ทำความรู้จักรางวัล " Michelin Star " รางวัลที่ร้านอาหารทั่วโลกต่างก็อยากได้มาครอบครอง !
โดย : waranggg
Michelin Star รางวัลที่ร้านอาหารใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครอง เพราะรางวัลนี้การันตีว่าร้านอาหารของตัวเองนั่นอร่อย ได้คุณภาพ และยังเป็นตัวช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาลิ้มลองด้วย
แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันมั้ยว่า ร้านอาหารมิชลินสตาร์มันมีที่มาที่ไปยังไง ? แล้วเกี่ยวข้องกับยางรถยนต์ยี่ห้อดังของโลก อย่าง Michelin หรือเปล่า ? วันนี้ปันโปรเราหาคำตอบมาให้แล้วจ้า !
Michelin Guide และ Michelin Star มาจากผู้ก่อตั้งยางรถยนต์ Michelin
ย้อนกลับไปในปี 2432 สองพี่น้อง André and Edouard Michelin ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตยางรถยนต์ในชื่อว่า Michelin และในช่วงนั้นกิจการของทั้งคู่เรียกได้ว่าเจริญรุ่งเรืองและเติบโตอย่างเต็มที่ ทั้งคู่ก็เลยคิดว่าเราควรจัดทำคู่มือสำหรับคนขับขี่รถยนต์ โดยใช้ชื่อว่า Michelin Guide เพื่อให้พวกเขาได้สำรวจเส้นทาง โดยในคู่มือนั้นประกอบไปด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น แผนที่ สถานที่พักผ่อน รวมไปถึงร้านอาหารด้วย
หลังจากนั้นความฮอตของ Michelin guide ก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น บรรดาร้านอาหารต่างๆ ที่ได้รับคำแนะนำจาก Michelin Guide ได้กลายเป็นหนึ่งในคู่มือท่องเที่ยวของโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
และในปี คศ. 1931 เป็นปีแรกของการจัดทำ Michelin Guide ที่ใช้การจัดอันดับโดยให้คะแนนเป็นดาวมิชลิน ทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน โดยระดับสูงสุด คือ 3 ดาว รองลงมาเป็น 2 ดาว และ 1 ดาว ตามลำดับ และก็ยังคงใช้การให้คะแนนด้วยดาวมาจนถึงปัจจุบันด้วย
⭐ เกณฑ์การให้ดาวของ Michelin Guide คืออะไร ?
สำหรับเกณฑ์การตัดสินว่าร้านอาหารร้านไหน ควรได้ดาวมิชลินไปครอบครอง จะวัดจาก 5 เกณฑ์หลักๆ ด้วยกัน คือ
- คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้
- ความโดดเด่นของรสชาติ. และเทคนิคการรังสรรค์อาหาร
- เอกลักษณ์เฉพาะตัวของเชฟที่นำเสนอผ่านมื้ออาหาร
- ความคุ้มค่าสมราคา
- ความคงที่ของรสชาติ
Michelin Star แต่ละระดับมีความหมายว่ายังไงบ้าง ?
⭐ 1 ดาว : High quality cooking, Worth it Stop !
ร้านอาหารที่ดีมีคุณภาพ การปรุงรสชาติสม่ำเสมอ ควรค่าแก่การหยุดแวะชิมระหว่างเดินทาง แต่ยังขาดเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาทานซ้ำ
⭐ ⭐ 2 ดาว : Excellent Cooking , Worth a Detour
ร้านอาหารรสชาติดี คุณภาพเยี่ยม มีการนำเสนอที่พิเศษและไม่ซ้ำใคร เหมาะกับการขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม
⭐ ⭐ ⭐ 3 ดาว : Exceptional cuisine Worh a Special journeys !
สุดยอดร้านอาหารชั้นเลิศ ได้มาตรฐานทั้งรสชาติ เทคนิคการนำเสนอและรังสรรค์อาหารของเชฟที่ไม่เหมือนใคร เป็นร้านที่ควรค่าแก่การตั้งเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อวางแผนออกเดินทางไปลองชิมโดยเฉพาะ
กรรมการตัดสินการให้ดาวมิชลิน "เป็นบุคคลลึกลับ" ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้
กรรมการผู้ตัดสินการให้ดาวมิชลิน หรือที่เรียกว่า ผู้ตรวจสอบมิชลิน (Michelin Spector) จะมีการเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของมิชลิน โดยผู้สมัครจะต้องมีความรู้พื้นฐาน หรือหลงใหลเกี่ยวกับอาหารเป็นอย่างมาก
เมื่อได้รับการคัดเลือกจะต้องผ่านด่านสัมภาษณ์และต้องผ่านการทดสอบหลายต่อหลายครั้งมากๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติมากพอที่เหมาะจะรับตำแหน่งผู้ตรวจสอบมิชลิน และเมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้วก็ยังต้องผ่านการเทรนอย่างเข้มงวดก่อนที่จะออกตระเวนชิมอาหารที่เพื่อค้นหาร้านที่เหมาะสมจะได้รับดาวมิชลิน
ที่สำคัญเมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว กฏเหล็กที่ผู้ตรวจสอบมิชลินต้องทำตามให้ได้ คือ การไม่เปิดเผยตัวตนว่าตัวเองคือผู้ตรวจสอบมิชลิน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว หรือกับร้านอาหารก็ตาม เวลาที่เข้าไปประเมินร้านอาหารต้องทำตัวให้กลมกลืนกับลูกค้าปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันความลำเอียง หรือการติดสินบนในการตัดสิน และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Michelin Guide นั่นเอง
ร้านอาหารข้างทาง หรือ Street Food ก็สามารถเป็นหนึ่งในร้าน Michelin Guide ได้เช่นกัน !
เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เพื่อนๆ ชาวปันโปรหลายคนสงสัยไม่น้อยไปกว่าเรา ว่าร้านที่จะได้ Michelin Star เนี่ย ดูจะมีแต่ร้านอาหารที่ราคาสูงทั้งนั้นเลย แล้วร้านอาหารข้างทาง ราคากลางๆ มีสิทธิ์จะได้ไปอยู่ใน Michelin Guide บ้างมั้ย ?
ร้านอาหารข้างทาง หรือร้าน Street Food ก็มีสิทธิ์เป็นหนึ่งในร้าน Michelin Guide เช่นเดียวกัน
แต่จะได้รับเป็นรางวัล บิบ กูร์มองด์ ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปบีเบนดั้ม (Bibendam)
หรือมาสคอตของมิชลิน ทำท่าเลียปาก แทนการรับดาว
รางวัล บิบ กูร์มองด์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1955 โดยจุดประสงค์ของรางวัลนี่มีขึ้นเพื่อ ค้นหาร้านอร่อยในราคาย่อมเยา ที่น่าไปลิ้มลองไม่แพ้ร้านอาหารติดดาวเลย ซึ่งร้านอาหารที่จะได้รางวัลนี้ไปครอบครองจะเป็นร้านที่อาหารอร่อย เสิร์ฟอาหารคุณภาพดี และราคาอาหารเมื่อสั่งแบบครบคอร์ส ตั้งแต่อาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก และอาหารหวาน รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 บาท
สำหรับปี 2021 นี้ ก็มีร้านอาหารของไทยหลายร้านที่ได้รางวัล บิบ กูร์มองด์ ไม่ว่าจะเป็น โกอ่าง ข้าวมันไก่ประตูน้ำ, เผ็ดเผ็ด บิสโทร, สมยศ ข้าวต้มรอบดึก, บุญเลิศ บะหมี่เกี๊ยวปู เป็นต้น
และนอกจากนี้ยังมีรางวัล มิชลิน เพลท ด้วย ซึ่งเป็นรางวัลการันตีของร้านที่มีการใช้วัตถุดิบสดใหม่ และปรุงอย่างพิถีพิถัน เสิร์ฟอาหารดี และมีคุณภาพ ซึ่งร้านอาหารที่ได้รางวัลนี้ ถ้าถูกประเมินอีกครั้งในปีถัดไป แล้วผ่านเกณฑ์ของผู้ตรวจสอบมิชลิน ก็สามารถเลื่อนจากมิชลิน เพลท ไปเป็นรางวัล บิบ กูร์มองด์ได้ด้วย
Michelin Star รางวัลที่ยากจะรั้ง เมื่อได้รับแล้ว ก็สามารถถูกริบดาวคืนได้เหมือนกัน
อย่างที่เรารู้กันดีว่ามาตรฐานการให้รางวัลของมิชลินนั่นสูงลิบลิ่ว ดาวมิชลินที่ร้านอาหารหลายๆ ร้านต่างใฝ่ฝัน การได้มาว่ายากแล้ว แต่การรักษามาตรฐานให้ได้ดาวทุกปีเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ตรวจสอบมิชลินกลับมาประเมินอีกครั้ง แล้วพบว่ามาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งตกไป ก็จะริบดาวคืนทันที ทำให้ร้านอาหารต้องลงทุนลงแรงทั้งหมดที่มีเพื่อรักษามาตรฐานเอาไว้
ถ้ามองในแง่ผู้บริโภคแบบเราๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นนี่เป็นข้อดีมากเลยนะ ที่ร้านอาหารสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ จนได้ดาวติดต่อกันหลายปีซ้อน แต่ในมุมของร้านอาหารเองก็คงต้องเครียดไม่น้อยที่ต้องรักษาดาวไว้ให้ได้
อย่างร้านเจ๊ไฝได้รับรางวัล Michelin Star ครั้งแรกในปี 2018 ก็ได้กลายเป็นร้านในตำนาน คนเยอะ จองคิวยาก กว่าจะได้กินต้องรอคิวกันเป็นเดือน ถึงแม้ว่ารางวัลนี้จะช่วยเพิ่มชื่อเสียงและยอดขายให้กับร้าน แต่ในมุมของเจ๊ไฝแกถึงกับบ่นอุบเลยว่า อยากคืนรางวัลนี้ให้กับมิชลินเพราะเหนื่อยและเครียดจนเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นร้านเจ๊ไฝก็สามารถรั้งดาวไว้ได้ถึง 3 ปีซ้อนเลยทีเดียว
ท้ายนี้ เพื่อนๆ น่าจะได้รู้จักกับมิชลินสตาร์กันมากขึ้นไม่มากก็น้อย และนอกจากการให้ดาวกับร้านอาหารแล้ว Michelin Guide ยังมีแนะนำที่พัก และโรงแรมอีกด้วย โดยเพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูการแนะนำร้านอาหารและโรงแรมของ Michelin Guide เพิ่มเติมได้ที่นี่ : คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : guide.michelin.com, facefoodmag.com, marketingoops.com
โดย waranggg
thaitealism