คู่มือซื้อของออนไลน์ : มารู้จักเว็บขายของแต่ละแบบ พร้อมสอนวิธีสมัคร
โดย : imnat
มือใหม่หัดช้อปได้เวลามุงทางนี้
วันนี้แอดมีคู่มือซื้อของออนไลน์มาฝากแบบเนื้อๆ เน้นๆ
✔️ เคลียร์หมดทุกข้อสงสัยที่นี่ ที่เดียว!
ปันโปรอาสาเปิดจักรวาล "ช้อปปิ้งออนไลน์" ไม่ว่าคุณจะเป็นนักช้อปมือเก่าหรือมือใหม่ได้เวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อของออนไลน์กันให้มากขึ้น ตั้งแต่เบสิก จะกดสั่งซื้อยังไง จ่ายเงินตรงไหน ไม่มีบัตรเครดิตจะต้องทำยังไง หรือถ้าได้สินค้ามาแล้วเกิดชำรุดเสียหายล่ะจะเรียกร้องอะไรได้ไหม อ่ะๆ อย่าเพิ่งวอรี่กันไป เพราะคลาส Shopping Online 101 ของเราจะมาอธิบายและบอกวิธีให้ครบ จบทุกประเด็นที่สายช้อปมือใหม่ควรจะต้องรู้กันเลยล่ะ !
Part 1 : ทำความรู้จักประเภทของช้อปปิ้งออนไลน์
Part 2 : เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มช้อป
Part 3 : ก่อนสั่งซื้อ อย่าลืมดูความน่าเชื่อถือของร้าน
Part 4 : ได้เวลาช้อปปิ้ง!
Part 5 : ซื้อแล้วไม่พอใจ ต้องทำอย่างไรต่อ
Part 1 ทำความรู้จักประเภทของช้อปปิ้งออนไลน์
ช้อปปิ้งออนไลน์ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำ พาณิชยกรรมออนไลน์ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ E-Commerce ซึ่งก็คือการซื้อขายผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายโดยตรงกับร้านค้า หรือผ่านตัวกลาง ซึ่งร้านค้าหรือตัวกลางนี้ก็จะมีระบบการจัดการซื้อขายที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการนำเสนอและวิธีการจัดระบบร้านค้าของแต่ละร้าน
โดยการทำธุรกรรมออนไลน์นี้ จะอาศัยอุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือ, โน้ตบุ๊ก, คอมพิวเตอร์, แล็ปท็อป และแท็บเล็ต ในการเชื่อมต่อลูกค้ากับร้านค้าเข้าด้วยกัน แทนที่เราจะออกไปซื้อของที่ร้านค้าที่เป็นสถานที่จริงๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นซื้อกับร้านค้าที่อยู่บนออนไลน์แทน ซึ่งประเภทของช้อปปิ้งออนไลน์นั้นได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Marketplace และ Official Website
• Marketplace
ช้อปปิ้งออนไลน์ประเภทนี้ถ้าอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด จะเปรียบได้กับตลาดนัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างๆ ที่มีชื่อว่า แพลตฟอร์ม ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแอปพลิเช่น โดยตลาดนัดแห่งนี้จะเป็นแหล่งรวมตัวของผู้ซื้อและผู้ขายรายย่อยจากทั่วทุกพื้นที่มาไว้ในที่เดียว ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้อย่างสะดวก โดยมีเจ้าของตลาดเป็นผู้รับเงินและส่งต่อออร์เดอร์จาก ผู้ซื้อ ไปยัง ผู้ขาย อย่างมีระบบ
สำหรับ Marketplace ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็ ได้แก่ Shopee, Lazada, JD Central, Facebook, Twitter รวมไปถึง Instagram ที่ภายในประกอบไปด้วยร้านค้ายิบย่อยมากมาย เป็นเสมือนแหล่งพบปะของผู้ซื้อและผู้ขาย อยากขายอะไรก็ขายได้ อยากซื้ออะไรก็มีให้เลือกสรรได้เต็มที่
โดยแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ๆ จะมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้ามาซื้อของในตลาดของตนเอง ส่วนแพลตฟอร์มที่เป็น Social Network อย่าง Facebook , Twitter ทำหน้าที่เป็นเพียงการจัดโซนร้านค้าในหมู่บ้านที่แต่ละร้านต้องจัดโปรโมชั่น ลงโฆษณากันเอง
• Official Site
ถ้าเราเปรียบ Marketplace เป็นตลาดนัด งั้น Official Website ก็คงหนีไม่พ้นร้านค้าที่จัดจำหน่ายสินค้าส่งตรงจากผู้ผลิต ถ้าให้เห็นภาพชัดเจนเลยก็จะเป็นพวกแบรนด์ต่างๆ ที่มีช่องทางการวางขายสินค้าเป็นของตัวเอง รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับความแตกต่างระหว่าง ร้านค้าของแบรนด์ กับ ห้างสรรพสินค้า นั้นอยู่ตรงที่จำนวนแบรนด์สินค้าที่ขายในเว็บของห้างก็จะได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว เพราะมีการรวมเอาสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ มาไว้ในที่เดียว แต่สินค้าอาจจะครบรุ่น ครบแบบเท่ากับการซื้อผ่าน Official Website ของแบรนด์โดยตรง รวมไปถึงโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ ที่บางทีอาจจะมีเฉพาะช่องทางของทางแบรนด์เท่านั้น เป็นต้น
พอเป็นช่องทางการขายอย่างเป็นทางการของแบรนด์โดยตรง แน่นอนเลยจุดแข็งคือความน่าเชื่อถือ และบางทียังมีโปรโมชั่นพิเศษที่ปล่อยออกมาเฉพาะแบรนด์ หรืออย่างห้างก็จะเป็นโปรที่เหมือนกับได้ไปเดินห้างจริงๆ อาทิ Mid Year Sale หรือ Black Friday เป็นต้น
ตัวอย่าง Official Site ที่พวกเราคุ้นหน้าคุ้นตากัน เช่น ZARA, Uniqlo, Adidas, King Power, Central ฯลฯ
Part 2 เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มช้อป
ก่อนจะช้อปปิ้งต้องทำอะไรกันบ้าง มาจ้า เดี๋ยวเราจะพาทุกคนไปล้วงลึกถึงขั้นตอนตั้งแต่ก่อนเริ่มช้อปปิ้งกันเลยว่าแต่ละ Marketplace รวมไปถึง Official Site นั้น ลูกค้าอย่างเราจะต้องผ่านขั้นตอนอะไรกันบ้าง จะต้องเตรียมข้อมูลอะไรไหม หรือจะต้องยืนยันตัวตนอะไรรึเปล่า ถ้าพร้อมแล้วได้เวลาลุย
• 3 อย่างนี้ เตรียมพร้อมไว้ มีชัยไปกว่าครึ่ง!
