รวมสารพัดลาบ และ เมนูพื้นถิ่น ที่กำลังอินเทรนด์ในหมู่คนเมือง

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer27 เม.ย. 2565 avatar writer547
รวมสารพัดลาบ และ เมนูพื้นถิ่น ที่กำลังอินเทรนด์ในหมู่คนเมือง

 

แซ่บกว่าหนู ก็ลาบหมูหน้าปากซอย 🥩 

 

ช่วงนี้เลื่อนหน้าฟีด Facebook เจอแต่คอนเทนต์ 'ลาบ' ทั้งลาบหมู ลาบไก่ ลาบเป็ด แต่ที่สะดุดตาจนต้องคลิกเข้าไปดูคงเป็น 'ลาบเลือดเหนือ' ที่บรรดายูทูปเบอร์และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทั่วฟ้าเมืองไทย ยกโขยงบินลัดฟ้าตามไปกินลาบรสชาติต้นตำรับถึงร้านดังในจังหวัดเชียงใหม่ แม้ลาบเหนือจะไม่ใช่เมนูใหม่สำหรับคนในท้องที่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเมนูยอดฮิตที่คนจากเมืองหลวงต่างให้ความสนใจ และอยากลิ้มลองสักครั้ง ส่วนความพิเศษและรสชาติจะแตกต่างกับลาบอีสานอย่างไรนั้น เตรียมปั้นข้าวเหนียวร้อน ๆ แล้วมาชิมพร้อมกันในบทความนี้เลย

 


 

เมนูพื้นถิ่น

 

รู้จัก 'ลาบเลือด' และสารพัดเมนูท้องถิ่นสุดแซ่บที่ชีวิตนี้ต้องลองชิมสักครั้ง

 

'ลาบ' เมนูสุดแซ่บที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไป ตั้งแต่ร้านข้างทาง ซูเปอร์มาร์เก็ต จนไปถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ แต่ย้อนกลับไปในอดีตลาบถือเป็นเมนูที่หากินได้ยาก เพราะเป็นเมนูพิเศษสำหรับเลี้ยงต้อนรับแขกในบางโอกาสเท่านั้น เช่น งานบุญ งานบวช หรืองานแต่ง และการจะทำลาบไม่ใช่การไปซื้อเนื้อที่ชั่งกิโลขายตามตลาดสดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ชาวบ้านจะใช้วิธีการ 'ล้มหมู ล้มวัว ล้มควาย' คือ ซื้อสัตว์ขนาดตัวเต็มวัยมาชำแหละกันสด ๆ ภายในงาน คงเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมว่า ปริมาณลาบที่ได้ เยอะจนพอเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน

 

การทำลาบในชนบทจึงกลายเป็นโอกาสพิเศษ และเป็นวิถีที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ลาบยังเป็นเมนูที่แสดงถึงความสามัคคีของคนในชุมชน เพราะต้องใช้คนจำนวนมากในการทำหน้าที่ต่าง ๆ กว่าจะมาเป็นลาบหนึ่งจาน เริ่มตั้งแต่หน้าที่เชือดสัตว์ ชำแหละเอาเนื้อ สับเนื้อ หั่นผัก ซอยผัก เตรียมเครื่องปรุงและวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสูตรของพื้นที่นั้น ขั้นตอนทั้งหมดหากรวม ๆ แล้วก็กินเวลาเป็นครึ่งค่อนวัน ถือเป็นเมนูที่น่าสนใจมาก และเปย์เป้ยังมีอาหารท้องถิ่นสไตล์บ้าน ๆ ที่นอกเหนือจาก 'ลาบ' ทั่วไปมาแนะนำกันด้วย 

 

ลาบเลือด

 

🥩 ลาบเลือด

 

เลือดดด ฉันอยากกินเลือด ลาบเลือดเรียกได้ว่าเป็นเมนูแกล้มเหล้ายอดฮิต สำหรับสายดิบในภาคเหนือและอีสานที่รสชาติและเอกลักษณ์ต่างกัน วินาทีนี้เหล่า Larb Lover คงไม่มีใครไม่รู้จัก 'ร้านลาบต้นข่อย' ร้านลาบควายดิบชื่อดังระดับตำนานในจังหวัดเชียงใหม่ที่เปิดมากว่า 20 ปี และการันตีความลำขนาดจากเซียนลาบทั่วสารทิศ เห็นได้ชัดว่าลาบเลือดทางภาคเหนือจะนิยมใช้ 'เนื้อควาย' มาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำลาบ นอกจากนี้ยังมีเครื่องปรุงที่เป็น Signature ที่ขาดไม่ได้อย่าง 'พริกลาบ' หรือ 'มะแขว่น' หรือในภาษาเหนือเรียกว่า 'เด้าลิ้น' ที่จะช่วยเพิ่มความหอมและรสชาติเผ็ดร้อนจนชาลิ้น ส่วนลาบเลือดในภาคอีสานจะนิยมใช้ 'เนื้อวัว' มาทำลาบ

