อะยัม ปลากระป๋องไฮโซ ความมีระดับที่อยู่ยงคงกระพันมากว่า 131 ปี

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer14 มิ.ย. 2566 avatar writer1.1 K
อะยัม ปลากระป๋องไฮโซ ความมีระดับที่อยู่ยงคงกระพันมากว่า 131 ปี

 

🥫

หลายคนอาจเลือกทานปลากระป๋องเพื่อต่อชีวิตในช่วงสิ้นเดือน แต่คงไม่ใช่กับปลากระป๋องยี่ห้อ "อะยัม" แบรนด์ปลากระป๋องสำหรับผู้มีอันจะกิน เพราะราคาสูงลิ่วแพงกว่าท้องตลาดเกือบเท่าตัว อะยัมถือเป็นปลากระป๋องที่ตอบสนองด้านรสชาติ เน้นความอร่อย ที่จะมอบประสบการณ์ปลาซาดีน ปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศแบบมีระดับ ซึ่งตรงกันข้ามกับการทานเพื่อประทังชีวิตโดยสิ้นเชิง

 


 

ปลากระป๋อง

 

| ประวัติศาสตร์ ปลากระป๋อง ก่อนอยู่คู่ครัวจากรุ่นสู่รุ่น |

 

ลืมตาตื่นขึ้นมาบนโลกก็เจอเข้ากับปลากระป๋องแล้ว เพราะปลากระป๋องอยู่ในตู้กับข้าวของเรามาอย่างเนิ่นนาน ก่อนหน้านี้ก็ได้มีกระแส "ยำปลากระป๋องพี่ฟ้า" สูตรอาหารจากอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ที่กลายเป็นเทรนด์จนผู้คนแห่แหนทำตามเกือบค่อนประเทศ พร้อมการันตีเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็ด! 🌶️ แล้วจุดกำเนิดของปลากระป๋องมาจากไหน ใครเป็นคนคิดค้น มาหาคำตอบของจานโปรดในช่วงสิ้นเดือนไปพร้อมกันเลย

 

| สงคราม ประวัติศาสตร์ และปลากระป๋อง

 

ย้อนไปสมัยสงครามนโปเลียน ช่วงปี 1800 ที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามหาวิธียืดอายุอาหารให้อยู่ได้เป็นเวลานาน โดยไม่บูดไม่เน่า เพราะต้องการส่งไปให้ทหารแนวหน้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเสนอเงินรางวัลมูลค่า 12,000 ฟรังก์

 

ต่อมา Nicolas Appert ชาวฝรั่งเศส ได้เสนอแนวคิดด้วยการบรรจุอาหารลงในขวดแก้ว และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ซึ่งนั่นทำให้นิโคลัสกลายเป็นผู้ชนะได้รับเงินรางวัล และได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งอาหารกระป๋อง (The Father of Canning) แต่ด้วยข้อจำกัดของขวดแก้วที่แตกหักง่าย ทำให้ Peter Durand  พ่อค้าชาวอังกฤษ ได้ต่อยอดแนวคิดและเสนอการใช้กระป๋องโลหะแทน 🥫

 

นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Bryan Donkin และ John Hall ได้สร้างโรงงานผลิตกระป๋องที่แรกของโลก บนถนน Southwark Park กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

หลังจากแนวคิดอาหารกระป๋องได้แพร่หลายออกไปสู่หลายประเทศ ทำให้มีการพัฒนาและเริ่มนำปลาสดมาบรรจุลงในกระป๋อง จนเกิดการทำเป็นเชิงพาณิชย์ แต่ด้วยในช่วงแรกต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ปลากระป๋อง และอาหารกระป๋อง กลายเป็นของพรีเมียมสำหรับชนชั้นสูง และผู้มีกำลังซื้อเท่านั้น ภายหลังต้นทุนการผลิตต่ำลง ทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง "ปลากระป๋อง" ในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ปลากระป๋องจึงกลายเป็นที่นิยมตั้งแต่นั้นมาจนถึงยุคปัจจุบัน

 


 

อะยัม

 

| ต้นกำเนิด "อะยัม" ปลากระป๋องไฮโซ

 

จุดเริ่มต้นของปลากระป๋องแบรนด์อะยัม ถือกำเนิดขึ้นโดย Alfred Clouët นักผจญภัยและนักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่ย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 1890 อัลเฟรดเริ่มต้นทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก ในนาม A. Clouet & Co. นำเข้าช็อกโกแลต ไวน์ และน้ำหอมจากฝั่งเอเชีย ต่อมาในปี 1899 ได้เล็งเห็นความพิเศษของอาหารกระป๋อง ที่เรียกได้ว่าเป็น "สินค้าพรีเมียม" ณ ขณะนั้น

 

จึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจผลิตปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง และกลุ่มอาหารกระป๋อง ซึ่งถือเป็นเจ้าแรก ๆ ในเอเชีย เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกยุคแรกเริ่ม ในการทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ปลากระป๋องชิ้นแรก

 

หลังจากวางจำหน่าย สินค้าได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะปลาซาร์ดีนบรรจุกระป๋อง ทั้งจากกลุ่มชาวยุโรป และชาวเอเชียที่ยังไม่มีนวัตกรรมถนอมอาหารในรูปแบบกระป๋องมาก่อน ทำให้อาหารกระป๋องแบรนด์ A. Clouët และโลโก้รูป "ไก่แจ้" 🐓 กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

 

ผู้คนส่วนใหญ่มักเรียกติดปากว่า Chop Ayam ซึ่งแปลว่า ตราไก่ ในภาษามาเลเซีย ภายหลังบริษัทจึงได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น "Ayam" เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

 

| มาม่า ปลากระป๋อง ไม่ใช่ อาหารคนจน

 

เหตุผลที่มาม่า ปลากระป๋อง อาจไม่ใช่อาหารคนจน เพราะเคยมีผลศึกษาพฤติกรรมการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดย บริษัท นาโน เซิร์ช จำกัด ที่ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 200 คน ถึงเหตุจูงใจในการเลือกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่า ส่วนใหญ่จะมาจาก 'การนึกอยากรับประทาน'  (30.9%) รองลงมาคือ 'ต้องการประหยัดเงิน' (14.3%) และ 'หิว' (10.5%) อีกทั้งประเด็นความจำเป็นที่จะต้องมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดบ้านไว้นั้น พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซึ่งมากถึง 79.0% เห็นว่า ควรมีติดบ้านไว้เสมอ

 

ปัจจุบันมาม่ามีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากประเทศเกาหลี หรือรามยอน 🍜 ที่ราคาเทียบเท่าหรือสูงกว่าข้าว 1 จาน แต่กลับได้รับความนิยมมาก อย่างข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ ในเดือนมีนาคมปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า

 

 

ไทยได้อันดับ 4 ที่มูลค่าการส่งออกรามยอนจากเกาหลีใต้มากที่สุด โดยมูลค่าส่งออกสูงถึง 2.9 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 99 ล้านบาท รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น 

 

รวมถึงการที่ปลากระป๋องแบรนด์ "อะยัม" ที่ราคาเริ่มต้นเกือบ 40 บาท สามารถอยู่บน Shelf ได้จนถึงปัจจุบัน ก็อาจเป็นเครื่องการันตีได้ว่า มาม่า และปลากระป๋อง ไม่ใช่อาหารของคนจน

 


 

ปลากระป๋องอะยัม

 

| ความเหนือชั้นที่ทำให้ "อะยัม" อยู่ยงคงกระพัน

 

แล้วอะไรคือความเหนือชั้น และความแตกต่างของปลากระป๋อง "อะยัม" ที่ถูกส่งต่อมาตลอด 131 ปี

 

อะยัมถือเป็นเจ้าแรก ๆ ในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาล โดยกรมพัฒนาอิสลามมาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย และยังใช้การผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล และการรับรองที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก (HACCP, ISO 9001) 

 

นอกจากนี้ยังชูจุดเด่นเรื่องส่วนผสมที่มีคุณภาพจากธรรมชาติเท่านั้น ด้วยการไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่ใช้ผงชูรส ไม่เจือสี ปราศจากไขมันทรานส์ และปราศจากการดัดแปลงทางพันธุกรรม

 

ส่วนรสชาติหลายคนที่ได้ลองชิมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าถูกปาก และแตกต่างจากเจ้าอื่นในท้องตลาดพอสมควร ซึ่งวันนี้ตัวผู้เขียนจะชวนทุกคนมาเปิดประสบการณ์ปลากระป๋องไฮโซ (ครั้งแรก) ไปพร้อม ๆ กัน 🥫 กับการรีวิวปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ และปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศ จากแบรนด์อะยัม

 

 

รีวิวปลากระป๋องอะยัม

 

 

🐟 ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ประกอบด้วย ปลาซาร์ดีน 60%, ซอสมะเขือเทศ 40% ปริมาณ 230 กรัม น้ำหนักเนื้อ 138 กรัม ราคา 58 บาท 

 

เพียงแค่แง้มฝาปลากระป๋องออกมา กลิ่นซอสมะเขือเทศก็วิ่งออกมาปะทะหน้าเข้าอย่างจัง แถมซอสมะเขือเทศสีแดงสดน่าทานมาก พอได้ลองชิมแล้วให้ความรู้สึกว่า รสชาติเข้มข้นกว่าปลากระป๋องในท้องตลาดที่เคยทานมา ความเปรี้ยว หวาน เค็ม ที่ผสมกันอย่างลงตัว รสชาติชัด คิดว่าคงถูกปากคนไทยอย่างแน่นอน ส่วนเนื้อปลาซาร์ดีนได้มากถึง 6 ชิ้น ตามราคาที่สูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น ๆ เนื้อปลาไซซ์ขนาดกลาง ๆ ไม่เล็ก และไม่ใหญ่จนถึงกับร้องว้าว และยังมีกลิ่นคาวปลาอยู่บ้าง