✅ เบอร์โทรศัพท์มือถือสำหรับการสมัครและยืนยันตัวตน
✅ อีเมลสำหรับการสมัครและยืนยันตัวตน
✅ ชื่อ - นามสกุล และที่อยู่ในการจัดส่ง เพื่อให้สะดวกต่อสั่งซื้อครั้งต่อๆ ไปของเรา แนะนำว่าให้ใส่รายละเอียดข้อมูลสำหรับการสั่งซื้อและจัดส่งไว้ตั้งแต่แรกเลยดีกว่า
• วิธีสมัครบัญชี : Marketplace
สำหรับ Marketplace นั้นจะมีขั้นตอนและวิธีการที่คล้ายๆ กัน คือจะเน้นการผูกติดกับเบอร์โทรศัพท์เป็นหลัก และผู้ใช้งานจะต้องยืนยันตัวตนผ่านเบอร์ที่ผูกเอาไว้ แถมยังสามารถเลือกเชื่อมต่อผ่านบัญชีผู้ใช้งานอื่นๆ อย่าง Facebook, Twitter, Google, LINE รวมไปถึง Apple ID แทนการสมัครสมาชิกทั่วไปได้ และสำหรับช่องทางของตัวกลางหรือ Marketplace ที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้ ก็ได้แก่ Shopee, Lazada, JD Central, Facebook, Twitter รวมไปถึง Instagram
Shopee
เริ่มกันที่ Marketplace ที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง Shopee ที่เรียกตัวเองว่าเป็นช้อปปิ้งออนไลน์ที่ครบวงจรในที่เดียว ไม่ว่าจะขายของหรือซื้อของออนไลน์ สำหรับขั้นตอนการสมัครสมาชิกก็มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
สมัครผ่านเว็บไซต์
-
1. เข้าเว็บ Shopee แล้วกด สมัครใหม่ ที่มุมบนขวามือของหน้าจอ
-
2. ในหน้า สมัครใหม่ นั้นจะมีตัวเลือกมาให้เรา 2 แบบคือสมัครสมาชิกด้วยเบอร์โทรศัพท์ หรือจะใช้บัญชีผู้ใช้ Facebook หรือ Google ของเราในการสมัครก็ได้เช่นกัน
• วิธีสมัครแบบใช้เบอร์โทรศัพท์
-
1. กรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือของเราลงในช่อง หมายเลขโทรศัพท์ แล้วคลิก ต่อไป
-
2. กรอกรหัสยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ
-
3. กรอกรหัสยืนยันตัวตนที่ถูกส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เราได้กรอกไปในขั้นตอนที่ 1
-
4. เมื่อกรอกรหัสยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อย ระบบจะให้เราตั้งรหัสผ่าน โดยรหัสผ่านจะต้องประกอบไปด้วยตัวพิมพ์เล็กอย่างน้อย 1 ตัว, ตัวพิมพ์ใหญ่อย่างน้อย 1 ตัว และจะต้องเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 8-16 ตัวอักษร (รวมตัวเลข) เมื่อเสร็จเรียบร้อยคลิกที่ สมัครใหม่
-
5. เสร็จเรียบร้อย สมัครสมาชิกสำเร็จแล้ว
-
6. สำหรับวิธีการเข้าสู่ระบบก็แค่ทำการกรอกเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนเอาไว้ในหน้า สมัครใหม่ พร้อมกับรหัสผ่าน เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อยจ้า
• วิธีสมัครแบบใช้บัญชีผู้ใช้ Facebook
-
1. คลิกที่สัญลักษณ์ Facebook เพื่อสมัครสมาชิก
-
2. ระบบจะทำการเชื่อมต่อไปยัง Facebook ของเราเพื่อทำการสมัครสมาชิกใหม่ โดยที่เราจะต้องกรอกชื่อผู้ใช้พร้อมกับอีเมลเพื่อทำการสมัครสมาชิก
-
3. เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย สำหรับวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนด้วยรหัสใดๆ เลย แค่กรอกชื่อผู้ใช้กับอีเมลเท่านั้นก็ได้แล้ว
-
4. สำหรับขั้นตอนของการเข้าสู่ระบบก็แค่กดไปที่สัญลักษณ์ Facebook ในหน้าเข้าสู่ระบบ ระบบก็จะดึงข้อมูลมาให้โดยอัตโนมัติ
• วิธีสมัครแบบเชื่อมต่อกับบัญชี Google
-
1. กดไปที่สัญลักษณ์ Google เพื่อทำการ สมัครใหม่
-
2. ระบบจะทำการเชื่อมต่อไปยังบัญชี Google ของเรา ในกรณีที่ในเครื่องมีหลายบัญชี เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บัญชีไหนในการสมัครสมาชิกกับทาง Shopee
-
3. เมื่อเลือกได้แล้วระบบจะขึ้นมาให้เราทำการสร้างชื่อบัญชีผู้ใช้งานรวมไปถึงอีเมลที่ได้ทำการผูกไว้กับบัญชี Google
-
4. เสร็จเรียบร้อย เห็นไหมว่าไม่ยากเลย
-
5. สำหรับวิธีการเข้าสู่ระบบก็กดเลือกที่สัญลักษณ์ Google ในหน้าเข้าสู่ระบบ ระบบจะทำการเชื่อมเข้ากับบัญชี Google ของเรา
-
6. เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย ไม่ต้องกรอกรหัสหรือชื่อบัญชีผู้ใช้งานกันให้ยุ่งยากเลย
สมัครผ่านแอปพลิเคชัน
หากใครที่โหลดตัวแอปพลิเคชั่น Shopee เอามาไว้ช้อปผ่านมือถือ สามารถสมัครได้โดยใช้วิธีเดียวกันกับเว็บไซต์เลย ทั้งใช้อีเมล์และการสมัครผ่านบัญชีโซเชียลเน็ตเวอร์ ส่วนอีกช่องทางที่สามารถสมัครได้เฉพาะช่องทางแอปพลิเคชั่นก็คือการใช้บัญชี LINE ในการสมัครตาม ขั้นตอนดังนี้
• วิธีสมัครแบบเชื่อมต่อกับบัญชี LINE
Lazada
มาต่อกันที่ Marketplace ที่มาแรงพอๆ กับ Shopee อย่าง Lazada ที่ได้ชื่อว่าเป็น Marketplace ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง สำหรับวิธีการสมัครเข้าใช้งานนั้นไม่ต่างจาก Shopee เลย แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่มากกว่า แต่เมื่อสมัครจริงๆ แล้ว กลับใช้เวลาไม่ได้นานอย่างที่คิด สำหรับขั้นตอนการสมัครสมาชิกนั้นมีดังนี้
สมัครผ่านเว็บไซต์
-
