ส่อง " 3 พฤติกรรมแก้เครียดที่ดูเหมือนธรรมดา " แต่รู้หรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวช !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer13 พ.ค. 2565 avatar writer9.5 K
ส่อง " 3 พฤติกรรมแก้เครียดที่ดูเหมือนธรรมดา " แต่รู้หรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวช !

 

เพื่อน ๆ คนไหนที่เผชิญกับสภาวะเครียดบ่อย

ถามหน่อยว่ามีวิธีจัดการกับมันยังไงกันบ้าง ?

 

ถ้าเป็นวิธีแก้เครียดแบบปกติเหมือนที่คนส่วนใหญ่ทำกันก็คงหนีไม่พ้นการดูหนัง อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือว่าเล่นเกม แต่สำหรับบางคนวิธีแก้เครียดของพวกเค้าอาจดูเหมือนพฤติกรรมธรรมดา แต่ไอ้ความธรรมดาที่ว่า จริง ๆ แล้ว มันธรรมดาซะที่ไหน ! อะ แต่ก่อนอื่น ไหนเราลองมาสำรวจตัวเองกันก่อนสักหนึ่งกรุบว่าเวลาเครียดใครที่ชอบเผลอ (หรือตั้งใจ) แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ออกมากันบ้าง 🤔 

 

 

" ถ้าตอบว่าไม่เคย เปย์เป้บอกเลยว่ารอด แต่ถ้าตอบว่าเคยเมื่อไหร่

รู้หรือไม่ว่า เราอาจมีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคจิตกันได้เลยนะ ! "

 


 

ดึงผม กัดเล็บ เขย่าขา พฤติกรรมที่ดูเหมือนธรรมดา

แต่ถ้ามากไป อาจถึงขั้นกลายเป็น โรคจิต กันได้เลย 😱 

 

สำหรับใครที่เป็นแฟนหนังแนวจิต ๆ ฆ่า ๆ เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องหรืออะไรก็ตาม เรามักจะชินกับพล็อตที่ว่า กว่าคน ๆ นึงจะกลายมาเป็นตัวร้ายในหนังกันได้ ล้วนแล้วแต่มีเหตุจูงใจ หรือมีประสบการณ์บางอย่างที่ดลใจทำให้เกิดการ ฆ่า หรือการกระทำอะไรบางอย่างที่เลวร้ายกันแทบจะทั้งนั้น

 

 

อย่าง เจสัน จากศุกร์ 13 ฝันหวาน แม้ว่าชื่อเรื่องจะบอกว่าฝันหวาน แต่สำหรับเหล่าตัวละครผู้โชคร้ายในเรื่องล้วนแล้วแต่มองว่านี่มันคือฝันร้ายชัด ๆ 😱  ซึ่งเปย์เป้จะบอกว่าสิ่งที่หล่อหลอมทำให้เด็กชายคนนึงกลายมาเป็นฆาตกรโรคจิตในหนังสยองขวัญแฟรนไชส์ขวัญใจคนทั้งโลกได้ นั้นมาจากการที่เค้าโดนคนรอบตัวกลั่นแกล้งตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก

 

เพราะเจสันเกิดมาพร้อมกับใบหน้าที่อัปลักษณ์ มีร่างกายที่อ่อนแอ กระท่อนกระแท่น ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนอย่างเด็กคนอื่น ๆ และด้วยความแตกต่างนี้เลยทำให้เจสันมักจะถูกกลั่นแกล้ง และทุบตี จากเด็กไม่ว่าจะรุ่นเดียวกัน หรือโตกว่าอยู่บ่อย ๆ จนมันสะสมทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตของเค้าขึ้นมา และน่าจะบอบช้ำอย่างหนักพอสมควร แถมช่วงหลังเค้าดันมาเสียแม่ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายไปด้วยอีก นี่เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่หล่อหลอมและทำให้เกิดฆาตกรโรคจิตอย่าง เจสัน วอร์ฮีส์ ขึ้นมา 

 

เจสัน วอร์ฮีส์ กับแม่ ตัวละครชื่อดังจากภาพยนตร์เรื่อง ศุกร์ 13 ฝันหวาน

 

