเนื้อสัมผัสรวมไปถึงรสชาติที่ตรงกับใบข้อสอบที่เราทำไว้มากที่สุด นั่นเลยเป็นเหตุผลของการมีครัวตั้งอยู่กลางร้าน เพราะจะได้ควบคุมเวลาในการเสิร์ฟได้ เพื่อคงประสิทธิภาพของราเมนให้ได้ตรงกับมาตรฐานที่ทางร้านวางไว้ (ส่วนใครที่มัวแต่ห่วงถ่ายรูป หรือห่วงคุยกับเพื่อนอยู่ ทางอิจิรันถึงขั้นลงคำแนะนำไว้เลยว่าให้รีบจัดการราเมนตรงหน้าให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยหันไปคุยกับเพื่อนข้าง ๆ นะ)

 


 

 

Ichiran Ramen ร้านราเมนที่เป็น Safe Zone ของทุกคน

 

พูดถึงภาพรวมของรสชาติไปเยอะแล้ว เรามาว่าถึงอีกหนึ่งจุดเด่นของอิจิรันที่ไม่พูดถึงไม่ได้อย่าง บรรยากาศภายในร้าน ที่มีความเป็นส่วนตัวสุด ๆ แถมยังตรงกับคำจำกัดความที่ทางมานาบุ โยชิโทมิ อยากจะให้อิจิรันเป็นร้านราเมนสำหรับทุกคน นั่นจึงเป็นที่มาของการออกแบบภายใน ที่ให้บรรยากาศความเป็นส่วนตั๊ว...ส่วนตัว ถ้าพูดกันในภาษาบ้าน ๆ ก็คือเหมือนคอกที่กั้นลูกค้าทุกคนออกจากกัน เพื่อที่จะได้ดื่มด่ำและใช้เวลาอยู่กับตัวเองและราเมนตรงหน้าให้ได้มากที่สุด

 

อีกทั้งทางร้านยังให้ความสำคัญกับการใช้เวลาของลูกค้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นการที่เราตั้งชื่อให้ว่า ร้านในเซฟโซน ก็คงจะไม่มีอะไรที่ชัดเจนไปมากกว่านี้ เพราะทันทีที่เราก้าวขาเข้าไปในร้าน เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงของคนที่พูดคุยกันเลย หรือถ้าจะมีให้ได้ยิน ก็คงจะมีแต่เสียงซู้ดเส้นราเมนเท่านั้น เลยทำให้นอกจากอิจิรันจะเป็นร้านที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิงแล้ว มันยังตอบโจทย์ลูกค้าที่มาคนเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์อินโทรเวิร์ต ทั้งหลาย น่าจะถูกใจคอนเซ็ปต์ของร้านอิจิรันกันไม่น้อย

 

 

เครื่องสั่งอาหารที่มีให้เห็นในร้านอิจิรันทุกสาขา

 

 

เพราะนับตั้งแต่ก้าวขาเข้าไปในร้าน เราแทบจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยมาก (แม้กระทั่งกับพนักงานในร้านเอง) ขนาดตอนจะส่งใบออร์เดอร์ก็มีปุ่มให้กดเรียก จังหวะจะขอเพิ่มเส้น ยังมีพื้นที่ไว้สำหรับวางถาดเรียกพนักงานโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องอ้าปากพูดกันเลย คงจะมีแต่การอ้าปากกินอย่างเดียวเท่านั้นที่จะถูกใช้ในร้านนี้

 

หรือถ้าใครที่มากับกลุ่มเพื่อน และคาดว่าเสียงน่าจะดังแน่นอน อิจิรันบางสาขายังมีห้องแบบส่วนตัวไว้รองรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มด้วย คือบริการทุกอย่างถูกออกแบบมาเพื่อความสบายใจในการใช้บริการของลูกค้าทุกคนกันสุด ๆ อย่างการให้กดสั่งผ่านตู้ที่หน้าร้าน ร้านอาหารส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นก็เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนบริการมาเป็นแบบนี้กันบ้างแล้ว เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความสบายใจให้กับลูกค้าที่มาคนเดียว ยังช่วยลดความวุ่นวายภายในร้านได้ดีอีกด้วย 

 

 

 

 

เราจะเห็นได้ว่า แม้จุดเริ่มต้นของอิจิรัน จะไม่ได้เริ่มต้นมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวของมานาบุโดยตรง แต่ก็ถือว่าเขาได้หยิบเอาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับลูกค้าคนอื่น ๆ มาครีเอตเป็นร้านราเมนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จนตอนนี้ อิจิรัน ราเมน ได้กลายเป็นอีกหนึ่งร้านราเมนที่ประสบความสำเร็จจนมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกมากถึง 86 สาขา แถมยังเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่คนญี่ปุ่น รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศด้วย

 

อย่างที่ว้าวสุด ๆ คือการไปเปิดสาขาในประเทศที่คราคร่ำไปด้วยคนเอ็กซ์โทรเวิร์ตอย่าง สหรัฐอเมริกา แถมยังทำยอดขายออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะหลังจากเปิดสาขาแรกที่นิวยอร์ก (ในปี 2018) ภายในปีเดียวอิจิรันสามารถทำยอดขายได้สูงถึง 230 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 8,331 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ายอดขายที่ประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกันถึง 1,385 ล้านบาท

 

ซึ่งจุดที่สามารถเรียกความสนใจให้กับคนอเมริกันได้ ส่วนหนึ่งเรามองว่าน่าจะอยู่ที่ 'ความแปลกใหม่และแตกต่าง' ที่อาจจะไม่ได้พุ่งเป้าความสนใจไปที่ใบออร์เดอร์เหมือนอย่างคนไทย แต่ดูจะเป็นการมอบความรู้สึกของการเป็นคนอินโทรเวิร์ตให้กับคนที่อยู่ในสังคมเอ็กซ์โทรเวิร์ต ที่อาจจะอยากสัมผัสกับความรู้สึกนี้กันดูสักครั้ง

 

 

 

 

และนอกจากประเทศอเมริกาแล้ว ในฝั่งเอเชียบ้านเรา (ถ้าไม่นับรวมประเทศญี่ปุ่น) อิจิรัน ราเมน ได้ขยายสาขาไปในหลาย ๆ ประเทศ ถ้าเป็นประเทศยอดฮิตที่คนไทยนิยมไป ก็จะมีตั้งแต่ประเทศฮ่องกง สิงคโปร์  รวมไปถึงไต้หวัน หรือถ้าใครไม่อยากจะตีตั๋วไปไกล ก็สามารถปักหมุดรอไปฝากท้องกันได้ที่สาขาพ็อปอัป สตอร์ ในวันที่ 11-26 พฤศจิกายน 2566 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 โซน นิปปอน มาร์เก็ต โดยจะเปิดรับออร์เดอร์แค่เพียง 750 ออร์เดอร์ / วันเท่านั้น ใครคิดถึงราเมนข้อสอบ หรืออยากสัมผัสประสบการณ์การทำข้อสอบแบบของแท้ อย่าลืมแวะไปลองกันดู จะได้รู้ว่าทำไมใคร ๆ ถึงหัวใจให้อิจิรัน ราเมน ❤️

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ichiran, klook, japan-guide, tasting table, forbes และ wikipedia

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น