1. เข้าเว็บ Lazada แล้วกด สมัครสมาชิก ที่มุมบนขวามือของหน้าเว็บ
-
2. สำหรับหน้าสมัครสมาชิกของ Lazada นั้นจะมีตัวเลือกไม่ต่างจาก Shopee แต่จะสังเกตได้ว่ามีแถบเมนูอย่าง ชื่อ-สกุล วันเกิด รวมถึงเพศ เพิ่มเข้ามา
-
3. และนอกจากจะสมัครสมาชิกด้วยการกรอกรายละเอียดอย่างเบอร์โทรศัพท์ ชื่อสกุล รวมไปถึงวันเกิดและเพศแล้ว เรายังสามารถเลือกสมัครสมาชิกด้วยอีเมล, Facebook รวมไปถึง Google ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
-
4. เราลองเลือกสมัครสมาชิกแบบเชื่อมต่อกับ Google ง่ายๆ แค่คลิกเลือกบัญชี Google ของเราเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย สำหรับวิธีการเข้าสู่ระบบก็ทำได้โดยมีขั้นตอนแบบเดียวกัน บอกเลยว่าไม่ยุ่งยากและใช้เวลาน้อยมากๆ
สมัครผ่านแอปพลิเคชัน
• วิธีสมัครแบบเชื่อมต่อกับบัญชี LINE และ Apple ID
-
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านทางแอปฯ นอกจากจะมีตัวเลือกเหมือนกับการลงทะเบียนผ่านเว็บโดยตรงแล้ว ยังมีการเพิ่มตัวเลือกอย่าง LINE และ Apple id (สำหรับผู้ที่ใช้งานผ่านอุปกรณ์ของ Apple อีกด้วย)
JD CENTRAL
ต่อกันที่ JD CENTRAL ตลาด Marketplace ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เซ็นทรัลกรุ๊ป และเจดีดอทคอม โดดเด่นด้วยประเภทของสินค้าที่มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไทยหรือต่างประเทศ แถมยังเปิดโอกาสให้ได้ซื้อและขายโดยผ่านตัวกลางอย่าง JD CENTRAL ที่จะคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้การช้อปปิ้งของเราดำเนินไปด้วยความราบรื่น และสำหรับขั้นตอนของการสมัครสมาชิกนั้นก็มีขั้นตอนไม่ได้ต่างจาก 2 Marketplace ที่ได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้า ดังนี้
สมัครผ่านเว็บไซต์
-
1. เข้าไปที่เว็บ JD CENTRAL แล้วมองหาคำว่า สมัครสมาชิก หรือ ลงทะเบียน ที่อยู่ทางด้านขวาของหน้าเว็บ
-
2. สำหรับขั้นตอนการสมัครสมาชิกของ JD CENTRAL นั้นก็ไม่ต่างจาก Marketplace อื่นๆ ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ คือมีตัวเลือกให้ได้เลือกกันตั้งแต่การลงทะเบียนด้วยเบอร์มือถือ, อีเมล, เชื่อมต่อกับบัญชี Facebook, LINE, Google และที่เพิ่มมาใหม่อย่าง Twitter
-
3. เราลองมาลงทะเบียนโดยใช้บัญชี Twitter ให้ดูกันเป็นตัวอย่าง หลังจากกดไปแล้วหน้าเว็บจะเชื่อมต่อกับบัญชี Twitter ที่ได้ลงชื่อเข้าใช้อยู่ทันที ง่ายๆ เพียงแค่กด Authorize app เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย
-
4. สำหรับการเข้าสู่ระบบ ง่ายๆ เพียงแค่กดเข้าสู่ระบบผ่านบัญชี Twitter เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนอะไรเลย
สมัครผ่านแอปพลิเคชัน
• วิธีสมัครแบบเชื่อมต่อกับบัญชี Apple ID
-
สำหรับผู้ใช้งานผ่านผลิตภัณฑ์ของ Apple ผ่านทางแอปฯ JD CENTRAL ในหน้าลงทะเบียน จะมีอีกหนึ่งตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมานั่นก็คือ Apple กด Sign in with Apple หน้าจอจะขึ้นมาให้เราเลือกว่าจะใช้ชื่ออะไร รวมไปถึงจะแสดงอีเมลไหมบนหน้าแอป
-
ตัวแอปจะขึ้นตัวเลือกมาให้เราว่าจะทำการสมัครสมาชิกใหม่ หรือจะทำการเชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้งาน (กรณีที่เคยสมัครแล้ว) กรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือแล้วกด Get Code เพื่อยืนยันตัวตน เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย ง่ายสุดๆ ไปเลยใช่ไหม
วิธีสมัครบัญชี : Official Store
สำหรับ Official Website นั้น เบื้องต้นสามารถเชื่อมต่อเราเข้ากับบัญชีผู้ใช้งานอื่นๆ อย่าง Facebook, Twitter รวมไปถึง LINE ได้ แต่สุดท้ายเขาจะจะมีให้เราข้อมูลจำพวก อีเมล รหัสผ่าน ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด รวมไปถึงที่อยู่ อย่างละเอียดอีกครั้งอยู่ดี ฟังดูเหมือนจะยุ่งยาก เพราะแทนที่จะดึงข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้งานอื่นๆ มาได้เลย กลับต้องมานั่งเสียเวลากรอกรายละเอียดยิบย่อยแทน
แต่ก็มีข้อดีอยู่ที่เรื่องความเป็นระบบระเบียบมากกว่า เพราะการดึงข้อมูลบางทีอาจจะทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือตกหล่นกันไปบ้าง แต่การได้มากรอกรายละเอียดด้วยตนเองตั้งแต่ครั้งแรกแบบนี้จะทำให้ระบบได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทำให้ง่ายต่อการสั่งซื้อมากยิ่งขึ้น
-
ตัวอย่างหน้าสมัครสมาชิกของ ZARA ก็มีให้กรอกข้อมูลกันแบบละเอียดๆ ตั้งแต่เริ่มเลยทีเดียว
-
King Power ก็มีให้กรอกชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์เช่นเดียวกัน แต่รายละเอียดของการจัดส่งนั้นจะยังไม่มีให้กรอกในหน้าสมัครสมาชิกนี้
-
หน้าสมัครสมาชิกของ Adidas จะเห็นได้ว่าเน้นให้ลูกค้ากรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวกันตั้งแต่เริ่มเลยเหมือนกัน
-