จากพล็อตที่ดูเหมือนว่าจะมีให้เห็นแต่ในหนัง แต่จริง ๆ แล้วเปย์เป้บอกเลยว่ามันก็มีส่วนที่เป็นความจริงผสมอยู่เยอะเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ จะผันตัวเองกลายมาเป็นฆาตกรต่อเนื่องไล่ฆ่าคนกันซะเมื่อไหร่ เพราะไอ้คำว่า โรคจิต (Schizophrenia) ที่ว่านี้ เป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง และมีดีเทลค่อนข้างจะยิบย่อยมาก ดังนั้นเปย์เป้เลยไม่ได้หมายความว่า ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมดึงผม กัดเล็บ เขย่าขา จะผันตัวเองให้กลายมาเป็นตัวเอกในหนังฆาตกรต่อเนื่องในชีวิตจริงกันหรอกนะ 😅 

 

แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ว่านี้ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมเสพติดอย่างนึงได้เหมือนกัน และไอ้เจ้าพฤติกรรมเสพติดเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองต้องทำพฤติกรรมเหล่านั้นซ้ำ ๆ วนไปวนมา ไม่ว่าจะทำไปเพราะความรู้สึกดี หรือรู้สึกผ่อนคลายอะไรก็ตาม แต่พฤติกรรมซ้ำ ๆ วนไปวนมาแบบนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในอาการของโรคจิตเวชที่มีชื่อว่า ย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) ได้เหมือนกัน

 

 

  • ในส่วนของอาการ ย้ำคิด  สามารถสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิด ความรู้สึก หรือมีแรงขับจากภายในเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในระดับที่มากจนเกินไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นความไม่สบายใจบางอย่าง ที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยต้องวนเวียน และเอาแต่คิดเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านั้นซ้ำ ๆ จนกว่าจะหาทางออกที่ทำให้หยุดคิดได้

    📍 ตัวอย่างเช่น กว่าจะออกจากบ้านได้ เปย์เป้ต้องมานั่งไล่คิดไปทีละเรื่องว่าปิดน้ำหรือยัง ปิดไฟบนห้องแล้วใช่ไหม เอ๊ะ แล้วปลั๊กไฟล่ะ ถอดหมดแล้วหรือเปล่า 🤔 

  • ส่วนอาการ ย้ำทำ ปกติแล้วมักจะมาควบคู่กันกับอาการย้ำคิดที่ส่งผลทำให้เกิดเป็นการกระทำบางอย่างออกมาในสัดส่วนที่ มากเกินกว่าปกติ จนอาจจะดูไม่สมเหตุสมผล ไปจนถึงขั้นแปลก โดยทั้งสองอาการนี้มีสาเหตุมาจากการทำงานของสมองที่เพิ่มมากขึ้น หรือบางคนอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นในระบบประสาทไปจนถึงความผิดปกติทางพันธุกรรมกันเลย 

    📍 ตัวอย่างเช่น หลังจากที่เปย์เป้ไล่เช็กในหัวไปรอบนึงแล้ว เปย์เป้ก็จะทำการเดินสำรวจตามจุดต่าง ๆ ในบ้านต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเช็กดูที่ปลั๊กไฟว่าถอดหมดแล้วจริง ๆ ใช่ไหม น้ำล่ะ ปิดแล้วหรือยัง ปิดสนิทไหม ไฟบนห้องเช็กดีแล้วหรือเปล่า พอทำทุกอย่างครบ จบ เรียบร้อย ก็จะมีความตะหงิด ๆ ในใจอีกว่า เอ๊ะ นี่เราเช็กครบทุกจุดแล้วใช่ไหม ถ้าในใจยังลังเล หาคำตอบแบบฟันธงให้กับตัวเองไม่ได้ เปย์เป้ก็จะทำการไล่เช็กใหม่อีกรอบ วนไป วนมา

 

" ซึ่งไอ้เจ้าอาการดึงผม กัดเล็บ เขย่าขาที่ว่า อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับโรคย้ำคิดย้ำทำนี้ก็ได้

แต่ถ้าไม่เกี่ยวจะถือว่ายังอันตรายอยู่ไหม อ่ะ ไหนมาสำรวจต่อกัน ! "

 


 

 