 

จากความเปรี้ยวกำลังดีของซอสมะเขือเทศ ตัวผู้เขียนคิดว่าเหมาะมากที่จะใช้ปลากระป๋องสูตรนี้ เป็นวัตถุดิบหลักในการทำเมนู "ปลากระป๋องพี่ฟ้า" แค่เติมพริกป่นเพิ่มความซี้ดซ้าด บีบมะนาวเพิ่มความหอมลงไปอีกนิด แล้วทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ ที่สำคัญต้องอย่าลืมแกล้มด้วยผักสด อย่างหัวหอมแดง กระเทียม และพริกชี้ฟ้า เท่านี้ก็ถึงนิพพานแบบฉบับพี่ฟ้าง่าย ๆ ได้แล้ว

 

 

🐟 ปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศ ประกอบด้วย ปลาซาร์ดีน 60%, ซอสมะเขือเทศ 40% ปริมาณ 230 กรัม น้ำหนักเนื้อ 138 กรัม ราคา 58 บาท 

 

เซอร์ไพรส์หนึ่ง! หลังจากเทปลากระป๋องใส่จาน ก็สัมผัสได้ถึงความแตกต่างในทันที เพราะได้ปลาแมกเคอเรลชิ้นโตถึง 3 ชิ้น ตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ นี่เป็นครั้งแรกที่ตัวผู้เขียนได้เจอเนื้อปลากระป๋องที่ชิ้นใหญ่แบบนี้มาก่อน และเซอร์ไพรส์สอง! พอได้ลองชิม รู้สึกได้ถึงความแน่นแต่นุ่มของเนื้อปลา ที่เคล้ากับน้ำซอสมะเขือเทศ ให้รสชาติเข้ากันได้พอดิบพอดีมาก สำหรับซอสมะเขือเทศสูตรนี้ รสชาติอาจไม่ชัดเท่าสูตรปลาซาร์ดีน แต่เนื้อปลาแทบไม่มีกลิ่นคาวเลย และให้สัมผัสคล้ายเนื้อปลาซาบะ

 

โดยส่วนตัวคิดว่าปลากระป๋องสูตรนี้เหมาะที่จะไปทำเมนูต้มยำปลากระป๋อง เพราะเนื้อปลาชิ้นใหญ่แน่น นุ่ม แต่ไม่เละง่าย คงทวีคูณความอร่อยและรสชาติความแซ่บเพิ่มอีกเท่าตัว พูดแล้วก็อยากวิ่งไปเก็บตะไคร้ ใบมะกรูด มาทำทานเดี๋ยวนี้เลย หรือจะเป็นเมนูแกงส้มผักบุ้งปลากระป๋อง ก็น่าจะอร่อยไม่แพ้กัน แค่คิดว่าจะได้ซดเนื้อปลาชิ้นใหญ่ ๆ ก็ฟินแล้ว

 

*เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณ

 


 

ปลากระป๋องความยาวนานที่ถูกส่งต่อมาตลอดหลายร้อยปี จนมาอยู่ในตู้กับข้าวที่มีแทบทุกบ้าน ไม่น่าเชื่อว่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากสงคราม เงิน 12,000 ฟรังก์ และขวดแก้ว แถมครั้งหนึ่งยังเคยเป็นอาหารของชนชั้นสูงมาก่อน ในบทความต่อไปเราจะพูดถึง อาหารกระป๋อง ที่กำลังเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะปัจจุบันอาหารกระป๋อง ไม่ได้เป็นนิยาม "ตัวเลือกสุดท้ายในการประทังชีวิต" และจะไม่ใช่เมนูสิ้นคิดในช่วงสิ้นเดือนอีกต่อไป

 

 

👉🏼 บทความที่เกี่ยวข้อง

  • เมนูเด็กหอ เบื้องหลังความสร้างสรรค์ และการดิ้นรน ของชนชั้นกลางผู้ไม่มีอันจะกิน คลิก
  • มองทะลุ Fast Food นิยามจานด่วนสะท้อนสังคม คลิก
  • SPAM (สแปม) เนื้อกระป๋องที่คนอเมริกันเบือนหน้าหนี สู่วัตถุดิบที่คนเกาหลีโปรดปราน คลิก
  • รีวิว 5 เฟรนช์ฟรายส์เจ้าดัง เอาใจสาวก French Fries Lover คลิก

 

🔗 ข้อมูลอ้างอิง Ayam, Marketing Oops!Marketeer Online, THE STANDARD, The 101 .world, ลงทุนแมน

 

แสดงความคิดเห็น