สำหรับ Central นั้นจะเน้นไปที่ข้อมูลส่วนตัว อีเมล และรหัสผ่าน สำหรับที่อยู่การจัดส่งจะยังไม่มีให้กรอกในหน้านี้
เมื่อเราเห็นขั้นตอนการสมัครสมาชิกก่อนจะเริ่มช้อปปิ้งกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการสมัครสมาชิกระหว่าง Marketplace กับ Official Site นั้นจะมีความแตกต่างกันตรงที่
• Marketplace จะเน้นไปที่ความรวดเร็วในการกรอกข้อมูล คือบาง Marketplace ลูกค้าอย่างเราไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลใดๆ เพียงแค่ดึงข้อมูลจากบัญชีการเข้าใช้งานอื่นๆ ยกตัวอย่าง Facebook, Twitter, Google รวมไปถึง LINE ก็สามารถสมัครสมาชิกแล้วทำการซื้อขายกันได้แล้ว ส่วนถ้าเป็นการซื้อขายกับแม่ค้าทั่วไปบน Social Network อาจจะไม่ต้องสมัครสมาชิก แต่เราต้องคอยแจ้งชื่อและที่อยู่ทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อ
• Official Site นั้นจะมีระบบจัดเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นระเบียบมากกว่า เวลาทำการสั่งซื้อสำเร็จระบบจะดึงเอาข้อมูลที่เราเคยกรอกมาให้แบบอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลามานั่งกรอกกันอีกครั้ง รวมไปถึงบางเว็บอาจจะมีการซิงค์ข้อมูลเพื่อสะสมแต้ม หรือรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากบัตรเครเดิตที่เป็น Partner
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสะดวกและถนัดแบบไหน ถ้าเป็นสายรวดเร็วไม่ได้คิดอะไร ต้องการมองหาสินค้าที่มีให้เลือกหลากหลาย มีตัวเลือกมากมายก็ไปที่ Marketplace หรือถ้าใครมีเป้าหมายในใจอยู่แล้วว่าจะซื้ออะไร มี Loyalty ในแบรนด์ หรือต้องการซื้อสินค้าผ่านระบบฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือก็พุ่งตัวมาที่ Official Site กันได้เลย
Part 3 : ก่อนสั่งซื้อ อย่าลืมดูความน่าเชื่อถือของร้าน
อย่างที่ได้อธิบายไปการซื้อของจาก Official Website เราวางใจได้ชัวร์ๆ ว่าเป็นของแท้จากแบรนด์นั้นๆ โดยตรง แต่สำหรับ Marketplace แล้ว นักช้อปหลายคนอาจเคยเจอปัญหาเลือกร้านค้าผิด ทำให้ได้ของที่ไม่ตรงปก ซึ่งในขั้นตอนนี้ให้เรางัดเอาสกิลพื้นฐานที่สายช้อปทุกคนควรจะมีนั่นก็คือสกิล การสังเกตและตั้งคำถาม
โดยให้เราเริ่มจากจุดที่สามารถสังเกตด้วยตัวเองกันได้ก่อน อาทิ ระยะเวลาที่เปิดร้าน, ยอดผู้ติดตาม, ที่ตั้งของร้าน รวมไปถึงการการันตีร้านค้า ซึ่งถ้าเป็นร้านค้าแบบ Official ก็จะน่าเชื่อถือมากที่สุด รองลงมาก็จะเป็นร้านค้าที่ผ่านเกณฑ์การประเมินของแต่ละแพลตฟอร์ม ตามด้วยบรรดาร้านค้าใหม่ ที่ยังมีผู้ติดตามไม่มาก แต่ที่ควรระวังและต้องหาข้อมูลประกอบดีๆ คงจะหนีไม่พ้นร้านค้าจากต่างประเทศ
-
ยกตัวอย่างร้านค้าจากต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ สังเกตได้จากจำนวนผู้ติดตาม, คะแนนร้านค้า รวมไปถึงระยะเวลาที่เปิดร้าน
วิธีการดูความน่าเชื่อถือของร้านค้าประเภท Marketplace นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Shopee, Lazada รวมไปถึง JD Central กับกลุ่มร้านค้าขายของผ่าน Facebook, Twitter และ Instagram สำหรับ 2 กลุ่มนี้ถ้าให้พูดตามความเป็นจริง คะแนนความน่าเชื่อถือจะเอนเอียงไปที่กลุ่มแรกมากกว่า เนื่องจากแพลตฟอร์มซื้อ-ขายนั้นมีกฏระเบียบและนโยบายค่อนข้างจะชัดเจน พร้อมทั้งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อและผู้ขายไปพร้อมๆ กัน
Shopee
ร้านค้าภายใน Shopee จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า โดยเข้าไปที่ ศูนย์การเรียนรู้ผู้ขาย ในนี้จะมีการกำหนดนโยบายและมาตรฐานชี้วัดประสิทธิภาพของผู้ขายออกมาค่อนข้างชัดเจน รวมไปถึงมีคอร์สอบรมออนไลน์สำหรับผู้ขายออกมาเลยด้วย นั่นแปลว่าทาง Shopee เองก็ได้มีการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของผู้ขายและใส่ใจผู้ซื้ออย่างเราไปพร้อมๆ กัน
Shopee Mall ที่เป็นการรวบรวมเอาร้านค้า Official Site มาวางขายอยู่บน Shopee โดยจะแตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ ตรงที่ Shopee Mall นั้นจะมีระบบการรับประกันสินค้าว่าเป็นของแท้ 100% มีระบบคืนเงินและสินค้าภายใน 15 วัน และยังมีการจัดส่งที่ฟรีทั่วประเทศไทย แค่มียอดสั่งซื้อครบ 200 บาท โดยที่เพื่อนๆ สามารถสังเกตร้านค้าประเภทนี้ได้ผ่านแท็ก Shopee Mall หรือจะเข้าผ่าน shopee.co.th/mall ก็ได้
สำหรับวิธีการให้คะแนนร้านค้าของ Shopee นั้น นอกจากผู้ซื้อจะสามารถให้คะแนนกันได้แล้ว ทาง Shopee เองก็จะมีการประเมินและให้คะแนนร้านค้าด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้หากเพื่อนๆ คลิกเข้าไปในตัวสินค้าที่ต้องการ ก็จะสามารถอ่านรีวิว รวมไปถึงชมภาพถ่ายสินค้าจริงกันได้ด้วย หรือถ้าเกิดใครมีข้อสงสัยก็สามารถทำการสอบถามกับร้านค้าได้ด้วยตนเองผ่านระบบแชทคุย ซึ่งระบบแชทคุยนี้ก็สามารถใช้เป็นอีกข้อในการประเมินร้านค้าได้ด้วยว่า พ่อค้าแม่ค้ามีความรวดเร็วในการตอบข้อความ หรือให้ข้อมูลกับผู้ซื้ออย่างเราได้เพียงพอหรือเปล่า