ดึงผมเพราะคัน / มีผมหงอก = ✅ 

ดึงผมเพราะอยากดึง / ดึงแล้วรู้สึกดี ยิ่งถ้าผมหลุดออกมาเยอะ ๆ ยิ่งแฮปปี้ = ❌ 

 

ใครที่มีพฤติกรรมอย่างหลัง เริ่มจะเข้าขั้นแอบน่ากลัวเบา ๆ แล้วนะ ปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักจะหวงนัก หวงหนากับเส้นผม และยิ่งคนที่เกิดมาแล้วผมน้อย ผมบาง ผมไม่เป็นฟาร์มผมยิ่งโค-ตะ-ระ เสียดายหนักมากเวลากวาดห้องแล้วเจอเส้นผมร่วงอยู่บนพื้น ดังนั้น ใครที่แฮปปี้เวลาที่เจอเส้นผมที่หลุดออกมาเยอะ ๆ เนี่ย เปย์เป้ว่าชักจะแปลก ๆ ล่ะ 🤔 

 

โดยเฉพาะคนที่เวลาเครียด หรือต้องการใช้สมาธิเมื่อไหร่  มือไม้เป็นต้องยุกยิกอยู่ที่เส้นผม  เป็นประจำ บางคนอาจจะแค่จับ ๆ เล่น ๆ อันนี้ถือว่าไม่อะไรมาก แต่บางคนอาจจะไม่ใช่แค่นั้น แต่ถึงขั้นจับปุ๊บ ดึงปั๊บ และไม่ใช่แค่เส้นผมอย่างเดียว แต่อาจลามไปถึงขนตา ขนคิ้ว หรือขนจมูกกันเลย แล้วเวลาดึงออกมาแต่ละทีก็ไม่ใช่แค่ครั้งละเส้นสองเส้นเท่านั้นนะ แต่คือเยอะมาก บางคนอาจพีคยิ่งกว่าถึงขั้นนำบรรดาเส้นผมเหล่านั้น เอามากินกันอีกที 😱 อ่ะ งานนี้ก็เอร็ดอร่อยกันไปเลยสิครัช 

 

ซึ่งถ้าใครมีอาการแบบนี้อยู่ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า....

 

  • เราอาจจะมีเรื่องเครียด หรือปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ในใจ ซึ่งถ้าคลี่คลายปัญหาได้เมื่อไหร่ เราก็จะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นกันไปเอง อันนี้ถือว่ายังไม่เข้าข่ายที่รุนแรง ❌  

  • แต่ถ้าใครชอบทำพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำ ๆ คือต่อให้หาทางออกแล้วแม่ก็ยังจะดึง ดึง ดึงไปดึงมารู้ตัวอีกทีหัวอาจจะล้าน คิ้วอาจจะแหว่ง อันนี้เปย์เป้ขอสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเพื่อน ๆ อาจจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ สมาธิสั้น หรือเป็นโรคเครียดเรื้อรังก็ได้

  • หรือยิ่งใครมีความรู้สึกร่วมด้วยว่าเวลาที่เราดึงเส้นผมออกมานั้นมันสนุก มันผ่อนคลาย อันนี้อาจจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ความผิดปกติบางอย่างทางสมอง ที่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไป ใครที่เข้าข่ายนี้เห็นทีจะต้องรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขกันด่วน ๆ ไม่เช่นนั้น เจสัน วอร์ฮีส์ สาขา 2 อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาเลยก็ได้

 

 

สำหรับใครที่รู้ตัวว่าเป็น แต่ยังมีอาการอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก อันดับแรกเลยให้ สังเกตพฤติกรรมของตัวเองกันก่อน ว่าพฤติกรรมชอบดึงผม หรือดึงขนของเรามักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ คือถ้าไม่ตั้งใจก็ให้ลองสังเกตดูว่าถ้านึกขึ้นได้แล้ว ช่วงเวลาที่เราชอบดึงผมนั้นมักจะอยู่ในช่วงเวลาไหน เวลาที่เราเครียด ตื่นเต้น หรือเวลาที่เรากำลังทำอะไรอยู่

 