 


 

ลาบเทา

 

🥩 ลาบเทา

 

สายมังสวิรัติอาจถูกใจอาหารพื้นบ้านเมนูนี้ 'ลาบเทา' ไม่ใช่ลาบทั่วไปที่ผ่านกระบวนการปรุงรสชาติต่าง ๆ จนมีสีเทา แต่ตรงกันข้าม เพราะ 'เทา' หรือ 'Spirogyra' เป็นสาหร่ายน้ำจืด ที่พบได้ตามแหล่งน้ำสะอาดทางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนวิธีการทำจะนำไปต้มสุก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา พริก ผักสมุนไพรต่าง ๆ ตามสูตร เช่น มะเขือ ตะไคร้ ใบสะระแหน่ และมักเพิ่มความอร่อยและคุณค่าทางอาหารด้วยเนื้อสัตว์อย่าง 'หอยขม' 🐚 อร่อยแซ่บ แถมมีโปรตีน แคลเซียม และเบตาแคโรทีนสูงมาก

 


 

แกงน้องวัว

 

🥩 แกงน้องวัว

 

น้องวัวไม่ใช่วัวอายุน้อยแต่อย่างใด 'น้องวัว น้องควาย' เป็นภาษาถิ่นเหนือและอีสาน ซึ่งหมายถึง 'รกวัว รกควาย' อวัยวะที่จะออกมาระหว่างการทำคลอดลูกวัว-ควายนั่นเอง ถือเป็นวัตถุดิบที่หากินได้ยากมาก จนถึงขั้นต้องไปปูเสื่อจองคิวรอแม่วัวคลอดกันสด ๆ แทบจะเอามือไปรอรับเลยทีเดียว ส่วนการมาทำเป็นอาหารก็ทำได้หลายเมนู ทั้งแกง ต้ม อ่อม ลวกจิ้ม และอีกสารพัดเมนูขึ้นอยู่กับความชอบ

 


 

น้ำผักสะทอน

 

🥩 น้ำผักสะทอน

 

ปิดท้ายด้วย 'น้ำผักสะทอน' ของดีที่มีปีละครั้งจากอำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ถือเป็นเมนูสุดคลีน เพราะมีส่วนผสมเพียงสองอย่างคือ ใบสะทอน และเกลือเท่านั้น น้ำผักสะทอนเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ปรุงรสแทนน้ำปลาร้าและน้ำปลา เนื่องจากในอดีตหาปลาตามแหล่งน้ำได้ยาก ส่วนรสชาติจะออกหวาน เค็ม อมขม และมีความหอมเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์มาก ๆ

 

ส่วนวิธีการทำจะเริ่มจากการที่ชาวบ้านไปเก็บใบสะทอนที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ นำมาล้างทำความสะอาดและตำให้ละเอียด บางหมู่บ้านจะมีครกไม้สำหรับตำใบสะทอนโดยเฉพาะ จากนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน แล้วนำมาต้มในกระทะใบบัว ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อย ระหว่างนี้ต้องคอยช้อนฟองและเศษใบไม้เป็นระยะ เคี่ยวต่อประมาณ 1 คืน จนได้น้ำสีน้ำตาลเข้ม โดยน้ำผักสะทอนสามารถเอาไปปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลายอย่าง ทั้งส้มตำ, แจ่วดำ (น้ำพริก) หรือซั้ว (แกงที่ใช้น้ำผักสะทอนปรุงรสแทนปลาร้า) อีกหนึ่งเมนูที่เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม และถือเป็นความโชคดีที่คุณยายของเปย์เป้ส่งต่อความอร่อยของภูมิปัญญานี้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่วนเพื่อน ๆ ที่อยากลองชิมก็สามารถไปหาซื้อใน Lazada หรือ Shopee ได้เลย

 


 

อาหารพื้นบ้านนี้อาจไปกระตุ้นความหิวให้คนเมืองท้องร้อง และน้ำลายไหลได้บ้าง แต่สำหรับคนที่พลัดถิ่นต้องมาทำงานไกลบ้านคงรู้สึกคิดถึงความเรียบง่ายของชนบทมากกว่าความหิว เมนูบ้าน ๆ ทั้งหลาย นอกจากจะแสดงถึงวิถีความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาแล้ว ยังบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ และธรรมชาติอีกด้วย เปย์เป้ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะช่วยรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่สืบทอดวัฒนธรรมการกินในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ลิ้มรสและสัมผัสความอร่อยแบบคนรุ่นเรากัน

แสดงความคิดเห็น