สำหรับร้านค้าที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่น่าเชื่อถือไปซะทีเดียว แนะนำให้พิจารณาจากการให้ข้อมูลรายละเอียดของตัวสินค้าว่าครบถ้วนไหม ดูจากยอดผู้ติดตามว่าเยอะหรือน้อยแค่ไหน ยอดคนมารีวิว โดยเฉพาะคนที่รีวิวด้วยภาพของสินค้าจริงก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ร้านนั้นๆ ได้
ซึ่งวิธีการให้คะแนนรวมไปถึงรีวิวต่างๆ เหล่านี้ก็สามารถช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าอย่างเราในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
Lazada
สำหรับ Lazada นั้นถ้าจะให้ชัวร์และมั่นใจได้มากที่สุดก็คงจะเป็น LazMall ซึ่งจะคล้ายๆ กับ Shopee Mall ตรงที่เป็นการรวบรวมสินค้าจากหลากหลายแบรนด์ดังมาให้เลือกช้อป สามารถเข้าไปเลือกดูกันได้ที่เมนู LazMall ในแอปรวมไปถึงเว็บไซต์ได้เลย นอกจากนี้ทาง Lazada เองยังแบ่งประเภทร้านค้าออกเป็น ร้านค้าที่ดำเนินการขายและจัดส่งในนาม Lazada อย่าง LazMart , ร้านค้ารายย่อยที่เข้ามาเปิดร้าน และร้านค้าจากต่างประเทศ LazGlobal
ซึ่งในประเภทสุดท้ายนี้ Lazada ก็มีการดึงเอาร้านค้าจากแพลตฟอร์มใหญ่ของจีน อย่าง Taobao เข้ามาด้วย โดยการันตีเรื่องของการมีตัวตนจริงของร้านค้า และบางร้านค้าก็มีคลังสินค้าในไทย ทำให้ได้ของไวกว่าที่ส่งมาจากจีนโดยตรง โดยสังเกตได้จากโลโก้ LazGlobal สีม่วงก็จะไว้วางใจได้ว่าได้รับการันตีจาก Lazada อย่างเป็นทางการ
-
สำหรับคะแนนของร้านค้านั้นจะอยู่ที่มุมขวาล่างของหน้าจอที่เราเห็นกันนั่นเอง
-
อ่านรีวิวช่วยเพิ่มการตัดสินใจให้กับการซื้อสินค้าของเราได้ สังเกตได้จากตัวหนังสือสีเขียวที่ขึ้นคำว่า ตรวจสอบว่ามีการสั่งซื้อแล้ว
สำหรับการรีวิวสินค้า รีวิวของทาง Lazada นั้นจะมีการตรวจสอบโดยระบบมาให้เราแล้วว่าเป็นรีวิวที่ผ่านการซื้อขายมาแล้วจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นรีวิวจากหน้าม้าแต่อย่างใด ผู้รีวิวจะรีวิวได้ต่อเมื่อมีรายการส่งซื้อและสินค้าถึงมือผู้รับแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคะแนนความน่าเชื่อถือของร้านค้า ที่ประกอบไปด้วยคะแนนร้านค้า คะแนนการจัดส่ง อัตราการตอบแชท รวมไปถึงที่อยู่ของร้านค้า เพื่อที่คนซื้ออย่างเราจะได้วางใจได้ว่าสินค้ามีที่มาที่ไปจริงๆ และถูกส่งมาจากผู้ขายจริงๆ
JD Central
ในส่วนของ JD CENTRAL สามารถยืนยันจากสโลแกนกันได้เลยว่า "ช้อปของดี การันตีของแท้" ดังนั้นลูกค้าอย่างเราค่อยสบายใจขึ้นได้ว่าสินค้าที่เรากำลังจะสั่งซื้อหรือกำลังจะได้รับนั้นได้ผ่านการคัดสรรมาแล้ว อีกทั้งยังมีการรับประกันในกรณีที่ว่าถ้าเกิดมีสินค้าปลอมหลุดออกไป ทางบริษัทจะยินดีจ่ายเงินค่าชดเชยให้จำนวนถึง 3 เท่า ในเมื่อเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ซื้ออย่างเราได้ขนาดนี้ เห็นทีว่าจะได้ช้อปปิ้งกันอย่างสบายอกสบายใจกันแล้ว แต่ในเรื่องของคุณภาพสินค้าเพื่อนๆ ก็อย่าลืมดูจากรีวิวประกอบการตัดสินใจกันด้วยทุกครั้งนะ
Social Media
มาต่อกันที่ Marketplace ที่ตั้งอยู่บนสื่อ Social Media อย่าง Facebook, Twitter รวมไปถึง Instagram กันบ้าง สำหรับสื่อประเภทนี้แนะนำว่าต้องดูความน่าเชื่อถือกันในระดับที่มากกว่ากลุ่ม Marketplace ที่แนะนำไปก่อนหน้า เพราะ Social Media ที่ใช้เป็นสื่อกลางนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการซื้อ-ขายตั้งแต่แรก
ผู้ที่สร้างกฏและระเบียบของการซื้อ-ขายสินค้าขึ้นมาจะอยู่ที่ตัวของพ่อค้าแม่ค้าซะเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการพูดคุยกันทางข้อความ ไม่ว่าจะเป็นการส่งรายละเอียดของสินค้าเพิ่มเติม เลขบัญชีสำหรับโอนเงิน ที่อยู่สำหรับการจัดส่ง ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นการบ้านที่เราจะต้องทำกันทั้งสองฝ่าย ประเมินความน่าเชื่อถือของร้านว่าอยู่ในระดับที่ดีไหม ลองสื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้าแล้วมีการโต้ตอบที่ดีหรือเปล่า สุภาพมากน้อยแค่ไหน
-
ยกตัวอย่างร้านนี้ที่มีการลงภาพเลขพัสดุสำหรับการจัดส่งที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับทางร้านได้
-
อย่างร้านนี้ก็มีการลงภาพสินค้าที่ถ่ายเอง ไม่ได้ใช้ภาพที่มาจากอินเตอร์เน็ต ทำให้เราเห็นถึงที่มาที่ไปจริงๆ
สำหรับวิธีการดูร้านค้าของ Marketplace ประเภทนี้ต้องอาศัยสกิลพื้นฐานที่สายช้อปทุกคนควรจะต้องมีอย่างที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้นั่นก็คือการสังเกตและตั้งคำถาม สังเกตดูซิว่าร้านค้าที่เรากำลังดูอยู่นั้นมี จำนวนยอดผู้ติดตามเยอะไหม มีความเคลื่อนไหว หรือมีรีวิวอะไรให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรือเปล่า