หลังจากนั้นก็ ปรับพฤติกรรมให้รู้ตัวเองอยู่เสมอ สมมุติถ้าปกติเราชอบดึงผมเวลาอ่านหนังสือ หลังจากนั้นเวลาที่เราอ่านหนังสือก็อาจจะหากิจกรรมอื่น ๆ มาทำแทนการดึงผม อาทิเช่น การใช้ปากกาขีดเขียนไปบนหนังสือที่เราอ่าน 🖍  หรือหาอะไรมาหยิบจับทำให้มือของเราไม่ว่างมาจับผมเล่นได้ ค่อย ๆ ปรับกันไป ไม่นานเพื่อน ๆ ก็จะห่างจากพฤติกรรมดึงผมเหล่านั้นไปได้เอง (แต่ต้องฝืนใจเอาหน่อยนะ เพราะมันก็จะมีความรู้สึกอยากกลับไปดึงอยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ยูต้องแฮฟสตินะยู ! )

 

แต่ถ้าพยายามแล้วเลิกไม่ได้สักที อันนี้เปย์เป้แนะนำให้ไป พบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษา  เพราะบางคนอาจจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเข้าสังคม หรือที่เราอาจเคยได้ยินในชื่อ โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) ที่ผู้ป่วยมักจะมีปัญหากับคนรอบข้าง จนทำให้เข้าสังคมแบบคนอื่นไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นหนักมากอาจจะต้องใช้ยา หรือการบำบัดเข้ามาช่วย แต่เปย์เป้ไม่แนะนำให้ปล่อยทิ้งไว้นะ เพราะนอกจากจะเป็นการเสียบุคลิกและทำให้หัวล้านได้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร อย่างลำไส้อุดตัน (ในกรณีที่มีการกินเส้นผมหลังดึงเข้าไปด้วย) กันได้เลยนะ !

 


 

 

กัดเล็บ พฤติกรรมเสพติดยอดฮิตในเด็ก

แต่ทำไมผู้ใหญ่หลายคนถึงได้อินกับเค้าด้วย 🤔 

 

หากใครมีน้อง ๆ หนู ๆ ลูก ๆ หลาน หรือไม่ต้องยกตัวอย่างใครที่ไหน เอาเป็นตัวเราในวัยเด็กก็ได้ เปย์เป้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยผ่านการทำ หรือเคยเห็นพฤติกรรมกัดเล็บ ดูดนิ้ว หรืออมมือในเด็กกันมาก่อน อย่างปัญหาการดูดนิ้วคนที่เป็นพ่อเป็นแม่อาจจะแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อจุกยางมาให้ลูกดูดแทน ส่วนการกัดเล็บก็ค่อย ๆ สอนกันไป จนผลสุดท้ายเมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นกันไปเอง

 

ซึ่งส่วนทางกับผู้ใหญ่บางคน ที่โตป่านนี้ยังริอาจกัดเล็บกันอยู่อีก !

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมชอบกัดเล็บในผู้ใหญ่ มักจะไม่ต่างจากพฤติกรรมชอบดึงผม เล่นผม แต่จะเปลี่ยนจากพฤติกรรมเหล่านั้นมาเป็นการวอแวกับเล็บมือของตัวเองแทน ซึ่งโดยปกติแล้วพฤติกรรมนี้มักจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ 

 

ซึ่งถ้าเป็นพฤติกรรมที่พบในผู้ใหญ่นั้น เป็นไปได้ตั้งแต่ การเสพติดพฤติกรรมนี้มาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก (แล้วเลิกไม่ได้ เลยติดมาจนถึงตอนโต) หรือบางคนอาจจะ มีภาวะเครียด มีความวิตกกังวลกับปัญหาบางอย่าง (Panic disorder) จนทำให้เครียดแล้วหาทางระบายออกด้วยการกัดเล็บมือของเรานั่นเอง 💅🏻 

 

 

โดยพฤติกรรมชอบกัดเล็บนี้จัดว่าเป็น หนึ่งในอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ (ODC)  ที่ผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมชอบกัดเล็บย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ กัดจนกุดไม่ไหว แต่ก็ยังเดินหน้ากัดต่อ 😑  สำหรับทางรักษา แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ แก้ที่ต้นเหตุ นั้นได้แก่ เล็บ ด้วยการจับตัดให้สั้นไปเลย สั้นจนเราไม่สามารถกัดมันได้อีก และเมื่อรู้ตัวว่าเล็บยาวขึ้นก็ให้จับตัดไปเรื่อย ๆ จนพฤติกรรมชอบกัดเล็บของเราค่อย ๆ ลดลง 

