ไขคำตอบ ! น้ำท่วมปี 2564 จะหนักเท่าปี 2554 หรือไม่ ? พร้อมวิธีรับมือเมื่อได้รับการเตือนภัย

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer21 ต.ค. 2564 avatar writer215
ไขคำตอบ ! น้ำท่วมปี 2564 จะหนักเท่าปี 2554 หรือไม่ ? พร้อมวิธีรับมือเมื่อได้รับการเตือนภัย

 

เป็นอีกปีที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกครั้ง และน้ำท่วมครั้งนี้ก็มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด และยังมีอีกหลายพื้นที่ได้อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ทำเอาหลายๆ บ้านเริ่มเกิดความกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 นี้จะร้ายแรงเท่ากับน้ำท่วมตอนปี 2554 หรือไม่ ? 

 


 

น้ำท่วม 2564

 

ปี 2564 นี้ ถือว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ เทียบเท่ากับปี 2554 แล้วหรือยัง ?

 

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบที่ว่า "ปี 2564 นี้ ถือว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ เทียบเท่ากับปี 2554 แล้วหรือยัง ?" เราไปทราบถึงสาเหตุของน้ำท่วมครั้งใหญ่ของทั้งปี 2554 และปี 2564 กันก่อน

 

🌊 สาเหตุการเกิดน้ำท่วม ปี 2554

 

หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ที่เรียกได้ว่าสร้างผลกระทบไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเลย รวมไปถึงพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็ไม่รอดโดนกันทั่วหน้าไปหลายเขต ซึ่งสาเหตุของน้ำท่วมในตอนนั้น นักวิชาบอกว่า น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เกิดความผิดปกติทางน้ำหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

 

  • พายุฝนโหมกระหน่ำเข้าไทย มากถึง 5 ลูก คือ พายุโซนร้อนไหหม่า, นกเตน, ไห่ถาง, เนสาด และนาลแก ซึ่งปกติไทยจะเจอพายุฝนเพียง 2-3 เท่านั้น 
  • เขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำใกล้เต็มความจุ ไม่ว่าจะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์และเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ เป็นต้น ยิ่งเมื่อพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เจอพายุฝนซัดมาอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พื้นที่ที่อยู่ใต้เขื่อนได้รับผลกระทบไปเต็มๆ 
  • น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

 

น้ำท่วม 2564-3

 

🌊 สาเหตุการเกิดน้ำท่วม ปี 2564 

 

สาเหตุของการน้ำท่วมในปี 2564 นี้ก็ยังคงหนีไม่พ้นพายุฝนอีกเช่นเคย โดยมีกว่า 20 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบของ 'พายุเตี้ยนหมู่' ไปเต็มๆ แต่ทั้งนี้นักวิชาการและนักวิจัยด้านน้ำหลายๆ คนก็ลงความเห็นว่าน้ำท่วมปี 2564 ยังไม่รุนแรงเท่าปี 2554

 

นอกจากนี้สาเหตุของน้ำท่วมปีนี้ สถานการณ์น้ำและฝนค่อนข้างผิดปกติไปจากทุกปี เพราะฝนไม่ตกตามร่องมรสุมที่เคยเข้า และส่วนใหญ่พายุฝนมักจะไปเกิดในพื้นที่ใต้เขื่อนเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เราไม่ได้มีเวลาเตรียมตัว อย่างพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมมาก่อน ก็ได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ จึงทำให้น้ำจากแม่น้ำชีทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนในที่สุด 

 

และถ้าหากเทียบกันแล้วปริมาณฝนที่ตกในเดือนกันยายน ปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าฝนตกมากกว่าปกติจริง

แต่ยังไม่มากเท่ากับเมื่อปี 2554

และปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ก็ยังคงสามารถรับน้ำเพิ่มอยู่ แต่ที่ต้องระวัง คือ การเกิดพายุใต้พื้นที่เขื่อน

และต้องระวังเรื่องการปล่อยน้ำปริมาณมากของเขื่อนสิริกิต์และเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์

 


 

วิธีรับมือเบื้องต้น เมื่อได้รับการเตือนภัย !

 

น้ำท่วม 2564-2

 

นอกจากเราจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเตรียมตัวให้พร้อมและการรับมือเมื่อได้รับการเตือนภัยจากทางการ เพื่อที่เราจะได้เตรียมหาทางหนีทีไล่ได้แบบทันท่วงที ซึ่งปันโปรก็ได้รวมรวบวิธีการเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมมาให้แล้ว 

 

  • ติดตามข่าวสาร เฝ้าระวังและสังเกตปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง 
  • เมื่อได้รับการเตือนภัย ให้รีบย้ายสิ่งของ เอกสารสำคัญ และสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงทันที 
  • เตรียมอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ไว้ให้พร้อม
  • นำรถยนต์ไปจอดไว้ยังพื้นที่ ที่น้ำท่วมไม่ถึง 
  • เตรียมหาเส้นทางอพยพออกจากพื้นที่ ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง
  • จดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน เช่น

 

📱ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สายด่วนรับแจ้ง-เตือนภัยน้ำท่วม โทร. 1111 กด 5
📱 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สายด่วนแจ้งเตือนสาธารณภัย โทร.1784
📱 ร่วมด้วยช่วยกัน ประสานความช่วยเหลือ โทร.1677
📱 ตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม-ขอความช่วยเหลือ โทร.1193
📱 ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม-ขอความช่วยเหลือ โทร.1146

 

สรุปแล้วก็คือไม่ว่าจะน้ำท่วมปี 2554 หรือน้ำท่วมปี 2564 สาเหตุหลักๆ เกิดจากพายุฝนและมรสุมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เขื่อนและแม่น้ำในหลายๆ พื้นที่มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของผู้คนนั่นเอง และถึงแม้ว่านักวิชาการยืนยันว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะได้ไม่รุนแรงเท่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราแนะนำว่าก็ยังคงต้องติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อจะได้รับมือเมื่อมวลน้ำใกล้เข้ามาได้แบบทันที

 

นอกจากบ้านและทรัพย์สินจะต้องอยู่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือ โรคภัยต่างๆ ที่มักจะมาพร้อมกับน้ำท่วมด้วย ถ้าหากเป็นไปได้เราแนะนำให้สัมผัสกับน้ำที่ไหลมาให้น้อยที่สุดจะดีกว่า 

 

👉🏻 สำหรับใครที่ต้องการเช็กเส้นทางที่มวลน้ำไหลผ่าน มีการปิดเส้นทางการจราจร สามารถเช็กได้ที่นี่ : คลิก 

 


 

ขอบคุณข้อมูลจาก : thansettakij.com, tiwrmdev.hii.or.th, tnnthailand.com

แสดงความคิดเห็น