ถ้าร้านค้าร้านนั้นสามารถทำให้เราเห็นถึงความเคลื่อนไหวได้จริงๆ มีการส่งของ การขายของ มีรูปภาพของสินค้าจริงๆ ให้เราเห็น หรือบางร้านอาจจะมีนางแบบ-นายแบบประจำร้านเอง แบบนี้ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือขึ้นได้อีกระดับนึง แต่เราก็ไม่ควรตั้งแง่ หรือคิดลบกับร้านที่มียอดผู้ติดตามน้อย หรือมีคนซื้อน้อย เพราะบางทีเค้าอาจจะเพิ่งเปิดกิจการใหม่ คนติดตามเลยอาจจะยังไม่มาก ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากการสังเกตและความเชื่อใจของเราประกอบไปด้วย
Part 4 : ได้เวลาช้อปปิ้ง!
ต้องบอกเลยว่าสมัยนี้ แพลตฟอร์มของการช้อปปิ้งออนไลน์ได้ถูกทำออกมาในรูปแบบและหน้าตาที่เข้าใจได้ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะมาก คือต่อให้เราจะมือใหม่แค่ไหน ใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำความเข้าใจกันได้แล้ว ยิ่งลดขั้นตอน ยิ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานกันมากขึ้น และสำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ยังคงมีความสับสนเกี่ยวกับวิธีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันอยู่ เดี๋ยวเราจะมาสาธิตวิธีการสั่งซื้อให้ได้ดูกัน บอกเลยว่าง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากแน่นอน
วิธีการซื้อของบน Marketplace
-
วิธีการสั่งซื้อก็จะเริ่มจากการเลือกหาสินค้าที่เราต้องการ
-
เมื่อเลือกได้แล้วสิ่งที่เราต้องทำต่อไปนั่นก็คือการดูความน่าเชื่อถือ ต้องทำยังไงบ้าง ทบทวนซิ ต้องเริ่มจากการดูจำนวนยอดขาย คะแนนของร้านค้า รวมไปถึงรีวิวจากผู้ซื้อสินค้า อย่างอันนี้ความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี รออะไร กดซื้อสินค้ากันได้เลย
-
ตรวจสอบรายละเอียดสินค้าเพิ่มเติม เมื่อเรียบร้อยแล้วให้กดชำระเงิน สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านทาง Shopee มาก่อนจะต้องทำการเพิ่มที่อยู่การจัดส่งกันก่อน กรอกครั้งเดียวแล้วสามารถใช้ได้ยาวๆ
-
กรอกรายละเอียดที่อยู่การจัดส่งกันให้ครบถ้วน ชัดเจน และถูกต้อง เสร็จแล้วกดยืนยัน
-
อย่างสมาชิกใหม่ Shopee เค้าจะให้สิทธิ์ส่งฟรีมาให้เรา จิ้มเลือกเอาสักอัน (เพราะฟรีทั้งคู่) เสร็จเรียบร้อยมาเลือกวิธีการจ่ายเงินค่าสินค้ากัน ซึ่งมีให้เลือกเยอะมาก ใครไม่ถนัดทำธุรกรรมออนไลน์จะเลือกโอนเงินผ่านธนาคาร ชำระผ่านตู้ ATM หรือสะดวกสุดๆ คือจ่ายเงินตอนรับสินค้ากันก็ได้
-
ตรวจสอบความถูกต้องเป็นขั้นตอนสุดท้าย เสร็จแล้วกดสั่งซื้อสินค้า สำหรับ Shopee นั้นจะมีการอัปเดตสถานะการซื้อสินค้าของเรากันแบบเรียลไทม์ ของถูกจัดส่งหรือยัง อยู่ตรงไหน กำลังจะมาถึงแล้วหรือไม่ สามารถเช็กดูกันได้ที่หน้าต่าง การซื้อของฉัน เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นกระบวนการสั่งซื้อ รอรับของที่บ้านกันได้เลย
สำหรับ Marketplace อย่าง Shopee, Lazada และ JD CENTRAL จะมีขั้นตอนไม่ได้แตกต่างกันมาก ทุกอย่างจะดำเนินไปทีละขั้น ใช้เวลาทำความเข้าใจไม่ยาก ระบบการจ่ายเงิน ก็จะมีทั้งการตัดบัตรเครดิต/เดบิต, Mobile Banking, ชำระผ่าน ATM, โอนผ่านบัญชีธนาคาร รวมไปถึงการชำระเงินปลายทาง ต่อไปเราจะมายกตัวอย่างการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบ Marketplace ที่เป็นช่องทางอย่าง Social Media ให้ได้ดูกันบ้าง ขอยกตัวอย่าง Facebook ก็แล้วกันเนอะ
-
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าระบบการซื้อสินค้าใน Marketplace ประเภท Social Media นั้นส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่านการพูดคุยกันทางข้อความ ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
-
แค่บอกความต้องการของเราไปว่าอยากได้อะไรๆ รอทางร้านสรุปยอด เราก็จัดการโอนเงินพร้อมส่งรายละเอียดที่อยู่การจัดส่ง เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้นกระบวนการซื้อขายแล้ว
การซื้อขายผ่าน Social Media 90% ของการชำระเงินจะเป็น การโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารและพร้อมเพย์ สำหรับการชำระด้วยวิธีการตัดบัตรเครดิต/เดบิต นั้นมีน้อยมาก สำหรับวิธีการยืนยันการชำระเงินก็จะใช้วิธีการแนบสลิป ซึ่งทางร้านก็จะเห็นข้อมูลตั้งแต่เวลาการโอน จำนวนเงิน รวมไปถึงชื่อธนาคารที่สามารถทำการตรวจสอบด้วยตัวเองได้ เมื่อทำการตรวจสอบเรียบร้อยก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการจัดเตรียมสินค้าสำหรับจัดส่งให้กับลูกค้าในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป สำหรับผู้ซื้อสำคัญมากคือต้องเก็บสลิปไว้ให้ดีเพื่อเป็นหลักฐานในการซื้อขาย
วิธีการซื้อของบน Official Site