 

Barielle

ตัวอย่างยาทาเล็บที่ช่วยลดการกัดเล็บ เผื่อใครสนใจอยากจะซื้อมาลองบ้าง ฮิ ๆ

 

หรือบางคนอาจจะเลือกใช้ยาทาเล็บที่มีไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมเสพติดการกัดเล็บ เพราะยาทาเล็บประเภทนี้เมื่อได้กัดเข้าไปแล้วจะให้ฟีลเหมือนเวลาเรากินบอระเพ็ดเลยทุกคน คือมันจะขมมาก ขมจนเข็ดขยาด ไม่อยากยกมือขึ้นมากัดอีกต่อไป แต่ถ้าใครที่รู้ตัวว่าสาเหตุของเราอาจจะมาจากโรคเครียด เปย์เป้ก็แนะนำให้เพื่อน ๆ ลองหากิจกรรมคลายเครียดทำ หรือถ้าเสพติดไม่ไหว เลิกยังไงก็เลิกไม่ได้ การไปพบจิตแพทย์ถือว่าเป็นทางออกสุดท้ายที่น่าจะเวิร์คที่สุดนะฮะ ✌🏼 

 


 

 

มองเผิน ๆ แล้วดูปกติม้าก แต่รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมชอบ " เขย่าขา "

เป็นสัญญาณของหลายโรคเชียวนะ !

 

ปิดท้ายกันด้วยพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะ ธรรมดาที่สุด แต่กลับน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะนอกจากโรคทางจิตที่ต้องระวังเป็นทุนเดิมแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคไทรอยด์ และพาร์กินสันกันได้ด้วย !

 

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้คนแสดงพฤติกรรมเขย่าขานี้ออกมา ส่วนหนึ่งอาจมาจากความวิตกกังวล, เบื่อ หรือกำลังใช้สมาธิ อย่างบางคนก็คือไม่ได้เป็นอะไรหรอก แค่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ หรือบางคนอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะเขย่า แต่ที่เขย่าเพราะเป็นอาการของโรค ไม่ว่าจะเป็น

 

  • โรคไทรอยด์ (Thyroid disease) ที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญทำงานหนัก จนทำให้เกิดอาการกระตุกหรือเขย่าที่อวัยวะบางส่วน

  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease)  ที่มีสาเหตุมาจากสารโดปามิน หรือสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวถูกทำลาย จนทำให้ร่างกายเกิดอาการสั่นหรือกระตุกขึ้นมา 

 

ซึ่งถ้าเราเสพติดการแสดงพฤติกรรมเขย่าขาบ่อย ๆ ต่อให้ไม่ได้เป็นอาการของโรคใด ๆ ก็ตาม มันอาจจะส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพเวลาที่คนภายนอกมองเข้ามาได้ หรือถ้าใครรู้ตัวว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเขย่าขานั้นมาจากความไม่ได้ตั้งใจ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่ามันอาจจะเป็นผลข้างเคียงจากโรค ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์ หรือพาร์กินสันอย่างที่บอกไป ดังนั้นเพื่อความชัวร์เปย์เป้ก็อยากให้ทุกคนไปพบแพทย์เพื่อเช็กดูกันอีกที ถ้าเช็กแล้วพบว่าใช่ ทางแพทย์เค้าจะได้หาทางรักษา เพื่อลดอาการเขย่า หรืออาการกระตุกเหล่านั้นให้ลดลง

 

 

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 อาการนี้  " ความเครียด " มีผลทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ

ในระดับที่เปย์เป้สามารถใช้คำว่า " มากเกินไป " กันได้เลย

 

ซึ่งเปย์เป้ว่ามันจะให้ฟีลเหมือนกับการ ระบายอารมณ์ อย่างนึง ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ หรือรู้สึกว่าได้คลายเครียด แต่ทว่าบางพฤติกรรมถ้าทำมากจนเกินไป หรือเผลอทำไปโดยที่ไม่ระวัง อาจจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ (สารภาพว่าครั้งนึงเปย์เป้เคยดึงผมของตัวเองจนหัวล้านมาแล้วด้วย 😅 ) เพราะฉะนั้นทางที่ดี หรือถ้าใครรู้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เราแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาคือความเครียด ก็ได้เวลาจัดการกับความเครียดของตัวเองกันแล้ว !

