เผ็ดจริงๆ เลยนะ เม็ดแค่เนี้ย! ว่าด้วยเรื่องความซี๊ดซ๊าดของพริก เพราะอะไรเราถึงรับมือกับความเผ็ดได้ไม่เท่ากัน ?

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer16 ก.ย. 2564 avatar writer2.5 K
เผ็ดจริงๆ เลยนะ เม็ดแค่เนี้ย! ว่าด้วยเรื่องความซี๊ดซ๊าดของพริก เพราะอะไรเราถึงรับมือกับความเผ็ดได้ไม่เท่ากัน ?

 

ถ้าพูดถึงอาหารรสเผ็ดอย่าง ส้มตำ หรือยำประเภทต่างๆ อาหารเหล่านี้มักจะเป็นจานโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติเผ็ดร้อน แซ่บถึงใจ แต่ในทางกลับกันก็มีอีกหลายคนที่ชอบทานแบบเผ็ดน้อยอยู่เหมือนกัน จึงเกิดเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ ว่า ถ้าจะกินส้มตำหรือยำเนี่ย มันต้องเผ็ดๆ แซ่บๆ เท่านั้นมันถึงจะสาแก่ใจ ถ้ากินแบบไม่เผ็ดมันจะอร่อยได้ยังไง ?  ทางเราจึงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าทำไมคนเราถึงมีความสามารถในการทานเผ็ดไม่เท่ากันนะ ?

 


 

ทำไมเราถึงกินเผ็ดได้ไม่เท่ากัน

 

ต้องย้อนไปถึงตอนเรียนวิชาวิทยาศาตร์ตอนที่ยังเป็นเด็กประถม เราจะคุ้นเคยกันว่าลิ้นของเรารับรสได้เพียงแค่ 4 รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม และขม ผ่านปุ่มรับรสที่กระจายตัวอยู่ทั่วลิ้น แต่เอ รสเผ็ดมาจากไหนกันล่ะ ?

 

จริงๆ แล้ว เผ็ดไม่ใช่รสชาติ แต่เป็นเพียงปฏิกิริยาหรือความรู้สึกแสบร้อนของลิ้น
ที่เกิดขึ้นเมื่อเราทานอาหารที่มีพริกต่างหาก

 

ทำไมพริกเม็ดถึงเผ็ดและแซ่บซี๊ดซ๊าด จนทำให้ปากเราเบิร์นได้ ?

 

คนมักจะเข้าใจผิดว่าความเผ็ดของพริกมาจากเปลือก บอกเลยว่าที่เปลือกและเม็ดนี่แค่ระดับเบสิก ความแซ่บของจริงอยู่ที่เยื่อแกนกลางในเม็ดพริกหรือต่างหาก !

 

เยื่อขาวๆ แกนกลางหรือรกของพริก จะมีสารที่ชื่อว่า แคปไซซินอยู่ ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ เมื่อเราทานอาหารที่มีส่วนประกอบของพริก สารแคปไซซินจะไปทำปฏิกิริยาหรือกระตุ้นประสาท ทำให้เกิดความเจ็บปวด จึงทำให้รู้สึกเผ็ด แสบร้อนนั่นเอง  

 

นอกจากจะทำให้พริกมีรสชาติเผ็ดแล้ว แคปไซซินยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย เช่น ลดหรือบรรเทาอาการปวดข้อต่างๆ  ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยเรื่องระบบเผาผลาญของร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น

 

Carolina Reaper pepper

 

และที่สำคัญพริกแต่ละสายพันธุ์ยังมีปริมาณของแคปไซซินที่ต่างกันด้วย ซึ่งพริกที่ครองตำแหน่งพริกที่เผ็ดที่สุดในโลกได้แก่ แคโรไลนา รีพเปอร์ เปปเปอร์ มีความเผ็ดมากถึง 1,569,300 สโกวิลล์ เผ็ดขนาดที่ว่าอาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัวกระทันหันได้เลย พริกขี้หนูสวนบ้านเราที่ว่าเผ็ดจนปากเบิร์นแล้ว ก็คือ ชิดซ้ายไปเลยจ้า

 


 

แล้วทำไม คนเราถึงกินเผ็ดได้ไม่เท่ากันล่ะ ?

 

น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยไม่น้อย ว่าทำไมคนเราถึงกินเผ็ดได้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเพื่อนรอบตัวเรา บางคนเอ็นจอยกับการทานอาหารรสเผ็ดจัดมาก ส้มตำพริกร้อยเม็ดสู้ตายไม่ถอย ในทางกลับกันเพื่อนบางคน เพียงแค่พริกเม็ดเดียว ทานแค่คำเดียวก็ทำให้น้ำหูน้ำตาเล็ดแล้ว

 

นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า นั่นเป็นเพราะคนเรามีตัวรับรู้ความเจ็บปวด (Pain Receptors) ที่ไม่เท่ากัน ยิ่งคนที่มีตัวรับรู้ความเจ็บปวดต่อสารแคปไซซินไว เมื่อทานอาหารเผ็ดก็ยิ่งรู้สึกเผ็ดและแสบร้อนมากกว่าคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่คนกินเผ็ดไม่ได้เท่านั้นที่จะเข้าใจว่าทรมานขนาดไหน 

 

นอกจากนี้เรื่องความสามารถของการกินเผ็ดยังขึ้นกับการเลี้ยงดูหรือสภาพแวดล้อมอีกด้วย อย่างในประเทศไทยเอง มีอาหารหลายเมนูที่มีพริกเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำพริก, ต้มยำ หรือยำประเภทต่างๆ ทำให้เราคนไทยเราคุ้นเคยกับการอาหารเผ็ดจัดจ้านมากกว่า เมื่อเทียบกับอาหารของฝั่งยุโรปหรืออเมริกาที่น้อยเมนูจะมีพริก

 

พริก

 

ถ้าชอบกินเผ็ดมาก หรือกินเผ็ดเป็นประจำ จะเป็นอันตรายกับร่างกายมั้ย ?

 

แม้ว่าการทานพริกจะมีประโยชน์กับร่างกาย แต่เราก็ควรทานในปริมาณที่พอดี ไม่ควรทานรสเผ็ดจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

  • การทานอาหารเผ็ดจัดเป็นประจำ อาจสร้างความระคายเคืองให้เนื้อเยื่อในกระเพาะอาหาร จนอาจเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอักเสบได้
  • สารแคปไซซินมีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อเราทานอาหารรสเผ็ดจัดหรือทานเผ็ดประจำ จะให้ไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้  

สรุปแล้วเรื่องความสามารถของการทานเผ็ด ก็คือ เรื่องของธรรมชาติของร่างกายเรา คนที่ไม่ชอบทานเผ็ดก็ไม่จำเป็นต้องฝึกหรือฝืนทานให้ทรมานตัวเอง และสำหรับคนที่ชอบรสเผ็ดจัดเป็นชีวิตจิตใจ ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น และทานในปริมาณที่พอดีจะดีกว่า ก่อนที่ปัญหาเรื่องสุขภาพจะถามหาเอาซะก่อน


ขอขอบคุณที่มา : bbc.com, med.mahidol.com, popsci.com, pobpad.com

แสดงความคิดเห็น