สำหรับขั้นตอนการสั่งซื้อของ Official Site นั้นจะมีระบบแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ เหมือนที่เวลาเราไปร้านแล้วบางร้านแคชเชียร์อยู่ทางออก บางร้านแคชเชียร์อยู่ด้านในสุด แต่ขั้นตอนโดยหลักก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ผู้ซื้อสินค้าจะทำการสั่งซื้อด้วยวิธีการ เลือกสินค้าไปใส่ในตะกร้า > ตรวจสอบที่อยู่การจัดส่ง > ชำระเงิน > อีเมลยืนยันคำสั่งซื้อ สำหรับอีเมลยืนยันการสั่งซื้อเป็นเสมือนการได้รับใบเสร็จรับเงิน ทำให้เรามีหลักฐานเป็นตัวอักษรให้เห็นว่ามีการสั่งซื้อและชำระเงินเกิดขึ้นจริงๆ จะแตกต่างจาก Marketplace บางเจ้าที่อาจจะไม่มีตรงนี้ให้
ตัวอย่าง
-
1. เราขอยกตัวอย่างเว็บช้อปปิ้งอย่าง ZARA ที่หลังจากเราได้ทำการสมัครสมาชิกและเข้าสู่ระบบเป็นที่เรียบร้อย
-
2. ทำการเลือกซื้อสินค้าด้วยการหยิบใส่ตะกร้า
-
3. เมื่อเลือกได้แล้วให้เรากดเข้าไปในหน้าถุงช้อปปิ้งแล้วกดดำเนินการต่อ
-
4. เลือกวิธีการจัดส่งแล้วกดดำเนินการต่อ สำหรับ ZARA นั้นมีเงื่อนไขส่งฟรีเมื่อมียอดการซื้อ 1,990 บาทขึ้นไปนะ
-
5. สำหรับรายละเอียดของการชำระเงินก็จะเป็นมาตรฐานอย่างที่เราเห็นกัน หลักๆ คือจะเป็นการตัดผ่านบัตร Visa, Mastercard หรือจะหักผ่านบัญชีธนาคารก็ได้ สำหรับวิธีการชำระเงินประเภทพร้อมเพย์นั้นจะไม่มีให้เห็นสำหรับการซื้อสินค้าผ่าน Official Site เลย
-
6. เมื่อเลือกขั้นตอนการชำระเงินกันได้แล้ว ระบบจะทำการสรุปยอดของเรามาให้เพื่อเข้าสู่กระบวนการของการชำระเงินต่อไป จะสังเกตได้ว่าขั้นตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องมากรอกรายละเอียดการชำระเงินให้ยุ่งยากกันอีกรอบ เพราะระบบได้ทำการดึงข้อมูลมาให้เราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หลังจากจ่ายเงินเสร็จสรรพ การขนส่งสินค้าไปให้ผู้รับที่ปลายทางนั้นจะมีเลขรหัสพัสดุการจัดส่งให้ได้ติดตามกันอยู่แล้ว ว่าของถึงไหน จะได้รับเมื่อไหร่ ระบบจะมีการอัปเดตสถานะการจัดส่งอยู่ตลอด และสำหรับใครที่มีข้อสงสัย อยากศึกษาวิธีการจัดส่ง หรือกำลังมองหาบริษัทขนส่งกันอยู่ แนะนำให้ไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่ > 20 บริษัทขนส่ง
Part 5 : ซื้อแล้วไม่พอใจ ต้องทำอย่างไรต่อ
โดยปกติไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อผ่าน Marketplace หรือ Official Site ก็จะมีการรับประกันสินค้าให้อยู่แล้ว แต่สำหรับการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางบางประเภทก็ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องของการรับประกันตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่าง การสั่งซื้อผ่าน Facebook, Twitter หรือ Instagram บางเจ้า ที่คนขายมีการให้ข้อมูลตั้งแต่ต้นในทำนองที่ว่า "ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน" แล้วถ้าเราเจอแบบนี้ล่ะ จะต้องทำยังไง
ก่อนอื่นให้เราทำการไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการสั่งซื้อของแต่ละเจ้ากันก่อนว่ามีความคุ้มครองให้ในกรณีที่เราได้รับสินค้ามาแล้วชำรุด หรือผิดไปจากที่ได้สั่งซื้อมายังไงกันบ้าง ยกตัวอย่าง Shopee ที่มีระบบการคืนเงินและคืนสินค้าไว้อยู่แล้วในหน้าแพลตฟอร์ม โดยลูกค้าคนไหนต้องการจะขอคืนเงินหรือคืนสินค้าก็จะสามารถทำได้โดยการกดไปที่ คืนเงิน/คืนสินค้า ในหน้ารายละเอียดคำสั่งซื้อ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่กด ตรวจสอบและยอมรับสินค้า กันไปซะก่อนนะ
Credit : Shopee
เมื่อกด คืนเงิน/คืนสินค้า กันเรียบร้อยแล้ว ระบบให้ขึ้นมาให้เราระบุเหตุผล แนบรูปภาพของจริง รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับตัวสินค้าที่ได้รับมาแล้วเกิดชำรุด หรือไม่ตรงกับสินค้าที่เลือกไว้ตั้งแต่แรก เมื่อกรอกรายละเอียดเรียบร้อยให้คลิกไปที่ ข้อเสนอ เพื่อทำการเลือกว่าจะขอคืนเงิน, คืนสินค้า หรือจะคืนทั้งเงินและสินค้าไปเลย
แต่อย่างไรก็ตามการทำวิธีการนี้ไม่ใช่ว่าเราจะได้รับเงินคืนทันทีนะ เพราะจะต้องรอให้ทางร้านไปเช็กอีกทีนึงก่อนว่า มันมีข้อผิดพลาดจริงๆ ใช่ไหม ถึงจะเข้าสู่กระบวนการของการคืนเงินและคืนสินค้าต่อไปได้จ้า
อย่าง Lazada ก็เช่นเดียวกัน โดยทางเว็บจะมีการบอกรายละเอียดไว้ตั้งแต่ก่อนให้ลูกค้าอย่างเรากดซื้อว่า สินค้าตัวนี้สามารถคืนสินค้าได้ใน 7-15 วันนะ หรือบางสินค้าซื้อแล้วไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้นะ ซึ่งผู้ซื้ออย่างเราจะต้องทำการสอบถามรายละเอียด
รวมไปถึงอ่านรีวิวจากผู้ซื้อสินค้ารายอื่นก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจ (ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้) หรือต่อให้คืนได้แล้ว ก็จะมีเงื่อนไขที่ตามมาอีกก็คือ สินค้าจะต้องไม่เสียหาย จะต้องไม่ผ่านการใช้งาน และจะต้องคืนกลับมาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ ของแถม (ในกรณีที่มี) ด้วย
• แล้วถ้าแพลตฟอร์มที่เราซื้อสินค้านั้นอยู่ในสื่อ Social Media แล้วเกิดไม่มีการรับประกันสินค้าล่ะ จะทำยังไงได้บ้าง?