 


 

 

คัดมาแล้ว " 5 วิธีคลายเครียดแบบง่าย ๆ " แต่ได้ผลจริง !

 

  • ก็เปิดหนัง เปิดซีรีส์ดูไปเลยสิคะ ! : อันนี้เป็นวิธีแก้เครียดที่เปย์เป้เลิฟมาก แต่แนะนำว่าหนัง หรือซีรีส์ที่ดูจะต้องไม่ใช่เรื่องที่จะเพิ่มปริมาณความเครียดให้เราเข้าไปอีกนะ ไม่งั้นจะยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม 😅 

  • ใครเป็นสายอ่าน ก็หยิบหนังสือดี ๆ ขึ้นมาอ่านกันโล้ด : ถ้าให้แนะนำ หนังสือที่เหมาะกับการเอามาอ่านแก้เครียดควรจะเป็นหนังสือแนวที่จรรโลงใจหน่อย มีความบันเทิง อ่านแล้วสนุก หรือว่าเป็นหนังสือเชิงพัฒนาตัวเอง จิตวิทยาอะไรงี้ก็เริ่ด 

  • เสียเหงื่อให้กีฬา ดีกว่าเสียน้ำตาให้ความเครียด : ไปฮะ ออกกำลังกายคลายเครียดมันซะเลย ไหน ๆ ก็เครียดมันแล้ว ได้เวลาปลดปล่อยมันออกมาทางเหงื่อของเราสักหน่อย เอ้า ไปปปป 🏋🏻 

  • สายดาร์กไม่เวิร์ค ก็เดินเข้าสายขาวมันซะเลยสิฮะ : อ่ะ งานนี้สงสัยต้องใช้ธรรมะเข้าสู้ เผื่อว่าร่างกายและจิตใจของเรามันจะได้สงบลงมาบ้าง ซึ่งธรรมะที่ว่านี้ก็มีหลายอย่างมาก ฟัง Podcast ก็ได้ เข้าวัดไปทำบุญก็ดี แล้วแต่ความสะดวกของเพื่อน ๆ กันได้เลย

  • ถ้าหนักไป ก็หยุดพักมันซะบ้าง : บางคนถ้าโฟกัสกับอะไรมากไป หรือเจอความกดดันที่มากเกินไป ผลที่ตามมาอาจทำให้หนักอกหนักใจ ดังนั้นลองหาเวลาลาพักร้อน และทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังบ้าง ใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบ อยู่กับอะไรที่ทำให้เรามีความสุข แค่นี้ก็น่าจะช่วยเติมพลังให้กับเพื่อน ๆ ได้เพียบแล้ว !

 


 

💭  อย่าลืมสังเกตพฤติกรรมของตัวเองกันดูนะว่าพฤติกรรมที่เราแสดงออกตอนเครียดนั้นเข้าข่ายว่ารุนแรงไหม หรือไม่ก็ให้คนใกล้ตัวลองช่วยกันสังเกตดูอีกทีก็ได้  เพราะบางทีการที่เราสังเกตตัวเอง เราอาจจะมองว่ามันปกติ ไม่ได้รุนแรง (ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันอาจจะรุนแรง) ดังนั้นการให้คนอื่นช่วยเป็นหูเป็นตาให้เราอีกทีก็จะเป็นการดีม้าก~

 

หรือถ้าใครที่ไม่ได้มีอาการอย่างที่เปย์เป้พูดถึงนี้กันเลย ยินดีด้วย  เพราะอย่างน้อยทุกคนก็ลดความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคจิตลงไปได้เยอะแล้ว 🤪 แต่ยังไงก็อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองเสมอ ถ้าพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ก่อนที่อาการเหล่านั้นจะยิ่งบานปลายไปนะฮะ ✌🏼 

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : RAMA Channel, โรงพยาบาลราชวิถี, POBPAD, Blockdit และโรงพยาบาลเปาโล

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น