ถ้าหากเราซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Social Media ที่ไม่ได้มีนโยบายการรับประกันสินค้าที่ชัดเจน แล้วพบปัญหาที่ตามมาอย่างสินค้าชำรุด เสียหาย ได้ของมาผิด พอจะทำการส่งคืน ร้านค้าก็ไม่รับคืน อันนี้ผู้ซื้ออย่างเราสามารถดำเนินการได้ 2 ทาง
1. ดำเนินการผ่านทางบริษัทขนส่ง
เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่เหมือนๆ กันทุกบริษัท โดยจะถูกเรียกกันว่านโยบายประกันพัสดุ ที่ทุกบริษัทขนส่งจะมีวงเงินในการรับประกันตัวสินค้าให้กับผู้ใช้บริการกันอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขว่าการที่พัสดุชำรุด สูญหายนั้นจะต้องมีสาเหตุมาจากการขนส่งสินค้าจริงๆ ไม่ใช่มีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่ต้นทาง
2. ดำเนินการด้วยตนเองผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียน
วิธีการนี้ฟังดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ เพราะเราจะต้องดำเนินการไปที่ศูนย์รับร้องเรียนต่างๆ ด้วยตัวเอง อาทิ สถานีตำรวจ, ศูนย์รับร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (โทร 1212) , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) (โทร 1166) หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (โทร 02-248-3737) เป็นต้น โดยแต่ละที่นั้นก็จะมีขั้นตอนในการรับแจ้งปัญหา และดำเนินการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป แนะนำว่าให้ลองไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกันอีกที
• รู้ไว้ไม่เสียหาย สิทธิคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคอย่างเราควรจะต้องรู้!
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง และเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดเชยค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3, และ 4 ดังกล่าว
นอกจากสิทธิพิ้นฐานที่ต้องรู้แล้ว นโยบายการซื้อขายผ่านช่องทางต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็น Marketplace หรือ Official Website เอย เพื่อการซื้อขายที่เป็นไปด้วยความราบรื่น สบายใจทั้งคนซื้อและคนขายกันถ้วนหน้านะจ๊ะ
Shopping Online ช้อปปิ้งแบบไหนที่ใช่เรา?
หลังจากศึกษากระบวนการทั้งหมดทั้งมวลกันมาแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงจะพอมองเห็นภาพ และขั้นตอนของการซื้อขาย รวมไปถึงรู้จักประเภทของ Shopping Online กันมากขึ้นแล้ว สำหรับบทสรุปส่งท้ายนี้เราเลยจะมาขอย้ำเพื่อความมั่นใจกันอีกสักนิด ว่าความแตกต่างระหว่างประเภท Shopping Online ทั้ง 2 แบบนั้น เหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง?
• Marketplace
จุดเด่นของ Marketplace คือจะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานอย่างเราได้มากกว่า มีความสะดวกและรวดเร็วในการลงทะเบียนเข้าใช้งานมากกว่า มีกลุ่มสินค้าให้เลือกหลากหลาย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความคุ้มค่า ชอบเปรียบเทียบ ต้องการทางเลือก
• Official Site
ตอบโจทย์คนที่ต้องการความเป็นระบบ มี Loyalty ในแบรนด์ มีเป้าหมายในใจอยู่แล้วว่าจะซื้ออะไร ต่อให้ราคาจะถูกหรือจะแพงแค่ไหนนับว่าเป็นปัจจัยรอง คุณภาพและความน่าเชื่อถือต้องมาก่อน
🛍️ ปันโปรสรุปให้ 🛍️
• ทั้งหมดนี้ก็เป็น 5 Step ที่มือใหม่หัดช้อป รวมไปถึงผู้ที่ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้วควรจะต้องรู้
• ก่อนจะทำการสั่งซื้อสินค้าและบริการชนิดไหน ต้องศึกษาข้อมูลและนโยบายของแต่ละเว็บช้อปปิ้งกันก่อนด้วยนะ
• ถ้าหากมีปัญหาหรือได้รับการให้บริการที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำการส่งหลักฐานและร้องเรียนกันได้ตามรายละเอียดที่เราได้ให้ไว้ด้านบน
อ่านบทความจากซีรีส์ Shopping Online 101 ต่อ
คู่มือซื้อของออนไลน์ : โปรลดราคา ของเซลในเน็ต ดีจริงหรือ
คู่มือซื้อของออนไลน์ : จ่ายเงินซื้อของ - ขอคืนเงินอย่างไรให้ปลอดภัย
คู่มือซื้อของออนไลน์ : ค่าส่งเรื่องปวดใจของนักช้อป แล้วที่ว่าส่งฟรีมีอยู่จริงมั้ย?
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)